ReadyPlanet.com


มารดาที่เสียชีวิตมีชื่อในที่ดินร่วมกับญาติ


มารดาของดิฉันเสียชีวิตไปได้ประมาณ 12 ปี มีทะเบียนสมรสกับบิดา และมีข้าพเจ้าเป็นบุตรเพียงคนเดียว แต่เนีื่องจากมารดาของข้าพเจ้ามีชื่อในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินร่วมกับญาติห่างๆๆ  ในโฉลดที่ดิน มีชื่อ มารดาของข้าพเจ้า และชื่อญาติของข้าพเจ้า คนละแปลง อยู่ในโฉนดแผ่นเดียวกัน  (เนื่องจากสมัยก่อนมารดาสั่งไม่ให้แยกโฉลด) ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นโฉนดนั้นเลยเนื่องจากอีกฝ่าย(ญาติของมารดาห่างๆๆ)เป็นผู้ถือไว้  ขอดูก้อจะไม่เคยให้ดู เคยติดต่อขอเปลี่ยนชื่อเป็นข้าพเจ้าบ้างแล้ว แต่เขาทำท่าบ่ายเบี่ยง  ปัจจุบันข้าพเจ้าไปขอสิทธิืเปลี่ยนชื่อรับมรดกของมารดนของข้าพเจ้า แต่เขาก็บ่ายเบี่ยงอีก ไม่ทราบว่า ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้บ้างค่ะ  แล้วในเมื่อชื่อเป็นชื่อมารดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีสิทธิืมี่จะได้ของแม่คืนมาไหมค่ะ ขอคำแนะนำค่ะ.......



ผู้ตั้งกระทู้ นงเยาว์ :: วันที่ลงประกาศ 2012-08-25 18:13:16


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2301935)

ปัญหาคือคุณไม่เคยเห็นโฉนดที่ดินเลย จึงแนะนำให้ไปติดต่อขอข้อมูลจากสำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ อาจจะเริ่มจากค้นหาโดยใช้ชื่อแม่เป็นผู้ถือครองที่ดินตามโฉนดเลขที่ใดบ้าง หากประสบผลสำเร็จได้เอกสารมาแล้วยังพบว่ามีชื่อแม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ ต่อไปก็ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของแม่ เมื่อคดีไปถึงศาลแล้วค่อยดูท่าทีของญาติว่าเขาท่าทีตอบสนองการขอเป็นผู้จัดการมรดกของคุณอย่างไรบ้าง หากไม่มาศาล ๆ ก็จะตั้งคุณเป็นผู้จัดการมรดก ต่อไปคุณอาจจะขอรังวัดแบ่งที่ดินตามแต่สถานการณ์ในขณะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินมีการแบ่งกันครอบครองเป็นสัดส่วนแล้วหรือไม่ หากมีการแบ่งกันเป็น 2 แปลงชัดเจนแล้วก็อาจจะจบง่ายขึ้นครับ หากแบ่งกันไม่ได้ก็ต้องขายที่ดินนำเงินมาแบ่งกัน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-09-18 18:16:22


ความคิดเห็นที่ 2 (2301936)

วิธีแบ่งทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของรวมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8746/2551
 
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งกรรมสิทธิ์รวมบ้าน 2 หลัง และรถยนต์ 1 คัน ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันคนละครึ่ง เป็นเรื่องการแบ่งสินสมรสเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในครอบครัว โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการขอออกคำบังคับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมมีสิทธิร้องขอให้ออกคำบังคับได้

          เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 คำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปได้ รวมถึงกรณีที่หากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีเดิมและผลแห่งคำพิพากษาจำต้องมีการบังคับคดีให้แบ่งสินสมรสระหว่างกันอีก จำเลยที่ 1 หรือโจทก์ย่อมสิทธิขอออกคำบังคับใหม่เพื่อให้มีการบังคับคดีต่อไปได้
 
มาตรา 1364  การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน

ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้
________________________________
 
          คดีสืบเนื่องจากโจทก์ร้องขอให้เพิกถอนคำบังคับที่จำเลยที่ 1 ร้องขอต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งว่า เนื่องจากศาลพิพากษาให้แบ่งบ้านสวนลลนา จำนวน 2 หลัง และรถยนต์วอลโว่หมายเลขทะเบียน 9ว - 9811 กรุงเทพมหานคร คนละกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งกันและกันและชอบที่จะขอออกคำบังคับได้ตามกฎหมายทั้งสองฝ่าย เมื่อโจทก์ไม่แบ่งทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขอออกคำบังคับได้ตามกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งให้ออกคำบังคับ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “เดิมศาลชั้นต้นออกคำบังคับตามคำขอจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งกรรมสิทธิ์รวมคือบ้านสวนลลนาเลขที่ 444/833 และเลขที่ 444/569 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวม 2 หลัง และรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่หมายเลขทะเบียน 9ว - 9811 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันคนละครึ่ง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการขอออกคำบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและโจทก์ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำบังคับที่ออกให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์โดยสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า “...ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งกันและกันและชอบที่จะออกคำบังคับได้ตามกฎหมายทั้งสองฝ่าย เมื่อโจทก์ไม่แบ่งทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิออกคำบังคับได้ตามกฎหมาย...” โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นโดยให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ดำเนินการจัดการแยกทรัพย์สินออกเป็นกึ่งหนึ่งแม้จะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และมีคำพิพากษาว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจออกคำบังคับโจทก์ได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 และมาตรา 302 ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีของการแบ่งสินสมรสนี้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในครอบครัวโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการขอออกคำบังคับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับได้แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีเดิมเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในบ้านสวนลลนาเลขที่ 444/833 และเลขที่ 444/569 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวม 2 หลัง และรถยนต์วอลโว่หมายเลขทะเบียน 9ว - 9811 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากตกลงไม่ได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้วนำเงินมาแบ่งกันแต่หากยังตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ซึ่งว่าด้วยเรื่องการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวม ดังนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปได้รวมถึงกรณีที่หากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีเดิมและผลแห่งคำพิพากษาจำต้องมีการบังคับคดีให้แบ่งสินสมรสระหว่างกันอีก จำเลยที่ 1 หรือโจทก์ย่อมมีสิทธิขอออกคำบังคับใหม่เพื่อให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำบังคับสิ้นผลแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเพื่อดำเนินการบังคับคดีให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป”

          พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนจำเลยที่ 1
 
 
( สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - เกษม วีรวงศ์ - สิริรัตน์ จันทรา )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-18 18:41:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล