ReadyPlanet.com


อายุความเงินกู้ธนาคาร(ด่วนมากค่ะ)


 อยากทราบว่าคดีธนาคารฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน โดยจำนองบ้านเป็นหลักประกัน และมีข้อตกลงผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน อายุความฟ้องร้องกี่ปีคะ



ผู้ตั้งกระทู้ จอย :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-17 20:46:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2307165)

กรณีดังกล่าวมีหนี้ประธานคือสัญญากู้ยืมเงิน และหนี้อุปกรณ์ คือหนี้ตามสัญญาจำนองประกันหนี้ กรณีที่สัญญากู้ยืมมีข้อตกลงผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ส่วนหนี้จำนองไม่มีอายุความแต่จะเรียกดอกเบี้ยย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี

มาตรา 193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1)  ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2)  เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
(3)  ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4)  เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5)  สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

มาตรา 744  อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ

มาตรา 745  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-11 16:15:57


ความคิดเห็นที่ 2 (2307173)


สิทธิเรียกร้องมีกำหนดอายุความห้าปี
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6854/2553

 
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัท ก. โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 เมษายน 2538 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยอมให้บริษัท ก. เรียกหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้ โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
 
มาตรา 193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1)  ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2)  เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
(3)  ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4)  เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5)  สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้จำนวน 2,141,437.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 และอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ และหนี้ตามตั๋วเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 และอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน 2,141,437.61 บาท กับหนี้ตามตั๋วเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ให้คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องสำหรับหนี้เงินกู้ไม่เกิน 2,689,938.97 บาท และหนี้ตามตั๋วเงินไม่เกิน 347,334.23 บาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยให้เสียค่าธรรมเนียมศาลเพียง 100,000 บาท ค่าธรรมเนียมศาลนอกจากนี้ได้รับยกเว้น

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้โจทก์นำมาชำระต่อศาลในนามของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นเดียวว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนหนี้เงินกู้ระบุไว้แจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 ตกลงกู้เงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2,148,647.44 บาท โดยจำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เป็นเงินงวดละ 33,700 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 22 เมษายน 2538 และงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของเดือน และตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 มีนาคม 2550 นับแต่จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากบริษัทผู้ให้กู้แล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญากู้ โดยในวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจำนวน 34,439.01 บาท ซึ่งเป็นการชำระดอกเบี้ยบางส่วน ทำให้วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินจำนวน 2,141,437.61 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 48,578.36 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวจากบริษัทผู้ให้กู้ ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ที่ระบุในคำฟ้อง คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ ดังนี้การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ส่วนข้ออ้างในฎีกาของโจทก์ว่า ในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ตรงตามกำหนดชำระหนี้ตามงวดที่ระบุไว้ในสัญญากู้ ซึ่งปรากฏตามการ์ดเงินกู้ จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าชำระในบัญชีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2538 จำนวน 33,700 บาท และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 จำนวน 34,439.01 บาท จึงแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในขณะทำสัญญากู้จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาชำระหนี้ตรงตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ทั้งบริษัทผู้ให้กู้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวไว้แล้ว จึงถือว่าบริษัทผู้ให้กู้และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาข้อตกลงในเรื่องระยะเวลาและจำนวนเงินที่ต้องชำระตามงวดดังที่ระบุไว้ในสัญญาเป็นข้อสำคัญ ถือว่าคู่สัญญาเจตนาทำสัญญากู้ทั่วไป อันเป็นเรื่องเอกเทศสัญญาว่าด้วยการยืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นั้น เห็นว่า พฤติการณ์ระหว่างบริษัทผู้ให้กู้และจำเลยที่ 1 ในเรื่องการชำระหนี้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาดังกล่าว อาจมีผลในปัญหาเรื่องการผิดนัดว่าถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่เท่านั้น มิได้มีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะของสัญญาดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ในส่วนของหนี้เงินกู้ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง โจทก์ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 4,350,638.52 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 108,765 บาท โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 136,967.50 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา 28,202.50 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 28,202.50 บาท แก่โจทก์
 
 
( ทัศนีย์ ธรรมเกณฑ์ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - ไชยยงค์ คงจันทร์ )
 
 
หมายเหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ตัดสินเดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันว่า เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) ต่อมาหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระในวันที่ 25 กันยายน 2528 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งจำนวน อายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 คือวันที่ 26 กันยายน 2528 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 จึงพ้นกำหนดอายุความห้าปีแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9842/2542) แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) ก็จะเห็นว่า การคิดคำนวณอายุความหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ น่าจะมีความหมายว่างวดใดไม่ชำระสิทธิเรียกร้องในงวดนั้นก็เริ่มนับอายุความเป็นงวด ๆ ไป เมื่อนำคดีมาฟ้องสิทธิเรียกร้องงวดใดพ้นกำหนดห้าปีนับจากวันฟ้องย้อนขึ้นไป ก็เป็นอันขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องงวดใดนับถึงวันฟ้องยังไม่เกินห้าปี ก็ไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกับการคิดคำนวณอายุความดอกเบี้ยค้างชำระ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9842/2542 ว่าสัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้คืนได้ทั้งจำนวน จึงทำให้หนี้ทั้งจำนวนที่ค้างชำระถึงกำหนดชำระพร้อมกับหนี้งวดที่ผิดนัดไม่ชำระนั้น สิทธิเรียกร้องในหนี้ค้างชำระทั้งจำนวนจึงถึงกำหนดชำระและมีอายุความห้าปี เช่นเดียวกับหนี้งวดที่ผิดนัดชำระนั้นไปด้วย ดังนี้ สัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีข้อตกลงให้ลูกหนี้ผ่อนชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ และมีข้อตกลงว่าหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดจึงมีอายุความบังคับตามสิทธิเรียกร้องเพียงห้าปี นับแต่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550 ซึ่งตัดสินตรงตามตัวบท ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้คืนให้โจทก์เป็นงวด ๆ เป็นการตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวด ๆ นั้น สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความห้าปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ โดยหนังสือรับสภาพหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ไม่มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทังหมดหรือหนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ก็เห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องมิได้ขัดแย้งกันเลย แต่กลับวางหลักในแนวทางเดียวกันด้วย ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เข้าใจกันว่าเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มีกำหนดสิบปีนั้นหมายถึงสัญญากู้ยืมเงินที่มิได้กำหนดวิธีผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนเป็นงวด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2545) แต่หากมีข้อตกลงให้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนเป็นงวด ๆ และมีข้อตกลงว่าหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมด ก็จะมีอายุความเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งจำนวนเพียงห้าปี
         
         
          วรพจน์ วัชรางค์กุล
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 16:29:16


ความคิดเห็นที่ 3 (2307177)

 

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2316/2550

 
          หนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวีธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ

          หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที หมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวน 52,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้คืนเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เริ่มชำระเดือนแรกภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 และทุกวันที่ 19 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้แล้วจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ติดตามทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี 3 เดือน 14 วัน คิดเป็นเงิน 41,244 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 93,244 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 93,244 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.50 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 12,000 บาท สัญญารับสภาพหนี้จำนวน 52,000 บาท จึงรวมดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปี สัญญารับสภาพหนี้เป็นข้อตกลงให้มีการผ่อนทุนคืนเป็นงวด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้ชำระหนี้ตามสัญญามีกำหนด 5 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2541 ถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 46,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2546 นับย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ดอกเบี้ยคำนวนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2546) ต้องไม่เกิน 41,244 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยทั้งสองฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 52,000 บาท ตกลงชำระคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 19 มกราคม 2541 งวดถัดไปจะชำระภายในวันที่ 19 ของทุกๆ เดือนจนกว่าจะชำระเสร็จและยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมสละสิทธิตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688, 689, 690 ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ภายหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่เคยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อปรากฏว่า หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 19 มกราคม 2541 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีข้อตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดได้นับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดงวดแรกการนับอายุความเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องจึงมีระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที น่าจะหมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
 
 
( ชาลี ทัพภวิมล - สมศักดิ์ จันทรา - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 16:36:40


ความคิดเห็นที่ 4 (2307181)

ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม

บทบัญญัติมาตรา 745 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันซึ่งหมายถึงหนี้ประธานขาดอายุความแล้วก็ได้ ทั้งตามบทบัญญัติมาตรา 744 (1) ว่าด้วย การระงับสิ้นไปของสัญญาจำนองไม่ได้บัญญัติให้จำนองระงับสิ้นไปด้วยเหตุหนี้ประธานระงับสิ้นไปเพราะเหตุขาดอายุความฟ้องคดี เจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องบังคับจำนองเอาชำระหนี้ประธานได้เต็มจำนวน แต่เจ้าหนี้จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการสอดรับกับบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามมาตรา 193/33 (1) ว่า สิทธิเรียกร้องในส่วนดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ฉะนั้น แม้หนี้ประธานจะยังไม่ขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็ยังคงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) เช่นเดียวกัน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2540
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1535/2551

 
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองและขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองซึ่งผู้ร้บจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การแต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 5 ปี ขึ้นต่อสู้จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

          ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่าผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น หาใช่บังคับจำนองได้แต่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระไม่เกิน 5 ปี ด้วย
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาคลองตันเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 2 ต่อปี โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือนสัญญามีกำหนด 12 เดือน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 21150 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนอง และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองกับโจทก์อีก 2 ครั้ง รวมวงเงิน 36,000,000 บาท มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดในหนี้เงินส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็นหลายแปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 42693 ถึง 42699 ตำบล นาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และจำเลยที่ 1 ยังแบ่งแยกที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงย่อยแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 บางส่วน กล่าวคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42693 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61137, 61138, 61142 และ 61143 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 61142 และ 61143 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42694 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61152, 61153, 61154 และ 61158 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61152, 61153 และ 61154 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42696 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61162, 61163, 61164 และ 61165 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61162 และ 61163 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 4 และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61164 และ 61165 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 5 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 42697 และ 42698 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ โดยที่ดินโฉนดเดิมและที่แบ่งแยกยังคงผูกพันตามสัญญาจำนอง หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินในบัญชีมาตลอดจนมีหนี้เกินบัญชี และไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชี โจทก์จึงหักทอนบัญชี ยอดหนี้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 3,298,958.72 บาท ดอกเบี้ย 2,117,411.69 บาท รวมเป็นเงิน 5,416,370.41 บาท โจทก์บอกกล่าวให้ชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน จำนวน 5,416,370.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี ของต้นเงิน 3,298,958.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป หากไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน

          จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น และคิดได้ไม่เกิน 5 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,230,366.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2542 อัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2542 อัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2542 อัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2542 อัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 และอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยในอัตราต่างๆ ดังกล่าวคำนวณตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กรกฎาคม 2543) ย้อนหลัง 5 ปี เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 61142, 61143, 61152, 61153, 61154, 61162, 61163, 61164, 61165, 42697, 42698 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและยึดที่ดินจำนองในส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระถ้าไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชยและเศรษฐ์กิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาคลองตัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 2,000,000 บาท มีกำหนด 12 เดือน ดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 2 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 21150 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 2 ครั้ง รวมวงเงิน 36,000,000 บาท และมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดในหนี้เงินส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงเพื่อทำโครงการบ้านจัดสรร ชื่อโครงการหนึ่งทองวิลล่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ซื้อบ้านทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินในโครงการดังกล่าวโดยจำนองติดไปเมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกัน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองยื่นคำให้การยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จะมีผลถึงจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เพราะขาดนัดยื่นคำให้การด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) บัญญัติว่า “...ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ และให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันในบรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดย หรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่นๆ ด้วยเว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ...” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปี ขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิคิดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีจากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่าผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น หาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
 
( ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ - สมศักดิ์ เนตรมัย - สถิตย์ ทาวุฒิ )
 
 
หมายเหตุ
          บทบัญญัติมาตรา 745 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันซึ่งหมายถึงหนี้ประธานขาดอายุความแล้วก็ได้ ทั้งตามบทบัญญัติมาตรา 744 (1) ว่าด้วย การระงับสิ้นไปของสัญญาจำนองไม่ได้บัญญัติให้จำนองระงับสิ้นไปด้วยเหตุหนี้ประธานระงับสิ้นไปเพราะเหตุขาดอายุความฟ้องคดี เจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องบังคับจำนองเอาชำระหนี้ประธานได้เต็มจำนวน แต่เจ้าหนี้จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการสอดรับกับบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามมาตรา 193/33 (1) ว่า สิทธิเรียกร้องในส่วนดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ฉะนั้น แม้หนี้ประธานจะยังไม่ขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็ยังคงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) เช่นเดียวกัน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2540
         
         
         
          วรพจน์ วัชรางค์กุล
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 16:47:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล