ReadyPlanet.com


พ่อลาออกจากการไฟฟ้า ระหว่างลาออกได้เจ็บป่วยยังไม่ได้รับเงิน เงินหายไปใหน


พ่อเป็นพนักงานการไฟฟ้า ต่อมาร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ขณะนั้น อายุ 55 ปี  จึงเข้าโครงการเกษียณอายุฯ ระหว่างรออนุมัติได้เข้าโรงพยาบาลเป็นประจำ ต่มฃอมาได้เสียชีวิต ซึ่งก่อนตายได้สั่งไว้ว่าถ้าได้รับเงินแล้วจะมอบให้หลานๆ คนละ 2 แสนบาท  ต่อมาเมื่อจัดการเรื่องงานศพเรียบร้อยแล้ว ทราบข่าวทางไฟฟ้าว่าแม่เลี้ยงซึ่งจดทะเบียนหลังจาที่แม่เสียได้รับเงินไปหมดแล้ว อยากทราบว่าแม่เลี้ยงรับเงินถูกต้องหรือไม่ ในฐาณะที่เป็นลูกและหลานสมควรได้รับตามกฏหมายหรือไม่  ขอบคุณคะ



ผู้ตั้งกระทู้ panmai (winai_-dot-_009-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-25 13:45:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2205256)

ทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ได้แก่
1. ทายาทตามกฎหมาย คือ
        1.1 บิดา มารดา
        1.2 สามีหรือภริยา
        1.3 บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
2. บุคคลซึ่งผู้ตายแสดงเจตนาให้เป็นผู้รับบำเหน็จตกทอด ตามแบบและวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

ตามที่เล่ามานั้นเข้าใจว่า มารดาของผู้ถามกับพ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดได้ ยิ่งหลานก็ไม่มีสิทธิด้วยเลย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-12 16:21:22


ความคิดเห็นที่ 2 (2205259)

บำเหน็จดำรงชีพกับบำเหน็จตกทอด ( คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13116 - 14666/2551)

ความหมายของคำว่า "บำเหน็จดำรงชีพ" หมายความว่า เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองเงินสะสมของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและลูกจ้างจะได้รับเมื่อออกจากงาน ส่วน"บำเหน็จตกทอด" นั้นหมายความว่า เงินสะสมที่จ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย

                      

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-12 16:27:39


ความคิดเห็นที่ 3 (2205262)

สิทธิรับบำเหน็จตกทอด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1067/2545)
 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สืบสันดานหรือทายาทโดยธรรมของเรือเอกเชิด กับนางทอง จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิด แต่การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนากันหลอก ๆ (เจตนาลวง) เพื่อจำเลยหวังผลประโยชน์อันเป็นบำเหน็จตกทอดของเรือเอกเชิด ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญกองทัพเรือเมื่อเรือเอกเชิดถึงแก่กรรม และขณะจดทะเบียนสมรส เรือเอกเชิดป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ จำเลยเกรงว่าสิทธิในบำเหน็จตกทอดยุติลง จำเลยจึงร้องขอให้เรือเอกเชิดจดทะเบียนสมรสกับตน หลังจากนั้นอีก 38 วัน เรือเอกเชิดก็ถึงแก่กรรม จำเลยจึงอาศัยสิทธิตามทะเบียนสมรสดังกล่าวยื่นแสดงความจำนงต่อกองทัพเรือเพื่อขอรับบำเหน็จตกทอดของเรือเอกเชิดและกองทัพเรือได้จ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลยไปแล้ว ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับเรือเอกเชิด เป็นโมฆะ และขอให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสด้วย
--- จำเลยให้การว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิด มิใช่เฉพาะแต่บำเหน็จตกทอดแต่รวมถึงสิทธิในการที่จะรับมรดกด้วย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-12 16:35:32


ความคิดเห็นที่ 4 (2205264)

 สิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำเหน็จตกทอด
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2552/2531

          มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526ต้องตีความว่า บุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก่อนวันที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำเหน็จตกทอดในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับแล้ว โดยที่ก่อนที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับหามีสิทธิเช่นนั้นไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์เรียกร้องบำเหน็จตกทอดจากจำเลยและขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526ใช้บังคับ และเด็กชาย ธ. บุตรผู้ตายเป็นทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 4 แล้ว เด็กชาย ธ. จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดกรณีนี้หาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาเด็กชายธีระพลหรือเก่ง อยู่ทองผู้เยาว์ ซึ่งเกิดจากพันเอกประพนธ์ อยู่ทอง โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ฟ้องในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายธีระพล โจทก์และพันเอกประพนธ์ อยู่กินฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 มีบุตร 1 คน คือเด็กชายธีระพลซึ่งพันเอกประพนธ์ได้รับรองและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตร พันเอกประพนธ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม2526 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่า เด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่าเด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ เด็กชายธีระพลมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขแล้วเป็นเงิน 404,653.20 บาท โจทก์ได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญพิเศษของพันเอกประพนธ์จากจำเลยแล้ว จำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน 404,653.20 บาท แก่เด็กชายธีระพลหรือเก่ง อยู่ทอง

           จำเลยให้การว่า พันเอกประพนธ์มีทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่เพียง 1 คนคือนางอังกาบ อยู่ทอง ซึ่งเป็นมารดา คำสั่งของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่สั่งให้เด็กชายธีระพลหรือเก่งอยู่ทอง เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นเวลาภายหลังจากพันเอกประพนธ์ถึงแก่ความตายแล้ว เด็กชายธีระพลจึงไม่ได้มีฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดของพันเอกประพนธ์ และตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ประกาศใช้และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2526 อันเป็นวันที่ศาลสั่งให้เด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
           โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา

           ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน404,653.20 บาท แก่โจทก์ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายธีระพลหรือเก่ง อยู่ทอง

           จำเลยฎีกา
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า พันเอกประพนธ์ตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม2526 ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2526 ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งว่าเด็กชายธีระพลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกประพนธ์ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14)พ.ศ. 2526 ประกาศใช้และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม2526 และถ้าเด็กชายธีระพลเป็นทายาทผู้มีสิทธิ เด็กชายธีระพลมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเป็นเงิน 404,653.20 บาท ปัญหามีว่าเด็กชายธีระพลเป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือไม่

           มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14)พ.ศ. 2526 บัญญัติให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "ทายาทผู้มีสิทธิ"ให้หมายความว่า
           (1) บุตร และให้หมายความรวมถึงบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตาย หรือนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบิดา
           (2) สามีหรือภริยา
           (3) บิดาและมารดา

           ดังนั้น เด็กชายธีระพลบุตรผู้ตายซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตายจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหาได้หมายความว่าจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป จึงจะเป็นทายาทผู้มีสิทธิ ส่วนบุตรที่มีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าวมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิดังที่จำเลยฎีกาไม่ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำเหน็จตกทอดในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว โดยที่ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหามีสิทธิเช่นนั้นไม่ สำหรับคดีนี้ก็เช่นเดียวกัน ขณะโจทก์เรียกร้องบำเหน็จตกทอดจากจำเลยและขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ใช้บังคับ และเด็กชายธีระพลเป็นทายาทผู้มีสิทธิแล้วเด็กชายธีระพลจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่ ปัญหาเช่นนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2530 ระหว่าง เด็กชายปริญญา เวชนุสิทธิ์ โดยนางเรวดีเวชนุสิทธิ์หรือแสงพลสิทธิ์ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์ กระทรวงการคลัง จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

           พิพากษายืน.

( ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล - สมศักดิ์ เกิดลาภผล - เจริญ นิลเอสงฆ์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-12 16:41:48


ความคิดเห็นที่ 5 (2206171)

สวัสดีคะ หนูเป็นบุตรถูกต้องตามกฏหมายคะ  คือแม่หนูตายต่อมาพ่อจดทะเบียนใหม่กับเมียน้อยซึ่งทำงานที่การไฟฟ้าแห่งเดียวกัน และทำหน้าที่การเงิน ตอนป่วยพ่อบอกว่าเงินออรี่ยังไม่ออก หนูก็มีลูกอ่อนอยู่กับสามีที่ต่างจังหวัดแต่ติดต่อกับพ่อเสมอ เลยทราบว่าก่อนตายพ่อยังไม่ได้รับเงิน ไม่ทราบเมียน้อยของพ่อซึ่งมีหน้าที่การเงินใช้วิธีใหนเอาเงินไปหมดเลย ขอบคุณคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น winai_-dot-_009-at-hotmail-dot-com (winai_-dot-_009-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-08-16 03:40:34


ความคิดเห็นที่ 6 (2206478)

ตามคำถาม

สวัสดีคะ หนูเป็นบุตรถูกต้องตามกฏหมายคะ  คือแม่หนูตายต่อมาพ่อจดทะเบียนใหม่กับเมียน้อยซึ่งทำงานที่การไฟฟ้าแห่งเดียวกัน และทำหน้าที่การเงิน ตอนป่วยพ่อบอกว่าเงินออรี่ยังไม่ออก หนูก็มีลูกอ่อนอยู่กับสามีที่ต่างจังหวัดแต่ติดต่อกับพ่อเสมอ เลยทราบว่าก่อนตายพ่อยังไม่ได้รับเงิน ไม่ทราบเมียน้อยของพ่อซึ่งมีหน้าที่การเงินใช้วิธีใหนเอาเงินไปหมดเลย ขอบคุณคะ

ตอบ

กรณีที่ที่ผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินแล้ว แต่ยังไม่ทันได้รับเงินก็มาเสียชีวิตเสียก่อน อย่างนี้ ถือว่าเป็นมรดก ตกได้แก่ทายาทครับ

อาจเป็นไปได้ว่าภริยาชอบด้วยกฎหมายร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งให้แก่ทายาทครับ แต่ไม่ยอมแบ่ง กรณีนี้คุณในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ฟ้องขอให้แบ่งมรดกได้ภายในอายุความมรดกครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-16 19:39:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล