ReadyPlanet.com


รับฝากรถแล้วรถหาย


สวัสดีครับ ผมมีเรื่องปรึกษาหน่อยครับ

คือที่บริเวณบ้านค่อนข้างกว้าง ( มีรั้วรอบขอบชิดครับ ) ประตูปิด-เปิดเป็นเวลา 07.00 - 20.00 น. ผมจะทำเป็นที่ฝากรถครับ *น่าจะรับฝากได้ประมาณ 7-12 คันครับ

แต่ผมกลัวรถของคนที่มาฝากหายครับ (( สมมุติว่ารถหายก็แล้วกัน )) ถ้ารถหายผมต้องรับผิดชอบใหมครับ ( ค่าฝากรถเดือนละ 500 บาท ) โดยไม่มีบัตรฝากรถนะครับ อาสัยจำหน้าคนที่มาฝากครับ

แต่ผมมีกล้องวงจรสามารถตรวจสอบได้ครับ



ผู้ตั้งกระทู้ สาธิต :: วันที่ลงประกาศ 2012-10-25 09:53:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2315868)

ตามข้อเท็จจริงน่าจะเข้าได้กับสัญญาฝากทรัพย์นะครับ เมื่อยังไม่มีเหตุการณ์เสียหายเกิดขั้น ก็น่าจะดำเนินการหามาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับรถยนต์ของผู้มาใช้บริการ คำพิพากษาของศาลฎีกามีหลายแนว เช่น เจ้าของรถยนต์ฝากกุฐแจรถไว้ ออกบัตรจอดรถให้ลูกค้า ไม่ออกบัตรจอดรถให้ เขียนข้อความยกเว้นความรับผิดไว้เป็นต้น จึงนำแนวทางต่างมาให้อ่านดังนี้ครับ

สัญญาฝากทรัพย์

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2837/2522

 
          การที่โจทก์นำรถยนต์ไปจอดฝากไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยโดยเสียค่าฝาก 10 บาทต่อวัน เป็นการฝากทรัพย์ แม้จำเลยจะได้ประกาศว่า จะไม่รับผิดชอบในการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ และลูกจ้างของโจทก์เป็นผู้เก็บกุญแจรถไว้ ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการรับผิด และกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยให้โจทก์เช่าสถานที่จอดรถ
          นิติบุคคลจะมีวัตถุประสงค์ในการรับฝากทรัพย์หรือไม่ก็ตามเมื่อรับฝากทรัพย์ไว้และได้รับบำเหน็จค่าฝากตลอดมา จะปลีกตนให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 ได้นำรถยนต์ไปฝากไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยทั้งสองโดยจำเลยเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการรับฝากวันละ 10 บาท รถยนต์ของโจทก์ซึ่งฝากไว้กับจำเลยได้ถูกคนร้ายลักไป จำเลยไม่สามารถติดตามรถคืนให้แก่โจทก์และบิดพลิ้วไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ โจทก์ที่ 1 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
          จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าด้วยวิธีรับฝากรถยนต์ จำเลยมิได้ทำสัญญาฝากรถยนต์กับโจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์นำรถยนต์ไปจอดเก็บไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยโดยจำเลยคิดค่าจอดเป็นคราว ๆ และโจทก์ก็ทราบประกาศของจำเลยแล้วว่าจำเลยจะไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ต่อรถยนต์ที่นำมาฝาก

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแต่ให้ค่าเสียหายไม่เต็มตามฟ้อง
          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถยนต์ที่หายนั้นโจทก์ได้ให้ลูกจ้างเอาไปจอดฝากไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลย เสียค่าฝาก 10 บาทต่อวัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการรับฝากทรัพย์เพราะเท่ากับโจทก์ที่ 2 ได้ส่งมอบรถยนต์ไว้แก่จำเลยและจำเลยตกลงว่าจะเก็บรักษารถยนต์นั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้ ข้อความในประกาศของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่รับผิดชอบในการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ แก่รถที่จอดไว้ทั้งสิ้นก็ดี การที่ลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 เอากุญแจรถไว้กับตนก็ดี ไม่เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นเรื่องที่จำเลยให้โจทก์เช่าสถานที่สำหรับจอดรถชั่วคราว

          จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจะมีวัตถุประสงค์ในการรับฝากทรัพย์หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 รับฝากทรัพย์ไว้และได้รับบำเหน็จค่าฝากตลอดมา จำเลยที่ 1 จะปลีกตนให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่
          พิพากษายืน
 
 
( จันทร์ ระรวยทรง - สุวัฒน์ รัตรสาร - สุไพศาล วิบุลศิลป์ )
 
 

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-11-18 10:30:36


ความคิดเห็นที่ 2 (2315870)

เจ้าของรถหาที่จอดเองเก็บลูกกุญแจไว้เอง มอบบัตรจอดรถ ไม่เก็บค่าจอดรถ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1936/2549
 
          การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้า คอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออกเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์

          บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แจกให้แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถยนต์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ารถของลูกค้า ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้ หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ กล่าวคือ บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่า บัตรจอดรถยังอยู่กับโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทแต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างดูแลความปลอดภัยในบริเวณที่ขายสินค้ารวมทั้งดูแลรถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในบริเวณที่ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2538 เวลา 19.30 นาฬิกา นายสุเทพ ศิวะพรเสถียร ขับรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน 7 ผ - 8671 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เข้าไปจอดที่ลานจอดรถในบริเวณที่ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 เพื่อซื้อสินค้า แต่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และลูกจ้างจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวถูกลักไป โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ไปแล้วจำนวน 260,000 บาท จึงรับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 273,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 260,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า การนำรถมาจอดที่ลานจอดรถของจำเลยที่ 2 ลูกค้าสามารถหาที่จอดได้ตามความพอใจ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เก็บค่าจอดรถหรือรับมอบของสิ่งใดจากลูกค้ามาเก็บรักษา เหตุที่รถยนต์พิพาทสูญหายไปเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ครอบครองรถ มิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในการนำรถเข้าจอด ลูกค้าสามารถเลือกหาที่จอดได้และต้องรับผิดชอบเพื่อไม่ให้รถสูญหายด้วยตนเอง จำเลยที่ 2 จึงไม่เคยรับฝากรถยนต์พิพาท ตลอดเวลาที่รถยนต์พิพาทจอดอยู่ที่ลานจอดรถ นายสุเทพเป็นผู้เก็บรักษากุญแจรถไว้โดยตลอด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทการ์เดียนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับประกันภัยจำเลยที่ 2 เพื่อความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
          จำเลยร่วมให้การว่า การที่จำเลยที่ 2 ให้รถยนต์มาจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 2 ก็เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ความสะดวกจัดการจราจรให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้รับมอบกุญแจรถจากผู้นำรถเข้ามาจอดและมิได้คิดค่าบริการในการจอดรถ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพาษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 7 ผ - 8671 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสุนันทา ศิวะพรเสถียร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2538 เวลา 19.30 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในอายุสัญญาประกันภัย นายสุเทพ ศิวะพรเสถียร สามีนางสุนันทาขับรถยนต์พิพาทที่โจทก์รับประกันภัยไปที่บริษัทจำเลยที่ 2 สาขาแจ้งวัฒนะเพื่อซื้อสินค้าโดยจอดรถยนต์พิพาทไว้ที่ลานจอดรถของบริษัทจำเลยที่ 2 ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทสูญหายไป โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 260,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้าคอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออก เป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์

          ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยแก่รถที่เข้าจอดโดยพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถ การที่รถยนต์พิพาทสูญหายจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบตรงกันว่า ทางปฏิบัติจะมีพนักงานของจำเลยที่ 1 แจกบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถและเก็บบัตรจอดรถคืนเมื่อลูกค้านำรถออกจากลานจอดรถ ดังนั้น การที่รถยนต์ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ามีการนำรถเข้าจอดในลานจอดรถแล้วสูญหายเพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ คือบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ แต่คดีนี้โจทก์ไม่มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่า บัตรจอดรถยังอยู่กับเจ้าของรถยนต์พิพาท แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถส่วนนายสุเทพคนขับรถยนต์พิพาทและนางสุนันทาผู้เอาประกันภัยซึ่งร่วมเดินทางไปกับนายสุเทพในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นพยานสำคัญที่จะให้ความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ก่อนเกิดเหตุได้รับบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ลืมบัตรจอดรถไว้ในรถยนต์พิพาทหรือไม่ และได้ล็อกประตูรถยนต์พิพาทไว้หรือไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ตัวนายสุเทพและนางสุนันทามาเบิกความเป็นพยาน โจทก์คงมีเพียงนายไพรัชต์ พนักงานของโจทก์ซึ่งมิได้อยู่ในเหตุการณ์มาเบิกความว่า วันเกิดเหตุพนักงานจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบบัตรจอดรถให้นายสุเทพ เนื่องจากบัตรจอดรถหมดจึงมีน้ำหนักน้อย...พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์พิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงจากผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่เพียงว่า ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ เป็นการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไม่ครบถ้วน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( สมศักดิ์ เนตรมัย - สุรพล เจียมจูไร - ชวลิต ตุลยสิงห์ )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-11-18 10:34:24


ความคิดเห็นที่ 3 (2315872)


คิดค่าบริการจอดรถ มอบบัตรจอดรถ ไม่ได้มอบกุญแจให้ เป็นสัญญาฝากทรัพย์
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9278/2542
 
          จำเลยอาศัยที่วัดเป็นสถานที่เพื่อให้คนมาฝากรถ จึงเป็นเรื่องชัดแจ้งว่าจำเลยทำธุรกิจรับฝากทรัพย์ ประกอบกับฝ่ายจำเลยรับค่าบริการจากฝ่ายโจทก์ที่นำรถมาฝาก แล้วฝ่ายจำเลยมอบบัตรให้มีข้อความว่า "ธ. ไฟบริการ รับฝากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ขอบคุณที่ใช้บริการ (กรุณาอย่าทำบัตรหาย)" โดยมีหมายเลขกำกับ อันแสดงว่าฝ่ายโจทก์จะรับรถคืนได้ต่อเมื่อคืนบัตรให้แก่ฝ่ายจำเลยดังนี้ มีผลเท่ากับว่า ฝ่ายโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินไว้ในอารักขาของฝ่ายจำเลยแล้วการที่ไม่ได้มอบลูกกุญแจให้ไว้ด้วย หาใช่สาระสำคัญไม่ การปฏิบัติระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย เป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 657
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อุบลราชธานี ฝ - 9606 โดยโจทก์เช่าซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยยนต์ในราคา 64,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อในความสูญหายจำเลยเป็นผู้มีอาชีพรับฝากทรัพย์ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยเรียกค่าตอบแทน ประมาณต้นเดือนมกราคม 2538 โจทก์นำรถโจทก์คันดังกล่าวฝากแก่จำเลย โดยชำระค่าตอบแทนให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลย ไม่ระมัดระวังดูแลรักษารถของโจทก์ อย่างวิญญูชนจะพึงสงวนรักษาทรัพย์สินของตน และสมควรต้องใช้ฝีมือพิเศษในการระมัดระวังทรัพย์ที่รับฝากเนื่องจากเป็นอาชีพของตน เป็นเหตุให้รถของโจทก์ที่เช่าซื้อสูญหายไปโจทก์ต้องจ้างพาหนะอื่นวันละ 40 บาท นับแต่รถหายจนกว่าจะเก็บเงินเช่าซื้อรถคันใหม่ได้เป็นเวลา 150 วัน เป็นเงิน 6,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ใช่ผู้รับฝากทรัพย์ จำเลยเพียงแต่จัดที่จอดรถเท่านั้นค่าเสียหายไม่น่าจะเกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เนื่องจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในข้อกฎหมาย ตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาว่า การที่เด็กชายณัฐวุฒิ สุดตลอด นำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดเองแล้วเอากุญแจรถไปด้วย โดยไม่ได้มอบกุญแจรถไว้แก่ผู้ดูแลที่จอดรถ จะใช่สัญญาฝากทรัพย์หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า พฤติการณ์เช่นนี้ไม่มีการส่งมอบการครอบครองรถแก่ผู้ดูแลสถานที่ จึงไม่ใช่การฝากทรัพย์ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าจำเลยรับว่าอาศัยที่วัดเป็นสถานที่เพื่อให้คนมาฝากรถจึงเป็นเรื่องชัดแจ้งว่าจำเลยทำธุรกิจรับฝากทรัพย์ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ฝ่ายจำเลยรับค่าบริการจากฝ่ายโจทก์ แล้วมอบบัตรให้มีข้อความว่า "ธนูไฟบริการ รับฝากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ขอบคุณที่ใช้บริการ (กรุณาอย่าทำบัตรหาย)" โดยมีหมายเลขกำกับ อันแสดงว่าฝ่ายโจทก์จะรับรถคืนได้ต่อเมื่อคืนบัตรให้แก่ฝ่ายจำเลย ดังนี้ มีผลเท่ากับว่า ฝ่ายโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินไว้ในอารักขาของฝ่ายจำเลยแล้วการที่ไม่ได้มอบลูกกุญแจให้ไว้ด้วย หาใช่สาระสำคัญไม่ การปฏิบัติระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย เป็นการฝากทรัพย์ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 657 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2538 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเกินคำขอ เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          พิพากษายืน แต่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
 
 
( ประดิษฐ์ สิงหทัศน์ - กมล เพียรพิทักษ์ - สมชาย พงษธา )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-11-18 10:37:08


ความคิดเห็นที่ 4 (2315875)

ห้างฯ สรรพสินค้า เรียกเก็บเงินค่าบริการจอด 5 บาท ให้บัตรจอดรถ ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5398/2538

 
          ตามฟ้องของโจทก์มิได้ให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ ฟ้องโจทก์มีแต่เรื่องละเมิด เรื่องฝากทรัพย์จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ศาลจะพิพากษาให้ชำระหนี้ตามสัญญาฝากทรัพย์ไม่ได้ เรื่องฝากทรัพย์จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องฝากทรัพย์ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ อาคารจอดรถของบริษัทจำเลยที่ 5 มีทางเข้า 1 ทางทางออก 1 ทาง ปากทางเข้ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยเก็บเงินพร้อมกับออกบัตรค่าเช่าที่จอดรถราคา 5 บาท โดยจดทะเบียนรถไว้ในบัตรด้วยด้านหน้าบัตรมีข้อความว่า บริการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัย ด้านหลังมีข้อความว่า ผู้ขับขี่ต้องเก็บบัตรไว้กับตัว เพื่อป้องกันรถหาย กรุณาคืนบัตรทุกครั้งก่อนออกจากบริเวณที่จอดรถ บัตรสูญหายหรือไม่นำมาแสดงบริษัทจะไม่อนุญาตให้นำรถออกจนกว่าจะหาหลักฐานมาแสดงจนเป็นที่พอใจ และในที่จอดรถมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเดินตรวจตรา ที่กำแพงบริเวณลานจอดรถก็มีคำเตือนว่ากรุณาอย่าลืมบัตรจอดรถเพราะรถยนต์อาจสูญหาย สำหรับทางขาออก มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยตรวจรับ บัตรและปล่อยรถออก แม้ผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็น ผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือ เสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเอง ทุกประการก็ตาม แต่ก็ย่อมจะทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถ โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าที่อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 นี้มีบริการรักษาความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะมาติดต่อธุรกิจหรือซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 5 ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถจะลักลอบนำรถออกไปไม่ได้ ทั้งนี้โดยที่ผู้ใช้บริการที่จอดรถจะต้องเสียเงิน 5 บาทเป็นค่าตอบแทน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำก่อน ๆของจำเลยทั้งห้า ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งห้าต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับ อาคารสถานที่ตลอดจนรถยนต์ที่เข้ามาจอดและความเรียบร้อยโดยทั่วไป ไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะในการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และเหตุโจรกรรมรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้เกิดต่อหน้าจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 งดเว้นป้องกันการโจรกรรมรถยนต์นั้น ดังนี้ การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไปจะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันผลการโจรกรรมรถยนต์นั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยืนเก็บเงิน ออกบัตร จดทะเบียนรถลงในบัตรและตรวจบัตรขณะที่รถยนต์ออกจากลานจอดรถอยู่ที่คอกกั้นตรงทางเข้าออกลานจอดรถ หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยตรง เมื่อทางเข้าออกลานจอดรถมีอยู่ทางเดียว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งอยู่ที่คอกกั้นตรวจบัตรอย่างเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของโจทก์จะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายไปจึงเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการ โจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5จำเลยที่ 5 ย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ต่อโจทก์ด้วยตามมาตรา 425 คดีละเมิด แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ฎีกาในเรื่องจำนวนความเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยถึงจำนวนความเสียหายของโจทก์และกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเสียใหม่ได้
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 5ร-7775 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2532 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา โจทก์ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อไปซื้อสินค้า ณ ศูนย์การค้าของจำเลยที่ 5 เมื่อไปถึงทางเข้า เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งประจำอยู่ในคอกยามมีชื่อของจำเลยที่ 5 แสดงให้เห็นได้เรียกเก็บเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 5 บาท พร้อมกับจดหมายเลขทะเบียนรถลงในบัตรผ่านซึ่งมีสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 5 ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนและส่งมอบให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ เพื่อเข้าไปใช้ที่จอดรถยนต์โจทก์นำรถยนต์ไปจอดที่ชั้น 10 ดี ต่อมาเวลา 13.20 นาฬิกาเมื่อโจทก์กลับออกมา ปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์ได้สูญหายไปซึ่งในขณะนั้นมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งกิจการของจำเลยที่ 5ในบริเวณอาคารส่วนนี้ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ที่บริเวณที่จอดรถ และตรงทางออกมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อยู่ร่วมกันตรวจบัตรของผู้ขับรถยนต์ที่ออกจากศูนย์การค้าของจำเลยที่ 5 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์และทรัพย์สินของผู้มาซื้อสินค้าและบริการ แทนที่จะเดินตรวจตราไปมาในบริเวณที่ตนรับผิดชอบ กลับอยู่นิ่งเฉยเสียและปล่อยปละละเลย ทำให้คนร้ายมีเวลาเพียงพอในการนำรถยนต์ของโจทก์ออกจากที่จอดไปได้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งร่วมกันตรวจบัตรผ่านของผู้ที่จะขับรถยนต์ออกจากบริเวณศูนย์การค้า แทนที่จะใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่เคยปฏิบัติกลับจงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยให้คนร้ายนำรถยนต์ของโจทก์ผ่านไปได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบัตรผ่านหรือเรียกบัตรผ่านคืนไว้ก่อน เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ และจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าโดยเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 หรือเป็นตัวการจำต้องรับผิดร่วมด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระราคารถยนต์และทรัพย์สินที่สูญหายเป็นเงินทั้งสิ้น 266,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ได้ปลูกสร้างอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์เพื่อให้บุคคลทั่วไปเช่าสถานที่เพื่อประกอบการค้า แต่สำหรับลานจอดรถจำเลยที่ 5 ได้ให้บริษัทดูอิ้งเวล จำกัด เช่าเพื่อทำการประกอบธุรกิจในการให้บริการจอดรถ มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2531เป็นต้นไป จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจการจอดรถบนลานจอดแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 เป็นการฟ้องผิดตัวจำเลยที่ 1 นั้นเป็นลูกจ้างของบริษัทดูอิ้งเวล จำกัดส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5ขณะเกิดเหตุเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกสำหรับการจราจรนอกเขตพื้นที่ลานจอดรถและดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไปเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษารถในกิจการของบริษัทดูอิ้งเวล จำกัด การเรียกเก็บเงินค่าจอดรถและการตรวจบัตรเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บริษัทดูอิ้งเวล จำกัด ทั้งสิ้น บัตรที่ออกให้แก่ผู้จอดรถนั้นระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นค่าเช่าที่จอดรถยนต์ไม่ใช่เป็นการรับฝากทรัพย์ แม้แต่กุญแจรถก็ยังอยู่กับเจ้าของรถ ด้านหลังบัตรก็ปฏิเสธความรับผิดของผู้ให้บริการไว้แล้ว แม้ในบัตรจอดรถจะมีเครื่องหมายศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ก็ตามก็เป็นเพียงเครื่องหมายบอกชื่ออาคาร มิใช่เป็นเครื่องหมายการค้าหรือตราสำคัญของจำเลยที่ 5 การที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายนั้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆที่ระบุว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันที่สูญหายและรถยนต์คันดังกล่าวก็เป็นรถยนต์เก่าใช้มานานแล้วมีราคาไม่เกิน 51,000 บาทขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 239,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ตามคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ โจทก์มิได้บรรยายให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ ฟ้องโจทก์มีแต่เรื่องละเมิดเรื่องฝากทรัพย์จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ศาลจะพิพากษาให้บังคับชำระหนี้ตามสัญญาฝากทรัพย์หาได้ไม่ และเรื่องฝากทรัพย์มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ขึ้นวินิจฉัยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 มีทางเข้า 1 ทาง ทางออก 1 ทาง ปากทางเข้ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยเก็บเงิน 5 บาทโดยจดทะเบียนรถไว้ในบัตรด้วย ตามบัตรเอกสารหมาย จ.2ซึ่งที่ด้านหน้าบัตรตอนล่างมีข้อความว่า บริการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัย ด้านหลังของบัตรมีข้อความว่า 1.ผู้ขับขี่ต้องเก็บบัตรไว้กับตัว เพื่อป้องกันรถหาย 2.กรุณาคืนบัตรทุกครั้งก่อนออกจากบริเวณที่จอดรถ ฯลฯ 6.บัตรสูญหายไม่นำมาแสดงบริษัทจะไม่อนุญาตให้นำรถออกจนกว่าจะหาหลักฐานมาแสดงจนเป็นที่พอใจ และในที่จอดรถมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเดินตรวจตราที่กำแพงบริเวณลานจอดรถก็มีคำเตือนว่า กรุณาอย่าลืมบัตรจอดรถ เพราะรถยนต์อาจสูญหายสำหรับทางขาออกมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยตรวจรับบัตรและปล่อยรถออก พฤติการณ์ดังกล่าวแม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง อีกทั้งที่บัตรค่าเช่าจอดรถด้านหลังจะมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเองทุกประการก็ตาม แต่ก็ย่อมจะทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า ที่อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 นี้ มีบริการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะมาติดต่อธุรกิจหรือซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 5 โดยรับดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัยทั้งขณะที่รถจอดอยู่ในอาคารและขณะที่รถจะออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถและถือบัตรค่าเช่าที่จอดรถจะลักลอบนำรถออกไปไม่ได้ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบก่อน ทั้งนี้โดยที่ผู้ใช้บริการที่จอดรถจะต้องเสียเงิน 5 บาทเป็นค่าตอบแทนการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำก่อน ๆ ของจำเลยทั้งห้าก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งห้าต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นตัวโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า เมื่อโจทก์นำรถยนต์เข้าไปจอดเห็นจำเลยที่ 1 ยืนดูแลอยู่ใกล้ ๆ แล้วโจทก์เดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ต่อมาเมื่อทราบว่ารถยนต์สูญหายจึงเดินไปสอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งยังเดินดูแลรถยนต์ที่บริเวณชั้นจอดรถ จำเลยที่ 1บอกว่าไม่เห็น ตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วคงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับอาคารสถานที่ตลอดจนรถยนต์ที่เข้ามาจอดและความเรียบร้อยโดยทั่วไป ไม่ปรากฏว่ามีหน้าที่โดยเฉพาะในการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์ของโจทก์ได้เกิดต่อหน้าจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 งดเว้นป้องกันการโจรกรรมรถยนต์นั้น ดังนี้ การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไปจะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันผลการโจรกรรมรถยนต์นั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น ปรากฏว่า ยืนเก็บเงิน ออกบัตร จดทะเบียนรถลงในบัตร และตรวจบัตรขณะที่รถยนต์ออกจากลานจอดรถอยู่ที่คอกกั้นตรงทางเข้าออกลานจอดรถ หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยตรง ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าที่ลานจอดรถและที่ด้านหลังบัตรเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า ผู้ใช้บริการลานจอดรถจะต้องเก็บรักษาบัตรไว้เพื่อตรวจขณะจะนำรถออกจากลานจอดรถมิฉะนั้น บริษัทจะไม่ยอมให้นำรถออกไปจนกว่าจะหาหลักฐานอื่นมาแสดงยืนยัน ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าทางเข้าออกลานจอดรถมีอยู่ทางเดียว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งอยู่ที่คอกกั้นตรวจบัตรอย่างเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของโจทก์จะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายไปนี้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 นายจ้างย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีข้อหาฝากทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ แต่เป็นคดีข้อหาละเมิด แม้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะไม่ฎีกาในเรื่องจำนวนความเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์ ศาลฎีกาก็เห็นควรวินิจฉัยถึงความเสียหายของโจทก์ในฐานละเมิดตามที่ได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้วต่อไป ซึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า รถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์กระบะ ใช้งานมา 1 ปี เศษแล้ว โจทก์ซื้อมาในราคา 239,000 บาท ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้รับฟังได้เป็นอย่างอื่นเช่นว่า รถยนต์ของโจทก์ที่หายมีราคาตามที่โจทก์ซื้อมาเป็นความจริง แต่โดยที่ตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้กระทำการโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใดประกอบกับโจทก์ก็เสียค่าบริการจอดรถเพียง 5 บาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการที่ฝ่ายจำเลยช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องที่จอดรถและช่วยรักษาความปลอดภัยอยู่มาก ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียง 200,000 บาท กรณีเป็นหนี้ที่แบ่งแยกไม่ได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมีได้ฎีกาได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
 
 
( ปรีชา บูรณะไทย - บุญธรรม อยู่พุก - ณรงค์ ตันติเตมิท )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-11-18 10:44:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล