ReadyPlanet.com


เด็กชายอายุไม่เกิน18กระทำชำเราเด็กอายุ14ปีมีความผิดเหรือไม่


 

เด็กชายอายุไม่เกิน18ปีกระทำชำเราเด็กอายุ14มีความผิดหรือไม่ 



ผู้ตั้งกระทู้ เล็ก :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-13 23:46:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2225385)

ชายอายุไม่เกิน 18 ปี คืออายุเท่าใดครับ เพราะคำว่า "เด็กชาย" คืออายุยังไม่ครบ 15 ปี นะครับ

กฎหมายไม่ได้กำหนดโทษของผู้กระทำความผิดไว้ แต่ใช้คำว่า

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
        ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา 74 เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้
        (1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
        (2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดาหรือ
ผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้ง
ละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น
         ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดามารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนด
เช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
         (3) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
         (4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแลอบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตาม
สมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้ หรือ
         (5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบ
แปดปี
         คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) (4) และ (5) นั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้

 มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่าสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ให้จัดการตาม มาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง
**หมายเหตุมาตรา 75 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปอ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ***

มาตรา 76 ผู้ใดอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 11:12:47


ความคิดเห็นที่ 2 (2225399)

ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  795/2551

          ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำเพื่อการอนาจาร จึงปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อการอนาจาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มาด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

          อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317 วรรคสาม
          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีจำคุก 1 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา จำคุก 9 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 15 เดือน คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นบทมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สมควรวินิจฉัยก่อนว่า ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำเพื่อการอนาจาร จึงปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อการอนาจาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มาด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 215 และมาตรา 225...

          อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

          พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

  

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 11:56:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล