ReadyPlanet.com


อยากทราบกฎหมายเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์สุนัขค่ะ


คือบ้านของดิฉันเป็นทาวน์เฮาส์ และมีข้างบ้านประมาณถัดไป 10 หลังมีการเช่าทาวน์เฮาส์ และมีการเพาะพันธุ์สุนัข จากที่เห็นตอนนี้มีหลายพันธุ์และหลายตัวประมาณ 20 ตัวค่ะ ถ้าเค้าให้สุนัขเค้าอยู่ในกรงที่บ้านก็จะไม่เดือดร้อนของข้างๆ บ้านอย่างดิฉัน แต่ประมาณ 2 วัน/อาทิตย์ เค้าจะนำสุนัขซึ่งในกรงเรียบร้อยดีค่ะ มาวางไว้หน้าบ้าน นั่นคือ สุนัข 20 ตัวแข่งกันเห่ากัน เป็นเวลากลางวันนี่แหละค่ะ ไม่ใช่ยามวิกาล แต่ทาวน์เฮ้าส์แต่ละหลังจะมีทั้งเด็กอ่อนบ้าง คนแก่บ้าง คนป่วยบ้าง เป็นการรบกวนทางเสียงมากค่ะ ไม่ได้อคติกับสุนัขแต่ 20 ตัวแข่งกันเห่า เป็นอะไรที่น่ารำคาญมากค่ะ

  ** เลยเรียนสอบถามค่ะ ว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์สุนัขเพื่อจำหน่ายมั้ยค่ะ และมีขอบเขตหรือไม่ เช่น ต้องเป็นบ้านเดี่ยว ห่างจากชุมชนเท่านั้นเท่านี้เมตร อะไรประมาณนั้นค่ะ

  และมีความผิดมั้ยที่เหล่าสุนัขดังกล่าวก่อเสียงรำคาญ เจ้าของต้องรับผิดชอบหรือเป็นการไม่สมควรมาเลี้ยงในสถานที่อยู่อาศัยค่ะ รบกวนด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ
 



ผู้ตั้งกระทู้ แอม :: วันที่ลงประกาศ 2012-02-21 10:33:22


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2255662)

ค้นหากฎหมายตามที่สอบถามแล้วไม่พบกฎหมายโดยตรงครับ แต่ เห็นร่าง พระราชบัญญัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำถามอยู่อันหนึ่ง แต่พยายามสืบค้นว่า มีผลใช้บังคับหรือยัง ตอนนี้ยังยืนยันไม่ได้ครับ นำมาให้อ่านก่อน หากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบครับ

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยง พ.ศ..............................

มาตรา๑  พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยง พ.ศ....................

มาตรา๒ พระราชบัญญัตินี้ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่.......................................................

มาตรา๓ ในพระราชบัญญัตินี้

               สัตว์เลี้ยง  หมายถึง สัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ความสวยงาม ความไพเราะของเสียง การแข่งขันความเร็ว  การกีฬา หรือเพื่อประการอื่นๆ หรือสัตว์อื่นๆที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนสัตว์เลี้ยง ยกเว้น การเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร   การเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน การเลี้ยงเพื่อผลิต นม หนัง กระดูก ขน ไข่  รัง เลือด เนื้อ น้ำหวาน หรือสัตว์ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะเลี้ยงตามกฎหมายว่าด้วยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือ  การเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์ทดลองหรือเพื่อการศึกษาวิจัยของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ

               อธิบดี   หมายถึง   อธิบดีกรมปศุสัตว์

               นายทะเบียนสัตว์เลี้ยง  หมายถึง   ปศุสัตว์จังหวัด  ในเขตกรุงเทพมหานครให้อธิบดี เป็นผู้แต่งตั้งนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงกรุงเทพมหานคร 

               เจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยง  หมายถึง   ปลัดเมืองพัทยาหรือผู้ได้รับมอบหมาย  ปลัดเทศบาลนครหรือผู้ได้รับมอบหมาย  ปลัดเทศบาลเมืองหรือผู้ได้รับมอบหมาย ปลัดเทศบาลตำบลหรือผู้ได้รับมอบหมาย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล หรือผู้ได้รับมอบหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครให้หมายความถึง ผู้อำนวยการเขตหรือผู้ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี

               สัตวแพทย์  หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพสัตว์แพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น   

               อาสาสมัครคุ้มครองสัตว์เลี้ยง  หมายถึง บุคคลซึ่งนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงได้แต่งตั้งให้เป็นอาสาสมัครคุ้มครองสัตว์โดยเลี้ยงมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัตินี้และตามที่อธิบดีกำหนด

               ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง หมายถึง    ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงหรือครอบครองดูแลโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์เลี้ยงจาก เจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยง

               ผู้ผลิตสัตว์เลี้ยง   หมายถึง    บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ทำการเพาะพันธุ์หรือขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยง หรือรับซื้อสัตว์เลี้ยงมาเพื่อการค้า  หรือนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกสัตว์เลี้ยงไปนอกราชอาณาจักร เพื่อ จำหน่าย แจก  ให้  ปล่อยสู่ธรรมชาติ บริจาค   ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงให้เป็นผู้ผลิตสัตว์เลี้ยง

 

มาตรา๔   ให้อธิบดีเป็นผู้รักษาการณ์ตามพระราชบัญญัตินี้                                                                                                                                                                                           

 

 หมวด ๑   ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง

 

มาตรา ๕   คุณสมบัติของผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง                                                                                                            

๑) บรรลุนิติภาวะ หากยังไม่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามแบบที่ นายทะเบียนสัตว์เลี้ยงกำหนด

๒) เป็นบุคคลที่มีจิตใจเมตตาสัตว์และต้องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างจริงจัง

๓) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

๔) คุณสมบัติอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖  ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงตามพระราชบัญญัตินี้ให้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงตามแบบที่นายทะเบียนสัตว์เลี้ยงกำหนด ต่อเจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงตามภูมิลำเนาท้องที่ ที่ประสงค์จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเช่นว่านั้น

             เมื่อเจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงได้รับคำร้องขอครอบครองสัตว์เลี้ยงตามวรรคหนึ่งแล้วให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน สามวัน ทำการโดยต้องพิจารณาถึง  ความสามารถในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ที่ประสงค์จะเลี้ยง  ความรับผิดชอบต่อภยันตรายต่อบุคคลอื่นๆอันอาจเกิดในภายหน้า  สถานที่ที่จะครอบครองหรือเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนั้นๆ หรือผลกระทบต่อส่วนรวม หรือสภาวะแวดล้อมไม่ว่าในทางใดๆ

 

มาตรา ๗  เมื่อผู้ประสงค์จะครอบครองสัตว์เลี้ยงได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงแล้วให้จัดทำสมุดบันทึกประจำตัวสัตว์เลี้ยงซึ่งจะต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้

                  แหล่งที่มาของสัตว์เลี้ยง รูปพรรณสัณฐาน การป้องกันโรค  การควบคุมความดุร้าย การควบคุมการแพร่พันธุ์ การโอนสิทธิการครอบครอง  หรือรายการอื่นใดตามที่นายทะเบียนสัตว์เลี้ยงกำหนด

                 ในกรณีที่เจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ให้ผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองสัตว์เลี้ยงยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงภายใน สิบห้าวัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงมีคำสั่ง

                 นายทะเบียนสัตว์เลี้ยงต้องวินิจฉัยคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน สิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขออุทธรณ์    

                 คำวินิจฉัยของนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงถือเป็นสิ้นสุด

มาตรา  ๘  ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงต้องจัดให้มี อาหาร น้ำสะอาด  แสงสว่างตามชนิดของสัตว์เลี้ยง และจัดให้มีบริเวณสถานที่ซึ่งพอสมควรแก่การดำรงชีวิตของสัตว์เลี้ยงนั้น             

                การครอบครองสัตว์เลี้ยงนั้น ต้องไม่  เป็นการกระทำที่เป็นการทารุณ  กักขังหรือควบคุมที่เป็นการทรมานสัตว์ ลงโทษอย่างทารุณ ล่ามโซ่หรือเชือกหรือวัตถุที่ผิดไปจากการกระทำตามปกติของคนเลี้ยงสัตว์ หรือไม่ว่าการกระทำอื่นใดที่ทำให้สัตว์นั้นได้รับทุกขเวทนา

                ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง ต้องควบคุมสัตว์เลี้ยงมิให้ส่งเสียงดังอันมีลักษณะก่อให้เกิดความรำคาญแก่บุคคลอื่น  ต้องรักษาความสะอาดโดยไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน หรืออาจก่อให้เกิดโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรค   รวมถึงการควบคุมมิให้ก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะในที่สาธารณะและจัดให้มีการป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแก่บุคคลอื่นในที่สาธารณะ  

                ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงต้องยินยอมให้ นายทะเบียนสัตว์เลี้ยง หรือ เจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยง สามารถตรวจตราการเลี้ยงสัตว์  สถานที่เลี้ยงสัตว์ คอกสัตว์ ได้ตามสมควรซึ่งต้องไม่เป็นการรบกวนสิทธิของผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง  ไม่เป็นการรบกวนสัตว์เลี้ยง และไม่ขัดต่อกฎหมาย

                การกระทำตามวรรคสี่ เมื่อนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงหรือเจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงได้ตรวจตราแล้วเห็นว่า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนั้น ไม่เป็นตามหลักการมาตรฐานที่พึงเป็น หรือฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ อาจสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้  หรือเจ้าพนักงานคุ้มครองสัตว์เลี้ยงอาจเสนอต่อนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงสั่งเพิกถอนใบอนุญาตครอบครองสัตว์เลี้ยงนั้นก็ได้

มาตรา  ๙  ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงต้องจัดให้มีการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัดซึ่งต้องจัดให้มีการป้องกันโรคระบาดตามปกติของสัตว์แต่ละประเภท รวมถึงการถ่ายพยาธิของสัตว์เลี้ยงนั้นๆ 

              ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงต้องแสดงหลักฐานว่า สัตว์เลี้ยงที่ครอบครองอยู่นั้นได้รับการป้องกันโรคระบาดประจำตัวสัตว์เลี้ยงแล้วโดยการบันทึกลงในสมุดประจำตัวสัตว์เลี้ยงและแสดงหลักฐานประจำตัวสัตว์เลี้ยงตามแบบที่อธิบดีกำหนดด้วย                                                                                                                          

มาตรา  ๑๐ ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงต้องจัดให้มีการควบคุมการแพร่พันธุ์หรือการขยายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงตามมาตรฐานการสัตวแพทย์  ในกรณีที่ประสงค์จะแพร่พันธุ์หรือขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงให้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้ผลิตสัตว์เลี้ยงต่อนายทะเบียนสัตว์เลี้ยงตามพระราชบัญญัตินี้

             สัตว์เลี้ยงที่ประสงค์จะแพร่พันธุ์หรืขยายพันธุ์ตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสายพันธุ์ ได้รับการรับรองการปลอดจากโรคที่ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมและโรคระบาดโดยสัตวแพทย์                                                     

             กรณีสัตว์เลี้ยงที่ประสงค์จะแพร่พันธุ์หรือขยายพันธุ์ตามวรรคหนึ่งนั้น สัตวแพทย์ไม่สามารถให้การรับรองได้ตามมาตรฐานการสัตวแพทย์  ให้นายทะเบียนสัตว์เลี้ยงสั่งให้ผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงจัดการทำหมันสัตว์เลี้ยงนั้นหรือดำเนินการอื่นใดตามหลักวิชาการสัตวแพทย์เพื่อมิให้แพร่พันธุ์หรือขยายพันธุ์ได้อีก  ภายใน สิบห้าวัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง

              การทำหมันสัตว์เลี้ยงนั้นหรือการดำเนินการใดๆตามวรรคสามต้องมีสัตวแพทย์เป็นผู้ให้การรับรองและแจ้งต่อนายทะเบียนโดยมิชักช้า 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-02-23 13:29:59


ความคิดเห็นที่ 2 (2255852)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น แอม วันที่ตอบ 2012-02-24 10:33:14



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล