ReadyPlanet.com


ขอปรึกษาเรื่องสิทธิในการเลี้ยงบุตรครับ


  ผมกำลังจะหย่ากับภรรยาครับ แต่มีข้อสงสัยกับสิทธิในการเลี้ยงบุตร ว่าฝ่ายใดมีสิทธิมากกว่า โดยที่ผ่านมา ผมเป็นฝ่ายเลี้ยงดูภรรยาและลูกมาโดยตลอด ภรรยาไม่้มีรายได้ครับ มีค้าขายแต่ขาดทุน ผมมีรายได้ประจำ ตรวจสอบบัญชีเงินฝากได้ บ้านที่อยู่ปัจจุบันเป็นบ้านเช่า โดยผมจัดการค่าใช้จ่ายทั้งหมด ภรรยาผมเคยมีลูกมาแล้ว 1 คนแต่ปัจจุบันไม่ได้รับผิดชอบแล้ว ให้ผู้อื่นอุปการะ ซึ่งเค้าเองปิดบังและให้ข้อมูลเท็จผมมา่โดยตลอด ภรรยายืนยันที่จะให้ผมสลับกันเลี้ยงกับเค้าคนละเดือน แต่ผมไม่ตกลงเพราะไม่สะดวก ผมอยากที่จะเลี้ยงดูเค้าโดยภรรยามีสิทธิตามสมควรเท่านั้น ถ้าผมจะนำเรื่องปรึกษาทนายแล้วยื่นฟ้องสิทธิเลี้ยงบุตร ต้องทำอย่างไรบ้างและมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ครับ 
ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ชลัช :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-15 11:20:22


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2284816)

คำว่า "สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร" ของคุณคงหมายถึงการเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ในเรื่องนี้กฎหมายบอกว่า กรณีหย่ากันโดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายก็ให้ตกลงกันให้ได้ว่าใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ตกลงกันไม่ได้ให้ศาลชี้ขาด ส่วนบิดา หรือ มารดา ใครจะเหมาะสมกว่ากันคงอยู่ที่ข้อมูลทั้งสองฝ่าย ปกติศาลจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจทางการเงินของบิดา มารดา เพียงอย่างเดียวจึงตอบคำถามในเรื่องอำนาจปกครองค่อนข้างยากครับ

มาตรา 1520  ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
--ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-07-05 20:04:26


ความคิดเห็นที่ 2 (2284822)

ให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง-ให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6471/2548

มาตรา 1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
 

 มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ


 
          จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยได้จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2533 มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยประพฤติตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาเป็นเหตุให้ทะเลาะกับโจทก์อยู่ประจำ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยได้แกล้งกล่าวหาร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่า โจทก์ประพฤติตัวไม่เหมาะสมและมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่นซึ่งเป็นความเท็จ เพื่อจะให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์หลงเชื่อและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เดือนร้อนเสียหายได้รับความดูถูก เกลียดชัง และอับอาย กระทบกระเทือนต่อหน้าที่การงานของโจทก์ และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2540 โจทก์กับจำเลยตกลงสมัครใจแยกกันอยู่และจำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้ติดต่อไปมาหาสู่กับโจทก์และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรอีกจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 3 ปีแล้ว โจทก์ประสงค์จะหย่าจากจำเลย ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
          จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2540 จำเลยมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของโจทก์เพื่อให้ว่ากล่าวตักเตือนเกี่ยวกับความประพฤติของโจทก์ มิได้เป็นการหมิ่นประมาทหรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังแต่ประการใด และโจทก์ฟ้องหย่าโดยเหตุดังกล่าวเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ จำเลยไม่สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่ไม่ได้อยู่ร่วมกับโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาและโจทก์ไล่จำเลยออกจากบ้านพักที่อยู่ร่วมกัน จำเลยจึงออกไปอยู่อาศัยที่อื่นไปพลางก่อน จำเลยไม่ได้ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์เป็นข้าราชการ การที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันไม่ได้ทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควร จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยให้เงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท เพื่อให้บุตรใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น โจทก์ไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ค่าฤชาธรรมเนียมเห็นสมควรให้เป็นพับ
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 ในปี 2539 โจทก์จำเลยมีเรื่องไม่เข้าใจกันทะเลาะกันเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์คบกับนายธนวัฒน์ เที่ยงศักดิ์ ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2540 โจทก์และจำเลยนำญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมาเจรจาตกลงกันในที่สุดตกลงกันว่าต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่ และจำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยออกไปจากบ้านบิดามารดาโจทก์ ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา โดยจำเลยกลับไปอยู่บ้านบิดามารดาจำเลย หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์อีกเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่เพราะโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาจนวันที่ 13 มิถุนายน 2540 ญาติของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้มาช่วยเจรจาให้โจทก์จำเลยปรองดองกัน แต่ไม่เป็นผล เพราะโจทก์ประสงค์จะหย่าสถานเดียว เมื่อโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยอยู่ร่วมด้วย จำเลยจึงแยกกันอยู่กับโจทก์ เห็นว่า หลังจากที่มีการเจรจาให้ปรองดองกันแต่ไม่เป็นสำเร็จ และจำเลยแยกไปอยู่ที่อื่นแล้วระยะหนึ่ง ต่อมาในปลายปีนั้นเอง จำเลยทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กินด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 31 กรกฎาคม 2544) เป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียงอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชายเกริกเกียรติ เกตุษา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2534 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด...” และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด” ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องด้งกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบมาว่า หลังจากแยกกันอยู่ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2540 บุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ตลอดมา และโจทก์ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว ประกอบกับจำเลยรับราชการเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 ซึ่งถือว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ จึงเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่ผู้เดียว และกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละ 3,000 บาท”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายเกริกเกียรติ  ผู้เยาว์แต่ผู้เดียว และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( ชุติมา จงสงวน - หัสดี ไกรทองสุก - กนก อินทรัมพรรย์ )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-05 20:30:30


ความคิดเห็นที่ 3 (2284826)

สามีฟ้องหย่าขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้สามีและภริยาหย่าขาดจากกัน ให้ภริยาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในอัตราเดือนละคนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3494/2547

มาตรา 1522 ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด
ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

 
          โจทก์ฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันกับให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันโดยให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเช่นนี้ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอเพราะกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1522 ที่บัญญัติว่ากรณีหย่าโดยคำพิพากษาให้ศาลเป็นผู้กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน กับให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในอัตราเดือนละคนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2530 มีบุตรแฝดด้วยกัน 2 คน โดยวิธีผสมเทียม ปัจจุบันบุตรทั้งสองมีอายุ 8 ปีเศษ ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยาในเดือนเมษายน 2537 โจทก์ไปบวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 โจทก์ลาสิกขามาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและกลับไปบวชอีก ครั้นต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 จำเลยกับสิบตำรวจโทไพบูลย์ ได้เข้าพิธีแต่งงานกันและได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ในขณะที่โจทก์ยังเป็นสามีของจำเลยอยู่ แม้โจทก์จะไปร่วมงานในพิธีแต่งงานด้วย แต่โจทก์ก็อ้างว่าถูกข่มขู่และจำเลยยินยอมที่จะคืนหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับที่ดินทั้งเจ็ดฉบับให้โจทก์ซึ่งเป็นเหตุที่โจทก์ต้องยินยอมไปร่วมพิธีแต่งงานของจำเลยกับสิบตำรวจโทไพบูลย์ พฤติการณ์ที่จำเลยพยายามถ่ายโอนทรัพย์สินหลายรายการไปจากโจทก์ และอยู่กินฉันสามีภริยากับสิบตำรวจโทไพบูลย์โดยเปิดเผยในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นภริยาโจทก์ และการที่จำเลยมิได้ดูแลเอาใจใส่โจทก์เท่าที่ควรในขณะที่โจทก์อุปสมบทเป็นภิกษุ ล้วนเป็นการทำการปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง และมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้นั้น เห็นว่าบิดาและมารดา มีหน้าที่จักต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของทั้งบิดาและมารดาที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน แม้ต่อมาการสมรสระหว่างบิดามารดาในฐานะสามีภริยาจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งบิดาและมารดาต่างก็ยังคงมีหน้าที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อยู่ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายได้ตามมาตรา 1598/38 นอกจากนี้กรณีที่การสมรสระหว่างบิดามารดาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยการหย่าหรือโดยคำพิพากษาของศาลก็ดี มาตรา 1522 บัญญัติว่า ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอมให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่ายหรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด และถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ให้ศาลเป็นผู้กำหนดซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างก็ตาม ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบมาว่า โจทก์เป็นผู้มีทรัพย์สินและมีรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ส่วนจำเลยมีรายได้จากการค้าขายเพียงเล็กน้อย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 4,000 บาท ต่อคน จึงเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( สบโชค สุขารมณ์ - อมร วีรวงศ์ - ประเสริฐ เขียนนิลศิริ )
 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง - นางสุรางคนา กมลละคร
ศาลอุทธรณ์ - นายพีรพล พิชยวัฒน์
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-05 20:37:33


ความคิดเห็นที่ 4 (2284834)

รายงานของพนักงานคุมประพฤติระบุว่าบุตรประสงค์จะอยู่กับมารดามากกว่าอยู่กับบิดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  116/2547

มาตรา 1536  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือภายในระยะเวลาสามร้อยสิบวันนับแต่วันนั้น

มาตรา 1539 ในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 มาตรา 1537 หรือมาตรา 1538 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น
แต่ถ้าในขณะยื่นฟ้องมารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่ จะฟ้องเด็กแต่ผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่ไม่ว่ามารดาของเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่เป็นบุตรก็ได้ ในกรณีที่มารดาของเด็กหรือทายาทของเด็กยังมีชีวิตอยู่ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องนี้ไปให้ด้วย และถ้าศาลเห็นสมควรจะส่งสำเนาคำร้องไปให้อัยการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีแทนเด็กด้วยก็ได้
 
มาตรา 1566  บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้
 
          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์
          ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)
          ปัจจุบันเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้วเด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมดก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุมประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย อ. ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันนั้น โจทก์รับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอซึ่งต้องย้ายไปรับราชการในอำเภอต่าง ๆ หลายแห่ง ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ติดตามไปอยู่อาศัยกับโจทก์ ส่วนเด็กชาย อ. พักอาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่ง โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้ร่วมประเวณี เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ย้ายติดตามไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1 จะตั้งครรภ์กับโจทก์ แต่ช่วงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กล่าวคือ จำเลยที่ 1 คบชู้กับชายอื่นจนกระทั่งจำเลยที่ 1 มีครรภ์และคลอดเด็กหญิง ว. จำเลยที่ 2 โดยแจ้งเท็จต่อนายทะเบียนเทศบาลนครหาดใหญ่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กล่าวคือ ถูกนางสาวลักษ์ พุฒแก้ว แจ้งความร้องทุกข์ในข้อหายักยอกทรัพย์ และต่อมาถูกจับกุมในข้อหาค้าประเวณี และถูกแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง โดยที่โจทก์มิได้รู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 1 หากโจทก์ต้องอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็จะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกดูหมิ่นเกลียดชังอาจถูกดูหมิ่นเยียดหยาม สำหรับเด็กชาย อ. โจทก์ได้อุปการะเลี้ยงดูมาโดยตลอด ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรของโจทก์ ส่วนเด็กชาย อ. ให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว
          จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย อ. ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่จำเลยที่ 1 อยู่กินกับโจทก์นั้น ได้ประพฤติตนในฐานะภริยาที่ดีมาโดยตลอด ไม่เคยประพฤติชั่วหรือกระทำการใดอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงแก่โจทก์ และในขณะที่โจทก์ย้ายไปรับราชการในอำเภอต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ไปมาหาสู่ในฐานะภริยาโจทก์มาโดยตลอด ได้ร่วมหลับนอนและได้ร่วมประเวณีกับโจทก์เช่นสามีภริยาโดยทั่วไปจนคลอดเด็กหญิง ว. จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่เคยคบชู้กับชายอื่น แต่โจทก์เองกลับประพฤติชั่วร้ายแรงโดยการอุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาและจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์ทะเลาะกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดอาญาใดอันต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่า ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันและให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. ผู้เยาว์ร่วมกัน แต่ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์ คำขออื่นให้ยก
          โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันด้วย ส่วนการใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์อยู่กินกับจำเลยที่ 1 เมื่อราวปี 2533 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชาย อ. ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเรื่องผิดใจกัน จึงไม่มีการหลับนอนด้วยกัน ในปี 2540 โจทก์ได้ย้ายไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 ได้ไปส่งโจทก์ด้วย โดยพักอาศัยอยู่กับโจทก์ 2 ถึง 3 วัน แต่ไม่ได้หลับนอนด้วยกัน ครั้นปี 2540 มารดาโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีครรภ์ โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีครรภ์กับบุคคลอื่นจึงขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 ปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 อยู่กินกับโจทก์ฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2532 จนกระทั่งปี 2538 จึงได้จดทะเบียนสมรสกันและอยู่กินฉันสามีภริยากันเรื่อยมา โจทก์เคยพาจำเลยที่ 1 ออกงานสังคม ในปี 2538 โจทก์เข้าโรงเรียนนายอำเภอ จำเลยที่ 1 ได้ไปส่งโจทก์และได้ไปเยี่ยมเยียนโจทก์ด้วย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2540 โจทก์ไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมหลับนอนกับโจทก์ด้วย จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินทางกลับจังหวัดสงขลา โจทก์เคยเดินทางมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไปหาโจทก์ที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยอีก 2 ครั้ง ส่วนโจทก์นั้นมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลาเป็นประจำ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์จำเลยที่ 2 แล้ว เห็นว่า โจทก์อ้างว่าโจทก์ผิดใจกับจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2538 โจทก์ไม่ได้หลับนอนกับจำเลยที่ 1 แต่จากการนำสืบของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าในช่วงปี 2538 เมื่อโจทก์เข้าโรงเรียนนายอำเภอ จำเลยที่ 1 ได้ไปส่งโจทก์และต่อมาได้ไปเยี่ยมเยียนโจทก์ที่โรงเรียนนายอำเภอด้วยกัน กับได้เดินทางไปต่างประเทศกับโจทก์ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.5 และ ล.6 แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความรักใคร่กันดีหลังจากเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนนายอำเภอ โจทก์ย้ายมารับราชการที่อำเภอระโนด ในปี 2539 โจทก์ย้ายไปรับราชการที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ตามคำเบิกความของนางถนอม อุไรรัตน์ มารดาโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังคงติดต่อกับโจทก์อยู่ ครั้นโจทก์ย้ายไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปี 2540 จำเลยก็ตามไปส่งโจทก์ด้วยโดยจำเลยพักอาศัยอยู่กับโจทก์ประมาณ 2 ถึง 3 วัน จะเห็นได้ว่าแม้โจทก์จะอ้างว่าเริ่มผิดใจกับจำเลยเมื่อปี 2538 ไม่ได้หลับนอนด้วยกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังติดต่อกันเรื่อยมา โจทก์อ้างว่าหลังจากโจทก์ไปรับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยแล้ว โจทก์ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 อีก ปี 2542 โจทก์ย้ายมารับราชการที่กิ่งอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในระหว่างที่โจทก์รับราชการที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยนี้ โจทก์เคยเดินทางมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลา ส่วนจำเลยที่ 1 เดินทางไปหาโจทก์ที่กิ่งอำเภอฆ้องชัยอีก 2 ครั้ง ส่วนโจทก์นั้นมาหาจำเลยที่ 1 เป็นประจำ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เชื่อว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังติดต่อกันเรื่อยมาดังข้อนำสืบของจำเลยทั้งสอง โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน นอกจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันแล้ว เชื่อว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงร่วมประเวณีกันฉันสามีภริยาอีกด้วย ที่โจทก์อ้างว่าตั้งแต่ปี 2538 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมประเวณีกันเลยไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง จำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิด หรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ฐานจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่ โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเมื่อเดือนมกราคม 2540 ขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภออยู่ที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิด จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงกับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) (ข) โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ เห็นว่า แม้นางถนอม อุไรรัตน์ ย่าของเด็กชาย อ. จะเบิกความว่า เด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของนางถนอมตลอดมา แต่ปัจจุบันปรากฏว่าเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของเด็กชาย อ. ว่า หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว เด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมด ก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุมประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหาย หรือไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นน้องเด็กชาย อ. การที่พี่น้องได้อยู่ด้วยกันน่าจะมีความอบอุ่นกว่า สมควรให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวด้วย”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. และจำเลยที่ 2 ผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
 
 
( สบโชค สุขารมณ์ - อมร วีรวงศ์ - วสันต์ ตรีสุวรรณ )
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-05 20:54:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล