ReadyPlanet.com


การเช่าที่ดินทำกิน


เราทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำไร่ปลูกสับปะรดแล้วเจ้าของที่ดินได้ขายที่ดินให้กับลูกค้ารายหนึ่งแล้วลูกค้ารายนั้นต้องการเอาที่ดินมาทำประโยชน์ ผู้ให้เช่าจึงบอกยกเลิกสัญญาเช่ากับเรา แต่สัญญาเช่ายังมีอายุอีก 3 เดือนจึงจะหมดสัญญาเช่า จึงอยากทราบว่า ผู้ให้เช่าบอกยกเลิกสัญญานี้ได้หรือเปล่าและเรามีสิทธิในที่ดินที่เราเช่านี้หรือไม่ และถ้าสับปะรดออกเป็นผลแล้วแต่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายแต่สัญญาในการเช่าหมดลง เราจะยังมีสิทธิในผลของสับปะรดหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ สายทอง :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-29 19:37:40


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2309311)

มาตรา 26 การเช่านา ให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้ไม่มีกำหนดเวลา หรือมีแต่ต่ำกว่าหกปีให้ถือว่าการเช่านากัน นั้นมีกำหนดเวลาหกปี
 เมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ให้เช่านามิได้บอกเลิก การให้เช่านาตาม มาตรา 37 และผู้เช่านายังทำนาในที่นานั้นต่อไปให้ถือว่าได้ มีการเช่านานั้นต่อไปอีกคราวละหกปี
 บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่การเช่าช่วงนา

 มาตรา 27 เจ้าของนาผู้ใดประสงค์จะให้มีการเช่านาเป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาการเช่านาต่ำกว่าหกปี ให้ยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบล 
 คชก.ตำบลมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการเช่านาเป็นการชั่วคราวได้ตามความ จำเป็นกำหนดคราวละไม่เกินสองปี เมื่อปรากฏว่า
 (1) เจ้าของนาผู้ยื่นคำร้องได้ทำนาในที่นานั้นด้วยตนเองมาก่อน และมี ความจำเป็นชั่วคราวไม่อาจทำนาในปีต่อไปได้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และ
 (2) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการให้เช่านาเป็นการชั่วคราวนั้นแล้ว เจ้า ของนาจะต้องเข้าทำนานั้นด้วยตนเองต่อไป
 ให้นำความใน มาตรา 38 มาใช้บังคับแก่การให้เช่านาเป็นการชั่วคราว โดยอนุโลม

 มาตรา 28 การเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิ และหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านาตามพระราช บัญญัตินี้

มาตรา 31 ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการ เช่านาไม่ได้ เว้นแต่ในเหตุดังต่อไปนี้
 (1) ผู้เช่านาไม่ชำระค่าเช่านารวมกันเป็นเวลาสองปี เว้นแต่จะมีเหตุ ผลที่คชก.ตำบล เห็นสมควรผ่อนผันให้
 (2) ผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาเว้น แต่ผู้ให้เช่านารู้หรือควรจะรู้ว่าผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาแต่ไม่ได้คัดค้าน
 (3) ผู้เช่านาใช้นาเพื่อการอื่น นอกจากทำนาหรือการทำประโยชน์ตาม มาตรา 47 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาหรือทำให้สภาพของนา เปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก
 (4) ผู้เช่านาประกอบเกษตรกรรมประเภทที่ คชก.จังหวัดประกาศห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง หรือปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นใดที่ผู้ให้ เช่านาได้ห้ามไว้ ตาม มาตรา 45 วรรคสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 46
 (5) ผู้เช่านาละทิ้งนาไปเกินหนึ่งปี
 (6) ผู้เช่านาทำนาน้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของจำนวนเนื้อที่นาที่เช่า เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน เว้นแต่เพราะเหตุสุดวิสัย
 (7) ผู้เช่านายักย้าย ปิดบัง หรือซ่อนเร้นผลผลิตที่ได้จากนาที่เช่าหรือ ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว เพื่อมิให้ผู้เช่านาได้รับค่าเช่านาเต็มตามที่ ตกลงกันหรือ
 (8) ผู้เช่านาไม่ปรับปรุงการทำนา ตามคำแนะนำของทางราชการ หรือปล่อยให้นาทรุดโทรม ทั้งนี้ เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงกว่าหนึ่งในสามของ ผลผลิตปกติ

มาตรา 34 การบอกเลิกการเช่านาตาม มาตรา 31 (1) (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านา และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อประธาน คชก.ตำบล
 ภายในเจ็ดวันนับแต่เมื่อได้รับสำเนาหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้ประธาน คชก.ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คชก.ตำบลแจ้งให้ผู้เช่านาที่ถูกบอก เลิกการเช่านาทราบเพื่อคัดค้านการเลิกการเช่านาต่อ คชก.ตำบล ภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

มาตรา 37 เมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาตาม มาตรา 26 การเช่านาไม่สิ้นสุดลง เว้นแต่ผู้ให้เช่านาประสงค์จะใช้นาที่ให้เช่าเพื่อการดังต่อไปนี้ และ ได้บอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือให้ผู้เช่านาทราบล่วงหน้า เป็นเวลาไม่น้อย กว่าหนึ่งปี
 (1) ใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองตามความเหมาะสม
 (2) ใช้เพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็น
 (3) ใช้เพื่อประโยชน์ตามผังเมืองหรือ เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น หรือ
 (4) ใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นอันสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมในทาง เศรษฐกิจตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันกำหนด
 ให้ผู้ให้เช่านาส่งสำเนาการบอกเลิกเช่านาตามวรรคหนึ่งพร้อมทั้งแสดง เหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาไปยัง คชก.ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่านาให้ผู้เช่านาทราบ เมื่อได้รับสำเนา หนังสือบอกเลิกการเช่านาดังกล่าวแล้ว ให้ คชก.ตำบลพิจารณาวินิจฉัย ถ้า คชก.ตำบล เห็นว่าผู้ให้เช่านายังไม่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะใช้นาตาม (1) (2) (3) หรือ(4)และการบอกเลิกการเช่านานั้นจะทำให้ผู้เช่านาเดือนร้อน คชก.ตำบลจะวินิจฉัยให้ยับยั้ง การบอกเลิกการเช่านาไว้ทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นเวลาตามที่เห็นสมควรไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปีก็ได้

มาตรา 39 ถ้าการเช่านาได้สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดเมื่อผู้เช่านาได้ลง มือทำประโยชน์ในนาโดยสุจริตก่อนหน้านั้นแล้ว ให้ผู้เช่านามีสิทธิในนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ต้องเสียค่าเช่านาตามส่วน
 สำหรับการทำนา ซึ่งการปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง เมื่อเสร็จการเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังจากการเช่านาได้เลิก หรือสิ้นสุดแล้วถ้า การเพาะปลูกนั้นยังเก็บเกี่ยวได้อีก ผู้เช่านาไม่มีสิทธิในนานั้นต่อไปตามวรรค หนึ่ง

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-20 12:01:37


ความคิดเห็นที่ 2 (2309312)

เช่าที่ดินเพื่อทำนา, บอกเลิกสัญญาเช่านา, สัญญาเช่าสิ้นสุด, ขัดขวางการทำนาของผู้มีสิทธิ,  โทษจำคุกไม่เกินสามเดือน
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7737/2538

 
          จำเลยเช่าที่ดินเพื่อทำนาแล้วไม่ชำระค่าเช่านาในปี 2527 ถึงปี 2530  อ. ผู้รับมอบอำนาจผู้ให้เช่านาแจ้งบอกเลิกการเช่านาไปยังจำเลยและคชก.ตำบลแล้วตามสัญญาเช่านานั้นมีกำหนดเวลาเช่าถึงวันที่ 31มีนาคม 2533 จึงเป็นการบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านา คชก.ตำบลได้ประชุมและมีมติให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและให้จำเลยเช่าที่ดินต่อไป อ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคชก.จังหวัดคชก.จังหวัดได้ประชุมและมีมติให้จำเลยเช่าทีนาถึงวันที่ 31มีนาคม 2533 ซึ่งสิ้นสุดตามกฎหมายโดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าที่ค้างมติดังกล่าวเป็นมติที่ได้วินิจฉัยในเรื่องการบอกเลิกการเช่านาและเรื่องให้จำเลยออกจากที่นาที่เช่าด้วยมติของที่ประชุมเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทของคู่กรณีดังกล่าวจำเลยเข้าร่วมประชุมและลงชื่อในบันทึกท้ายมติที่ประชุมได้ทราบเรื่องที่ประชุมตลอดจนมติที่ประชุมโดยตลอดแล้วแต่จำเลยไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดมติดังกล่าวย่อมถึงที่สุดจำเลยต้องปฏิบัติตามโดยผู้ให้เช่านาไม่จำต้องบอกเลิกการเช่านาอีกเมื่อครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2533 จำเลยยังทำนาในที่นาที่เช่าอยู่ต่อมาเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคชก.จังหวัดที่ให้จำเลยออกจากนาโดยไม่มีเหตุอันสมควร

มาตรา 31 ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาไม่ได้ เว้นแต่ในเหตุดังต่อไปนี้
 (1) ผู้เช่านาไม่ชำระค่าเช่านารวมกันเป็นเวลาสองปี เว้นแต่จะมีเหตุ ผลที่คชก.ตำบล เห็นสมควรผ่อนผันให้
 (2) ผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาเว้น แต่ผู้ให้เช่านารู้หรือควรจะรู้ว่าผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาแต่ไม่ได้คัดค้าน
 (3) ผู้เช่านาใช้นาเพื่อการอื่น นอกจากทำนาหรือการทำประโยชน์ตาม มาตรา 47 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาหรือทำให้สภาพของนา เปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก
 (4) ผู้เช่านาประกอบเกษตรกรรมประเภทที่ คชก.จังหวัดประกาศห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง หรือปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นใดที่ผู้ให้ เช่านาได้ห้ามไว้ ตาม มาตรา 45 วรรคสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 46
 (5) ผู้เช่านาละทิ้งนาไปเกินหนึ่งปี
 (6) ผู้เช่านาทำนาน้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของจำนวนเนื้อที่นาที่เช่า เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน เว้นแต่เพราะเหตุสุดวิสัย
 (7) ผู้เช่านายักย้าย ปิดบัง หรือซ่อนเร้นผลผลิตที่ได้จากนาที่เช่าหรือ ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว เพื่อมิให้ผู้เช่านาได้รับค่าเช่านาเต็มตามที่ ตกลงกันหรือ
 (8) ผู้เช่านาไม่ปรับปรุงการทำนา ตามคำแนะนำของทางราชการ หรือปล่อยให้นาทรุดโทรม ทั้งนี้ เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงกว่าหนึ่งในสามของ ผลผลิตปกติ
 
 มาตรา 62 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัดที่ห้ามมิให้ผู้นั้นขัดขวางการทำนาของผู้มีสิทธิในนาหรือให้ผู้นั้นออก จากนาโดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับ ไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนครนายก ได้พิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางลูกเสือที่วินิจฉัยให้จำเลยเป็นผู้เช่าทำนาในโฉนดที่ดินเลขที่ 1726 หมู่ที่ 6 ตำบลบางลูกเสืออำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จากนางเชื่อม เจ้าของที่ดินดังกล่าวได้ต่อไป จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2533 หลังจากนั้นให้จำเลยออกไปจากนาที่เช่า จำเลยทราบคำสั่งแล้ว แต่ระหว่างวันที่ 1 เมษายน2533 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2534 จำเลยยังคงทำนาต่อไปไม่ยอมออกจากที่ดิน อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนครนายกที่ให้จำเลยออกจากที่นาที่เช่าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เหตุเกิดที่ตำบลบางลูกเสืออำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 62
          จำเลย ให้การ ปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2528 มาตรา 62ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามคำสั่งของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ประกอบกับไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

          จำเลย อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

          โจทก์ ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2527 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินของนายปั่นเพื่อทำนามีกำหนดการเช่า 6 ปี ต่อมานายปั่น ถึงแก่ความตาย จำเลยไม่ชำระค่าเช่านางเชื่อมผู้จักการมรดกของนายปั่นมอบอำนาจให้นายอำนวยแจ้งบอกเลิกการเช่านาของจำเลยไปยังจำเลย และคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางลูกเสือ คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางลูกเสือ ได้ประชุมและมีมติให้จำเลยชำระค่าเช่านาที่ค้าง และให้จำเลยเช่าที่ดินต่อไปได้ นายอำเภอยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนครนายก คณะกรรมการได้เรียกประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2531 โดยนายอำนวยและจำเลยเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติให้จำเลยชำระค่าเช่านาที่ค้างในปี 2527, 2528, 2530 และได้รับยกเว้นค่าเช่าปี 2529 และให้จำเลยทำนาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2533 ซึ่งสิ้นสุดตามกฎหมาย จำเลยเข้าทำนาต่อมาจนกระทั่งถูกจับเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2534

          มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนครนายกหรือ คชก. จังหวัดนครนายกได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน2531 โดยจำเลยร่วมประชุมด้วย ปรากฎว่า จำเลยได้ลงชื่อในบันทึกท้ายมติที่ประชุมในฐานะผู้เช่านาไว้ ดังนั้น จำเลยเข้าร่วมประชุมและลงชื่อในบันทึกมติที่ประชุมย่อมจะทราบเรื่องที่ประชุมจนถึงมติของที่ประชุมโดยตลอด ข้ออ้างที่ว่าไม่ทราบเรื่องและมติของที่ประชุมเพราะไม่ได้อ่านให้ฟังนั้นไม่อาจรับฟังได้ สำหรับมติของ คชก.จังหวัดนครนายกนั้นสืบเนื่องมาจากจำเลยเช่าที่ดินเพื่อทำนา แล้วไม่ชำระค่าเช่านาในปี 2527 ถึงปี 2530 นายอำนวยผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่านาแจ้งบอกเลิกการเช่านาไปยังจำเลยและ คชก.ตำบลบางลูกเสือแล้ว ตามสัญญาเช่ากำหนดเวลาเช่าถึงวันที่ 31 มีนาคม2533 จึงเป็นการบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาคชก.ตำบลบางลูกเสือได้ประชุมและมีมติให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและให้จำเลยเช่าที่ดินต่อไป นายอำนวยได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคชก.จังหวัดนครนายก คชก.จังหวัดนครนายกได้ประชุมและมีมติให้จำเลยผู้เช่านาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2533 ซึ่งสิ้นสุดตามกฎหมายโดยที่จำเลยจะต้องชำระค่าเช่านาปี 2527, 2528 และปี 2530 ยกเว้นไม่ต้องชำระค่าเช่านาปี 2529 มติดังกล่าวจึงเป็นมติที่ได้วินิจฉัยในเรื่องการบอกเลิกการเช่านาของจำเลย ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 31 ซึ่งในการประชุมดังกล่าวที่นายสาลีจ่าจังหวัดเสนอว่าในปี 2533 ไม่ต้องตกลงในเรื่องเลิกการเช่านา เนื่องจากได้เป็นไปตามกฎหมายที่จะต้องออกจากการทำนาเช่าผืนนี้ เพียงแต่ผู้ให้เช่าบอกเลิกการเช่าตามกฎหมายก็จะต้องจากการทำงาน ฉะนั้น จึงไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องตกลงกันในเรื่องเลิกการเช่านาเมื่อหมดสัญญาเช่า ควรตกลงกันในเรื่องค่าเช่านาเท่านั้นก็เป็นข้อเสนอมาจากที่ประธานที่ประชุมเสนอในการไกล่เกลี่ยคู่กรณีให้ตกลงกันโดยผู้ให้เช่านาชี้แจงว่าไม่ประสงค์จะต่อรองราคา จะไม่เรียกเก็บค่าเช่านาจำนวน 5 ปี ก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าจำเลยต้องเลิกการเช่านาเนื่องจากไม่ยอมชำระค่าเช่าติดกันเป็นเวลา 3 ปี ประธานที่ประชุมจึงเสนอว่าหากจำเลยประสงค์จะชำระค่าเช่านาจะต้องการอย่างไรผู้ให้เช่านาเสนอว่าหากจะจ่ายค่าเช่าจะจ่ายเท่าไรก็ยินดีรับแต่มีข้อแม้ว่าจะทำต่อไปอีกกี่ปีหรือจะทำแค่หมดสัญญาปี 2533 แล้วเลิกการทำนานายสาลีจ่าจังหวัดจึงเสนอข้อพิจารณาว่า ในปี 2533 ไม่ต้องตกลงในเรื่องเลิกการเช่านาดังกล่าว ซึ่งต่อมาที่ประชุมจึงพิจารณาตกลงในเรื่องค่าเช่านา จนเป็นที่ตกลงกันโดยจำเลยเสนอว่าจำเลยยินยอมจะชำระค่าเช่านาในปี 2527, 2528 ในปี 2529 ยกเว้นค่าเช่าตามมติของ คชก.ตำบลบางลูกเสือ ส่วนในปี 2530 จ่ายให้เต็มตามสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าเสนอว่า ยินยอมและขอให้ที่ประชุมได้มีมติว่าในปี 2527, 2528 ชำระค่าเช่านาให้จำนวน 7,000 บาท ในปี 2529ยกเว้นค่าเช่านาตามมติ คชก.ตำบลบางลูกเสือ ส่วนในปี 2530จ่ายค่าเช่าให้ตามสัญญาจนถึงปี 2533 แล้วหมดสิทธิการเช่านาผืนนี้ตามกฎหมาย ประธานที่ประชุมเสนอว่า ได้ หากต้องการจะให้ที่ประชุมมีมติให้เช่าการทำนาจนถึงปี 2533 แล้วหมดสิทธิการเช่านาผืนนี้ตามกฎหมายและขอมีมติที่ประชุม ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จำเลยทำนาจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2533 ซึ่งสิ้นสุดตามกฎหมายโดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าปี 2527, 2528 และปี 2530 ส่วนในปี 2529 ยกเว้นไม่ต้องชำระค่าเช่านา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ที่ประชุมได้พิจารณาในเรื่องการบอกเลิกการเช่านาและเรื่องให้จำเลยออกจากที่นาที่เช่าด้วยมติของที่ประชุมจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทของคู่กรณีดังกล่าว จำเลยมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดนครนายกดังกล่าว มติดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าว โดยผู้ให้เช่านาไม่จำต้องบอกเลิกการเช่านาอีก เมื่อครบกำหนดถึงวันที่ 31 มีนาคม2533 จำเลยยังทำนาในที่นาที่เช่าอยู่ต่อมา จึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.จังหวัดนครนายกที่ให้จำเลยออกจากนาโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง
          พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น
 
 
( ทวิช กำเนิดเพ็ชร์ - ประสิทธิ์ แสนศิริ - ชลอ ทองแย้ม )
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-20 12:09:26


ความคิดเห็นที่ 3 (2309315)

หนังสือสัญญาเช่านามีกำหนด 1 ปี ให้ถือว่ามีการเช่ากัน 6 ปี,  การบอกเลิกสัญญาเช่านาก่อนกำหนดทำไม่ได้, ฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่นา
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7356/2538

 
          ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยเป็นเรื่องการเช่านาไม่ว่าโจทก์จำเลยจะมีเจตนาที่จะให้การเช่านาระหว่างตนอยู่ภายใต้บังคับแห่งพ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หรือไม่ก็ตาม การเช่านาของโจทก์จำเลยก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้การเช่านาพิพาทตามหนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยจะกำหนดเวลาเช่าไว้ 1 ปีก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ให้ถือว่ามีกำหนด6 ปี การเช่านาพิพาทย่อมมีกำหนดเวลา 6 ปี

           การที่โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาเช่าฉบับใหม่ เมื่อหนังสือสัญญาเช่าฉบับเดิมครบกำหนดเวลาไปแล้ว โจทก์จำเลยคงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับใหม่ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่ผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับก่อน ๆ ที่ครบกำหนดระยะเวลาการเช่าไปแล้ว และที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยว่าผิดสัญญาเช่านาก็โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าตามสัญญาเช่าฉบับใหม่ ดังนั้น การเริ่มนับระยะเวลา 6 ปี จึงต้องเริ่มนับตามตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับใหม่ หาใช่เริ่มนับตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับเดิมไม่ ดังนั้น โจทก์ผู้ให้เช่านาจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาไม่ได้ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 31

           ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่จำเลยขุดสระอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยแยกต่างหากเป็นเอกเทศไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่ขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่พิพาทเพราะเหตุที่สัญญาเช่าครบกำหนด ความเสียหายของโจทก์ดังกล่าว ย่อมต้องถือว่าเป็นคำขอบังคับส่วนหนึ่งของข้อหาที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทเพราะครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยแล้ว คำขอบังคับที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวย่อมเป็นอันตกไป

พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 31

มาตรา 31 ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการ เช่านาไม่ได้ เว้นแต่ในเหตุดังต่อไปนี้
 (1) ผู้เช่านาไม่ชำระค่าเช่านารวมกันเป็นเวลาสองปี เว้นแต่จะมีเหตุ ผลที่คชก.ตำบล เห็นสมควรผ่อนผันให้
 (2) ผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาเว้น แต่ผู้ให้เช่านารู้หรือควรจะรู้ว่าผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาแต่ไม่ได้คัดค้าน
 (3) ผู้เช่านาใช้นาเพื่อการอื่น นอกจากทำนาหรือการทำประโยชน์ตาม มาตรา 47 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาหรือทำให้สภาพของนา เปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก
 (4) ผู้เช่านาประกอบเกษตรกรรมประเภทที่ คชก.จังหวัดประกาศห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง หรือปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นใดที่ผู้ให้ เช่านาได้ห้ามไว้ ตาม มาตรา 45 วรรคสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 46
 (5) ผู้เช่านาละทิ้งนาไปเกินหนึ่งปี
 (6) ผู้เช่านาทำนาน้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของจำนวนเนื้อที่นาที่เช่า เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน เว้นแต่เพราะเหตุสุดวิสัย
 (7) ผู้เช่านายักย้าย ปิดบัง หรือซ่อนเร้นผลผลิตที่ได้จากนาที่เช่าหรือ ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว เพื่อมิให้ผู้เช่านาได้รับค่าเช่านาเต็มตามที่ ตกลงกันหรือ
 (8) ผู้เช่านาไม่ปรับปรุงการทำนา ตามคำแนะนำของทางราชการ หรือปล่อยให้นาทรุดโทรม ทั้งนี้ เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงกว่าหนึ่งในสามของ ผลผลิตปกติ
 
________________________________
      
( อธิราช มณีภาค - มงคล สระฏัน - วุฒิ คราวุฒิ )
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-20 12:14:51


ความคิดเห็นที่ 4 (2309318)

การเช่าช่วงที่นาที่ผู้ให้เช่ายินยอมแล้ว,  สัญญาเช่าที่นากำหนด 1 ปี ให้ถือว่ามีกำหนด 6 ปี, การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นา,

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3749/2534

 
พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 5, 13(2), 19, 21, 26, 31, 34, 36, 56
 
          ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ นั้น กฎหมายประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงผู้เช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าด้วย นาย ท.บิดานาย ป.เช่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ถึง 298 ไร่ จากนาง จ. มารดาโจทก์มาตั้งแต่ปี 2500 ทั้งผู้เช่าช่วงจากนาย ป.ก็เป็นผู้เช่าช่วงชุดเดิมจากนาย ท. ยิ่งกว่านี้ในสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนายป.ยังขีดข้อความว่า "จะไม่เอาที่ดินที่เช่านี้ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือโอนให้ผู้อื่นเช่าต่อไป" ออก และมีลายเซ็นชื่อของโจทก์กำกับไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้นาย ป.นำที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงนายป.จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สัญญาเช่ากำหนด 1 ปีก็ต้องถือว่ามีกำหนด 6 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านาย ป.เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อเกษตรกรรมแล้วจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลจึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของนาย ป. การที่จำเลยที่ 4 ได้รับคำร้องของนายป.โดยมีภาพถ่ายสัญญาเช่าและหนังสือบอกเลิกการเช่าแนบมาด้วยแล้วมีความเห็นว่าการบอกเลิกการเช่าเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 31,34,36 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว เนื่องจากการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุผลตามมาตรา 36 และโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่าต่อจำเลยที่ 4 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์มาชี้แจง เพราะตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติให้อำนาจซึ่งอยู่ในดุลพินิจว่าจะใช้อำนาจหรือไม่ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลหรือจังหวัดต้องเรียกผู้ให้เช่ามาชี้แจง ยิ่งกว่านี้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลได้วินิจฉัยลงมติเป็นเอกฉันท์โดยให้เหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการบอกเลิกการเช่าของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว การพิจารณาของจำเลยที่ 4จึงชอบด้วยกฎหมาย แม้จะเป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ของนายเทียนชัยกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลที่ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้วปล่อยเรื่องทิ้งไว้เป็นปีจนกระทั่งย้ายไปรับราชการที่อื่น ไม่ดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ไปภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตามมาตรา 56วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลตกไปหรือไม่มีผลบังคับหรือขาดอายุความ กำหนด 15 วันดังกล่าวจึงเป็นแต่เพียงมุ่งหมายที่จะให้ดำเนินการไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้าเท่านั้น หาได้มีผลทำให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่

มาตรา 5 "เกษตรกรรม" หมายความว่า การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์ เลี่ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎ กระทรวง
 ผู้เช่า"หมายความว่า ผู้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมทั้งหมดหรือ เป็นส่วนใหญ่
 ผู้ให้เช่า" หมายความว่า ผู้ที่ให้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่
 "การเช่า" หมายความว่า การเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยิน ยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทที่การเช่าที่ดินเพื่อ การนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วง นั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ ก็ตามและหมายความรวมถึงการยินยอมให้ ใช้ที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่าหรือนิติกรรมอื่นใด อันเป็นการอำพรางการเช่านั้น
 "ค่าเช่า" หมายความว่า ผลิตผลเกษตรกรรม เงินหรือทรัพย์สินอื่นใด ซึ่งให้เป็นค่าตอบแทนการเช่า และหมายความรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจ คำนวณเป็นเงินได้ที่ผู้ให้เช่าหรือบุคคลอื่นได้รับเพื่อตอบแทนการให้เช่าทั้งโดย ตรงหรือทางอ้อม
 "ปี" หมายความว่าระยะเวลาสิบสองเดือน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มต้น ฤดูกาลประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่น
 "จังหวัด" หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานคร
 "อำเภอ" หมายความรวมถึงเขตของกรุงเทพมหานคร
 "ตำบล" หมายความรวมถึงแขวงของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
 "นายอำเภอ" หมายความรวมถึงหัวหน้าเขตของกรุงเทพมหานคร
 "กำนัน " หมายความรวมถึงหัวหน้าแขวงของกรุงเทพมหานคร
 "คชก.จังหวัด"หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตร กรรมประจำจังหวัด
 "คชก.ตำบล"หมายความว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตร กรรมประจำตำบล

มาตรา 13 คชก.ตำบลมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
 (1) กำหนดอัตราค่าเช่าชั้นสูง ของแต่ละท้องที่ในเขตตำบลตามการ จำแนกคุณภาพของที่ดินและน้ำ
 (2) พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่าการชำระค่า เช่าระยะเวลาของการเช่าตลอดจนข้อพิพาทอื่น หรือค่าเสียหายอันเกิดจาก การเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าและมีคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย (3) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ คชก. จังหวัด มอบหมาย
 การกำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงตาม (1) ให้กระทำอย่างน้อยทุกสามปี และให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการของ ตำบลที่มีการเช่า
 ในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทตาม (2) ให้ คชก.ตำบลมีอำนาจไกล่ เกลี่ยข้อพิพาทได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา 19 ให้ คชก.จังหวัด คชก.ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการ ดังกล่าว มีอำนาจเรียกผู้เช่า ผู้ให้เช่า หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่ามาเพื่อ ประกอบการพิจารณาของ คชก.จังหวัด หรือ คชก. ตำบล ได้แล้วแต่กรณี

 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานหรือกรมการใน คชก.จังหวัดหรือ คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจเข้าไปใน ที่ดินที่เช่าหรือที่เก็บผลผลิตของผู้เช่า ผู้ให้เช่า หรือผู้ซึ่ง เกี่ยวข้องในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเช่าได้ ในการนี้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหา ริมทรัพย์ต้องอำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือแก่ประธานหรือกรรม การในคชก.จังหวัด หรือ คชก.ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรม การดังกล่าวนั้นตามสมควร
 ให้ถือว่าประธานและกรรมการใน คชก.จังหวัด หรือ คชก.ตำบล และ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา


 มาตรา 21 ในหมวดนี้
 "นา" หมายความว่า ที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่
 "ทำนา" หมายความว่า การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่
 "พืชไร่" หมายความว่า พืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและอายุสั้นหรือสามารถ เก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน
 "พืชหลัก" หมายความว่าข้าวหรือพืชไร่ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดซึ่ง ตามปกติของสภาแห่งท้องที่ควรเพาะปลูกกันในรอบปีหนึ่งๆ และให้ผลเป็นราย ได้สำคัญแก่เกษตรในรอบปีนั้น ทั้งนี้ตามที่ คชก.ตำบลจะได้กำหนดขึ้นเป็น คราว ๆ แต่ไม่รวมถึงพืชที่เพาะปลูกขึ้นเพื่อเป็นรายได้ประกอบตามสภาพของ ท้องที่หรือเพื่อการบริโภคในครัวเรือน

มาตรา 31 ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการ เช่านาไม่ได้ เว้นแต่ในเหตุดังต่อไปนี้
 (1) ผู้เช่านาไม่ชำระค่าเช่านารวมกันเป็นเวลาสองปี เว้นแต่จะมีเหตุ ผลที่คชก.ตำบล เห็นสมควรผ่อนผันให้
 (2) ผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาเว้น แต่ผู้ให้เช่านารู้หรือควรจะรู้ว่าผู้เช่านาให้เช่าช่วงนาแต่ไม่ได้คัดค้าน
 (3) ผู้เช่านาใช้นาเพื่อการอื่น นอกจากทำนาหรือการทำประโยชน์ตาม มาตรา 47 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่านาหรือทำให้สภาพของนา เปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก
 (4) ผู้เช่านาประกอบเกษตรกรรมประเภทที่ คชก.จังหวัดประกาศห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง หรือปลูกข้าวหรือพืชไร่อื่นใดที่ผู้ให้ เช่านาได้ห้ามไว้ ตาม มาตรา 45 วรรคสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 46
 (5) ผู้เช่านาละทิ้งนาไปเกินหนึ่งปี
 (6) ผู้เช่านาทำนาน้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของจำนวนเนื้อที่นาที่เช่า เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน เว้นแต่เพราะเหตุสุดวิสัย
 (7) ผู้เช่านายักย้าย ปิดบัง หรือซ่อนเร้นผลผลิตที่ได้จากนาที่เช่าหรือ ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว เพื่อมิให้ผู้เช่านาได้รับค่าเช่านาเต็มตามที่ ตกลงกันหรือ
 (8) ผู้เช่านาไม่ปรับปรุงการทำนา ตามคำแนะนำของทางราชการ หรือปล่อยให้นาทรุดโทรม ทั้งนี้ เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงกว่าหนึ่งในสามของ ผลผลิตปกติ

มาตรา 34 การบอกเลิกการเช่านาตาม มาตรา 31 (1) (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาพร้อมทั้งแสดง เหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านา และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อประธาน คชก.ตำบล
 ภายในเจ็ดวันนับแต่เมื่อได้รับสำเนาหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้ประธาน คชก.ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คชก.ตำบลแจ้งให้ผู้เช่านาที่ถูกบอก เลิกการเช่านาทราบเพื่อคัดค้านการเลิกการเช่านาต่อ คชก.ตำบล ภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

มาตรา 36 การบอกเลิกการเช่านาเพราะเหตุตาม มาตรา 31(8) ผู้ให้เช่านาต้องยื่นคำขอต่อประธาน คชก.ตำบล เพื่อบอกเลิกการเช่านา
 ถ้า คชก.ตำบลเห็นว่าผู้เช่านากระทำตาม มาตรา 31(8) คชก.ตำบล อาจวินิจฉัยให้บอกเลิกการเช่านา หรือจะวินิจฉัยให้มีการเช่านาต่อไปโดย กำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้เช่านาจะต้องปฏิบัติก็ได้
 เมื่อ คชก.ตำบล สั่งให้ผู้เช่านาปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดนามวรรค สองและผู้เช่านาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาอันสมควรให้ คชก. ตำบลมีคำวินิจฉัยให้ผู้ให้เช่านาบอกเลิกการเช่านาได้ทันที

มาตรา 56 ผู้เช่านา ผู้เช่าช่วงนา หรือผู้ให้เช่านาที่เป็นคู่กรณี หรือผู้มี ส่วน ได้เสียในการเช่านาอาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ต่อ คชก. จังหวัดได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก.ตำบล ภายในกำหนดสามสิบ วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.ตำบลได้มีคำวินิจฉัย
 คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลที่มิได้อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด
 ให้ประธาน คชก.ตำบลส่งคำอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังประธานคชก.จังหวัด ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์
 การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุทุเลาการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล เว้นแต่ คชก.ตำบลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในการให้ทุเลาการปฏิบัติ ตามคำวินิจฉัยนั้น คชก.ตำบลจะเรียกให้ผู้อุทธรณ์ทำทัณฑ์บนหรือจัดหาประกัน หรือวางเงินประกัน ตามที่เห็นสมควรก่อนสั่งให้มีการทุเลาการปฏิบัติตามคำ วินิจฉัยก็ได้ ถ้าพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณีอีกฝ่าย หนึ่ง
 การที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลนั้นไม่เป็น เหตุที่จะมาฟ้องร้องกันได้ และให้ฝ่ายที่ลงมือทำนาไปตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลนั้นได้ทำนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยว และให้นำ มาตรา 39 และ มาตรา 50 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3ที่ 4 และเป็นผู้ใช้อำนาจและรักษาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีและเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดปทุมธานี จำเลยที่ 4 เป็นกำนันตำบลคลองหนึ่งอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งเมื่อประมาณต้นปี 2526นายประสิทธิ์ แก้วสว่าง ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งว่าเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 นายประสิทธิ์ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 421 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานีเนื้อที่ 298 ไร่ 2 งาน จากโจทก์เพื่อทำกสิกรรม ต่อมาเดือนมกราคม2526 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่า ขอให้จำเลยที่ 4 วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเลิกสัญญาเช่า เพราะการเช่าที่ดินนั้นขยายอายุการเช่าไปเป็น 6 ปี นับแต่วันเช่าจำเลยที่ 4 ได้รับคำร้องแล้วไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ และไม่ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปใช้เป็นหลักในการวินิจฉัย กลับเรียกประชุม คชก.ตำบล เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2526 แล้ววินิจฉัยว่าเป็นการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อายุการเช่ายืดออกไปเป็น 6 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่าโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่7 มีนาคม 2526 คำวินิจฉัยนั้นผิดพลาดต่อข้อเท็จจริงและกฏหมายต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2526 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยนั้นต่อจำเลยที่ 3 ในฐานะประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดปทุมธานีผ่านจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 ไม่เสนออุทธรณ์นั้นไปให้จำเลยที่ 3 พิจารณาภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับตามมาตรา 56 วรรคสาม เป็นเวลาเกือบขวบปีจึงเสนอไป จำเลยที่ 3ไม่มีสิทธิที่จะพิจารณาวินิจฉัย แต่จำเลยที่ 3 กลับรับอุทธรณ์และวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4ต้องตกไปไร้ผลบังคับเพราะขาดอายุความ แม้สัญญาเช่ากำหนดว่าเป็นการเช่าที่ดินเพื่อไว้ทำไร่กล้วยแต่นายประสิทธิ์ แก้วสว่าง มิได้นำที่ดินที่เช่านั้นไปประกอบการเกษตรกรรมด้วยตนเอง กลับนำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหมดทั้งแปลง เป็นการแสวงหาประโยชน์ในเชิงการค้าจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลคลองหนึ่งจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 เช่นนั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทราบคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่ 4ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่สั่งการอย่างใดถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้สมคบร่วมกันให้เกิดคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นด้วย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง คชก. จังหวัดปทุมธานี โดยถือว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสี่ให้การว่า สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนายประสิทธิ์ แก้วสว่าง ระบุว่าเป็นการเช่าที่ดินเพื่อทำไร่กล้วยจึงเป็นการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมและกล้วยเป็นพืชไร่จึงอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 26 แม้สัญญาเช่ามีกำหนด 1 ปี ก็ให้ถือว่าการเช่านั้นมีกำหนด 6 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า โจทก์บอกเลิกการเช่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และตามมาตรา 19 ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลมีอำนาจเรียกผู้เช่า ผู้ให้เช่า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงหรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่ามาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลได้แล้วแต่กรณี เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลจะเรียกคู่กรณีมาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ แม้จำเลยที่ 4 ไม่เรียกโจทก์หรือผู้แทนมาชี้แจง คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งก็มีอำนาจวินิจฉัยโดยดูจากคำร้องที่ยื่นและหลักฐานประกอบ ซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด แม้นายประสิทธิ์จะได้ให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อก็ตาม แต่โจทก์ทราบนานแล้วไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านตามมาตรา 31(2) โจทก์บอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลา 6 ปีไม่ได้ คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งจึงชอบแล้วมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้นต่อจำเลยที่ 4 โดยตรง เหตุที่ส่งคำอุทธรณ์ไปยังประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดปทุมธานีล่าช้า เพราะมีการสับเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ แม้ส่งไปเมื่อเลยกำหนด 15 วัน ก็ไม่ทำให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลไร้ผลหรือขาดอายุความ เพราะมาตรา 56 วรรคสาม บัญญัติเพียงว่าให้ประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลส่งคำอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดว่าเมื่อล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว จะทำให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลไร้ผลบังคับหรือขาดอายุความคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดปทุมธานีจึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ นั้น มิใช่เจ้าหน้าที่ดำเนินการแต่อย่างใด ไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายสั่งการคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลหรือจังหวัด ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับมรดกที่ดินพิพาทมาจากนางแจ่ม หวั่งหลี ผู้เป็นมารดา นางแจ่มให้นายเทียม แก้วสว่าง บิดาของนายประสิทธิ์ แก้วสว่าง เช่าที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2500 นายเทียมไม่ได้ทำประโยชน์เอง แต่ให้ผู้อื่นเช่าช่วงปลูกกล้วยและผลไม้อื่น ๆ จนกระทั่งปี 2523นายเทียมให้นายประสิทธิ์รับช่วงต่อ โจทก์จึงทำสัญญาให้นายประสิทธิ์เช่าที่ดินพิพาทปีต่อปี เมื่อปี 2524 นายประสิทธิ์ไม่ได้ปลูกต้นกล้วยเอง คงให้ผู้เช่าช่วงเดิมเช่าช่วงต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงคำร้องของนายประสิทธิ์เรื่องโจทก์บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 4 ไม่ได้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด จำเลยที่ 3เพื่อพิจารณาภายในกำหนด 15 วัน โจทก์ฎีกาประการแรกว่านายประสิทธิ์ไม่ได้ปลูกกล้วยในที่ดินพิพาทด้วยตนเอง แต่ให้ผู้อื่นเช่าช่วงปลูกต้นกล้วยโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 5 บัญญัติว่า
          "เกษตรกรรม" หมายความว่า การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          "การเช่า" หมายความว่า การเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทที่การเช่าที่ดินเพื่อการนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้เพื่อประกอบเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่าและการทำนิติกรรมอื่นใดอันเป็นการอำพรางการเช่านั้น
          มาตรา 21 "ทำนา" หมายความว่า การเพราะปลูกข้าวหรือพืชไร่
          มาตรา 26 การเช่านา ให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปีการเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา หรือมีแต่ต่ำกว่าหกปีให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลาหกปี
          จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงผู้เช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าด้วยนายเทียมบิดานายประสิทธิ์เช่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ถึง 298 ไร่เศษจากนางแจ่มมารดาโจทก์มาตั้งแต่ ปี 2500 ทั้งผู้เช่าช่วงจากนายประสิทธิ์ก็เป็นผู้เช่าช่วงชุดเดิมกับผู้เช่าช่วงจากนายเทียมยิ่งกว่านี้ในสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนายประสิทธิ์เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 4 ยังขีดฆ่าข้อความว่า "จะไม่เอาที่ดินที่เช่านี้ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือโอนให้ผู้อื่นเช่าต่อไป" ออก และมีลายเซ็นชื่อของโจทก์จำเลยกำกับ แสดงให้เห็นว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้นายประสิทธิ์นำที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วง นายประสิทธิ์จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สัญญาเช่ามีกำหนด1 ปี ก็ต้องถือว่ามีกำหนด 6 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า
          โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่มีอำนาจรับคำร้องของนายประสิทธิ์เรื่องขอให้วินิจฉัยการบอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ไว้วินิจฉัยเพราะมิใช่การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากจะฟังว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีอำนาจรับคำร้องของนายประสิทธิ์ไว้วินิจฉัยจำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนวินิจฉัย โดยมิได้ให้โจทก์มีโอกาสต่อสู้กรณีพิพาทเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมและผิดกฎหมายศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายประสิทธิ์เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อเกษตรกรรมแล้วจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของนายประสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 13(2) บัญญัติให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่าระยะเวลาของการเช่า ตลอดจนข้อพิพาทอื่นหรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าและมีคำสั่งใด ๆให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย
          มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดหรือตำบลหรือผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเรียกผู้เช่า ผู้ให้เช่าหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่ามาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดหรือตำบลแล้วแต่กรณี

          เห็นว่า การที่จำเลยที่ 4 ได้รับคำร้องจากนายประสิทธิ์โดยมีภาพถ่ายสัญญาเช่าและหนังสือบอกเลิกการเช่าแนบมาด้วยแล้วมีความเห็นว่า การบอกเลิกการเช่าเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 31, 34 และ 36 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวเนื่องจากการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุผลตามมาตรา 36 และโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่าต่อจำเลยที่ 4 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์มาชี้แจงเพราะตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติให้อำนาจซึ่งอยู่ในดุลพินิจว่าจะใช้อำนาจหรือไม่หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลหรือจังหวัดต้องเรียกผู้ให้เช่ามาชี้แจงยิ่งกว่านี้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งได้วินิจฉัยลงมติเป็นเอกฉันท์โดยให้เหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการบอกเลิกการเช่าของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายรายงานการประชุมเอกสารหมาย ป.ล.1 การพิจารณาของจำเลยที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

          โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 มิได้ดำเนินการส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปให้ประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดจำเลยที่ 3 รับไว้พิจารณาต่อภายใน 15 วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ตามมาตรา 56 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งจึงเป็นอันไร้ผลบังคับเพราะขาดอายุความ คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดจำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจรับไว้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะเป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ของนายเทียนชัยตั้งทองกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลคลองหนึ่งที่รับคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้วปล่อยเรื่องทิ้งไว้เป็นปีจนกระทั่งย้ายไปรับราชการที่อื่น ไม่ดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ไปภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลตกไปหรือไม่มีผลบังคับหรือขาดอายุความ กำหนดเวลา 15 วัน ดังกล่าวจึงเป็นแต่เพียงมุ่งหมายที่จะให้ดำเนินการไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้าเท่านั้น หาได้มีผลทำให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่
          พิพากษายืน
 
 
( เสียง ตรีวิมล - บุญศรี กอบบุญ - สมศักดิ์ วิธุรัติ )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-20 12:26:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล