ReadyPlanet.com


ขับรถชน


คือเมื่อประมาณต้นเดือนเม.ย.เวลาประมาณ21.30น ผนได้ขับรถยนต์เฉี่ยวชนท้ายรถยนต์คู่กรณี(รถผมมีประกันชั้นสาม )ขณะที่ผมกำลังตกใจและจะเรียกประกัน ก็เห็นผู้ชาย2-3คนลงจากรถคู่กรณี ด้วยความกลัวว่าจะถูกทำร้ายผมจึงรีบขับรถหนีซึ่งก็มีรถไล่ตามมา ผมก็ยิ่งขับหนีจนกระทั่งกลับถึงบ้าน จากนั้นผมไดนำรถไปซ่อมเสียค่าใช้จ่าย20000บาท ต่อมาประมาณต้นเดือนพ.ค.ผมได้รับหมายเรียกจากตำรวจให้ไปพบซึ่งผมก็ได้แจ้งประกันและประกันตกลงว่าจะไปพบตำรวจในวันนัดด้วย จากนั้นผมก็รีบโทรหาตำรวจเล่าสาเหตุที่หนีและยอมรับผิดพร้อมบอกว่าได้แจ้งประกันแล้ว ตำรวจบอกว่าผมผิดคดีพรบ.จราจร ให้ไปพบที่โรงพักก่อนวันนัดเพราะวันเกิดเหตุผู้กำกับขับรถไล่ตามผมและไม่พอใจมากที่ผมขับหนี ผมขอเรียนถามขอคำแนะนำ
1.ผมควรไปพบตำรวจที่โรงพักก่อนวันนัดตามหมายเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่หรือควรรอไปพร้อมประกันในวันนัด
2.หากผมถูกแจ้งข้อหา ต้องเตรียมเงินประตัวจำนวนเท่าไรและผมจะถูกข้อหาอะไรบ้าง
3.รถผมจะถูกยึดหรือไม่ หากจะถูกยึดต้องทำอย่างไร
4.ผมควรทำอย่างไร จริงๆแล้วผมไม่ได้ตั้งใจที่จะหนีเลย แต่อย่างไรก็ตามผมยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีทุกประการ มีข้อแนะนำอะไรเพิ่มเติมอีกไหมครับ ตอนนี้กลุ้มใจมากนอนไม่หลับเลย ผมจะคอยคำตอบ ขอบคุณครับ


ผู้ตั้งกระทู้ ยอมรับผิด :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-11 05:11:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615395)

คำถามข้อที่ 1. คุณต้องไปพบเจ้าพนักงานตำรวจตามหมายนะครับ เพื่อไม่ให้มีความผิดเพิ่มฐานฝ่าฝืนไม่ไปพบตามหมายเรียก

คำถามที่ 2. เรื่องเงินประกันนั้นต้องสอบถามที่ สน. ครับ ไม่น่าจะมากนะครับ เพราะข้อหาไม่ได้ร้ายแรงอะไรมากนัก

คำถามที่ 3. เรื่องยึดรถ  คงไม่ถูกยึดครับเพราะไม่ใช่ที่ใช้ในการกระทำความผิด เพราะตามเจตนาคุณใช้รถตามปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เจตนานำรถไปกระทำความผิด

คำถามที่ 4.เรื่องไม่ได้ตั้งใจหนี * ในเรื่องนี้เป็นเรื่องเจตนาภายในซึ่งถ้าถึงชั้นศาลก็ต้องพิสูจน์ครับเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจครับเพราะถ้าคุณได้ไปพบเจ้าหน้าที่ในวันนั้นเลยปัญหาก็คงไม่มีครับ ในเรื่องค่าเสียหายก็ให้ประกันดำเนินการให้ ในเรื่องคำแนะนำนั้น ถ้าคุณรับสารภาพในชั้นพิจารณา(ในศาล) ศาลก็จะเมตตาลดโทษให้กรณีอาจจะรอลงอาญาครับ(ความเห็นนะครับ)

ไม่เข้าใจคำตอบหรือมีคำถามเพิ่มถามเข้ามาใหม่ได้นะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-11 12:53:02


ความคิดเห็นที่ 2 (1615396)

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือขี่ หรือควบคุมสัตว์ในทาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่ หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้ง ชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิด และให้ตกเป็นของรัฐ

โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 160 วรรคหนึ่ง)

ผลของบทบัญญัติในมาตรา 78 วรรคสองเป็นดังนี้

1.ถ้าผู้ขับขี่รถ ขี่สัตว์ ก่อเหตุในทางแล้วหลบหนีหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด คือจะผิดหรือไม่ผิดต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด และ

2. เฉพาะความเสียหายที่เกิดจากการขับรถ (ไม่ใช้กับกรณีของการขี่หรือควบคุมสัตว์) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่เกิดเหตุไว้ ข้อนี้แม้ผู้ขับขี่ไม่หลบหนีไปไหน แต่ไม่ยอมแสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ก็ทำให้รถถูกยึดได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า อำนาจยึดรถของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 78 วรรคสองนี้เกิดจาก

1. ผู้ขับขี่รถที่ก่อเหตุในทางหลบหนีไปหรือ

2. ผู้ขับขี่รถที่ก่อเหตุในทางไม่หลบหนีแต่ไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่

ส่วนการสิ้นสุดของอำนาจในการยึดรถของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 78 นี้ มีใน 2 กรณีเท่านั้น คือ

1. คดีถึงที่สุด หรือ

2. ได้ตัวผู้ขับขี่

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-11 19:59:27


ความคิดเห็นที่ 3 (1615397)

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงผ่านทางร่วมทางแยกเป็นเหตุให้พุ่งเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับ ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า กระดูกเบ้าตาแตกยุบ ลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างชอกช้ำมาก สูญเสียลูกนัยน์ตาซ้ายอย่างถาวร (ตาบอด) อันเป็นอันตรายสาหัส และภายหลังที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังว่า การหลบหนีของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ต้องได้รับอันตรายสาหัสโดยสูญเสียลูกนัยน์ตาตั้งแต่ขณะถูกรถชนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง แต่เป็นเพียงการขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 160 วรรคสอง จึงไม่ชอบ และที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 และมาตรา 43 (8) โดยไม่ระบุวรรคและไม่ปรับบทลงโทษมาตรา 160 วรรคสาม ด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 จำเลยมีความผิดตามมาตรา 43 (4) (8), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ - บุญส่ง น้อยโสภณ )

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2549)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-11 20:22:53


ความคิดเห็นที่ 4 (1615398)

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดตรังว่าจำเลยได้ต่อสู้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยซึ่งรายงานการสืบเสาะและพินิจก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษา จึงถือว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นแล้วโดยชอบศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า รายงานการสืบเสาะและพินิจถือเป็นรายงานของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติไปตามคำสั่งของศาล จึงไม่นับเป็นพยานหลักฐานของโจทก์หรือจำเลยในคดี ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดตรังที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย จึงมิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้กระทำความผิดในฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและหลบหนีไม่แจ้งเหตุตามฟ้อง ไม่ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดตรังก็ปรากฏว่านางปราณี สมบูรณ์มารดาของผู้ตาย และนางสาวบุญยืน ปานรังสี ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจต่างไม่ติดใจที่จะดำเนินการในทางแพ่งอีก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย เพราะการลงโทษจำคุกในระยะสั้นนอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไขฟื้นฟูจำเลยให้กลับตัวเป็นคนดีได้แล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสียยากที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดี ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติไว้ด้วย"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งโดยความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ปรับ 10,000 บาท ความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุ ให้ปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 12,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

( โนรี จันทร์ทร - พินิจ เพชรรุ่ง - ทวีวัฒน์ แดงทองดี )

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5539/2545)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-11 20:30:18


ความคิดเห็นที่ 5 (1615399)

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตน และหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย"จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้องที่ว่า รถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่จำเลยที่ 2 ขับสวนทางกัน รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายดังนั้น แม้ว่าความเสียหายจะมิได้เกิดเพราะความผิดของจำเลยที่ 2 ก็ตาม ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วการที่จำเลยที่ 2 หลบหนี ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว"

พิพากษายืน

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816/2545)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-11 20:40:54


ความคิดเห็นที่ 6 (1615400)
   ขอบคุณ คุณลีนนท์ ครับ สำหรับคำตอบ ไว้ผมไปพบตำรวจหรือผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ยอมรับผิด วันที่ตอบ 2008-05-12 03:39:51


ความคิดเห็นที่ 7 (1615401)

คุณเพียงแค่ขับระฃนรถไม่มีใครได้บาดเจ็บ  ไปหาพนักงานสอบสวนเลยครับ แต่คุณก็ต้องขึ้นศาลอยู่ดี

คุณยอมที่จะฃดใฃ้ค่าเสียหายก็ไม่เกี่ยวกับข้อหาที่คุณหลบหนี  แต่ถ้าคุณไปพบเจ้าพนักงานตำรวจ จนถึงศาล ไม่ติดคุกครับพี่น้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2008-05-13 12:35:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล