ReadyPlanet.com


เปิดร้านรับซื้อของเก่าไม่มีเจตนาจะซื้อของโจร


อยากปรึกษาพี่ว่าเรารับซื้อของเก่าเราไม่รู็ว่าเป็นของโจร ไม่มีเจตนาจะซื้อของที่ลักขโมยมาขายแต่เราไม่รู้  และระยะเวลาที่เอามาขายผ่านไป 2 ปีแล้วเจ้าของถึงมาทวงถามซึ่งของกลางร้านรับซื้อก็นำไปขายต่อแล้ว ไม่มีของกลางแล้ว  แบบนี้มีความผิดไหมค่ะ  แล้วตอนนี้ก็ยังจับคนที่เอามาขายไม่ได้แต่เจ้าของมาเอาความผิดกับร้านรับซื้อซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงดำเนินคดีในศาลชั้นต้นศาลให้ประกันตัวเจ้าของร้านออกมาแล้ว แต่ศาลนัดไปขึ้นศาลอีกภายใน 1เดือนอยากปรึกษาว่าจะเป็นอย่างไรบ้างคะแล้วถ้าเรายอมชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าของผู้เสียหายแล้วศาลจะยกฟ้องไหมคะแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปต้องติดคุกไหมคะ  (ร้านรับซื้อมีใบอนุญาตครบทุกอย่าง)



ผู้ตั้งกระทู้ วาส :: วันที่ลงประกาศ 2012-08-16 21:31:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2301077)

ความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการรับเอาไว้ซึ่งทรัพย์ที่ได้กระทำความผิด หากว่าคุณไม่รู้และสามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าคุณไม่รู้ได้ ศาลก็ยกฟ้องครับ แต่จะพิสูจน์อย่างไร เพราะพูดลอย ๆ ว่าไม่รู้นั้นคงไม่พอเพียงให้ศาลเชื่อว่าคุณไม่รู้ เช่น ตอนนำมาขาย ขอเอกสารความเป็นเจ้าของไหมเช่นใบเสร็จรับเงิน หรือรับซื้อในราคาท้องตลาดไม่ถูกกว่าราคาที่ควรเป็น ลงบันทึกชื่อผู้ขายและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายไว้เป็นหลักฐาน เป็นต้น  คดีนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่สามารถยอมความกันได้ แต่หากผู้เสียหายมาแถลงศาลว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาต่อศาล ๆ ก็จะเมตตาลงโทษสถานเบาได้ครับ ส่วนยกฟ้องคงเป็นไปไม่ได้ครับ ติดคุกหรือไม่ตอบไม่ได้ครับ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรอลงอาญานะครับ แต่ถ้ารับสารภาพก็ยังอยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลมีอำนาจรอลงอาญาได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-09-14 12:45:54


ความคิดเห็นที่ 2 (2301078)

มาตรา 357 ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีด เอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกหรือ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจรต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-14 12:46:19


ความคิดเห็นที่ 3 (2301080)

มาตรา 56  ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก  และในคดีนั้นศาลลงโทษศาลจำคุกไม่เกินสามปี  ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน  หรือปรากฎว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท  ศาลจะพิจารณาว่าผู้นั้นมีความผิด  แต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้
         ดังนั้น  ตามมารตรา 56  คือคำว่าการรอลงอาญาซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วจะแบ่งเป็น  2 ลักษณะ คือ

1.      “รอการกำหนดโทษ”  หมายถึง ศาลพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำผิดจริงและไม่ได้กำหนดโทษ เพียงแต่ทราบว่าโทษทีจะลงนั้นจำคุกไม่เกิน 3 ปี
2.      “รอการลงโทษ”  หมายความว่าศาลได้กำหนดที่ลงโทษแล้ว
 

กรณีตัวอย่าง

         จากกรณีของนายแดง  ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาท  ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ถ้าศาลพิจารณา ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน  แต่ได้นำมาตรา 56 มาใช้ประกอบ  คือผู้พิพากษาจะรอการลงอาญาเอาไว้ 2 ปี  โดยกำหนดให้รายงานตัวและบำเพ็ญประโยชน์

         ดังนั้นผลของการรอลงอาญาตามมาตรา 56   เมื่อศาลพิจารณารอลงอาญาหมายความว่า ศาลพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่ให้ปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสปรับตัวภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกิน 5 ปี  โดยศาลอาจจะสั่งคุมความประพฤติ  ประกอบคำสั่งการลงอาญา

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-14 12:52:38


ความคิดเห็นที่ 4 (2301081)

1. การฟ้องบวกโทษผู้ที่กระทำความผิดในระหว่างรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ
     (ป.อ.ม.58)
             (1) เมื่อผู้ต้องหาได้กระทำความผิดขึ้นอีก ภายในระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ ตาม ป.อ.ม.56
        (2) การกระทำความผิดในคดีหลังนั้นจะต้องเกิดขึ้นหลังจากศาลในคดีแรกได้พิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษความผิดในคดีแรกแล้ว แต่ขณะกระทำความผิดในคดีหลัง คำพิพากษาคดีแรกที่ได้รอการลงโทษอาจจะยังไม่ถึงที่สุดก็ได้ และไม่คำนึงว่าศาลในคดีหลังจะพิพากษาคดีหลังเกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลในคดีแรกได้รอการลงโทษไว้หรือไม่  
        (3) ความผิดที่ได้กระทำขึ้นอีกนั้นไม่ใช้ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
        (4) ศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดที่ได้กระทำขึ้นอีก 
 ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นให้ปรากฏความแก่พนักงานอัยการขอให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังแล้วแต่กรณี   
ข้อสังเกต
 (1) หลักในข้อ 1.ข้างต้น ในการนับระยะเวลาให้นับจากวันที่ศาลในคดีก่อนพิพากษาให้รอการ              ลงอาญาถึงวันที่ได้กระทำความผิดขึ้นใหม่ มิใช่นับถึงวันที่ศาลพิพากษาในคดีที่กระทำความผิดขึ้นใหม่นี้
 ตัวอย่าง ศาลพิพากษาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2500 ให้รอการลงอาญา ก. มีกำหนด 3 ปี ต่อมา ก. ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503 ศาลพิพากษาในคดีลักทรัพย์เมื่อ 1 เมษายน 2503 เช่นนี้ก็ถือว่า ก.ได้กระทำความผิดภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงอาญาแล้ว
 (2) หลักในข้อ 4. ที่ว่า ศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดที่ได้กระทำขึ้นอีกนั้น หมายความว่าศาลไม่ได้รอการลงอาญาในความผิดครั้งหลังนี้อีก ถ้าศาลเห็นสมควรรอการลงอาญา             ในความผิดครั้งหลังนี้อีก ซึ่งศาลมีอำนาจทำได้ เช่นนี้ก็จะมีการบวกโทษที่รอไว้กับโทษใหม่ไม่ได้อยู่นั่นเอง


เพราะโทษในการกระทำความผิดครั้งใหม่ได้รับการรอลงอาญาไว้อีกแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะมาบวกกัน นอกจากนั้นเมื่อมีการรอการลงอาญาในครั้งหลังนี้อีก ก็จะลงโทษในคดีแรกที่รอไว้ไม่ได้เช่นกัน เพราะ    ป.อ. ม.58 วรรคแรกไม่ได้ให้อำนาจที่จะลงโทษในคดีแรก ม.58 วรรคแรก ให้อำนาจศาลลงโทษคดีแรกเฉพาะเมื่อจะต้องบวกโทษคดีหลังเท่านั้น กรณีเช่นนี้จะนำ ม.57 ตอนท้ายซึ่งให้อำนาจศาล “ลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้” มาใช้ก็ไม่ได้ เพราะ ม.57 ใช้เฉพาะเมื่อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการคุมประพฤติเท่านั้น มิได้ใช้ในกรณีที่มีการกระทำผิดขึ้นอีกในระหว่างการรอการลงอาญา
 (3) การนำโทษที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีหลังนี้ หมายความว่า การกระทำความผิดในคดีหลังนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลรอการลงโทษในคดีแรกไว้แล้ว หากเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรอการลงโทษในคดีแรกเช่นนี้จะนำโทษมาบวกกันได้ 

2.การฟ้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดอีกหนึ่งในสาม (ป.อ.ม.92)
 (1) ผู้ต้องหาเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในการกระทำความผิดอาญา   (ไม่ใช่เป็นการถูกลงโทษจำคุกในการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล) และไม่ใช่การรอการลงโทษ ตาม ม.56
       (2) กระทำความผิดใดๆ ก็ได้ ขึ้นอีกในระหว่าง
  2.1 ยังต้องรับโทษอยู่ หรือ
  2.2 ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
 (3) ศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก
ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นให้ปรากฏความแก่พนักงานอัยการขอให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง

3. การเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดอีกกึ่งหนึ่ง (ป.อ.ม.93)
 (1) ผู้ต้องหาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน
 (2) กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันของ ม.93 อีก ในระหว่าง
           2.1  ยังต้องรับโทษอยู่ หรือ
           2.2 ภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ
 3) ศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก
 ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นให้ปรากฏความแก่พนักงานอัยการขอให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง

 

           

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-14 12:57:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล