ReadyPlanet.com


โดนหมายศาลให้ไปขึ้นศาลคดีค้ำประกันรถยนต์


รบกวนสอบถามค่ะ คือหนูไปค้ำประกันรถให้เพื่อน แล้วเพื่อนส่งรถได้ปีเดียวก็ไม่ส่งอีกเลย ตอนนี้มีหมายศาลมาที่บ้านให้ไปขึ้นศาลเดือนหน้า หนูต้องทำอย่างไรดีค่ะ หนูกลัวมากเลย กลัวเขาจะมายึดรถ ยึดบ้านของหนูซึ่งยังผ่อนกับแบ้งค์อยู่

1.รับทราบจากเพื่อนของเพื่อนว่า รถคันดังกล่าว ถูกขายต่อ ( ขายแบบไม่มีทะเบียน ) ไปแล้ว...แบบนี้เราต้องทำอย่างไร.

2.เพื่อนคนที่หนูไปค้ำ เขาเป็นตำรวจค่ะ ไฟแนนซืไปตามถึง สน.ก็ไม่พบตัว ทั้งๆที่ยังทำงานที่เดิม เราจะทำอย่างไรได้บ้าง.

3.ความผิดที่หนูจะได้รับทั้งหมดคืออะไรบ้างค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ อ้อย :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-26 10:40:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2207934)

มาตรา 680    อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
 

อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

การที่คุณเข้าไปเป็นผู้ค้ำประกัน กฎหมายก็บอกว่า คุณสัญญาว่าจะชำระหนี้ให้กับคนที่คุณไปค้ำประกันเขา ถ้าเขาไม่ชำระหนี้นั้นให้เจ้าหนี้

1.รับทราบจากเพื่อนของเพื่อนว่า รถคันดังกล่าว ถูกขายต่อ ( ขายแบบไม่มีทะเบียน ) ไปแล้ว...แบบนี้เราต้องทำอย่างไร.

ตอบ ก็พยายามชี้ช่องให้เจ้าหนี้ไปยึดรถคืน แล้วไปเจรจากับคนที่คุณไปค้ำประกันว่าให้ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เสียให้เรียบร้องทางคุณจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะการค้ำประกันนั้นถ้าไม่สนิทสนมคุ้นเคยกันก็ไม่มีใครกล้าจะไปค้ำประกันให้หรอกครับ เราค้ำฯ ให้เพราะเราเชื่อใจเขา

2.เพื่อนคนที่หนูไปค้ำ เขาเป็นตำรวจค่ะ ไฟแนนซืไปตามถึง สน.ก็ไม่พบตัว ทั้งๆที่ยังทำงานที่เดิม เราจะทำอย่างไรได้บ้าง.

ตอบ ก็ต้องหาเงินมาชำระหนี้ให้เขาตามที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้นั่นคือคำตอบครับ หรือคุณคิดว่าการค้ำประกันคือการเซนชื่อในเอกสารแล้วก็จบ  คงไม่ใช่หรอกครับ เพราะในสัญญาเขาเขียนรายละเอียดไว้ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นจะหลีกเลี่ยงไม่รับผิดคงยากครับ

3.ความผิดที่หนูจะได้รับทั้งหมดคืออะไรบ้างค่ะ

ตอบ  ความผิดในทางอาญาไม่มีครับ แต่ความผิดในทางแพ่ง เขาเรียกว่า "ความรับผิด" ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้

ถ้าไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้เขาก็จะฟ้องร้องให้ศาลบังคับคดีโดย ยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-21 14:20:11


ความคิดเห็นที่ 2 (2207938)

(สัญญาเช่าซื้อรถยนต์) ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น
ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์คืนและนำออกขายได้เงิน 114,018.69 บาท ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 117,091 บาท ต่อมาผู้เช่าซื้อ ทำบันทึกรับสภาพหนี้ตกลงยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท บันทึกจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไป ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ตกลงในการทำบันทึกดังกล่าวด้วย จึงไม่ต้องรับผิด 
 
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6639/2548
 
        บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าโจทก์เสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ และยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท ผ่อนชำระ 12 งวด และโจทก์ตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 4 ว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยไม่ผิดนัดครบยอดเงิน 100,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลือ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามมูลหนี้ในสัญญาเช่าซื้อเดิมไม่ได้ตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 91,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
            จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 91,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
            โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 91,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
            จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

            ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ช-2077 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 264,852 บาท ตกลงชำระงวดละ 7,357 บาท รวม 36 งวด ทุกวันที่ 2 ของเดือน งวดแรกชำระวันที่ 2 มกราคม 2538 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 7 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 15 ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 2 มีนาคม 2539 โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้วและยึดรถยนต์คืนได้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โจทก์นำรถยนต์ออกขายได้เงิน 114,018.69 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 117,091 บาท ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกรับสภาพหนี้ตกลงยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท โดยผ่อนชำระให้โจทก์รวม 12 งวด งวดละเดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2540 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นตกลงด้วย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 2 งวด เป็นเงิน 9,000 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นไปเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นการแปลงหนี้ใหม่นั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าโจทก์เสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 100,000 บาท โดยผ่อนชำระ 12 งวด งวดละเดือน และโจทก์ตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 4 ว่า หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดครบยอดเงิน 100,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมให้เสร็จโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงระงับไปและได้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ตกลงในการทำบันทึกดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
       พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.
         ( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - ปัญญา ถนอมรอด - สมศักดิ์ เนตรมัย )
ศาลแพ่ง - นายประเสริฐ อยู่เจริญดี
ศาลอุทธรณ์ - นางปดารณี ลัดพลี
 
              ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
     มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำ ให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
_____________________________
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-21 14:29:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล