ReadyPlanet.com


เลิกจ้างพนักงานเนื่องจากปัญหาสุขภาพ


นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างมีปัญหาสุขภาพ ลาป่วยเป็นประจำ อีกทั้งยังมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน แต่ลูกจ้างไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน กรณีที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นลูกจ้างมักกล่าวโทษว่าเป็นความผิดผู้อื่น อยากทราบว่า นายจ้างจะสามารถเลิกจ้าง และจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมายได้หรือไม่ และถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ คนสงสัย :: วันที่ลงประกาศ 2014-09-17 08:35:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3745291)

นายจ้างสามารถใช้ดุลพินิจในการเลิกจ้างได้ แต่สิทธิของลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ปีละ 30 วัน อย่างไรจึงจะถือว่าลูกจ้างหย่อนสมรรถภาพจึงเป็นเรื่องที่นายจ้าง และลูกจ้างมักจะมองข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน การที่นายจ้างอ้างว่าลาป่วยเป็นประจำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถามไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงมา จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกมาเป็นตัวอย่างด้านล่างนี้อาจช่วยเป็นแนวทางในการเลิกจ้างได้นะครับ

 


การเลิกจ้างเพราะป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1849/2529

          โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถตามตำแหน่งได้จำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะมีโอกาสหายจากโรคดังกล่าวหรือไม่และไม่สามารถหางานอื่นที่เหมาะสมให้ได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ใช่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม. การที่ผู้อำนวยการของจำเลยออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจดำเนินการในเขตการเดินรถที่รับผิดชอบรวมทั้งมีอำนาจอนุมัติลาออกเลิกจ้างให้ออกไล่ออกพนักงานหรือลูกจ้างในสังกัดได้คำสั่งดังกล่าวเป็นการแบ่งงานในหน้าที่ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้อำนวยการของจำเลยเป็นคำสั่งในทางบริหารงานมิใช่เป็นการมอบอำนาจโดยเฉพาะและมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำนิติกรรมอันหนึ่งอันใดอันพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรคำสั่งดังกล่าวซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงชอบด้วยกฎหมายผู้จัดการเขตการเดินรถจึงมีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้.

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานขับรถต่อมาโจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แพทย์มีความเห็นว่าโจทก์ควรทำงานบนพื้นดิน ผู้จัดการเขตการเดินรถออกคำสั่งถึงโจทก์ว่า โจทก์ป่วย เป็นโรคเบาหวานถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถ ต้องทำงานเบา หน้าที่อื่น และจำเลยไม่สามารถหาตำแหน่งงาน หน้าที่อื่นที่เหมาะสมให้ปฏิบัติเป็นการประจำต่อไป จึงให้ เลิกจ้าง โจทก์ซึ่งผู้จัดการเขตการเดินรถดังกล่าวไม่มีอำนาจสั่งเลิกจ้างทั้งเป็นคำสั่งที่ไม่ เป็นธรรมเพราะโจทก์หายจากโรคเบาหวานแล้วขอให้พิพากษายกคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเงินโบนัส ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้ยง เงินสวัสดิการ ของบุตรเงินค่าบำรุงการศึกษาของบุตร และค่ารักษาพยาบาล พร้อมดอกเบี้ย

           จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่สามารถทำงานให้กับจำเลยในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง จำเลยได้มอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถ มีอำนาจใน การจ้าง และเลิกจ้าง ภายในอัตรากำลังได้ตามคำสั่งของจำเลย คำสั่งเลิกจ้างจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายเงินใดๆให้แก่โจทก์

           ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

           โจทก์อุทธรณ์ ต่อศาลฎีกา

           ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถตามตำแหน่งได้ และจำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะมีโอกาสหายจากโรค นี้หรือไม่จำเลยไม่สามารถหาตำแหน่งงานหน้าที่อื่นที่เหมาะสมให้ได้จึงได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ส่วนการที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ การจ้างกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเลิกจ้างพนักงานของจำเลยไว้ว่าพนักงานที่ถูกยุบเลิกหน่วยงาน หรือตำแหน่งงาน และ องค์การฯไม่สามารถจัดหางานอื่นที่เหมาะสมให้ถือปฏิบัติเป็นการถาวรได้ ให้เลิกจ้างนั้น หมายถึงพนักงานที่ยังมีความสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ แต่ต้องถูกยุบเลิกหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่หรือ ยุบเลิกตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ และจำเลยไม่อาจหาตำแหน่งงานอื่นที่ เหมาะสมได้จึงมีสิทธิเลิกจ้างเท่านั้น หาใช่มีความหมายว่าหากพนักงานผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะความป่วยเจ็บ ไร้ความสามารถหรือ หย่อนสมรรถภาพด้วยเหตุของสุขภาพอนามัย แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างได้ กรณีของโจทก์หาขัดต่อบันทึกดังกล่าวไม่

           ผู้อำนวยการของจำเลยได้มีคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจดำเนินการในเขตการเดินรถที่รับผิดชอบ โดยกำหนดอำนาจทั่วไป อำนาจบริหารงานบุคคลฯลฯ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งมีอำนาจอนุมัติ และลงนามคำสั่ง หรือสัญญาบรรจุจ้าง แต่งตั้งย้าย ลาออก เลิกจ้าง ให้ออก ไล่ออก พนักงาน หรือ ลูกจ้าง ในสังกัดได้คำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการแบ่งงานในหน้าที่เป็น คำสั่งในทางบริหารงานซึ่งมิใช่เป็นกรณีมอบอำนาจให้แก่ผู้จัดการเขตการเดินรถโดยเฉพาะ และ มิใช่ เป็นการมอบอำนาจให้กระทำนิติกรรมอันหนึ่งอันใด อันพึงต้องติดอากรแสตมป์ ตาม ประมวลรัษฎากรไม่ คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย และผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้

           พิพากษายืน.

( มาโนช เพียรสนอง - สมบูรณ์ บุญภินนท์ - เพียร สุมิระ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2014-12-09 12:13:15


ความคิดเห็นที่ 2 (3745446)

ลูกจ้างเจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานถือเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2600/2529


นาง จร                                              โจทก์
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ                จำเลย
 

 
          โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทางหลังจากโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยได้ 2 เดือนโจทก์ได้ลาป่วยทุกเดือนติดต่อกัน 7 เดือนโดยลาป่วยเดือนละ 1 วันถึง 8 วันแสดงว่าสุขภาพของโจทก์ไม่สมบูรณ์ไม่สามารถตรากตรำในหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารอันเป็นงานหนักไว้กรณีถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานถือเป็นเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518มาตรา9(3)และไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำำานของจำเลยหรือไม่.

 

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2014-12-09 16:09:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล