ReadyPlanet.com


เกิดปัญหาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์


ดิฉันได้ทำการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยดิฉันเป็นผู้เช่าซื้อและมีนายวินัย เภาเจริญเป็นผู้ค้ำประกัน ใช้รถด้วยกันได้ประมาณ 3-4 เดือน ดิฉันก็ย้ายที่พักไปต่างจังหวัดโดยได้ตกลงกันว่า นายวินัยจะเป็นผู้ชำระค่างวดและเก็บรถไว้ใช้เอง โดยให้ดิฉันเซ็นเอกสารโอนลอยให้เป็นชื่อมารดาของนายวินัย ประมาณกลางปี 2548 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลยจนกระทั่งวันที่ 28 ก.ค. 51 ได้มีเอกสารจากบริษัทแห่งหนึ่ง ส่งมามีเนื้อความประมาณว่า รถจักรยานยนต์ที่ดิฉันเป็นชื่อผู้เช่าซื้อนั้นได้ถูกยึดไปขายแล้วแต่ยังมีค่าส่วนต่างอีกหมื่นกว่าบาท โดยให้ดิฉันต้องไปชำระภายใน 15 วัน จึงรบกวนถามว่าดิฉันควรทำอย่างไรดี ต้องไปชำระหนี้สินหรือไม่(ทั้งๆที่ได้เซ็นเอกสารโอนลอยแล้วและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับรถอีกเลย) และถ้าดิฉันไม่ชำระหนี้สินส่วนนี้ทางบริษัทเขาจะดำเนินการอย่างไรบ้างคะ อีกอย่างคือดิฉันยังไม่สามารถติดต่อกับผู้ค้ำประกันได้ไม่ทราบว่าทางเขาจะได้รับเอกสารเช่นนี้ด้วยหรือไม่ กรุณาชี้แนะผู้ไม่เข้าใจกฎหมายด้วยค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ ผู้เดือดร้อน (nutty_nut555-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-07-28 19:01:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1810038)

มาตรา 572    อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว

สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

 

มาตรา 573    ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง

 

มาตรา 574    ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันหรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้า ครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

เมื่อคุณเป็นผู้เช่าซื้อคุณก็คือคู่สัญญากับผู้ให้เช่าซื้อโดยสัญญาดังกล่าวผู้ให้เช่าซื้อจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อเมื่อคุณผ่อนชำระหมดตามสัญญา

แสดงว่าในขณะที่ผ่อนส่งค่าเช่าซื้อนั้นกรรมสิทธิ์ในรถเป็นของเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อ ไม่ใช่คุณ ดังนั้นการลงลายมือชื่อไว้ในใบมอบอำนาจให้โอนกรรมสิทธิ์จึงยังไม่มีผลใดๆเพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ

เมื่อคุณหรือตัวแทนของคุณ (ผู้ค้ำประกัน) ไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเขาก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ส่งไปแล้วและเรียกค่าเสียหายได้ตามที่เสียหายจริง

เรื่องเอกสารทางผู้ค้ำประกันน่าจะได้รับเช่นกันเพราะเขาก็เป็นลูกหนี้ร่วมกับคุณซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ

ถามว่าทำอย่างไร ก็รอหมายศาลถ้าผู้ให้เช่าซื้อเขาประสงค์จะฟ้อง แล้วต่อสู้คดีว่าเบี้ยปรับที่เขาเรียกมานั้นสูงเกินไป เมื่อทางศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าสูงไปก็จะปรับลดให้คุณและผู้ค้ำประกันครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 14:15:57


ความคิดเห็นที่ 2 (1810051)

ตามสัญญาเช่าซื้อโจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยโดยผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 20 เดือน เป็นรายวัน วันละ 650 บาท ทุก 7 วัน เป็นเงิน 4,550 บาท หากไม่ส่งตามที่กำหนดปรับวันละ 100 บาท ปรับทุกครั้งไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่จำเลย เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การชำระค่าเช่าซื้อของโจทก์ชำระงวดละ 4,550 บาท ทุก 7 วัน ถ้าโจทก์ผิดนัดจะต้องเสียค่าปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จเท่ากับโจทก์ต้องเสียค่าปรับ 803 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2541 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ท ? 7851 กรุงเทพมหานคร ไปจากจำเลย และโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 8 ท ? 7851 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงแทนเจตนาจำเลย กับให้ชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อเพราะค้างชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่าสองงวดติดต่อกัน จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า จำเลยจึงนำเอาเงินที่โจทก์ชำระไปหักเป็นค่าปรับ เป็นเหตุให้โจทก์ยังคงค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่อีกประมาณ 200,000 บาท สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เจ้าของที่แท้จริงคือ สหกรณ์ธนบุรีแท็กซี่ จำกัด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 8 ท ? 7851 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ?เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แสดงว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แต่ยังคงค้างชำระค่าปรับ ปัญหาที่ว่าโจทก์ค้างชำระค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าหรือไม่ และต้องชำระค่าปรับให้แก่จำเลยหรือไม่เพียงใด เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประเด็นที่ว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยหรือไม่ ประกอบกับคู่ความได้นำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องค่าปรับไว้แล้ว เพื่อความสะดวกและรวดเร็วและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตรงกันว่า โจทก์ยังค้างชำระค่าปรับ โจทก์ฎีกาโดยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยังค้างชำระค่าปรับแก่จำเลยตามสัญญาจริง แต่โจทก์ฎีกาว่าการคิดค่าปรับตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ. 1 เป็นการเรียกค่าปรับสูงเกินไป จึงมีปัญหาว่าค่าปรับตามสัญญาเอกสารหมาย จ. 1 เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยคิดเบี้ยปรับกรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าวันละ 100 บาท คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือ 803 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนจำเลยเบิกความว่า คดีนี้โจทก์ส่งเงินล่าช้าและขอร้องจำเลยให้นำเงินดังกล่าวไปชำระค่าเช่าซื้อก่อน เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว จึงจะหาเงินมาชำระค่าเบี้ยปรับและดอกเบี้ยภายหลัง จำเลยตกลงแต่จะขอคิดเบี้ยปรับและดอกเบี้ยในการส่งค่าเช่าซื้องวดสุดท้าย โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าเป็นเวลา 2,139 วัน คิดค่าปรับวันละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 113,900 บาท และโจทก์ยังค้างชำระดอกเบี้ยล่าช้าอีก 50,000 บาท แต่จำเลยขอคิดเพียง 200,000 บาท เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ. 1 ข้อ 1 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยโดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นระยะเวลา 20 เดือน เป็นรายวัน วันละ 650 บาท ทุก 7 วัน เป็นเงิน 4,550 บาท หากไม่ส่งตามที่กำหนดปรับวันละ 100 บาท ปรับทุกครั้งไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่จำเลย ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การชำระค่าเช่าซื้อของโจทก์ชำระงวดละ 4,550 บาท ทุก 7 วัน ถ้าโจทก์ผิดนัดจะต้องเสียค่าปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จเท่ากับโจทก์ต้องเสียค่าปรับ 803 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยได้รับความเสียหายจากการผิดนัดมากน้อยเพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ชำระค่าปรับให้แก่จำเลยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจยังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน?

พิพากษากลับว่า ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ท ? 7851 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระค่าปรับแก่จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท ก่อน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

( มานัส เหลืองประเสริฐ - สุรพล เจียมจูไร - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2549

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 14:26:34


ความคิดเห็นที่ 3 (1810065)

โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อระบุว่า แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิใช่บทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 7 ห ? 7249 กรุงเทพมหานคร กับโจทก์ ในราคา 391,932 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 204,974 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนเงิน 64,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นรับมาในปัญหาข้อกฎหมายมีเพียงประการเดียวว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาเป็นค่าเสียหายอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.3 จากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ที่ต้องชำระภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จนกระทั่งโจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ในวันที่ 31 มกราคม 2540 โจทก์ฎีกาว่า ค่าเช่าซื้อนับแต่งวดที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ เป็นเวลา 4 เดือน เป็นหนี้อันสมบูรณ์ที่ถึงกำหนดชำระแล้วและอยู่ในช่วงเวลาที่สัญญามีผลใช้บังคับ แม้ภายหลังสัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันแล้วก็ไม่ทำให้หนี้ดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ระบุว่า “อนึ่ง แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” ข้อสัญญาเช่นว่านี้ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มิใช่เป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 และเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สมศักดิ์ เนตรมัย - สุภิญโญ ชยารักษ์ - เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2548

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา 151 การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ

 

มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

 

มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันหรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้า ครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 14:45:44


ความคิดเห็นที่ 4 (1810099)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2548

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยชำระแล้วก่อนเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเท่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 574 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก็เป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383 วรรคแรก

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 15:24:00


ความคิดเห็นที่ 5 (1810103)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5861/2545

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในขณะที่โจทก์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องซ้ำซ้อนกัน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันได้ คงเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และค่าเสียหายอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 15:29:39


ความคิดเห็นที่ 6 (1810121)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2899/2545

โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อคือ น. มิใช่ ส. เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไป เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180

โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไปในราคาและจะต้องผ่อนชำระงวดละเดือนละเท่าใด จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 6 งวด ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นมาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์นำออกขายทอดตลาดได้ราคา 782,000 บาท เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาสืบเนื่องมาจากเหตุใด และการขายทอดตลาดได้ในราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จึงเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ส่วนสภาพของรถยนต์ในขณะขายทอดตลาดหรือสถานที่ ๆขายทอดตลาดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบเท่านั้น ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. แต่จำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องหาธุรกิจเช่าซื้อมาช่วยดำเนินการให้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของโจทก์ จากนั้นโจทก์จึงนำรถยนต์มาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน

จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืน

ค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่อีกจำนวนหนึ่ง เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการผิดสัญญา และเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดรายได้ ส่วนการกำหนดอัตราค่าปรับอีกร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน จากจำนวนเงินดังกล่าว เป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญาอาจกำหนดไว้ได้ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา เป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 15:49:44


ความคิดเห็นที่ 7 (1810123)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2658/2545

 

จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงมีหนังสือทวงให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์ โจทก์จึงถอนฟ้องแล้วนำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงินไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อ จึงมาฟ้องเรียกราคารถยนต์ในส่วนที่ขาดจากจำเลยทั้งสองอีก กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) เพราะฟ้องโจทก์คดีก่อนไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาเนื่องจากถอนฟ้องไปแล้ว และเมื่อพิจารณาคดีก่อนที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้วศาลยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ประกอบกับคดีก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคาจากการประมูลขายรถยนต์พร้อมดอกเบี้ยอันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน คำขอบังคับในคดีทั้งสองจึงต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าเสื่อมราคาหรือค่าขาดราคาของรถยนต์ที่ประมูลขายได้ราคาน้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

การคำนวณทุนทรัพย์เพื่อกำหนดอัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องถือเอาจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตั้งแต่ฟ้องคดี มิใช่คำนวณจากทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีซึ่งอาจจะไม่เต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-29 15:56:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล