ReadyPlanet.com


พ่อเสียชีวิต บุตรมีสิทธ์ในสินสมรสของแม่เลี้ยงหรอไม่


เนื่องจากพ่อเสียชีวิตได้ไม่นาน ก็ได้ไปตรวจสอบที่ดิน ที่อำเภอ แล้วก็ได้ทราบว่า ที่ดินที่เป็นชื่อของแม่เลี้ยงคนเดียวที่ซื้อระหว่างสมรสนั้นได้ถูกโอนเป็นชื่อผู้อื่นไปแล้ว เหลือเพียงแค่ที่ดินที่เป็นชื่อร่วม
       อยากทราบว่าในการแบ่งมรดกสินสมรสจะถูกนำมาแบ่งด้วยหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ supang :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-29 04:28:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2309296)

หากทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ผู้ตายมีกรรมสิทธิ์รวมก็ต้องนำมาคำนวณเพื่อแบ่งครึ่งก่อน แต่คู่สมรสได้จำหน่ายไปโดยไม่ชอบก็ต้องฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนครับ และถือว่าเป็นมรดกที่ต้องรวบรวมเข้ากองมรดกของผู้ตายครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-20 11:00:43


ความคิดเห็นที่ 2 (2309302)

กรรมสิทธิ์รวม สินสมรส เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5856/2544

 
          บิดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 1 และเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) เมื่อจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 1476(1) และเมื่อจำเลยที่ 2เบิกความยอมรับว่าก่อนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีสามีคือโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริตโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 148

มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

มาตรา 1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
 
มาตรา 1480  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1และที่ 2 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2535 สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 439/2538หมายเลขแดงที่ 332/2538 ลงวันที่ 27 เมษายน 2538 การจดทะเบียนซื้อขายและสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม2538 การจดทะเบียนให้ถือกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2538 ให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายปีละ80,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3และบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว

          จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายจนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาท

          จำเลยทั้งสามฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2528 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.2เดิมนายถึง เหมาะตัว มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 27 หมู่ที่ 10 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 42 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา ตามเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นที่ดินพิพาท ต่อมานายถึงถึงแก่ความตายและนายเสนอ เหมาะตัว ผู้จัดการมรดกของนายถึงได้โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25สิงหาคม 2532 ตามสารบัญจดทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.4 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้ายบัญญัติว่า "ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส" ดังนี้ เห็นว่า โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวเมื่อจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่าระหว่างอยู่กินกับนายสุขสามีเก่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายถึง เหมาะตัว ในราคา360,000 บาท และข้าวเปลือกอีกจำนวน 2 เกวียน ทำสัญญาซื้อขายกันไว้แต่ยังไม่ได้โอน ทำสัญญาซื้อขายกันได้ 4 ปี นายถึงถึงแก่ความตายหลังจากนายถึงถึงแก่ความตายแล้ว 3 ปี นายเสนอในฐานะผู้จัดการมรดกของนายถึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 นอกจากนี้แล้วจำเลยทั้งสามไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ให้ศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความ พยานจำเลยทั้งสามจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนโจทก์นอกจากจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสแล้ว โจทก์ยังอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายถึงซึ่งนายสวอยบิดาโจทก์ได้ซื้อมาเมื่อปี 2517 ในราคา 70,000 บาท ยังมิได้จดทะเบียนโอนกันตามกฎหมาย นายถึงได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อน นายสวอยได้ติดต่อนางเหียมภริยานายถึงจนกระทั่งปี2531 จึงได้พบนางเหียม นางเหียมขอให้ชำระเงินเพิ่มอีก 35,000บาท นายสวอยตกลงจึงได้บอกให้โจทก์หาเงิน ซึ่งโจทก์หาเงินได้นายสวอยจึงยกที่ดินพิพาทให้เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1โดยจดทะเบียนโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2532 และโจทก์มีนายสวอยบิดาโจทก์มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า นายถึงเคยนำที่ดินพิพาทมาจำนำไว้แก่พยาน โดยนายถึงได้ขอยืมเงินพยานไปจำนวน 20,000 บาทและมอบที่ดินพิพาทให้พยานทำกินต่างดอกเบี้ย นายถึงยังมิได้ชำระหนี้ก็มาถึงแก่ความตายเสียก่อน ต่อมานางเหียมภริยานายถึงนำที่ดินพิพาทมาขายให้แก่พยานในราคา 70,000 บาท ก่อนนายถึงถึงแก่ความตายนายถึงนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้ที่สหกรณ์การเกษตรอำเภอปราสาทพยานเคยไปชำระหนี้แทนนายถึงตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.1พยานได้โอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ขณะโอนนางเหียมเรียกให้ชำระเงินเพิ่มอีก 35,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเงินจำนวนนี้ให้ พยานจึงยกให้เป็นที่ดินทำกินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1ซึ่งขณะนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สมรสกันแล้ว และโจทก์ยังมีนายเสนอเหมาะตัว ซึ่งเป็นบุตรชายของนายถึงในฐานะผู้จัดการมรดกของนายถึงและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายถึงบิดาพยาน บิดาพยานเคยนำไปจำนองที่สหกรณ์การเกษตรอำเภอปราสาท หลังจากนั้นบิดาพยานได้นำไปขายให้นายสวอยบิดาโจทก์ นายสวอยเป็นผู้ไปไถ่ถอนที่ดินพิพาทออกมาจากสหกรณ์การเกษตรอำเภอปราสาทและได้ยึดถือต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทไว้ แต่เนื่องจากในขณะนั้นบุตรนายถึงซึ่งหมายถึงพยานและพี่น้องอายุยังไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ นายสวอยจึงยังไม่สามารถจดทะเบียนโอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ในปี 2532 พยานยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งพยานเป็นผู้จัดการมรดกของนายถึงบิดา ในการยื่นคำร้องครั้งนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปติดตามให้พยานมาดำเนินการโดยแจ้งความประสงค์ว่าต้องการจะให้พยานโอนที่ดินพิพาทให้บุคคลทั้งสอง มารดาพยานได้เรียกเงินเพิ่มเติมอีก 35,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ยินยอม พยานโจทก์ดังกล่าวต่างเบิกความได้สอดคล้องต้องกันจะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดมิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้พยานหลักฐานโจทก์เสียไปพยานหลักฐาน โจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง และเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อความหลังใบรับเงินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่า นายสวอยได้ชำระหนี้แทนนางเหียมแล้ว เห็นว่า หากนายสวอยไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายถึงสามีนางเหียม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่นายสวอยจะไปชำระหนี้แทนนางเหียมดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายสวอยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายถึงนางเหียม เมื่อนายถึงถึงแก่ความตายแล้ว นายเสนอบุตรได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายถึงและดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยนางเหียมได้เรียกเงินเพิ่มจากโจทก์และจำเลยที่ 1เป็นเงิน 35,000 บาท ส่วน นายสวอยบิดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 1 และเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474(1) เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(1) และเมื่อได้ความจากจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า ก่อนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีสามีคือโจทก์ ดังนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2รับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด นั้น ได้ความจากพยานโจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทสามารถทำนาได้ข้าวเปลือกปีละ 20 ถึง 25 เกวียน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะคงเหลือเงินจำนวนปีละ 70,000 ถึง 80,000 บาท ปัจจุบันข้าวเปลือกมีราคาเกวียนละ 5,000 บาทเศษ จึงคิดเป็นค่าเสียหายปีละ80,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 3ทำนาในส่วนของจำเลยที่ 3 โดยในปี 2540 จำเลยที่ 3 ทำนาได้ข้าวหอมมะลิจำนวน 7 เกวียน ในปี 2541 ทำนาได้ข้าวหอมมะลิจำนวน5 เกวียน หากขายจะได้ในราคาเกวียนละ 5,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วกำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน
 
 
( วิชัย วิสิทธวงศ์ - ไพศาล เจริญวุฒิ - จรูญวิทย์ ทองสอน )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-20 11:20:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล