ReadyPlanet.com


ปรึกษา ทนายความ - ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร


ขอปรึกษาเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตรเพื่อเป็นแนวทางครับ  คือผมอยู่กินกับภรรยามาประมาณ 5 ปี (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)ภรรยาผมไม่ได้ทำงาน และตอนนี้มีบุตรสาวด้วยกัน อายุ 3 ขวบ 1คน และภายใน5 ปี ก็ไปกลับ บ้านที่ต่างจังหวัดเสมอ ปีนึง 2-3ครั้งครั้งละ 1-2เดือนจนในที่สุดก็แยกกันอยู่ มา2 ปี ภรรยาผมเอาลูกกลับไปอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ผมก็ยังส่งเงินไปให้ลูกใช้ ตลอดตั้งแต่แยกกัน จนตอนนี้ลูกสาวอายุพอที่จะเข้าเรียน ผมเลยอยากขอให้มาเรียน ที่ที่ผมอยู่ เพราะเห็นแก่อนาคตเด็ก ทางแม่เด็กก็รับปาก แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ยอมและอ้างว่าอายุยังไม่ถึงบ้าง  และบอกว่าจะเลี้ยงเองโดยจะมาทำงานที่ต่างจังหวัดและ จะให้อยู่กับตากับยายซึง ผมจึงอยากรบกวนปรึกษาข้อสงสัยเป็นข้อๆ

1.ผมมีสิทธ์ฟ้องขออุปการะลูก จะได้ไหม?เพราะผมอ่านตามข้อกฏหมายแม่เท่านั้นที่มีสิทธิอุปการะลูก

2 . เนื่องจากค่าเลี้ยงดูลูกที่ผมส่งให้ จะทำอย่างไรลูกถึงจะได้รับค่าเลี้ยงดูอย่างเต็มที่(เพราะเท่าที่รู้มา แม่,และยาย ของเด็ก อาจจะใช้ด้วย ผมเกรงว่าลูกผมจะไม่ได้รับเต็มตามที่ส่งให้) 

3. ถ้าเด็กไม่ได้อยูกับแม่(อยู่กับยาย)ผมสามารถใช้ เหตุผมข้อนี้อ้างขออุปการะบุตรได้ไหมครับ?



ผู้ตั้งกระทู้ อยากได้ลูก :: วันที่ลงประกาศ 2013-01-10 13:23:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2326357)

1.ผมมีสิทธ์ฟ้องขออุปการะลูก จะได้ไหม?เพราะผมอ่านตามข้อกฏหมายแม่เท่านั้นที่มีสิทธิอุปการะลูก

ตอบ - เมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส ย่อมเป็นบิดานอกกฎหมาย การจะเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายมี 3 กรณีคือ 1. บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกัน 2. จดทะเบียนรับรองบุตร 3. ให้ศาลมีคำสั่ง

มาตรา 1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ตามข้อเท็จจริงที่ให้มานั้น เมื่อเด็กอายุเพียง 3 ปีจึงไม่อาจให้ความยินยอมได้จึงไม่อาจจดทะเบียนรับรองบุตรได้ จึงมีทางเลือกเพียงข้อ 3 คือให้ศาลมีคำสั่ง เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วก็ค่อยคิดขั้นต่อไปคือขออุปการะเลี้ยงดูบุตรเองซึ่งคงต้องอยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่า ฝ่ายบิดา หรือฝ่ายมารดา มีความเหมาะสมที่จะดูแลบุตร

2 . เนื่องจากค่าเลี้ยงดูลูกที่ผมส่งให้ จะทำอย่างไรลูกถึงจะได้รับค่าเลี้ยงดูอย่างเต็มที่(เพราะเท่าที่รู้มา แม่,และยาย ของเด็ก อาจจะใช้ด้วย ผมเกรงว่าลูกผมจะไม่ได้รับเต็มตามที่ส่งให้)

ตอบ -  ลูกยังเล็กใช้เงินเองไม่เป็น ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของบุตรควรจะเป็นเท่าใด แล้วคุณส่งเงินไปเท่าใด คิดว่ามากเกินไปหรือไม่ หากเห็นว่าลูกต้องมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่าเงินที่คุณส่งไปอย่าคิดมากเลยครับ

3. ถ้าเด็กไม่ได้อยูกับแม่(อยู่กับยาย)ผมสามารถใช้ เหตุผมข้อนี้อ้างขออุปการะบุตรได้ไหมครับ?

ตอบ - ในกรณีที่คุณเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายตามข้อ 1 แล้ว และจะอ้างว่ามารดาไม่มีเวลาดูบุตรด้วยตนเองก็ได้ แต่เหตุผลดังกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่ศาลจะเห็นว่าคุณเหมาะสมที่จะดูแลบุตร เพราะบุตรอยู่กับมารดาตลอดมาย่อมมีความคุ้นเคยกับคนใกล้ชิด และอาจไม่คุ้นเคยกับบิดาก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะเลิกกันแล้ว ศาลก็อาจให้คุณร่วมกันดูแลและอาจกำหนดวิธีการ เช่นกำหนดให้อยู่ช่วงปิดภาคเรียนกับบิดา หรือมารดาก็ได้ เป็นคำถามตอบยากครับ เป็นดุลพินิจของศาลและพฤติการณ์แต่ละครอบครัวซึ่งข้อเท็จจริงที่ให้มาไม่อาจฟันธงได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2013-01-10 20:01:49


ความคิดเห็นที่ 2 (2393042)


คำถาม

 คือดิฉันกับเขาไม่ได้แต่งงานกันและไม่ได้จดทะเบียน อยู่กินกันมามีลูก 1 คน ตอนคลอดลูกในสูติบัตรเขารับรองเป็นพ่อของเด็ก และในสำเนาทะเบียนบ้านเด็กก็มี ชื่อเขาเป็นพ่อ แต่พอคลอดเสร็จเขาก็ไม่เคยมาดูแล มีการตีตัวออกห่าง ไม่รับโทรศัพท์ ไม่โทรหา และไม่เคยสนใจไยดีดิฉันกับลูกเลย เงินทองดิฉันก็ไม่พอใช้ ไหนจะค่านมลูก ดิฉันจะเรียกร้องให้เขาจ่ายค่าเลี้ยงดูได้ไม๊ ยังไงบ้างคะ

  ต้องการสอบถามดังนี้
1.ดิฉันจะฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูได้ไหม เขาจะได้สิทธิในตัวบุตรอย่างไรบ้าง และดิฉันจะเลี้ยงลูกไว้เองได้ไหม
2.หากต้องการฟ้องต้องไปดำเนินการที่ไหน อย่างไรค่ะ
 

 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
 มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
 มาตรา 1555 ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้และมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
 มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ และฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี
 
 บิดา มารดาไม่จดทะเบียนกัน - อำนาจปกครองอยู่กับใคร?

 กรณีเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น อำนาจปกครองบุตรย่อมตกเป็นของมารดา ตามมาตรา 1564
ซึ่งบุตรนอกกฎหมายของบิดานั้น จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อต้องด้วยกฎหมายตามกรณีดังต่อไปนี้คือ

1.บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายในหลังที่เด็กเกิดมาแล้ว
2.บิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรโดยความยินยอมของมารดาเด็กและตัวเด็ก
3.ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของบิดา

 เมื่อบิดาเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายและบุตรก็เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาแล้ว สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงจะเกิดขึ้น

โดยการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรนั้น(ชาวบ้านเรียกว่าฟ้องให้รับรองบุตร) ตัวเด็กเป็นคนฟ้องบิดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องบิดาเด็ก เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าบิดานอกกฎหมายนั้นนั้นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ในการฟ้องคดีจะต้องมีพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 1555 คือ

(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้และมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
 เหตุที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ต้องเข้าเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ซึ่งเป็นกรณีที่เด็กฟ้องคดีขอให้บิดานอกกฎหมายรับตนเป็นบุตร เมื่อศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรแล้ว เด็กก็จะถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นนับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด และบิดาก็มีฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมร่วมกับมารดา ดังนั้น ในเรื่องของอำนาจการปกครองบุตรย่อมมีเท่ากัน ซึ่งเป็นกรณีที่บิดาและมารดาอาจทำความตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ หรือร่วมกันก็ได้เช่นกัน

 ส่วนในกรณีของค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รับอุปการะเลี้ยงดูหรืออุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยพิจารณาจากความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับแล้วแต่กรณี ตามมาตรา 1598/38
 

กรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เป็นการฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว อันเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และในกรณีเขตต่างจังหวัด ยื่นที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในจังหวัดนั้น หากจังหวัดใดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือ ศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวตั้งอยู่ให้ยื่นต่อศาลจังหวัด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ วันที่ตอบ 2013-07-28 19:43:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล