ReadyPlanet.com


ขอปรึกษาการใช้เงินประกันการทำงานและเงินเดือนที่นายจ้างค้างอยู่


 คือผมได้ใช้เงินประกันการทำงานจำนวน 100000 บาท ในวันเข้าทำงาน และตอนนี้ผมได้ลาออกเมื่อวันที่ 23 พ.ค 2557 โดยทางสำนักงานไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้ได้ (ค้างอยู่ประมาณเดือนกว่าเลยตัดสินใจลาออก) และหลังจากนั้นได้ทำหนังสือบันทึกข้อตกลงกัน ว่าทางสำนักงานจะจ่ายเงินประกันคืนทุกวันที่ 30 ของเดือน คือ งวดแรก 30 พ.ค 2557 งวด 2. วันที่ 30 มิ.ย 57 และงวดสุดท้าย 30 ก.ค. 57 (ที่ทำเพราะทางสำนักงานขาดทุน และตอนนี้ได้ปิดกิจการแล้ว) และได้จ่ายมาส่วนหนึ่ง เหลืออยู่คนละ 30000 บาทหากรวมเงินเดือนก็เกือบคนละ 50,000 บาท  ถ้าหากฟ้องเป็นคดีความขึ้นมา ผมมีโอกาสแพ้ไหมคับ แล้วค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายต้องใช้ไหมคับและขอคำปรึกษาจากท่านว่าผมควรทำยังไงดีครับ ขอบพระคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ นัท :: วันที่ลงประกาศ 2014-09-06 20:31:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3723533)

 กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่เรียกหรือรับเงินประกันการทำงานเพื่อชดใช้ความเสียหาย ต้องคือเงินประกันดังกล่าวภายใน 7 วัน ข้อตกลงว่า ให้นายจ้างคืนเงินประกันเป็นงวด ๆ ขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะเมื่อนายจ้างไม่จ่ายแนะนำให้ไปร้องเรียนพนักงานตรวจแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื่อที่ที่นายจ้างมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ครับ กรณีตามคำถามเป็นสิทธิของลูกจ้างไม่มีช่องทางแพ้คดีครับ

 มาตรา 10 ภายใต้บังคับ มาตรา 51 วรรคสอง ห้ามมิให้ นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความ เสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของ งานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สิน ของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้าง ได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลัก เกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญา ประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกัน สิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้าง ลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

 

ข้อตกลงว่าลูกจ้างไม่ขอรับเงินประกันทั้งหมดคืนขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง
 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8029/2544

 
          พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคสอง หมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ และลูกจ้างไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันทั้งหมด แก่ลูกจ้าง  เมื่อการผิดสัญญาของโจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่จำเลย(นายจ้าง) จำเลย(นายจ้าง)จะต้องคืนเงินประกันการทำงานทั้งหมดแก่โจทก์
 
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน ๔,๐๐๐ บาท เงินประกันการทำงานจำนวน ๒,๐๐๐ บาท และค่าจ้างค้างจำนวน ๒,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินสะสมและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินประกันการทำงานและค่าจ้างค้างนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์


          จำเลยให้การว่า จำเลยยังไม่ต้องคืนเงินสะสมให้แก่โจทก์ เนื่องจากขณะทำงานโจทก์ทำบัตรเครดิตของ นางสาวสุรีย์ ลูกค้าสูญหาย มีผู้นำบัตรเครดิตไปถอนเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ ทำให้ธนาคารตามบัตรฟ้องเรียกเงินจากนางสาวสุรีย์คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล และนางสาวสุรีย์ได้เรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินดังกล่าวแต่ยังไม่มี การฟ้องร้อง จำเลยจึงต้องยึดเงินสะสมของโจทก์ไว้ก่อน เพราะหากจำเลยต้องชดใช้เงินแก่นางสาวสุรีย์จะได้ หักเงินจำนวนนี้เป็นค่าเสียหาย สำหรับเงินประกันการทำงาน จำเลยมีสิทธิริบไม่ต้องคืนแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ ลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบตามสัญญาจ้างงานข้อ ๙ ส่วนเงินค่าจ้างจำเลยค้างโจทก์อยู่เพียง ๒,๔๐๐ บาท เนื่องจากในช่วงเวลาตามที่โจทก์ฟ้องโจทก์ลาป่วยไป ๑ วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย ขอให้ยกฟ้อง


          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสะสมจำนวน ๔,๐๐๐ บาท เงินประกันการทำงาน จำนวน ๒,๐๐๐ บาท และค่าจ้างค้างจำนวน ๒,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินสะสมและ อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินประกันการทำงานและค่าจ้างค้างดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์


          จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้า ๑๕ วัน ตามระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงในสัญญาจ้างงานนั้น เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามีให้แก่ลูกจ้างฯ" ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ และลูกจ้าง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันทั้งหมดแก่ลูกจ้าง สัญญาจ้างงานระหว่างโจทก์และ จำเลยฉบับลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ข้อ ๙ ระบุว่า "เมื่อข้าพเจ้าประสงค์จะขอลาออกจากความเป็นพนักงานของบริษัท ข้าพเจ้าจะแจ้งให้บริษัททราบเป็นการล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และอยู่ทำงานจนครบกำหนด หากข้าพเจ้าไม่อยู่ปฏิบัติตามระเบียบข้อนี้ ข้าพเจ้ายินยอมให้บริษัทตัดเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นค่าเสียหายและจะไม่ขอ รับเงินค้ำประกันทั้งหมด ในกรณีที่ข้าพเจ้าฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้อันเป็นเหตุให้บริษัทเสียหายใด ๆ ข้าพเจ้ายินยอม ให้บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกด้วย" ซึ่งหมายความว่า กรณีที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้าก่อน ๑๕ วัน โจทก์ยินยอมให้จำเลยตัดเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยหรือนำเงินของโจทก์ที่จำเลยยึดถือไว้ชดใช้ค่าเสียหาย กับยินยอมให้จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และยังไม่ขอรับเงินประกันทั้งหมดคืนอีกด้วย ซึ่งเป็นการยินยอมให้จำเลย มีสิทธิไม่ต้องคืนเงินประกันทั้งหมดแก่โจทก์แม้การผิดสัญญาไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย หรือก่อให้ เกิดความเสียหาย แต่ได้ตัดหรือนำเงินอื่นชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ข้อตกลงในสัญญาจ้างเฉพาะข้อที่โจทก์ไม่ขอรับ เงินประกันทั้งหมดคืนจึงขัดต่อมาตรา ๑๐ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงข้อนี้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าการผิดสัญญาข้อ ๙ ของโจทก์ ไม่ก่อให้เกิด ความเสียหายใด ๆ แก่จำเลย จำเลยจะต้องคืนเงินประกันการทำงานทั้งหมดแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
          พิพากษายืน.
  

คำพิพากษาศาลฎีกา 6636-6638/2547

เงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกจ้างที่ส่งไปฝึกอบรมที่กรุงเทพฯ  โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องทำงานกับนายจ้างเป็นเวลา 2 ปี หากทำงานไม่ครบให้นายจ้างมีสิทธิริบเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไร   ก็ยังเป็นเงินประกันการทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครอง ฯ มาตรา 10  ที่กฎหมายห้ามนายจ้างเรียก หรือรับเงินประกันการทำงานจากลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2545

ลูกจ้างทำงานเป็นผู้จัดการสถานีบริการน้ำมัน มีหน้าที่ดูแลสินค้าในร้านสะดวกซื้อ นายจ้างมีสิทธิเรียกประกันการทำงานได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2014-10-19 15:54:16


ความคิดเห็นที่ 2 (3723550)

ข้อตกลงระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างที่ว่าหากลาออกจากงานก่อน 24 เดือนขอสละสิทธิไม่รับเงินประกันคืนเป็นโมฆะ

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8211/2547

          พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. ที่ว่า หาก ส. ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน ส. ขอสละสิทธิไม่รับเงินประกัน แม้จะตกลงกันก่อนที่โจทก์จะจ้าง ส. แต่ก็เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการบริการทางการเงิน (รับจัดไฟแนนซ์) ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 11/2546 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนคำสั่งวางเงิน 10,000 บาท

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินประกันจำนวน 10,000 บาท ที่โจทก์เรียกเก็บจากนางสาวสุดารินทร์ (ลูกจ้าง) โดยมีข้อตกลงว่าลูกจ้างจะต้องทำงานกับโจทก์อย่าง 24  เดือน หากลูกจ้างออกจากงานก่อนครบ 24 เดือน ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินประกันคืน ข้อตกลงดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะหรือไม่นั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2545 โจทก์จ้างนางสาวสุดารินทร์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานการเงินและสินเชื่อ โจทก์เรียกเก็บเงินประกันการทำงานและประกันความเสียหายในการทำงานจำนวน 10,000 บาท จากนางสาวสุดารินทร์โดยมีข้อตกลงว่าหากนางสาวสุดารินทร์ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน นางสาวสุดารินทร์ขอสละสิทธิ์ไม่รับเงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 นางสาวสุดารินทร์ยื่นหนังสือลาออกจากงานและไม่มาทำงานให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 นางสาวสุดารินทร์ซึ่งทำงานไม่ครบ 24 เดือน โจทก์จึงไม่คืนเงินประกันจำนวน 10,000 บาท ให้แก่นางสาวสุดารินทร์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้าง หรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี” ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางสาวสุดารินทร์ที่ว่า หากนางสาวสุดารินทร์ลาออกจากงานก่อน 24 เดือน นางสาวสุดารินทร์ขอสละสิทธิไม่รับเงินประกันแม้จะตกลงกันก่อนที่โจทก์จะจ้างนางสาวสุดารินทร์ แต่ก็เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์คืนเงินประกันแก่นางสาวสุดารินทร์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน
 
 
  

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-10-19 17:56:49


ความคิดเห็นที่ 3 (3723551)

เงินประกัน

(พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.2541   มาตรา  10 )     

                   มาตรา  10  ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรค 2  ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง  เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายจ้าง  ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้  ทั้งนี้  ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้  ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีเก็บรักษา  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด  ดังนี้

                    เงินประกัน   หมายความว่า  เงินที่นายจ้างเรียกหรือรับจากลูกจ้างเพื่อประกันการทำงานของลูกจ้างหรือประกันความเสียหายในการทำงานที่ลูกจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้น                   
                    งานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้  ได้แก่
 (1)  งานสมุห์บัญชี
 (2)  งานพนักงานเก็บและหรือจ่ายเงิน
 (3)  งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง               
 (4)  งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
 (5)  งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
 (6)  งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้เช่าทรัพย์  ให้เช่าซื้อ  ให้กู้ยืม  รับฝากทรัพย์  รับจำนำ  เก็บของในคลังสินค้า  รับประกันภัย  รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร  ทั้งนี้  เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

                    ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน--จำนวนเงินหรือรับได้ จะต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันนายจ้างรับเงินประกัน

                    ในกรณีที่เงินประกันซึ่งนายจ้างเรียกหรือรับไว้  ลดลง  เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน  หรือตามข้อตกลงหรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว  นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันเพิ่มได้ไม่เกิน60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันนายจ้างรับเงินประกัน  เท่านั้น

                    ให้นายจ้างนำเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น  โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน  และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น  ชื่อบัญชี  และเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน  7  วันนับแต่วันที่รับเงินประกัน  ทั้งนี้  นายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันโดยวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้มิได้

                    ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน  หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ  เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง  หรือลูกจ้างลาออก  หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ  ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย  ถ้ามี  ให้แก่ลูกจ้างภายใน  7  วัน  นับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก  หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ  แล้วแต่กรณี

                                                    

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-10-19 18:58:55


ความคิดเห็นที่ 4 (4549910)

 สิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2550

พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ดังกล่าว คำว่า "บุตร" ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย

พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1)

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า นายประยูร ผาดโผน เป็นลูกจ้างบริษัทแม็กเซลเทคโนโลยี จำกัด ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการได้จ่ายเงินสมทบเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีตายมาแล้ว 127 เดือน และจ่ายเงินสมทบเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมาแล้ว 41 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย วันที่ 21 พฤษภาคม 2545 นายประยูร ผาดโผน ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายด้วยโรคติดเชื่อแบคทีเรียในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสยาม นายประยูรอยู่กินฉันสามีภริยากับนางกานดา สรรพัชญา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสและมีโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 เนื่องจากนายประยูรและนางกานดาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยจัดงานพิธีสมรสและญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายรับรู้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองเกิด นายประยูรแจ้งเกิดด้วยตนเอง วันที่ 31 พฤษภาคม 2545 โจทก์ทั้งสองและนางกานดาได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตายต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายเงินค่าทำศพให้แก่นางกานดาและโจทก์ทั้งสองเท่านั้น และมีคำสั่งว่า นางกานดาและโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพเนื่องจากมิใช่ทายาทที่กฎหมายกำหนด วันที่ 11 มีนาคม 2546 โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพอีกครั้ง แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยที่ 805/2546 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเนื่องจากโจทก์ทั้งสองมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่นายประยูรผู้ประกันตนยังมีชีวิต สำหรับกรณีเงินบำเหน็จชราภาพเห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีตั้งแต่วันดังกล่าวจึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ กล่าวคือ สำหรับกรณีเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) กำหนดว่า ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีหรือภริยาหรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งกรณีตามมาตรา 73 (2) ระบุว่าบุตรของผู้ประกันตนต่างกับผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 77 จัตวา ซึ่งระบุทายาทของผู้มีสิทธิได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเห็นได้ว่า กรณีตามมาตรา 73 (2) ใช้คำว่าบุตรมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายดังเช่นมาตรา 77 จัตวา หากกฎหมายประสงค์จะให้หมายความเฉพาะแต่บุตรชอบด้วยกฎหมายก็คงเขียนระบุไว้ชัดเจน เช่น มาตรา 77 จัตวา ดังนั้น โจทก์ทั้งสองเห็นว่ากรณีเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเนื่องจากโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของผู้ประกันตนนอกจากนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพในวันที่ 11 มีนาคม 2546 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเมื่อโจทก์ทั้งสองมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรและยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดเวลา ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 805/2546 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพตามกฎหมาย

จำเลยให้การว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 มาตรา 73 (2) กำหนดว่า เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน เงินสงเคราะห์ดังกล่าวจึงมิใช่มรดก แต่เป็นเงินที่เกิดขึ้นจากการตายของผู้ประกันตน และจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางกานดา สรรพัชญา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสและมิได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือมิได้กระทำการใดๆ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557 โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิต ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป หามีผลย้อนหลังไปถึงเวลาก่อนที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 มาตรา 77 จัตวา กำหนดว่า ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงกรณีนี้ปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นทายาทภายหลังจากที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายแล้วโดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 กำหนดว่าการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 มีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนั้น สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพที่โจทก์ทั้งสองกล่าวในฟ้องว่าคำว่า บุตร ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยเห็นว่าถ้ากฎหมายมีเจตนารมณ์จะให้หมายความรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรนอกกฎหมายด้วย ก็น่าจะบัญญัติไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือบัญญัติว่าบุตรชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือถ้อยคำอื่นๆ อันมีความหมายรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ดังนั้น คำว่าบุตรตามมาตรา 73 (2) ย่อมหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมิเช่นนั้นก็จะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่าเป็นบุตรของผู้ประกันตนจริงหรือไม่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 805/2546 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.3533

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่นายประยูรผู้ประกันตนถึงแก่ความตายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำว่า บุตร ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) หมายความเพียงบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเท่านั้น แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนก่อนหรือขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานถ้าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตายดังนี้... (2) เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดาหรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน..." เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "บุตร" ว่ามีความหมายอย่างไรตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็เขียนคำว่าบุตรไว้สองแบบคือ ตามมาตรา 73 (2) ที่กล่าวมาใช้คำว่า "บุตร" ส่วนในมาตรา 75 ตรี เกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และในมาตรา 77 จัตวา (1) เกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพใช้คำว่า "บุตรชอบด้วยกฎหมาย" เมื่อใช้คำต่างกันในพระราชบัญญัติเดียวกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า "บุตร" แตกต่างไปจากคำว่า "บุตรชอบด้วยกฎหมาย" โดยคำว่าบุตรนั้นถือเอาบุตรตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เมื่อพิจารณาประกอบเหตุผลว่าบทกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคมดังกล่าว คำว่า "บุตร" ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรอันแท้จริงของนายประยูร โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายประยูรผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยอุทธรณ์ต่อไปเป็นประการสุดท้ายว่า แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะได้มีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูร แต่การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันเป็นเวลาหลังจากที่นายประยูรผู้ประกันตนถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายก่อนหรือขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายในหกสิบเดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ" วรรคสอง บัญญัติว่า "ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย..." ดังนั้น ทายาทของผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) จึงต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ปรากฏว่านายประยูรผู้ประกันตนอยู่กินฉันสามีภริยากับนางกานดา สรรพัชญา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรสองคนคือโจทก์ทั้งสอง ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 นายประยูรถึงแก่ความตาย และวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 นางกานดากับโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย แต่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งว่านางกานดากับโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพเนื่องจากมิใช่ทายาทที่กฎหมายกำหนด ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้สั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูร และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรบิดาผู้วายชนม์ วันที่ 11 มีนาคม 2546 โจทก์ทั้งสองจึงได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรผู้ประกันตน เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ประสงค์จะให้ผู้ประกันตนหรือทายาทได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเพื่อเป็นการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตนประกอบกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเมื่อในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของนายประยูรผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-01 16:23:55



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล