ReadyPlanet.com


ปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับมรดก


เรื่องก็คือ   คุณแม่มีทรัพย์สินคือ เงินฝากธนาคาร บ้านและที่ดิน  เมื่อประมาณเดือน มค. คุณแม่เสียชีวิต และคุณพ่อ ก็เสียชีวิตตามไป ในเดือน กพ.  ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน (คุณพ่อ คุณแม่ จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย)   ในกรณีนี้ ทรัพย์สินจะต้องแบ่งกันยังงัย  หรือว่าต้องมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ถึงจะดำเนินการในขั้นต่อ ๆ ไปได้

ปล.  ทรัพย์สินเป็นชื่อของคุณแม่  ..... บิดา มารดา ของคุณแม่เสียชีวิตหมดแล้ว  มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน  ยังเหลือที่มีชีวิตอยู่ 3 คน   ไม่ทราบว่า ทั้ง 3 คนนี้ มีสิทธิ์ได้รับมรดก หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ แอนนี่ :: วันที่ลงประกาศ 2013-02-15 15:37:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2335045)

ประเด็นมีดังนี้

1. การจัดการทรัพย์สินของผู้ตายจะทำได้โดยผ่านทางผู้จัดการมรดก พ่อ กับแม่เป็นเจ้ามรดกจึงต้องมีผู้จัดการมรดกของทั้งสองคน สามารถร้องขอต่อศาลในคราวเดียวกันได้ครับ

2. พ่อ กับ แม่ จดทะเบียนสมรสกัน แม่เสียชีวิตก่อน จึงต้องแบ่งสินสมรสก่อน เพื่อให้ทราบว่ามรดกของแม่มีอะไรบ้างเท่าใดแล้วนำไปแบ่งให้แก่ทายาท เมื่อทราบว่ามรดกของแม่มีเท่าใดและจัดแบ่งไปเรียบร้อยแล้วก็ทราบว่า พ่อได้รับมรดกจากแม่เท่าใดเมื่อถึงแก่ความตายก็จัดแบ่งมรดกของพ่อให้แก่ทายาทครับ

3. การแบ่งมรดกทำได้ดังนี้
    ข้อเท็จจริงคุณบอกว่า เงินฝากธนาคาร และที่ดินพร้อมบ้าน เป็นของแม่ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสจึงสามารถแบ่งมรดกของแม่ได้เลย

3.1 ทายาทของแม่มี 3 คนคือ บุตร 2 คน และ สามีชอบด้วยกฎหมาย (พ่อ) ทรัพย์สินของแม่ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน

3.2  ทรัพย์มรดกของพ่อตามข้อ 3.1 จึงเป็นทรัพย์ที่ได้รับการแบ่งมรดกของแม่ 1 ใน 3 ส่วน ครับ

3.3 มรดกของพ่อ ตามข้อ 3.2 ตกได้แก่บุตร  คน ๆ ละส่วนเท่า ๆ กันครับ (ไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ปู่ ย่า ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่-คำตอบนี้คือ ปู่ ย่า เสียชีวิตแล้ว)

4. เมื่อแม่มีทายาทชั้นบุตร และสามีชอบด้วยกฎหมายแล้ว พี่น้องร่วมบิดามารดาของแม่ (ลุง ป้า น้า อา) จึงเป็นทายาทชั้นถัดลงไปที่ไม่มีสิทธิรับมรดกแล้วเพราะถูกทายาทชั้นบุตรตัดไปแล้ว

 

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1)  ผู้สืบสันดาน
(2)  บิดามารดา
(3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5)  ปู่ ย่า ตา ยาย
(6)  ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
 
มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา 1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้
(1)  ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(2)  ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
(3)  ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
(4)  ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2013-02-16 09:11:05



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล