ReadyPlanet.com


ยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์


คุณพ่อยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์โดยแกเข้าใจว่า

ยกเพื่อให้ลูกหลานเดินเท่านั้นโดยตอนหลังมีคนมาพูดให้แกฟังว่าแกไม่มีสิทธ์แล้ว คุณพ่อเสียใจมากเพราะเเกไม่เข้าใจกฏหมายข้อนี้ คุณพ่อต้องการเพียงให้ลูกๆมีทางเดินสะดวกเท่านั้นไม่อยากให้ลูกๆปิดทางกันเวลาทะเลาะกัน ทางที่ยกให้กว้าง 5ศอกยาวตลอดรวมๆประมาณงานกว่าๆ คุณพ่ออยากได้ที่คืนโดยอยากเปลี่ยนเป็นทางเดินส่วนบุคคลแทน ทำได้หรือเปล่าคะ่



ผู้ตั้งกระทู้ น้อง :: วันที่ลงประกาศ 2013-02-28 03:07:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2338759)

ตามที่เล่ามานั้น ผู้ถามไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่า ได้ไปทำการยกที่ดินเป็นทางสาธารณะประโยชน์ที่ไหน (อำเภอ/เขต หน่วยราชการ) เมื่อใด เนื่องจากภายหลังปี 2544 เป็นต้นมกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีมีการอุทิศที่ดินให้กับทางราชการจะต้องจัดทำหนังสือแสดงความประสงค์เกี่ยวกับการอุทิศที่ดินให้กับทางราชการด้วย ดังนั้นการที่จะอ้างว่าการยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์เป็นการเข้าผิดว่ายกเพื่อให้ลูกหลานเดินเท่านั้นจึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น การจะอ้างเหตุยกให้เป็นการสำคัญผิดก็เป็นสิทธิของผู้ยกให้ ต้องฟ้องร้องให้ศาลเพิกถอนการยกให้ดู แต่แนวโน้มคงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ความสำคัญผิดนี้ครับ เมื่อตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปแล้วก็ไม่สามารถกลับมาเป็นทางเดินส่วนบุคคลได้อีก

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2013-02-28 11:11:27


ความคิดเห็นที่ 2 (2338761)

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแนวทางปฏิบัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอและกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0723/ว 2251 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2544 แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดถือปฏิบัติ

กรณีที่ทางราชการขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้ หรือกรณีเข้าไปดำเนินการในที่ดินของเอกชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้ดำเนินการดังนี้
1. กรณีที่มีผู้อุทิศที่ดินให้กับทางราชการ หรือจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ซึ่งได้รับอุทิศที่ดินจากราษฎรหรือเข้าไปดำเนินการในที่ดินเอกชน จัดทำหนังสือแสดงความประสงค์เกี่ยวกับการอุทิศที่ดินให้กับทางราชการหรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ โดยให้มีรายละเอียดดังนี้
1.1 ที่ดินที่จะอุทิศให้กับทางราชการหรือจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ ต้องเป็นที่ดินที่เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย หากที่ดินนั้นมีภาระผูกพันให้ เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ
1.2 ให้เจ้าหน้าที่จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการอุทิศที่ดิน พร้อมแผนที่แสดงขอบเขตและเนื้อที่ของที่ดินที่จะอุทิศ หรือยินยอมจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ แล้วให้เจ้าของที่ดินและผู้มีหน้าที่ ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ลงชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน ในกรณีมีเอกสารสิทธิตามประมวล กฎหมายที่ดินให้สำเนาประกอบเรื่องไว้ด้วย

การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ หากเจ้าของที่ดินมีเจตนาอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยตรง เช่นให้เป็นทางสาธารณะ และประสงค์จะให้มีการจดทะเบียนด้วย ก็ต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน โดยต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บัตรประจำตัวเจ้าของที่ดิน ฯลฯ หากต้องการให้ที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ทั้งแปลง ก็จดทะเบียนประเภท “โอนเป็นที่สาธารณประโยชน์” เมื่อได้จดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินจะไม่คืนให้เจ้าของที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับ เจ้าของที่ดินเข้าสารบบของสำนักงานที่ดิน หากเป็นการแบ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์บางส่วน ก็จะจดทะเบียนในประเภท “แบ่งหักที่สาธารณประโยชน์” โดยต้องทำการรังวัดแบ่งแยกส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ออกไป เมื่อจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์เรียบร้อยแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะคืนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของที่ดินไป ในกรณีที่ส่วนที่เป็นทางที่เจ้าของที่ดินประสงค์จะแบ่งหักออกไปนั้นอยู่ตอนกลางที่ดิน ทำให้แยกที่ดินออกจากกันเป็นหลายแปลง นอกจากจะขอจดทะเบียนแบ่งหักเป็น ที่สาธารณประโยชน์แล้ว ควรจะต้องขอจดทะเบียนแบ่งแยกในนามเดิมเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ที่ดินแต่ละส่วนมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประจำแต่ละแปลง

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2013-02-28 11:12:04


ความคิดเห็นที่ 3 (2338762)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3656/2529

พนักงานอัยการ จังหวัด นครนายก     โจทก์
นาย ถิน                                   จำเลย

 
ป.พ.พ. มาตรา 1304
มาตรา 1304  สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(1)  ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(2)  ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ
(3)  ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

ป.อ. มาตรา 362
มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไป กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ ไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 
          จำเลยทำหนังสืออุทิศที่ดินของจำเลยให้ทางราชการเพื่อให้ทำถนนและคลองส่งน้ำแม้มิได้จดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ถือได้ว่าเป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.มาตรา1304 การอุทิศที่ดินของจำเลยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่จำต้องมีการจดทะเบียน.

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2013-02-28 11:13:10


ความคิดเห็นที่ 4 (2338764)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4900/2528

 
          การอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ เพียงแต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ยกให้แสดงเจตนาให้ปรากฏโดยตรงหรือโดยปริยายว่าได้อุทิศให้เป็นที่สาธารณะที่ดินนั้นก็ตกเป็นที่สาธารณะทันที ป. เจ้าของเดิมได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณะไปแล้วก่อนจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเคยเป็นนายอำเภอท้องที่นั้นร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำเอกสารบันทึกถ้อยคำให้ ป. ลงลายมือชื่อแสดงว่า ป. ยกที่ดินของตนให้เป็นที่สาธารณะเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2514 แม้เป็นการทำบันทึกภายหลังเมื่อที่ดินแปลงนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้รับโอนแล้วก็ตาม การกระทำนั้นก็เพื่อยืนยันความจริงที่ ป. ได้อุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะแก่ทางราชการไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานอีกชั้นหนึ่งหาเป็นความเท็จไม่ ทั้งไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะที่ดินส่วนนั้นได้ตกเป็นที่สาธารณะไปแล้ว ก่อนโจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นมา จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเดิมเป็นของนายประสิทธิ์ และนางละเอียด ซึ่งโอนแก่นางสอิ้ง  แล้วโจทก์รับโอนมาอีกทอดหนึ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2517 เมื่อก่อนหรือในวันที่ 4 สิงหาคม 2521 จำเลยที่ 3 ซึ่งเดิมเป็นนายอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยการก่อหรือสนับสนุนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการรับรองว่านายประสิทธิ์ และนางละเอียด  ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกถ้อยคำว่าบุคคลทั้งสามยอมยกกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทให้เป็นที่สาธารณะเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2514 อันเป็นเท็จ ต่อมาจำเลยที่ 1ได้นำเสนอบันทึกถ้อยคำเอกสารดังกล่าวต่อศาลจังหวัดปทุมธานีในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 145/2521 ระหว่างนายประสาร  โจทก์นายทองใบ  กับพวก จำเลย ในที่สุดศาลจังหวัดปทุมธานีรับฟังตามบันทึกถ้อยคำเอกสารดังกล่าว และพิพากษายกฟ้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 84, 157, 162(1)(4)

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ไม่รับฎีกา
          โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
          ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 145/2521 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกเป็นจำเลยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ 495 นายประสิทธิ์  เจ้าของเดิมได้ยกให้เป็นที่สาธารณะไปแล้วก่อนจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าการอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณะนั้นเพียงแต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ยกให้แสดงเจตนาให้ปรากฏโดยตรงหรือโดยปริยายว่าได้อุทิศให้เป็นที่สาธารณะที่ดินดังกล่าวก็ตกเป็นที่สาธารณะแล้ว ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำเอกสารบันทึกถ้อยคำให้นายประสิทธิ์ลงลายมือชื่อแสดงว่า นายประสิทธิ์ยกที่ดินของตนให้เป็นที่สาธารณะเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521 โดยเป็นการทำบันทึกภายหลังเมื่อที่ดินแปลงนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วก็ตาม การกระทำนั้นก็เพื่อยืนยันความจริงที่นายประสิทธิ์ได้อุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะแก่ทางราชการไว้ให้ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสืออีกชั้นหนึ่งจึงหาเป็นความเท็จไม่ อีกทั้งไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะที่ดินส่วนนั้นได้ตกเป็นที่สาธารณะไปแล้วก่อนโจทก์จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมา จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 ดังโจทก์ฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน
 
 
( อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง - มาโนช เพียรสนอง - ปลื้ม โชติษฐยางกูร )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2013-02-28 11:13:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล