ReadyPlanet.com


การโอนที่ที่ผู้ครอบครองเสียชีวิตไปแล้ว


ที่ดินเป็นชื่อของมารดาแต่ท่านเสียชีวิตไปโดยที่ยังไม่ได้ยกให้ลูกคนใด ดิฉันเป็นลูกสาวคนโตต้องการโอนขึ้นเป็นชื่อของดิฉันเองดิฉันมีพี่น้องสี่คนมีครอบครัวหมดแล้ว



ผู้ตั้งกระทู้ ภัสภณ :: วันที่ลงประกาศ 2012-08-25 12:01:12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2301914)

เมื่อมารดาเสียชีวิต ที่ดินของมารดาเป็นมรดกของมารดา ตกทอดได้แก่ทายาท ตาม มาตรา 1599 เมื่อมารดาของคุณไม่ได้ทำพินัยกรรม จึงต้องแบ่งที่ดินให้กับทายาททุกคน ตาม มาตรา 1620 และพิจารณาว่าใครเป็นทายาทของผู้ตายบ้างตาม มาตรา 1629 กรณีมารดามีบุตร 4 คน ก็จะต้องแบ่งคนละส่วน เท่า ๆ กันครับ ตาม มาตรา 1633 ทายาทในชั้นอื่น ๆ ที่อยู่ถัดลงไปไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายครับ ตามมาตรา 1630  เว้นแต่บิดา มารดา ผู้ตายที่ยังมีชีวิตอยู่ครับ  แต่หากว่าบุตรทั้งสี่คนมีคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไปก่อนมารดา ผู้สืบสันดานของบุตรที่ว่ามานี้ก็มีสิทธิที่จะรับมรดกแทนที่บิดาหรือมารดาของเขาที่ตายไปก่อนได้ตามาตรา 1630 การรับทรัพย์สินหรือมรดกของผู้ตายที่มีทะเบียน เช่น เงินในธนาคาร ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องก็จะขอคำสั่งศาลในการจัดการมรดก ดังนั้นทายาทจะต้องไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดก มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปครับ ตาม มาตรา 1713

มาตรา 1599  เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

มาตรา 1620  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย 

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1)  ผู้สืบสันดาน
(2)  บิดามารดา
(3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5)  ปู่ ย่า ตา ยาย
(6)  ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา 1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียวทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา 1713  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1)  เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2)  เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3)  เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-09-18 16:46:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล