ReadyPlanet.com


รับจำนองที่ดิน และผู้จำนองไม่ส่งดอกเบี้ยตามที่ตกลง


รับจำนองที่ดินไว้ ซึ่งผู้จำนองตกลงชำระดอกเบี้ยทุก ๆ เดือน แต่ผู้จำนองไม่ทำตามที่ตกลงและขาดการชำระดอกเบี้ยมานานแล้ว จะต้องทำอย่างไรค่ะ ถึงจะสามารถยึดที่ดินและเปลี่ยนชื่อมาเป็นของเราค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ วรรณวิภา :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-09 16:19:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2283719)

เนื่องจากผมไม่เห็นสัญญาจำนอง จึงไม่ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาว่าผูกพันกันอย่างไร แต่หากสรุปว่า ผู้จำนองผิดสัญญา ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้รับจำนองจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองเสีย ถ้าผู้จำนองเพิกเฉยก็ต้องฟ้องบังคับจำนอง คือ ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป ตามคำถาม ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยึดที่ดินและเปลี่ยนชื่อมาเป็นของ ผู้รับจำนองได้  สำหรับคำตอบในเรื่องนี้ ขั้นตอนก็ต้องฟ้องบังคับจำนองเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าหากผู้จำนองขาดส่งดอกเบี้ยครบ 5 ปี และราคาทรัพย์ไม่มากกว่าหนี้ที่จำนอง+ดอกเบี้ย และทรัพย์นั้นมีผู้รับจำนองเพียงคนเดียวและไม่มีภาระหนี้อื่น ๆ ที่ผูกพันทรัพย์นั้น ก็สามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของผู้รับจำนองได้ครับ

มาตรา 728  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

มาตรา 729  นอกจากทางแก้ดั่งบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนั้น ผู้รับจำนองยังชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี
(2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระ และ
(2) ไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้เอง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-07-01 08:49:50


ความคิดเห็นที่ 2 (2283721)

เอาทรัพย์จำนองหลุด
แม้ทรัพย์จำนองจะเป็นของคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เอามาประกันไว้ เมื่อขายได้เงินไม่พอใช้หนี้ ลูกหนี้ก็ยังไม่ต้องรับผิดอยู่ กล่าวคือ เมื่อเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3535/2550

มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

 
          ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติว่า “...ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น บทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น
  
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีอากรค้างสำหรับยอดภาษีที่ค้างชำระตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ และแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.40 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระได้ ในการทำสัญญาผ่อนชำระของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินรวม 30 แปลง เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรภายหลังที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาผ่อนชำระ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดโดยผ่อนชำระไม่เป็นไปตามงวดหลายครั้งอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำร้องที่จำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระต่อโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกการผ่อนชำระไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าภาษีที่ค้างมาชำระเฉพาะค่าภาษีจนหมดคงค้างแต่เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นรวมเป็นเงิน 1,568,132.31 บาท โจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระแต่อย่างใด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,568,132.31 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
          จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารท้ายฟ้องและสำนวนการตรวจสอบรวมทั้งสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลแทนการสืบพยาน
          ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระภาษีบำรุงเทศบาลเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ 1,568,132.31 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดแล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์
          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 แล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติว่า “...ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 733 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
          อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ร่วม แต่เป็นผู้จำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,568,132.31 บาท แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
 
 
( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - ทองหล่อ โฉมงาม - ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม )
 
 
หมายเหตุ
          ป.พ.พ. มาตรา 733 แม้ทรัพย์จำนองจะเป็นของคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เอามาประกันไว้ เมื่อขายได้เงินไม่พอใช้หนี้ ลูกหนี้ก็ยังไม่ต้องรับผิดอยู่ กล่าวคือ เมื่อเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
           ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ค่าภาษีอากรค้างนำทรัพย์มาจำนองโดยไม่มีการทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ไว้ มีปัญหาในทางปฏิบัติที่น่าคำนึงถึงว่า หากให้จำเลยที่ 2 ทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ไว้ จำเลยที่ 2 จะยอมนำทรัพย์สินมาจำนองหรือไม่ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับการทำสัญญาค้ำประกัน กล่าวคือเท่ากับจำเลยที่ 2 ต้องนำทรัพย์สินของตนทั้งหมดมาเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจมีเจตนาเพียงนำทรัพย์สินที่นำมาจำนองเท่านั้นเป็นประกันการชำระหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในทางกลับกันหากจำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินมาจำนองโดยไม่ทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 กรมสรรพากรอาจจะไม่ยอมรับหลักประกันอันนี้ไว้ เพราะหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสองก็หลุดพ้นจากหนี้ที่ขาดจำนวนอยู่ตามหลักการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นและตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้
           แต่ตามฎีกาประชุมใหญ่ที่วินิจฉัยว่า "สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด" มีปัญหาที่น่าพิจารณาว่า การทำข้อตกลงยกเว้น มาตรา 733 นี้จะต้องเป็นการกระทำระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ประธานเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้เสมือนว่าจะต้องเป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 ที่เป็นลูกหนี้ในหนี้ประธานเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ทรัพย์ที่นำมาจำนองเป็นหลักประกันเป็นของจำเลยที่ 2 จากคำวินิจฉัยนี้จึงทำให้ตีความได้หลายรูปแบบในกรณีทรัพย์ที่นำมาจำนองเป็นของคนอื่นเอามาประกันไว้
           รูปแบบที่ 1 หากลูกหนี้ที่เป็นหนี้ประธานหรือจำเลยที่ 1 ไม่ทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ลูกหนี้ดังกล่าวไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดจำนวน ซึ่งรวมถึงบุคคลอื่นหรือจำเลยที่ 2 ที่นำทรัพย์มาจำนองเป็นประกันไว้ด้วย ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้
           รูปแบบที่ 2 หากลูกหนี้ที่เป็นหนี้ประธานหรือจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ลูกหนี้ดังกล่าวคงต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดจำนวน ซึ่งมีปัญหาที่น่าพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 จะเข้าไปทำสัญญายกเว้นมาตรา 733 ในทรัพย์ที่นำมาจำนองของบุคคลอื่นได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้แล้วบุคคลอื่นที่นำทรัพย์มาจำนองเป็นประกันไว้หรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ด้วย จำเลยที่ 2 ยังจะต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดจำนวนอยู่หรือไม่ คงต้องรอคำวินิจฉัยในอนาคตต่อไป
           รูปแบบที่ 3 หากลูกหนี้ที่เป็นหนี้อุปกรณ์หรือจำเลยที่ 2 ทำข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 โดยลูกหนี้ที่เป็นหนี้ประธานหรือจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำข้อตกลงดังกล่าวด้วย ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ประธานหรือจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดจำนวนหรือไม่คงต้องรอคำวินิจฉัยในอนาคตต่อไปอีกเช่นกัน
           ผู้เขียนเห็นว่า กรณีที่ไม่มีข้อตกลงตามสัญญาจำนองยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์จำนองที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองนั้น ควรจะต้องเป็นกรณีที่ไม่มีข้อตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาจำนอง ดังนั้น ไม่น่าจะเป็นกรณีที่ไม่มีข้อตกลงตามสัญญาจำนองยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเหตุผลในคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญาจำนอง
         
         
          นรินทร ตั้งศรีไพโรจน์
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 08:55:38


ความคิดเห็นที่ 3 (2283722)

ฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ ย่อมฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7155/2541

มาตรา 729  นอกจากทางแก้ดั่งบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนั้น ผู้รับจำนองยังชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี
(2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระ และ
(3) ไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้เอง

มาตรา 745  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้
 
 
          จำเลยร่วมกู้เงินโจทก์ โดยจำเลยนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน จำเลยร่วมค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปีเศษโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น กล่าวคือ ห้ามบังคับจำนองหนี้ประเภทเดียวคือดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความหรือไม่ก็ตาม หาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยในส่วนที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี เท่านั้น โจทก์รับจำนองที่ดินของจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 100,000 บาท ขณะนั้นที่ดินจำเลยมีราคามากกว่าหนึ่งแสนบาทประกอบกับในระยะเวลาตั้งแต่รับจำนองราคาที่ดินโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแม้ขณะนี้ราคาที่ดินจะลดไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นการลดเพียงเล็กน้อยแม้ในขณะฟ้องคดีราคาที่ดิน ของจำเลยก็ยังต้องสูงกว่าราคาขณะจำนองหลายเท่าตัว อยู่นั่นเอง ปัญหาในเรื่องราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนเงิน ที่ค้างชำระหรือไม่ เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แม้จำเลยไม่ได้นำสืบ แต่เมื่อข้อนำสืบของโจทก์หรือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและที่รู้กันอยู่ทั่วไปบ่งชี้ไว้ ศาลก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ ย่อมฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้โจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(3) นั้นปัญหานี้เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้หรือไม่ แต่โจทก์ไม่ได้ ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาย่อมไม่รับ วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
 
           โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2530นายอิศราภรณ์ กล่ำเครืองาน กู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนโดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 28890 เป็นประกันต่อมานายอิศราภรณ์ผิดสัญญา ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาเกินกว่า 7 ปี แต่โจทก์ขอคิดเพียง 7 ปี รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 205,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วนายอิศราภรณ์เพิกเฉยโจทก์จึงทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยหนี้ที่นายอิศราภรณ์จำเลยร่วมค้างชำระท่วมราคาทรัพย์จำนองและทรัพย์จำนองไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิ์อื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์จำนอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน205,000 บาท หากไม่ชำระขอให้เอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นของโจทก์โดยให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์พร้อมชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีแทนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยแต่หากไม่สามารถปฏิบัติได้ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
          จำเลยให้การว่า ทรัพย์จำนองมีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ที่โจทก์ขอให้เอาทรัพย์จำนองหลุดจึงไม่ขอบ โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายอิศราภรณ์ กล่ำเครืองามเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
          จำเลยร่วมไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดทั้งมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง และโจทก์มิได้มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยร่วมยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยร่วมออกเสียจากสารบบความ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกิน5 ปี และเป็นเงินไม่เกิน 105,000 บาท แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 28890 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกู้เงินโจทก์ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 28890 มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันจำเลยร่วมค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา7 ปีเศษ โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จากจำเลยหรือไม่เห็นว่า แม้ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะไม่ได้วินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน สำหรับประเด็นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า"ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้" ซึ่งหมายความว่าผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น กล่าวคือห้ามบังคับจำนองหนี้ประเภทเดียวคือดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความหรือไม่ก็ตาม หาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาไม่ดังนั้น ในกรณีนี้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในส่วนที่ค้างชำระไม่เกินห้าปีเท่านั้น
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อต่อไปมีว่าโจทก์ชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729 ได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์รับจำนองที่ดินของจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2530เพื่อเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 100,000 บาท แสดงว่าขณะนั้นที่ดินจำเลยต้องมีราคามากกว่าหนึ่งแสนบาทอย่างแน่นอน เพราะโดยวิสัยคนทั่วไปย่อมไม่รับจำนองที่ดินในราคาที่เท่ากับราคาที่ดินเป็นแน่ ประกอบกับในระยะเวลาตั้งแต่รับจำนองจนถึงบัดนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าราคาที่ดินโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแม้ขณะนี้ราคาที่ดินจะลดไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นการลดเพียงเล็กน้อย กล่าวโดยสรุปแม้ในขณะนี้ราคาที่ดินของจำเลยก็ยังต้องสูงกว่าราคาขณะจำนองหลายเท่าตัวอยู่นั่นเอง ราคาทรัพย์จำนองจึงท่วมจำนวนเงินที่ค้างชำระที่โจทก์ฎีกาว่า ปัญหาในเรื่องราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนเงินที่ค้างชำระหรือไม่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องนำสืบ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบ ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหานี้นอกเหนือจากข้อนำสืบของโจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แม้จำเลยไม่ได้นำสืบ แต่เมื่อข้อนำสืบของโจทก์หรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและที่รู้กันอยู่ทั่วไปบ่งชี้ไปเช่นที่ศาลวินิจฉัยไว้แต่ต้นศาลก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาในข้อสุดท้ายมีว่าขอให้โจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(3) นั้น เห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้หรือไม่ และปัญหานี้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
          พิพากษายืน
 
 
( ไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ - พิมล สมานิตย์ - ชวลิต ธรรมฤาชุ )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:02:50


ความคิดเห็นที่ 4 (2283724)

 ไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับจำนองเอาทรัพย์จำนองหลุด
เมื่อไม่ปรากฏว่าในการขายทอดตลาดได้มีการปฏิบัติไปในทางฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว แม้ราคาทรัพย์ที่โจทก์ประมูลได้จะมีราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์รับจำนองไว้ก็หาทำให้การซื้อทรัพย์เป็นไปโดยมิชอบ และแม้โจทก์ชอบที่จะเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแต่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเข้าสู้ราคาด้วยตนเองได้ หามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามไว้แต่ประการใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3519/2535

มาตรา 513  เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้
 
          การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามคำสั่งศาลนั้นกฎหมายมีเจตนารมณ์ ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลสูงสุดในการประมูลครั้งนั้นต่ำไป เป็นราคาที่ไม่สมควรหรือควรจะได้ราคาที่สูงกว่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขาย แล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ได้ แม้โจทก์จะเป็นผู้ประมูลได้โดยเสนอราคาสูงสุดซึ่งสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตาม แต่ราคาดังกล่าวหาใช่เป็นการประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริงไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจคำนวณราคาท้องตลาดได้โดยอาศัยวงเงินที่โจทก์รับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะ รับจำนองในวงเงินที่ต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง ทั้งกรณีเป็นการประกาศขายทอดตลาดครั้งแรกหลังการจำนองเกินกว่า 5 ปี ราคาน่าจะต้องสูงขึ้นไปอีกมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีพอจะเห็นได้ว่า ราคาซึ่งโจทก์เสนอสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอโดยต่ำกว่าวงเงินที่โจทก์รับจำนอง ฉะนั้น หากถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดในครั้งนี้แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่ อาจได้ราคาสูงกว่าที่โจทก์เสนอ ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายทรัพย์แก่โจทก์จึงเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 513ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 308.
  
          คดีสืบเนื่องจาก ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 6,010,543.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ไม่ชำระตามคำบังคับ โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14288 แขวงวัดเทพศิรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ 7 ชั้นครึ่ง จำนวน 1 หลัง ของจำเลยที่ 1 และทำการขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 เป็นจำนวนเงิน 4,200,000 บาท
          จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าราคาที่ขายต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก โดยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอยู่ในย่านธุรกิจที่มีความเจริญ ก่อนจะมีการขายทอดตลาดเคยมีคนมาติดต่อขอซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 9,500,000 บาท โจทก์เป็นผู้ซื้อโดยสมคบกับเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาทรัพย์ต่ำกว่าราคาจริง และเป็นการขายครั้งแรกโดยจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแล้ว การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอน
          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคาไม่เกิน2,195,000 บาท โจทก์ซื้อในราคา 4,200,000 บาท เกินกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์มิได้สมคบกับเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วประเมินราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริง จำเลยที่ 1ต้องการประวิงคดี ขอให้ยกคำร้อง
          ในระหว่างพิจารณาเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งรายงานการยึดและการขายทอดตลาดต่อศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานแล้วมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วยกคำร้องของจำเลยที่ 1
          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยที่ 1 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามคำสั่งศาลนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลสูงสุดในการประมูลครั้งนั้นต่ำไปเป็นราคาที่ไม่สมควร หรือควรจะได้ราคาที่สูงกว่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขาย แล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 บัญญัติว่า"เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดได้" คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามสัญญาจำนองเอกสารท้ายฟ้องว่า ที่ดินพร้อมตึกแถวที่ขายทอดตลาดในครั้งนี้ธนาคารโจทก์เคยรับจำนองจากจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2526 เป็นจำนวนเงินถึง 5,000,000 บาท ซึ่งตามประเพณีของธนาคารจะให้วงเงินจำนองต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงการขายทอดตลาดในครั้งนี้ได้กระทำหลังจากการรับจำนองเกินกว่า5 ปี ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นอาคารพาณิชย์เป็นตึกสูง 7 ชั้นครึ่งพร้อมที่ดินอยู่ในย่านทำเลการค้า น่าเชื่อว่ามีราคาสูงขึ้นกว่าตอนโจทก์รับจำนองอีกมาก อันเป็นราคาที่สูงขึ้นตามปกติของที่ดินในท้องตลาดทั่วไปแม้การประมูลในครั้งนี้ผู้ประมูลให้ราคาสูงสุดถึง 4,200,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งประเมินเพียง 1,805,000 บาท แต่การประเมินดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณราคาเพื่อนำมาคำนวณค่าธรรมเนียมในกรณียึดแล้วไม่มีการขาย และเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึดเพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการประมาณราคาแบบคร่าว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง แต่การขายทอดตลาดนั้นผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาโดยอาศัยวงเงินที่โจทก์รับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนองในวงเงินที่ต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริงทั้งขายทอดตลาดหลังการจำนองเกิน 5 ปี ราคาน่าจะต้องสูงขึ้นไปอีกมากการขายทอดตลาดในครั้งนี้เป็นการประกาศขายครั้งแรก ผู้ทอดตลาดพอจะเห็นได้ว่า ราคาซึ่งผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ หากถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดในครั้งนี้แล้วประกาศการขายทอดตลาดใหม่อาจได้ราคาสูงกว่าที่โจทก์เสนอราคาในครั้งแรกดังที่จำเลยที่ 1คัดค้านไว้ก็ได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แล้วน่าเชื่อว่าหากมีการประกาศขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด เป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อมาตรา 513 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 308 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังขึ้น"
          พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้ โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ต่อไป.
 
 
( เพ็ง เพ็งนิติ - เจริญ นิลเอสงฆ์ - บุญธรรม อยู่พุก )
 
 
หมายเหตุ
          1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ได้วินิจฉัยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2535
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2535 ตั้งแต่โจทก์เริ่มฟ้องคดีจนถึงวันขายทอดตลาดได้เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ได้ทำการขายทอดตลาดมาเป็นครั้งที่ 11 และราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลได้ก็สูงกว่าราคาปานกลางที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้อีกทั้งยังสูงกว่าราคาที่ผู้แทนโจทก์เคยกำหนดว่าควรขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบที่จะอนุมัติให้ขายได้
           โดยในตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2535 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า "...เรื่องขายทอดตลาดทรัพย์เพื่อนำเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการ ประการแรก ราคาทรัพย์ที่แท้จริงประมาณเท่าใด ประการที่สอง สมควรจะขายได้แล้วหรือไม่..." ดังนั้น ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงจำเป็นจะต้องนำหลักเกณฑ์ทั้งสองประการมาพิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจอนุมัติการขายทอดตลาด หรือถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดด้วย เช่นในกรณีที่มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินหลายครั้งและเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว หากปรากฏว่าในการขายทอดตลาดครั้งสุดท้าย เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติการขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด แม้ราคาจะต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตามถือว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2792/2532 ที่ 2135/2532) หรือในกรณีที่ราคาขายทอดตลาดสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วยแล้ว การขายทอดตลาดก็ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2504/2535 ที่ 262/2535)
           อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นการประกาศขายทอดตลาดเพียงครั้งแรก(ไม่นับการประกาศขายทอดตลาดที่มีการเลื่อนการขายออกไป) เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติการขายให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด แต่ต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นอันมาก ถือว่าเป็นการบังคับคดีโดยมิชอบ(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2533) หรือในกรณีที่ราคาขายทอดตลาดสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการ (เข้าใจว่าเป็นราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน)ก็ถือว่าเป็นการขายทอดตลาดที่มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2534)
           สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ ได้วินิจฉัยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ ในเรื่องราคาทรัพย์ที่แท้จริงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช่ราคาท้องตลาดที่แท้จริง แต่เป็นการประมาณราคาทรัพย์ที่ควรจะขายทอดตลาดได้พอชำระหนี้และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีเท่านั้น แม้ว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 37 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการประเมินราคาที่ดิน โดยคำนึงถึงราคาต่าง ๆ ประกอบการพิจารณา ได้แก่ ราคาซื้อขายในท้องตลาดราคาที่ดินตำบลนั้นหรือใกล้เคียง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเคยขายทอดตลาดไปแล้วราคาซื้อขายหรือจำนองหรือขายฝากครั้งสุดท้ายของที่ดินที่ยึดและที่ดินข้างเคียงและราคาประเมินปานกลางของสำนักงานที่ดิน ส่วนในกรณีที่เป็นการประเมินราคาทรัพย์นอกจากที่ดินตามระเบียบดังกล่าวในข้อ 38 ได้กำหนดให้พิจารณาจากราคาซื้อขายในท้องตลาดตามสภาพความเก่าใหม่ของทรัพย์นั้นด้วยก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่าการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการประเมินแบบคร่าว ๆ เท่านั้นประกอบกับในคดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนตามสัญญาจำนองเอกสารท้ายฟ้องว่าโจทก์เคยรับจำนองที่ดินพร้อมตึกแถวที่ขายทอดตลาดเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีเป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท (ตามระเบียบและประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์จะรับจำนองที่ดินในวงเงินไม่เกินกว่าร้อยละ 80 ของราคาทรัพย์ที่แท้จริง) แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินดังกล่าวของจำเลยเป็นเงินเพียง 1,805,000 บาทแสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้นำวงเงินที่โจทก์รับจำนองมาพิจารณาประกอบในการประเมินราคา ศาลฎีกาจึงไม่ยึดถือราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี และได้ใช้วงเงินจำนองเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาราคาทรัพย์ที่แท้จริงแทน เมื่อราคาขายทอดตลาดที่โจทก์ประมูลได้เป็นเงินเพียง 4,200,000 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าราคาจำนองอยู่มาก ประกอบกับที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในย่านธุรกิจการค้า ราคาซื้อขายในท้องตลาดในขณะที่ขายทอดตลาดย่อมต้องสูงกว่าเมื่อโจทก์รับจำนอง ดังนั้น ราคาขายทอดตลาดครั้งนี้จึงยังต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง และเมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ของการขายทอดตลาดอีกประการหนึ่งที่ว่า ถึงกำหนดเวลาที่สมควรจะขายทรัพย์ที่ยึดได้แล้วหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้เป็นการประกาศขายเพียงครั้งแรกเท่านั้น ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีควรจะต้องถอนทรัพย์ออกจากการขายทอดตลาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 แล้วเลื่อนไปประกาศขายทอดตลาดใหม่ก็อาจขายทอดตลาดได้ราคาสูงกว่าที่โจทก์เสนอซื้อในครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นของศาลฎีกา เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่จะต้องขายทอดตลาดทรัพย์ให้ได้ราคาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2533ที่ 1461/2508) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาด แต่ได้อนุมัติให้ขายทรัพย์แก่โจทก์ จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 308 นอกจากนี้ผู้เขียนยังเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบในการขายทอดตลาดทรัพย์ ที่จะต้องคำนึงถึงราคาซื้อขายในท้องตลาด ราคาจำนองและราคาอื่น ๆ ประกอบกันด้วยแต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะโจทก์เคยรับจำนองทรัพย์ดังกล่าวในราคา 5,000,000 บาท แต่โจทก์ประมูลซื้อทรัพย์ในราคาเพียง 4,200,000 บาท ในขณะที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ถึง 6,010,543.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยเมื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหลังหักค่าธรรมเนียมการบังคับคดีแล้วจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่อีกมาก จำเลยจึงชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
           จะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยก็คือ เรื่องราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่โจทก์เคยรับจำนองอันถือเป็นการขายทอดตลาดที่มิชอบ ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยถึงเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2533 วินิจฉัยว่า ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้เข้าสู้ราคาโดยชอบและไม่ปรากฎพฤติการณ์ส่อว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแก่ผู้สู้ราคาสูงสุด ดังนี้ ถือว่าการขายทอดตลาดสมบูรณ์แล้ว โจทก์จะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดใหม่โดยอ้างว่าราคาที่ขายได้ต่ำกว่าราคาเป็นจริง และราคาประเมินของกรมที่ดิน หรือราคาที่โจทก์รับจำนองไว้จากจำเลย และมีผู้จะซื้อในราคาสูงกว่าหาได้ไม่
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2531 วินิจฉัยว่า ได้มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยรวม 9 ครั้งแล้ว โดยเฉพาะในครั้งหลังสุดทรัพย์รายการที่ 1 และที่ 2 โจทก์ผู้เข้าประมูลได้ให้ราคาสูงกว่าครั้งก่อน ๆ ทั้งจำเลยก็มิได้แถลงคัดค้าน เมื่อไม่ปรากฏว่าในการขายทอดตลาดได้มีการปฏิบัติไปในทางฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว แม้ราคาทรัพย์ที่โจทก์ประมูลได้จะมีราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์รับจำนองไว้ก็หาทำให้การซื้อทรัพย์เป็นไปโดยมิชอบ และแม้โจทก์ชอบที่จะเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแต่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเข้าสู้ราคาด้วยตนเองได้ หามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามไว้แต่ประการใดไม่
           ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2533 นั้น มีข้อเท็จจริงปรากฏด้วยว่า เป็นการขายทอดตลาดครั้งแรกหลังจากที่ได้ประกาศเลื่อนการขายมาครั้งหนึ่งแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ในครั้งนี้เป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่โจทก์ โจทก์เห็นว่าราคาขายทอดตลาดต่ำเกินไป จึงยื่นคำคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยไม่ทำการไต่สวน ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยเห็นว่าประการที่หนึ่งโจทก์ไม่ได้คัดค้านด้านการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ประการที่สองราคาขายทอดตลาดครั้งนี้สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและเป็นราคาที่สูงพอสมควรแล้ว ประการที่สาม ไม่ปรากฏพฤติการณ์ส่อว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ประการที่สี่คำร้องคัดค้านของโจทก์อ้างแต่เพียงว่าราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาเป็นจริง ราคาประเมินของกรมที่ดินหรือราคาที่โจทก์รับจำนองไว้จากจำเลย และมีผู้จะซื้อในราคาสูงกว่าเท่านั้น โดยมิได้ระบุพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่าคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยหลักกฎหมายปิดปาก(Estopple) มากกว่าหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดตามที่ได้กล่าวมาแล้วกล่าวคือ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์มีโอกาสที่จะคัดค้านการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ก่อนที่จะทำการขายทอดตลาด แต่โจทก์ก็หาได้คัดค้านไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแก่ผู้สู้ราคาสูงสุดแล้ว โจทก์จะคัดค้านอีกไม่ได้ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2262/2533 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาท ผู้แทนโจทก์ได้ลงชื่อเป็นผู้นำยึดไว้ด้วย โดยไม่คัดค้านราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่ามีผู้สู้ราคาสูงกว่าราคาที่ประมาณไว้ จึงรายงานต่อศาลว่าสมควรขายศาลมีคำสั่งอนุญาต แสดงว่าราคาเหมาะสมแล้ว การขายทอดตลาดจึงชอบด้วยกฎหมาย)
           สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2531 นั้น มีข้อเท็จจริงว่าได้มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยถึง 9 ครั้งแล้วครั้งสุดท้ายโจทก์ให้ราคาสูงกว่าครั้งก่อน ๆ โดยจำเลยมิได้คัดค้านราคาและมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นเสียก่อนเช่นนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขายทรัพย์แก่โจทก์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2532ที่ 6213/2531 และ ที่ 1357/2530) การที่จำเลยมิได้คัดค้านราคาขายทอดตลาดในขณะทำการขายทอดตลาดนั้นเป็นไปตามหลักกฎหมายปิดปาก ดังนั้น จำเลยย่อมมิอาจยกขึ้นกล่าวอ้างคัดค้านราคาขายทอดตลาดในภายหลังได้อีก แต่ถ้าจำเลยไม่ได้คัดค้านการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพราะจำเลยมีความหวังว่าจะเจรจาตกลงกับโจทก์ได้ก่อนที่จะมีการบังคับคดีจำเลยอาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอีกได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2534)
           จะเห็นได้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2533 และที่2762/2531 มิได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาจำนองไว้โดยตรง แต่ได้วินิจฉัยในประเด็นอื่นเป็นสำคัญ กรณีจึงแตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ ซึ่งเป็นการประกาศขายทอดตลาดครั้งแรกจำเลยได้คัดค้านราคาขายทอดตลาดและได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นแล้ว (แต่ไม่ปรากฏข้อโต้เถียงว่าจำเลยได้คัดค้านราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่) ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นเรื่องราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่โจทก์รับจำนองได้ อย่างไรก็ตามเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2532วินิจฉัยในประเด็นนี้ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2532 วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างใหม่ พ. ผู้ร้องซึ่งซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลจึงมีสิทธิฎีกา
           ในการขายทอดตลาดชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายที่พิพาทเพราะเห็นว่าราคาขายสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้แต่ราคาที่อนุญาตให้ขายนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ดังนั้น สมควรขายทอดตลาดที่พิพาทดังกล่าวใหม่
           โดยในตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมีว่า "...ปัญหามีว่าเมื่อมีการขายทอดตลาด ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขายไปในราคาเพียง 850,000 บาท จะมีราคาต่ำกว่าราคาเป็นจริงหรือไม่ ได้ความว่า ในวันขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว เฉพาะที่พิพาทมีผู้เข้าสู้ราคา 3 คน ผู้ร้องเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 850,000 บาท แต่การขายทรัพย์รายนี้ปรากฏว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างแถลงว่า ราคาขายยังต่ำไปแม้ต่อมาจำเลยกลับแถลงไม่คัดค้านแต่โจทก์ยังคงคัดค้านอยู่ และแม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขายที่พิพาทได้เพราะเห็นว่าราคาที่ขายสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ในขณะทำการยึดทรัพย์ซึ่งมีราคา 600,000 บาท ก็ตาม แต่การที่โจทก์ยอมรับจำนองที่พิพาทไว้จากจำเลยเป็นเงินจำนวนถึง 2,500,000 บาท และจำเลยเองก็เคยทำหนังสือยอมรับกับโจทก์ตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์หมายเลข 3ว่า ที่พิพาทมีราคาในขณะที่จำเลยทำหนังสือถึงโจทก์ เมื่อวันที่12 ธันวาคม 2532 ว่ามีราคาไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทย่อมแสดงว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่พิพาทไปในราคาเพียง 850,000 บาทนั้นมีราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก..."
           ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2535 ที่ได้วางหลักเกณฑ์ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งจะต้องคำนึงถึงราคาทรัพย์ที่แท้จริงหรือราคาซื้อขายในท้องตลาด และกำหนดเวลาที่สมควรจะขายทอดตลาดทรัพย์ได้แล้วหรือไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงจะอนุมัติการขายหรือถอนการขาย เพื่อประกาศขายทอดตลาดใหม่ได้ตามกฎหมายสำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ ก็ได้วางหลักเกณฑ์ซึ่งน่าจะถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้ว่า ราคาประเมินทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจมิใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริงหรือราคาซื้อขายในท้องตลาดและในกรณีทรัพย์ที่ยึดมาขายทอดตลาดเคยมีการจำนองไว้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปในราคาต่ำกว่าราคาจำนองถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
           สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบเพราะราคาขายต่ำไป และให้เพิกถอนการขายนั้น พอสรุปได้ดังนี้
           กรณีที่ 1 ราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2528)
           กรณีที่ 2 ราคาขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและราคาประเมินกรมที่ดิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2533)หรือต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานวางทรัพย์กลาง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2534)
           กรณีที่ 3 ราคาขายต่ำกว่าราคาประเมินและราคาในท้องตลาด(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2532)
           กรณีที่ 4 ราคาขายสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ต่ำกว่าราคาประเมินราชการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2534)หรือต่ำกว่าความเป็นจริงมาก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2532) หรือต่ำกว่าราคาที่โจทก์เคยรับจำนอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2532)
          2. กรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ราคาที่โจทก์เคยรับจำนอง ราคาทรัพย์ที่แท้จริงหรือราคาซื้อขายในท้องตลาดนั้นเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้วหรือไม่
           ในปัญหานี้ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6067/2534 วินิจฉัยว่า"...อ้างว่าราคาที่ขายทอดตลาดไปในวันดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง แต่มิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง แต่อย่างใดศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยเสียโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน... ส่วนปัญหาว่า ราคาขายทอดตลาดต่ำไปหรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการบังคับคดีว่าฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด..."(มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยในทำนองเดียวกันคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2532 ที่ 1550-1551/2530 และที่ 2927/2527)
           ด้วยความเคารพ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเนื่องจากตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 บัญญัติบังคับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดทรัพย์ ด้วยวิธีการขายทอดตลาดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการขายทอดตลาด (มาตรา 509-517) ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติลักษณะอื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2516) กฎกระทรวงว่าด้วยการนั้น และตามข้อกำหนดของศาลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สินนั้นถ้าหากมีซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 513 บัญญัติว่า"เมื่อใดผู้ขายทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้" และตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีพ.ศ.2522 ข้อ 89 ก็มีข้อความเช่นเดียวกันกับ ป.พ.พ. มาตรา 513 แม้ถ้อยคำที่ใช้ในมาตรา 513 จะไม่มีลักษณะบังคับผู้ทอดตลาด(เจ้าพนักงานบังคับคดี) ให้ถอนทรัพย์ออกจากการขายทอดตลาดทันทีที่เห็นว่าราคาที่ผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอหรือต่ำเกินไปก็ตามแต่ก็มีเจตนารมณ์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจและความสามารถในการขายเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุด เท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3519/2535 ที่ 3775/2533 และที่1416/2508) ดังนั้น ถ้าหากเป็นที่เห็นได้ว่าราคาที่มีผู้สู้สูงสุดนั้นยังต่ำเกินไป หรือควรจะได้ราคาสูงกว่านั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องถอนทรัพย์นั้นออกจากการขายทอดตลาด หากอนุมัติให้ขายไปย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ดังที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ได้วินิจฉัย ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยนอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2532 และที่ 1357/2530วินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่าข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ราคาขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่ำกว่าราคาประเมินและราคาในท้องตลาดหรือราคาทรัพย์ที่แท้จริง เป็นการกล่าวอ้างว่าการบังคับคดีได้กระทำไปโดยไม่ชอบเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
           มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมายตามป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรค 3 ไม่บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นเสมอไป ดังนั้น ถ้าปรากฏชัดแจ้งว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีแล้วศาลอาจสั่งอนุญาตตามคำร้องโดยไม่ต้องไต่สวนหรือยกคำร้องนั้นได้ถ้าไม่มีมูลโดยแจ้งชัดอยู่ในตัว แต่ถ้าข้อเท็จจริงไม่แจ้งชัดศาลจะต้องไต่สวนเสมอ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่1961/2519 ที่ 381/2508) การที่ศาลสอบข้อเท็จจริงจากทนายโจทก์และพิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของจำเลยถือว่าเป็นการไต่สวนแล้ว(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2532)
          3. เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดฝ่าฝืนต่อกฎหมายภายหลังที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทรัพย์นั้นไปแล้ว หากต่อมาศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจริงศาลย่อมจะต้องเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดนั้น โดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 27 เพราะถือว่าคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเกี่ยวกับการบังคับคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2532 ที่ 1357/2530 และหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2507) แล้วจึงใช้ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีอีกชั้นหนึ่ง
           สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ เข้าใจว่าจะมีการคัดค้านการขายทอดตลาดก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์ดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่ต้องสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นแต่ประการใด เพียงแต่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่จำเลยร้องคัดค้านมาเท่านั้น.
           สุริยนตร์โสตถิทัต.
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:08:31


ความคิดเห็นที่ 5 (2283726)

เอาทรัพย์จำนองตีใช้หนี้ไม่ใช่เอาทรัพย์จำนองหลุด

เอาทรัพย์จำนองตีใช้หนี้จำเลยที่ 2 หาใช่ผู้รับจำนองเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดซึ่งผู้จำนองจะต้องขาดส่งดอกเบี้ยถึง 5 ปี ตามมาตรา 729 ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4144/2532

มาตรา 321  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้
ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

มาตรา 656  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา 729  นอกจากทางแก้ดั่งบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนั้น ผู้รับจำนองยังชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี
(2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระ และ
(3) ไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้เอง

มาตรา 744  อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
(4) เมื่อถอนจำนอง
(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง
(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด

 
          โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 โดยจำนองที่พิพาทเป็นประกันต่อมาโจทก์ตกลงโอนที่พิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะโอนที่พิพาทมีราคาเท่ากับจำนวนหนี้ การตกลงดังกล่าวจึงเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง มีผลให้หนี้เงินกู้และสัญญาจำนองระงับไปตามมาตรา 321 ,744 และเป็นการที่โจทก์เอาทรัพย์จำนองตีใช้หนี้จำเลยที่ 2 หาใช่ผู้รับจำนองเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดซึ่งผู้จำนองจะต้องขาดส่งดอกเบี้ยถึง 5 ปี ตามมาตรา 729 ไม่.
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้หลอกลวงให้โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจแล้ว จำเลยที่ 1 ใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นจดทะเบียนจำนองที่ดินโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 และต่อมาจำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงให้โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเปล่าแล้วนำไปกรอกข้อความโอนที่ดินโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2โอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ถ้าโอนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 3 ล้านบาทแก่โจทก์
          จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินจำเลยที่ 2มาชำระหนี้เดิมของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 เอาใบมอบฉันทะเปล่าของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย
          จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 2 โดยนำที่พิพาทมาจำนองเป็นประกัน ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2ทวงให้โจทก์ชำระหนี้ โจทก์จึงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3 ล้านบาทแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 2
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน 500,000 บาท ได้จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 7720 เป็นประกัน โจทก์ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน300,000 บาทเศษ รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 800,000 บาทเศษต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2518 โจทก์ได้ทำนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7720 รายพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้จำนองที่โจทก์ยังติดค้างชำระจำเลยที่ 2 อยู่ให้เสร็จสิ้นไป เห็นว่าการที่โจทก์โอนที่ดินรายพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นเป็นการที่โจทก์ตกลงเอาที่พิพาทชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ยืมไปจากจำเลยที่ 2 โดยจำนองที่พิพาทไว้เป็นประกัน และจำเลยที่ 2 ยอมรับเอาที่พิพาทแทนการชำระหนี้เงินกู้นั้น อันมีผลทำให้หนี้เงินกู้ที่มีการจำนองเป็นประกันระงับสิ้นไปและทำให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไปด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321, 744 และการที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันเอาที่พิพาทชำระหนี้เงินกู้จำนวน 800,000 บาทเศษนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทในขณะที่โจทก์จดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 มีราคาประมาณ 800,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่ 2 การตกลงของโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองที่โจทก์ฎีกาว่าการโอนที่พิพาทเพื่อชำระหนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 729(1) นั้น เห็นว่าการจดทะเบียนโอนที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่โจทก์เอาทรัพย์ที่จำนองตีใช้หนี้ให้จำเลยที่ 2 หาใช่จำเลยที่ 2ผู้รับจำนองเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดซึ่งผู้รับจำนองต้องขาดส่งดอกเบี้ยถึงห้าปีไม่
          พิพากษายืน.
 
 
( มงคล เปาอินทร์ - สหัส สิงหวิริยะ - ถาวร ตันตราภรณ์ )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:17:37


ความคิดเห็นที่ 6 (2283729)

ผู้รับจำนองเอาทรัพย์จำนองหลุดต้องยื่นคำร้องก่อนทรัพย์ขายทอดตลาด
ถ้าจะขอให้ขายทอดตลาดเอาเงินชำระให้ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด ให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาด เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอเช่นนั้นได้ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3332/2527

มาตรา 702  อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 736  ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้ ถ้าหากมิได้เป็นตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน

มาตรา 744  อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
(4) เมื่อถอนจำนอง
(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง
(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด

 
          เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดจำนองไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาล เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดในกรณีที่จะขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดชำระ แก่ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด สิทธิของผู้รับจำนองหาได้ระงับไปไม่ เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้น ไป ก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744เท่านั้น จำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์เสมอ แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนองก็ หมายความเพียงเจ้าหนี้จำนองมิได้แจ้งยอดหนี้มาให้ทราบมิใช่เป็นการปลอดหนี้จำนอง เมื่อประกาศขายทอดตลาดของ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการขายว่าไม่รับรองและ ไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนถึงจำนวนหนี้จำนอง การละเลยจึงเป็น การเสี่ยงต่อความเสียหายของโจทก์เอง โจทก์ผู้รับโอนที่ดินซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภาระจำนองโดยการไถ่ถอนจำนองตามบทบัญญัติ ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในประกาศขายทอดตลาดระบุว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างติดจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัด แต่ไม่มียอดหนี้จำนอง ขายโดยติดจำนอง โจทก์ชำระเงินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ปลอดจำนอง
          จำเลยให้การว่า นายปิยะจำนองทรัพย์พิพาทแก่จำเลยเป็นประกันหนี้นายปิยะยังไม่ได้ชำระหนี้แก่จำเลย จึงไม่อาจปลอดจำนองได้ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาลแต่อย่างใดและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ก็บัญญัติแต่เพียงว่า ถ้าจะขอให้ขายทอดตลาดเอาเงินชำระให้ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด ให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาด เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอเช่นนั้นได้ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองไม่ ฉะนั้น เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ผู้รับจำนองก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม หาทำให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไปไม่เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้นไปก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 เท่านั้น ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319 และมาตรา 320 ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบัญชีและการจ่ายเงินในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนร้องขอให้บังคับคดีหรือได้มีการแจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องการระงับสิ้นไปของสัญญาจำนองซึ่งเป็นพิพาทกันในคดีนี้
          ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายโดยติดจำนองไปด้วย แม้ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนองตามก็มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้จำนองไม่ได้แจ้งยอดหนี้มาให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าเป็นการปลดหนี้จำนองไม่ เพราะจำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์ภารจำนองจึงติดไปกับตัวทรัพย์ด้วยเสมอ และอีกประการหนึ่งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการขายว่าไม่รับรองและไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนเอาเองว่าหนี้จำนองมีอยู่เท่าใด เพราะสามารถติดต่อสอบถามได้จากจำเลยผู้รับจำนองอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ละเลยไม่สอบสวนให้แน่นอนก่อนตกลงซื้อที่พิพาท จึงเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายของตนเอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 12 หมวด 5 ว่าด้วยจำนองได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แล้วโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย จึงมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภารจำนองออกจากตัวทรัพย์นั้นโดยการไถ่ถอนจำนองตามบทบัญญัติในหมวด 5 ดังกล่าว โจทก์จะมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนลบจำนองไม่ได้
          พิพากษายืน
 
 
( พิชัย วุฒิจำนงค์ - สนิท อังศุสิงห์ - สำเนียง ด้วงมหาสอน )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:28:30


ความคิดเห็นที่ 7 (2283731)

การบังคับจำนองเอาที่ดินหลุดเป็นสิทธิ
 ในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์บังคับจำนองเอาที่ดินหลุดเป็นสิทธินั้น ศาลมีคำสั่ง ให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ประเด็นที่จะนำสืบต่อไปมีแต่เรื่องการจำนองที่ดินเท่านั้นว่า โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้หรือไม่ ส่วนเรื่องที่ว่าจำเลยในคดีนั้นอยู่ที่ไหนโจทก์รู้หรือไม่ ไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเลย โจทก์จะไม่เบิกความถึงเสียเลยก็ได้ ไม่ทำให้คดีของโจทก์แพ้หรือชนะในข้อนี้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  700/2506

          คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเพราะการวินิจฉัยว่าเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ มิได้อาศัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบว่าจริงหรือไม่จริง แต่เป็นความเห็นของศาลเองที่จะต้องวินิจฉัยถึงประเด็นในคดีที่เป็นข้อพิพาท ประกอบด้วยหลักกฎหมายแล้วจึงชี้ขาดสำคัญหรือไม่สำคัญคู่ความจะนำสืบโต้เถียงกันว่าสำคัญหรือไม่สำคัญเสียเองหาได้ไม่ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2506)
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งดำที่ 118/2500เลขแดงที่ 125/2500 เรื่องบังคับจำนอง แล้วจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานตอนหนึ่งว่า "ฟ้องของโจทก์เป็นความจริงทุกประการเวลานี้จำเลยอพยพไปอยู่แห่งหนตำบลใดไม่ทราบ" จำเลยที่ 2 เบิกความตอนหนึ่งว่า"ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้มีราคาไร่ละไม่เกินเจ็ดร้อยบาท เพราะเป็นนาไม่ใช่ชั้นดีซื้อขายกันราวเจ็ดร้อยบาทนาแถวนี้" คำเบิกความดังกล่าวเป็นเท็จ ความจริงจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์มีภูมิลำเนาตามที่ปรากฏในคดีนี้ และจำเลยที่ 2 ทราบดีว่านาพิพาทเป็นนาชั้นดีมีราคาสูงกว่าที่โจทก์เป็นหนี้จำนองเป็นอันมาก คำเบิกความดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่ง ทำให้ศาลเชื่อว่าเป็นความจริง และพิพากษาให้ที่ดินของโจทก์หลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 83
          ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความว่า "โจทก์อพยพไปอยู่แห่งหนตำบลใดไม่ทราบ" นั้นหาใช่ข้อสำคัญในคดีไม่ เพราะคดีแพ่งนั้นศาลสั่งว่าโจทก์ขาดนัดแล้วจำเลยจะเบิกความถึงเรื่องที่อยู่ของโจทก์หรือไม่เบิกความก็หาทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ในชั้นสืบพยานคดีแพ่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองจริงหรือไม่ กรณีเข้าเงื่อนไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729 หรือไม่เท่านั้นหาเกี่ยวแก่ภูมิลำเนาของจำเลยในคดีนั้นไม่ ส่วนข้อที่หาว่าเบิกความเท็จเรื่องราคาที่ดินเป็นเรื่องของการกะประมาณแต่ละคนไป เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์
          โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีที่จำเลยเบิกความก็ดี ที่โจทก์ฎีกาว่า เป็นข้อสำคัญในคดีก็ดี เป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายศาลฎีกาปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เพราะการวินิจฉัยว่าเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่มิได้อาศัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบว่าจริงหรือไม่จริง แต่เป็นความเห็นของศาลเองที่จะต้องวินิจฉัยถึงประเด็นในคดีที่เป็นข้อพิพาท ประกอบด้วยหลักกฎหมาย แล้วจึงชี้ขาดว่าสำคัญหรือไม่สำคัญคู่ความจะนำสืบโต้เถียงกันว่าสำคัญหรือไม่สำคัญเสียเองหาได้ไม่ เมื่อวินิจฉัยว่าฎีกาโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยต่อไปว่าคำเบิกความของจำเลยที่ว่าไม่ทราบที่อยู่ของโจทก์นั้นเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ ในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์บังคับจำนองเอาที่ดินหลุดเป็นสิทธินั้น ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยในคดีนั้นขาดนัดยื่นคำให้การเสียแล้ว ให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ประเด็นที่จะนำสืบต่อไปมีแต่เรื่องการจำนองที่ดินเท่านั้นว่า โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้หรือไม่ โดยมีข้อวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729 ส่วนเรื่องที่ว่าจำเลยในคดีนั้นอยู่ที่ไหนโจทก์รู้หรือไม่ ไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเลย โจทก์จะไม่เบิกความถึงเสียเลยก็ได้ ไม่ทำให้คดีของโจทก์แพ้หรือชนะในข้อนี้แต่อย่างใด จึงวินิจฉัยได้ว่าไม่เป็นข้อสำคัญแห่งคดี ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาเรื่องราคานาต่อมาอีกนั้น ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 2 มิได้เบิกความเท็จ โจทก์โต้เถียงจะให้เป็นข้อกฎหมาย อ้างว่าศาลอุทธรณ์พิจารณาผิดข้อเท็จจริงซึ่งที่แท้ก็จะให้เชื่อพยานโจทก์ว่านาพิพาทมีราคา 2,000 บาท เป็นการเถียงข้อเท็จจริงนั่นเอง โจทก์ฎีกาในข้อนี้ไม่ได้ พิพากษายืน.
 
 
( พจน์ ปุษปาคม - บริรักษ์จรรยาวัตร - จิตติ ติงศภัทิย์ )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:32:22


ความคิดเห็นที่ 8 (2283733)

การจำนอง

1. สัญญาจำนอง หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่อีกผู้หนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนอง เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญแม้ว่าทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วก็ตาม โดยสิทธิจำนองโอนไปด้วยผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองเอากับผู้รับโอนได้

2. ทรัพย์ที่จำนองได้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจำนองได้ได้แก่ เรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ และสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้

3. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนอง

4. ข้อความในสัญญาต้องระบุจำนวนเงินและระบุทรัพย์สินที่จำนองและต้องจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่

5. ทรัพย์หลายสิ่งที่จำนองประกันหนี้รายเดียวนั้นอาจเป็นเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนก็ได้

6. ทรัพย์สิ่งเดียวอาจนำไปจำนองประกันหนี้มากกว่า 1 รายก็ได้ ในทางปฏิบัติเรียกว่าจำนองซ้อน ซึ่งผู้รับจำนองก่อนมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ก่อนผู้รับจำนองรายหลัง

7. ลูกหนี้สามัญจะชำระหนี้เป็นงวด ๆ ไม่ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ยินยอม แต่ผู้จำนองในฐานะลูกหนี้ชั้นที่ 2 มีความรับผิดชอบถ้าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระ อาจขอชำระเป็นงวด ๆ ได้เพื่อผ่อนคลายความรับผิดชอบของตนบางส่วนได้

การบังคับจำนอง

วิธีการบังคับจำนองทำได้ 2 วิธี คือ การบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด และการบังคับจำนองด้วยวิธีการเอาทรัพย์สินที่จำนองหลุดมาเป็นสิทธิ การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์ที่จำนองซ้อนให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันเวลาผู้รับจำนองก่อนจะได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

เหตุทำให้จำนองระงับ

1. เมื่อหนี้ที่เป็นประกันระงับสิ้นไป

2. เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ

3. เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น

4. เมื่อถอนจำนอง

5. เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง

6. เมื่อเอาทรัพย์สินจำนองนั้นหลุด .
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:42:16


ความคิดเห็นที่ 9 (2283734)

การจำนอง

1. ความหมาย

     จำนอง หมายความว่า สัญญาที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

2. เงื่อนไขการจำนอง

     2.1 ทรัพย์สินที่จำนองนั้นถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์สามารถจำนองได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะต้องเป็น สังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้ คือ
- เรือระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป - สัตว์พาหะ : ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ
- สังหาริมทรัพย์ชนิดที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องจดทะเบียน

     2.2 ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินนั้นมาจำนองได้

     2.3 จำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. สิทธิในการจำนอง

     3.1 ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิได้การชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น

     3.2 ทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสามารถนำไปจำนองกับผู้รับจำนองได้หลายคน

     3.3 สิทธิจำนองย่อมมีผลไปถึงทรัพย์สินที่จำนองทุกสิ่ง แต่ไม่รวมดอกผลที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินนั้น

     3.4 ถ้ามีการจำนองกันหลายคนโดยมิได้ระบุลำดับการจำนองไว้ ผู้จำนองคนหนึ่งคนใดได้ชำระหนี้ไปแล้ว ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองรายอื่น

     3.5 เมื่อมีการโอนทรัพย์สินที่จำนองไปให้ผู้อื่น สิทธิในการจำนองนั้นย่อมโอนติดไปกับทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

     3.6 ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอากับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้

4. การบังคับจำนอง
     4.1 ต้องมีจดหมายบอกกล่าวให้ชำระหนี้จำนองเสียก่อน 1 เดือน

     4.2 ในกรณีที่มีผู้รับจำนองหลายคน สิทธิในการบังคับจำนองให้เรียงลำดับตามวันและเวลาที่จดทะเบียน

     4.3 ถ้าเอาทรัพย์สินจำนองหลุด / เอาออกขายทอดตลาด ได้ราคาเท่าใด ลูกหนี้ / ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่

     4.4 จะบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองได้ จะต้องมีจดหมายบอกกล่าวให้ผู้รับโอนทรัพย์สินจำนองทราบล่วงหน้า 1 เดือน จึงจะบังคับจำนองได้

5. การหลุดพ้นจากจำนอง

     5.1 ถ้าผู้รับจำนองยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ และ ผู้จำนองไม่ยินยอม ผู้จำนองหลุดพ้น

     5.2 ผู้จำนองขอชำระหนี้ ผู้รับจำนองไม่ยอมรับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้จำนองหลุดพ้น

6. ความระงับไปของสัญญาจำนอง

     6.1 หนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นซึ่งมิใช่เหตุอายุความ

     6.2 เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ

     6.3 เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น

     6.4 เมื่อถอนจำนอง

     6.5 เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนอง

     6.6 เมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด.....
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:44:16


ความคิดเห็นที่ 10 (2283736)

ถือว่ายังไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนอง
แม้โจทก์อ้างว่า มีผู้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแทนผู้ตาย ถือว่าลูกหนี้ผู้จำนองทราบแล้วหาได้ไม่ เห็นว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนองกฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ ในคำบอกกล่าวนั้นเจ้าหนี้จะต้องกำหนดเวลาให้ผู้จำนองชำระหนี้จำนอง และกำหนดเวลาอันสมควรด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง ทำให้ไม่ต้องถูกฟ้องให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองไปขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 2.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดชำระเงินคืนเมื่อโจทก์ทวงถาม มีนางรุจิรา ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3214 เขตบางกะปิ เพื่อเป็นประกันหนี้ ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วน 5 แสนบาท โดยชำระครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2536 และไม่ได้ชำระหนี้อีกเลย

โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่รุจิราเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2539 แต่จำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้

ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 โจทก์จึงทราบว่า รุจิราถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและทายาทมีสิทธิรับมรดกของรุจิรา โจทก์จึงฟ้องบังคับจำนองเอาแก่จำเลยที่ 3

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองหลังจากรุจิราถึงแก่กรรมแล้วถือว่า โจทก์ยังมิได้บอกกล่าวบังคับจำนอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง นี่คือประเด็นปัญหาของโจทก์ แม้ท่านเองก็คงจะอยากรู้ว่าทำไมบอกกล่าวไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยว่ายังไม่ได้มีการบอกกล่าว

พิเคราะห์แล้วแม้โจทก์อ้างว่า มีผู้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแทนผู้ตาย ถือว่าลูกหนี้ผู้จำนองทราบแล้วหาได้ไม่ เห็นว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนองกฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ ในคำบอกกล่าวนั้นเจ้าหนี้จะต้องกำหนดเวลาให้ผู้จำนองชำระหนี้จำนอง และกำหนดเวลาอันสมควรด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง ทำให้ไม่ต้องถูกฟ้องให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองไปขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้

การบอกกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะต้องกระทำให้ถูกต้องก่อนจึงจะฟ้องบังคับจำนองได้

การบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่จะต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าคือผู้จำนอง เมื่อรุจิราผู้จำนองถึงแก่กรรมก่อนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าว แม้ว่าจะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้นไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีข้อหลังโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว เห็นว่า เมื่อรุจิราผู้จำนองถึงแก่กรรม มรดกของรุจิราซึ่งรวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของรุจิราย่อมตกทอดแก่ทายาทของเธอตามกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ถ้ามีผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแล้ว โจทก์ประสงค์จะบังคับจำนองโจทก์ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า 1 เดือนก่อน ถ้ายังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้

แต่กรณีนี้ผู้จำนองมีทายาทหรือผู้จัดการมรดก โจทก์ต้องบอกกล่าวแก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง การบอกกล่าวนี้กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือจดหมาย และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน โจทก์จึงจะฟ้องบังคับคดีจำนองได้

เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของผู้จำนองก่อนฟ้อง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-01 09:48:33



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล