ReadyPlanet.com


มูลหนี้


เรียน สอบถามคุณลีนนท์

   เรื่องที่ขอถามเป็นเรื่องจริงแต่ขอใช้นามสมมุติ

   นางขาวและนายดำทั้งสองเป็นสามีภรรยากันจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย

  นางขาวได้นำเช็คมาแลกเงินสดกับข้าฯโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนเช็คลงวันที่ล่วงหน้า1เดือนโดยข้าฯโอนเงินสดเข้าบัญชีธนาคารของนายดำทุกครั้ง  มีการแลกเช็คกันตลอดประมาณ 5 เดือนเช็คผ่านตลอดโดยนางขาวมักบอกกับข้าฯว่าเช็คที่นำมาแลกเป็นของบริษัทส่งออกไม่มีการเด้งเด็ดขาด

 ต่อมาก็เกิดเรื่องจนได้เช็คเดือนที่6เด้ง 20 ใบ ข้าฯก็โทรทวงนางขาวตลอดนางขาวอ้างว่าบ.ขาดทุนค่าเงินบาท  ขอเวลาสักระยะหนึ่ง จะจ่ายคืนให้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระอีก 3%ต่อเดือน

ข้าฯจึงได้โทรหานายดำและเล่าให้นายดำฟังเรื่องเช็คบ.ส่งออกเด้ง  นายดำบอกกับข้าฯว่า บ.ส่งออกนางขาวกับพวกได้เปิดขึ้นเพื่อใช้ในการหักภาษีข้าฯจึงจะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ แต่นายดำซึ่งเป็นสามีนางขาวและเป็นผู้รับเงินที่โอนจากข้าฯทั้งหมดมาขอร้องพร้อมยินยอมชดใช้ให้

โดยมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้ และจ่ายเช็คให้ โดยนายดำเป็นคนเซ็น รับสภาพหนี้และเป็นคนเซ็นเช็คโดยตกลงกันในสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนเป็นเวลา12 งวดพร้อมเงินต้น

ขณะนี้เช็คที่นายดำให้ไว้เด้ง 6ใบ ข้อบัญชีปิดแล้ว  ข้าฯจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างอัยการพิจารณา

นายดำอ้างว่า เช็คที่จ่ายให้ข้าฯเป็นเช็คประกันหนี้เท่านั้น ห้ามฟ้องอาญา  และมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีการคิดดอกเบี้ย ถึง 3 ครั้งเรียนถามคุณลีนนท์ว่าข้าฯควรแก้ไขอย่างไร

ขอขอบคุณล่วงหน้า

 



ผู้ตั้งกระทู้ ชนะ (nudchawong-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-05 14:43:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1832373)

ถามว่าควรแก้ไขอย่างไรนั้นเป็นคำถามที่กว้างครับ แต่ขออธิบายดังนี้ครับ

ผมเห็นว่าการที่นายดำทำหนังสือรับสภาพหนี้ย่อมเป็นเหตุให้หนี้ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่สามารถฟ้องร้องได้กลายเป็นหนี้กู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่สามารถฟ้องร้องกันได้ครับ

การที่คุณคิดดอกเบี้ยกันเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมเป็นโมฆะ แต่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ย ดังนั้นการที่คุณนำเช็คของนายดำไปฟ้องคดีอาญาทั้ง ๆ ที่มีดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วยในจำนวนเงินในเช็คนั้นทำให้มูลหนี้ที่มีต่อกันไม่สมบูรณ์ตามเช็ค ดังนั้นจำเลยย่อมมีข้อต่อสู้ว่าเช็คตามที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นมีมูลหนี้ไม่ครบถ้วนเพราะดอกเบี้ยเป็นโมฆะ (ความเห็นนะครับ)  ผมคิดว่าข้อต่อสู้ของเขาน่าจะฟังขึ้นครับ แต่อย่างไรก็ตาม คุณยังมีสิทธิฟัองแพ่งเรียกเงินคืนตามจำเงินเงินต้นที่ได้ให้กู้ไปจริงครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-06 07:29:03


ความคิดเห็นที่ 2 (1832375)

เพิ่มเติม

พร้อมเรียกดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จได้อีกด้วยครับผม

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-06 07:32:38


ความคิดเห็นที่ 3 (1833359)

เรียน คุณลีนนท์ ที่เคารพ

   ขอขอบคุณที่กรุณาตอบคำถามให้ คุณตอบคำถามได้ละเอียด เข้าใจง่าย ไม่คลุมเครือ ขอรบกวนถามต่อดังนี้

การจ่ายดอกเบี้ยโดยอำเภอใจ ปพพ 654,407,411 กับความผิดทางอาญาที่เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกิน พรบปี2475มาตรา3 ระวางโทษไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 1พันข้อแตกต่างอยู่ตรงไหน ศาลจะตัดสินอย่างไรถ้า2กรณีนี้รวมกันอยู่

ขอนำเรื่องจริงมายกตัวอย่างคือ

ลูกหนี้นำเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 1 เดือน มาแลกเงินสดจากข้าฯยอดเช็ค 3แสน ข้าฯโอนเงินเข้าบัญชีลูกหนี้1มค51 ยอดเงิน285000.-(หักดอกร้อยละ 5)

1กพ51 เช็คยอด3แสนถึงกำหนด นำไปเรียกเก็บเช็คเด้ง โทรหาลูกหนี้ ก็ขอผลัดผ่อน 20 วัน โดยลุกหนี้ยินยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ.1 ต่อวันหรื่อร้อยละ3ต่อเดือน  (6000)

20 กพ 51 ลูกหนี้มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ยอดเงินต้น3แสน+ดอกเบี้ยผิดนัด(1-20กพ51  20วันคูณวันละ300 เท่ากับ 6000

ยอดเงินต้นจึงเป็น 306000

หนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำ ระบุ ยอด 306000คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ลดต้นลดดอก

เรียกดอกเบี้ย เกินกำหนดเพียง2ครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่เกิน  ต้นเงินกับดอกเบี้ยแยกดอกเบี้ยได้จะเป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ย หรือทำให้ไม่สามารถฟ้องอาญษได้ หรือถือว่าดอกเบี้ยตามอำเภอใจ  ขอคำตอบด้วย

ขอถามข้อสุดท้ายเช็คที่ฟ้องอาญาอยู่ถ้าจะรอศาลตัดสินก่อนถ้าชนะจะได้ไม่ต้องฟ้องแพ่ง แต่ถ้าแพ้แล้วฟ้องแพ่งต่อ อายุความจะหมดหรือไม่ (เช็คอาญาหน้าเช็คลงวันที่1พย50)ตอนนี้เรื่องอยู่ชั้นอัยการ ยังไม่รู้ว่าจะได้ไปศาลเมื่อไร คุณลีนนท์แนะนำด้วย

สุดท้ายขออวยพรให้คุณลีนนท์ มีความสุขกาย สุขใจมากๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-08 10:35:56


ความคิดเห็นที่ 4 (1833567)

มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

 

มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

 

มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

 

มาตรา ๓ บุคคลใด

(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ

(ข) เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราท่านบัญญัติไว้ในกฎหมาย บังอาจกำหนดข้อความอันไม่จริงในเรื่องจำนวนเงินกู้หรืออื่นๆ ไว้ในหนังสือสัญญา หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ หรือ

(ค) นอกจากดอกเบี้ย ยังบังอาจกำหนดจะเอา หรือรับเอาซึ่งกำไรอื่นเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีเพิกถอนหนี้ หรืออื่นๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม

ท่านว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำถามว่าข้อแตกต่างกันอยู่ตรงไหน

ขอตอบตามองค์ความรู้ที่มีอยู่คือ

ตามมาตรา 407  ก็คือการที่ลูกหนี้คุณจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไปแล้วซึ่งเท่ากับร้อยละ 36 ต่อปีเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่นจ่ายไปแล้ว 6,000 บาท เมื่อมีการฟ้องร้องกันจะนำเงิน 6,000 บาทซึ่งเป็นเงินที่จ่ายไปตามอำเภอใจเพราะทั้งรู้อยู่ว่าเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จะนำมาหักกับต้นเงินที่ยังค้างชำระไม่ได้

ตาม มาตรา 411 เป็นการใช้หนี้เงินพนันบอลเป็นต้น เมื่อได้จ่ายกันไปแล้ว จะไปแจ้งความร้องทุกข์ขอเงินคืนไม่ได้

มาตรา 654 เป็นการที่กฎหมายกำหนดว่าจะคิดดอกเบี้ยต่อกันเกินร้อยละ 15 ต่อปีไม่นอกจากกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะเช่นสถาบันการเงิน หากคิดเกินโดยไม่มีกฎหมายรองรับศาลมีอำนาจให้ลดลงมาให้เหลือร้อยละ 15 ได้ครับ

ส่วน พ.ร.บ. ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญา ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตามที่กฎหมายกำหนดครับ 

(ความเห็น)

ศาลจะตัดสินอย่างไรถ้า2กรณีนี้รวมกันอยู่

กรณีต้องแยกฟ้องกันคนละคดีครับ คดีอาญาฝ่ายลูกหนี้เป็นผู้ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหนี้ ส่วนทางแพ่งศาลก็จะไม่สั่งให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะ แต่จะให้ลูกหนี้ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด ร้อยละ 7.5 ต่อปี ครับ

อายุความตามเช็คฟ้องภายใน 1 ปีครับ แต่ถ้าหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับหรือแปลได้ว่าเป็นสัญญากู้ยืมเงินก็มีอายุความ 10 ปีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-08 14:54:56


ความคิดเห็นที่ 5 (1833577)

เรียน  คุณลีนนท์ ที่เคารพ

    ขอขอบคุณมาก สำหรับคำตอบแต่อ่านไปอ่านมายังงงๆ  เดี๋ยวพรุ่งนี้จะอ่านใหม่อีกรอบ รอให้สมองโล่งๆก่อน    แล้วค่อยถามต่อ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-08 15:12:30


ความคิดเห็นที่ 6 (1833930)

การชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2544

 

หนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาทต่อเดือน แต่โจทก์นำสืบว่าได้มีการตกลงด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยออกเช็คชำระให้แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันด้วยวาจาและจำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ยืมกับยังค้างดอกเบี้ยอยู่อีกจึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมนั้นเป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ให้แก่โจทก์ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลย่อมมีอำนาจขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืนดอกเบี้ยส่วนที่ได้ชำระไปแล้ว และจะให้นำไปหัก กับต้นเงินไม่ได้

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 1,500,000 บาทจากโจทก์ โดยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน กับออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสามแยกไฟฉาย สั่งจ่ายเงิน 1,500,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ไว้เป็นประกัน จำเลยได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินจำเลยผิดนัดไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันฟ้อง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 1,631,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,631,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงิน 1,500,000 บาทจากโจทก์โดยมีข้อตกลงให้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 80 งวด งวดละ30,000 บาท จำเลยผ่อนชำระแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 1,650,000 บาท คงเหลือต้นเงินที่ค้างชำระโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินอีก 617,714 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระเพราะโจทก์ไม่ยอมให้แก้ไขลดจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คค้ำประกันและไม่ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นายวิฑูรย์ชมจันทร์ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 พฤษภาคม2540) จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีนายวิฑูรย์ ชมจันทร์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 1,500,000 บาท จากโจทก์โดยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินกู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 ธันวาคม2535 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแต่จำเลยตกลงด้วยวาจาให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2ต่อเดือน จำเลยออกเช็คชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2539 จึงไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยที่จำเลยฎีกาว่า นายวิฑูรย์มิได้รู้เห็นในการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อเท็จจริงในส่วนที่โจทก์กับจำเลยตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นายวิฑูรย์ย่อมไม่ทราบถึงการชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย คำเบิกความของนายวิฑูรย์ที่ว่าจำเลยออกเช็คชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จึงไม่น่ารับฟังนั้น เห็นว่า นายวิฑูรย์เป็นบุตรโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในฐานะที่จะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ว่าเป็นการชำระหนี้ใด แม้จะฟังว่านายวิฑูรย์ได้รับคำบอกเล่าจากโจทก์แต่การเป็นพยานบอกเล่าก็ไม่มีกฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้รับฟังเสียทีเดียวหากพยานบอกเล่าเบิกความถึงข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ คดีนี้จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นงวด งวดละ 30,000 บาท รวม 55 งวดตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือนจากต้นเงิน 1,500,000 บาทตามที่นายวิฑูรย์เบิกความจะได้ดอกเบี้ยเดือนละ 30,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายชำระให้แก่โจทก์ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าในการกู้ยืมเงินโจทก์มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 80 งวด งวดละ30,000 บาท จำเลยได้ผ่อนชำระไปแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 1,650,000 บาทคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่อีก 617,714 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1และตารางการชำระหนี้เอกสารหมาย ล.6 ก็ปรากฏว่าตารางการชำระหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6 เป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้รู้เห็นด้วย หากมีการตกลงผ่อนชำระดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็น่าจะมีการบันทึกข้อตกลงไว้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 เพราะเป็นข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของการกู้ยืมเงินแต่ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ระบุแต่เพียงว่าผู้กู้จะนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ให้กู้ภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2535 แม้จะมีการแก้ไขวันเดือนปีที่จะนำเงินมาชำระคืน จากวันที่ 23 มิถุนายน 2535 เป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ก็เป็นเรื่องแก้ไขเพื่อให้ตรงกับวันที่ระบุไว้ในเช็คค้ำประกันฉบับใหม่ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์แทนเช็คค้ำประกันฉบับเดิมซึ่งถึงกำหนดชำระเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแต่อย่างใดและการที่หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่โจทก์นำสืบว่าได้มีการตกลงด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยออกเช็คชำระให้แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันด้วยวาจา และจำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ยืมกับยังค้างดอกเบี้ยอยู่อีก จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมนั้น เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้อง ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ดังที่จำเลยฎีกา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จากต้นเงิน 1,500,000 บาท เช็คตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยสั่งจ่ายฉบับละ 30,000 บาท เป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นโมฆะศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลฟังว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ควรนำดอกเบี้ยที่ได้ชำระแล้วหักต้นเงินที่กู้ยืมเมื่อคำนวณยอดเงินที่จำเลยชำระแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 1,620,000 บาท (ที่ถูก 1,650,000 บาท) โจทก์จึงได้รับชำระต้นเงินครบถ้วนแล้วนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืน จะให้นำไปหักกับต้นเงินดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( พิชัย เตโชพิทยากูล - สมชัย เกษชุมพล - วิชัย วิสิทธวงศ์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-09 08:10:37


ความคิดเห็นที่ 7 (1833962)

แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ในการคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654

 

แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ได้ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามเอกสารดังกล่าว ดังนั้นการที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) จึงเป็นโมฆะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2544

 

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ขณะจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการอำนวยสินเชื่อไว้สำหรับสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไปว่า 1.1 กรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี และ 1.2 กรณีเกินวงเงิน/ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กรณีของจำเลยอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ 1.1 แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในชั้นพิจารณาของศาลพนักงานฝ่ายสินเชื่อและเร่งรัดหนี้สินของโจทก์เบิกความยืนยันว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ในการคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ได้ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณี ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) จึงเป็นโมฆะ

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เป็นเงิน 1,409,541.64บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ในต้นเงิน 787,246.01 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 788,698.01บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 75194 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เป็นต้นเงินจำนวน 787,246.01 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ วันที่ 4 มีนาคม 2537จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.4 ตกลงผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 19,000 บาท ภายในทุกวันที่ 4 ของเดือนและชำระเสร็จภายในวันที่ 4 มีนาคม 2542 จำเลยยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 75194 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 21 มีนาคม 2538 จำนวนเงิน 8,000 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีในสัญญากู้เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งในเอกสารหมาย จ.17 แผ่นที่ 4 กำหนดอัตราดอกเบี้ยในการอำนวยสินเชื่อไว้ คือ 1. สินเชื่อสำหรับลูกค้าทั่วไป

1.1 กรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี

1.2 กรณีเกินวงเงิน/ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 19 ต่อปีประกาศฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไป กรณีของจำเลยทั้งสองอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ 1.1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในชั้นพิจารณาของศาลนายอภัยพงศ์วรรณศิริ พนักงานฝ่ายสินเชื่อและเร่งรัดหนี้สินของโจทก์เบิกความยืนยันว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ในการคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ได้ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามเอกสารดังกล่าว ดังนั้นการที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) จึงเป็นโมฆะ

ปัญหาว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อใดนั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 จะระบุให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระเป็นรายเดือนภายในวันที่ 4 ของทุกเดือนก็ตาม แต่รายละเอียดการผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.11 จะเห็นได้ว่าแม้จำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระหลังวันที่ 4 ของเดือนโจทก์ก็รับชำระหนี้โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการทักท้วงแต่ประการใด แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ นอกจากนั้นตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาให้ 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยทั้งสองรับหนังสือทวงถามวันที่ 27 ตุลาคม 2541 ครบ 7 วัน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดวันผิดนัดในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ"

พิพากษายืน

( สุมิตร สุภาดุลย์ - เดิมพัน จรรยามั่น - สมชัย เกษชุมพล )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-09 09:10:03


ความคิดเห็นที่ 8 (1833968)

เรียน คุณลีนนท์ ที่เคารพ

   ขอขอบคุณมากๆ ที่ยกตัวอย่างฎีกาคำพิพากษามาให้อ่าน  แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง  กับภาษากฏหมาย

ขอถามคุณลีนนท์  ถ้าตอนขึ้นศาลจำเลยก็ต้องอ้างข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์กับตนเอง  ส่วนโจทก์(โดยอัยการ)ก็คงเป็นกลาง  เพราะข้าฯได้คุยกับอัยการแล้ว อัยการท่านก็บอกว่าจะให้ความเป็นธรรม ตอนนี้ก็เลยปลง  คิดว่าคนที่ทำดีก็จะต้องได้ดี  คนทำผิดก็ต้องรับผิด  จำเลย(ผู้ถูกกล่าวหาเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรรู้กฎหมายอย่างดี)  ข้าฯถูกโกงเงินแต่กลับโดนแจ้งว่าปล่อยเงินดอกเบี้ยเกินกำหนด(ขอรับว่าเกินจริงแต่สมยอมเอง)

ขอขอบคุณ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-09 09:22:06


ความคิดเห็นที่ 9 (1833993)

การที่จำเลยออกเช็คระบุจำนวนเงินถึง 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งมีอยู่เพียง 200,000 บาทดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2545

 

เช็คพิพาทที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมมีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงเพียง 200,000 บาท ส่วนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อเดือน อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย ทั้งคำฟ้องโจทก์ก็มิได้บรรยายว่าจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเท่าใด จำนวนเงินกู้ดังกล่าวจึงไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อจำนวนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับมิได้ ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คพิพาทระบุจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่เพียง 200,000 บาท จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

 

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนมนตรี - ภูเก็ต ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำนวนเงิน 300,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงินโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น โดยให้เหตุผลว่า "บัญชีปิดแล้ว" โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2) จำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์มีอาชีพออกเงินให้กู้ จำเลยกู้เงินโจทก์โดยทำสัญญากู้ลงวันที่ 2 กันยายน 2538 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุจำนวนเงินที่กู้ 300,000 บาท ทั้งมีการระบุในสัญญากู้อีกว่า จำเลยรับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้วในวันที่ลงในสัญญากู้และจำเลยจะชำระเงินที่กู้คืนให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2538 กับจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว สืบเนื่องจากการกู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000บาท ให้แก่โจทก์ เช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากบัญชีปิดแล้ว โจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ออกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีอยู่จริงแต่เพียงบางส่วน คือจำนวนที่ 200,000 บาท ส่วนจำนวนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่เกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่จำเลยของโจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงวินิจฉัยว่า การออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยจึงเป็นการออกเพื่อชำระหนี้ ทั้งที่มีอยู่และไม่มีอยู่จริงที่ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 มีอยู่จริงและบังคับได้เต็มจำนวนในปัญหาว่าหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ชำระ เป็นหนี้ที่สมบูรณ์เต็มจำนวนหรือไม่นี้ ฝ่ายโจทก์มีพยานมาเบิกความ 2 ปาก คือตัวโจทก์และนายสิทธิโชติ ลิ่มพาณิชย์ โดยโจทก์เบิกความยืนยันข้อความตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวว่าก่อนครบกำหนดตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้ติดต่อให้โจทก์ไปรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 แต่เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 จำเลยกลับโทรศัพท์ขอเลื่อนการนำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 และ นายสิทธิโชติเบิกความว่า นายสิทธิโชติเป็นพี่เขยโจทก์และเป็นผู้พิมพ์ รวมทั้งลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 การกู้ยืมเงินของจำเลย จำเลยกู้ยืมจำนวน 300,000 บาท และจำเลยรับเงินสดจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว และโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความว่า การกู้เงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ความจริงจำเลยกู้เพียง 200,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน ในการรับเงินที่กู้จำเลยรับเพียง 180,000 บาท เนื่องจากโจทก์หักเป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าไว้20,000 บาท การทำสัญญากู้จำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และนางสาวปาริตา วิจิตรสภาพ ลงชื่อเป็นพยานโดยข้อความอื่นมิได้กรอก ในวันทำสัญญาจำเลยจ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.1 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ไว้ เมื่อเช็คเอกสารหมาย ล.1 ถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยชำระแต่ดอกเบี้ย ส่วนต้นเงินกู้จำเลยไม่มีชำระโจทก์จึงขอให้จำเลยเปลี่ยนเช็คให้ใหม่ จำเลยออกเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงินคือวันที่ 2 กันยายน 2538 จำเลยก็ยังไม่มีเงินชำระให้แก่โจทก์อีก จำเลยจึงชำระแต่ดอกเบี้ยและออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ แม้เมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 แล้ว โจทก์ก็ได้ขอให้จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์อีกตามต้นขั้วเช็คพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของโจทก์และนายสิทธิโชติมีข้อที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่หลายประการ เช่น ในข้อที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์และนายสิทธิโชติยืนยันว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญากู้คืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เมื่อคำนึงว่าโจทก์จำเลยไม่รู้จักกันมาก่อน การมาขอกู้เงินโจทก์ของจำเลยมีนายหน้าของจำเลยมาหาโจทก์ อีกทั้งเป็นการกู้ที่ไร้หลักทรัพย์เป็นประกัน ซึ่งมีอัตราเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้คืนสูงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะยอมให้จำเลยกู้โดยคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์มีข้อพิรุธเกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย ล.1ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นเช็คฉบับแรกที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ โดยจำเลยออกให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เมื่อเช็คฉบับนี้ถึงกำหนดใช้เงินจำเลยไม่มีเงินจ่ายจึงออกเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4 ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นเช็คฉบับที่ 3ซึ่งจำเลยออกให้เพื่อเปลี่ยนเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4 ในการเบิกความซักถามทนายโจทก์ โจทก์เบิกความยืนยันสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่กล่าวถึงเช็คเอกสารหมาย ล.1 และเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.4เท่ากับโจทก์ยืนยันว่า การกู้เงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ไม่มีการออกเช็คชำระหนี้ให้ล่วงหน้า ครั้นเมื่อเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโจทก์ก็ตอบว่า เช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่ทนายจำเลยให้ดู จะเป็นเช็คที่โจทก์ได้รับมาก่อนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2หรือไม่ โจทก์จำไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าลายมือชื่อหลังเช็คดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของโจทก์เท่ากับยอมรับว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ไม่ใช้เช็คฉบับแรกที่โจทก์รับจากจำเลย ซึ่งไม่ลงรอยกับคำเบิกความตอนแรกของโจทก์เอง คำเบิกความของพยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นเช็คฉบับที่ 3 ที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญายืมเอกสารหมาย จ.1 และหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 มีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงเพียง 200,000 บาท ส่วนจำนวนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วยโดยตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้แยกบรรยายว่าจำนวนเงินต้นเท่าใด และส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่าใด จำนวนเงินกู้ดังกล่าวจึงไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อปรากฏว่าจำนวนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับมิได้ การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งระบุจำนวนเงินถึง 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งมีอยู่เพียง 200,000 บาทดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( วิชัย วิวิตเสวี - วิชา มหาคุณ - สุภิญโญ ชยารักษ์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-09 09:59:09


ความคิดเห็นที่ 10 (1834177)

เรียน  คุณลีนนท์ ที่เคารพ

   ขอขอบคุณ  ที่กรุณามาฎีกาหลายๆแบบมาให้อ่าน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-09 13:25:18


ความคิดเห็นที่ 11 (1835330)

เรียน  คุณลีนนท์ ที่เคารพ

  ขอสอบถามเรื่องการนำเช็คมาแลกเงินสด  โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินที่กฏหมายกำหนดข้าฯได้พยายามสอบถามผู้รู้หลายๆท่าน  บางท่านให้คำตอบว่าการแลกเช็คมีความเสี่ยงสูง  อัตราดอกเบี้ยเกินกำหนด  ไม่น่าจะมีปัญหา  แต่ไม่แน่ใจว่ามีฏีกาคำพิพากษาหรือไม่

  จึงอยากขอความกรุณาคุณลีนนท์  ช่วยอธิบายให้ทราบด้วย

  ขอขอบคุณล่วงหน้า  ขออวยพรให้คุณลีนนท์มีความสุขกายสบายใจ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-11 10:30:35


ความคิดเห็นที่ 12 (1837101)

เรียน  คุณ ลีนนท์ ที่นับถือ

    ขอเรียนถามว่า  ขายลดเช็ค  กับ คำว่า  เช็คแลกเงินสด  เหมือนกันหรือแตกต่างกัน  ขอคำอธิบายด้วย

   คดีเช็คที่เป็นอาญา จะนับอายุความต่อกับคดีแพ่งได้หรือไม่

  ขอขอบคุณ  คุณลีนนท์ ที่กรุณาตอบคำถาม

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-15 13:22:43


ความคิดเห็นที่ 13 (1837559)

การแลกเช็ค ถ้าไม่มีสัญญากู้ยืม ถือว่าเป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และฟ้องร้องกันไม่ได้ครับ

ส่วนดอกเบี้ยเกินอัตรา เมื่อคุณฟ้องร้องเขาไม่ได้ เรื่องดอกเบี้ยที่เกินอัตราจึงไม่ต้องกล่าวถึงครับ

ถ้าจำไม่ผิดนะครับประมาณก่อนปี 2535 การแลกเช็คเงินสด ฟ้องร้องกันได้โดยไม่ต้องมีสัญญากู้ แต่เนื่องจากมีปัญหามากว่าเช็คที่ได้มานั้นเป็นการแลกเช็คเงินสดหรือว่าเป็นเช็คที่ได้มาโดยมูลหนี้การพนันซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย ต่อมาจึงให้ถือว่าการแลกเช็คเงินสดหากไม่มีสัญญากู้ย่อมไม่มีมูลหนี้ต่อกันครับ

การขายลดเช็ค เป็นสัญญาชนิดหนึ่งซึ่งทำกันระหว่างธนาคารกับลูกหนี้ที่มีบัญชีกระแสรายวันกันอยู่

เมื่อลูกหนี้มีเช็คลงวันที่ล่วงหน้า แต่ลูกหนี้ต้องการใช้เงินก็นำไปขายลดเช็คกับทางธนาคาร แล้วธนาคารก็หักค่าธรรมเนียมตามสัญญาแล้วธนาคารก็รอนำเช็คเข้าเมื่อถึงกำหนดที่ลงไว้ในเช็คครับ แต่ธนาคารจะนำเงินจำนวนที่หักค่าธรรมเนียมลดเช็คไว้แล้วนำเข้าบัญชีของลูกหนี้

เมื่อเช็คถึงกำหนด ถ้าธนาคารเรียกเก็บเงินไม่ได้เขาก็จะเรียกเก็บเอากับลูกหนี้

โดยปกติลูกหนี้ที่จะทำสัญญาขายลดเช็คกับธนาคารได้ต้องมีเครดิตต่อกันเช่นมีการนำทรัพย์สินมาจำนองเป็นประกันในวงเงินจำนวนหนึ่งแล้วภายในวงเงินนั้น ถ้าเช็คที่นำมาขายไม่สามารถเรียกเก็บได้ ก็จะบังคับกันตามหลักประกันหรือเครดิตที่มีต่อกันก่อนนั้นครับ

ส่วนเช็คที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะไปไล่เบี้ยกับผู้สั่งจ่ายเอาเองครับ

สำหรับการแลกเช็คเงินสดนั้นเป็นเรื่องเอกชนบุคคลทั่วไปให้ยืมเงินโดยมีการสั่งจ่ายเช็คเป็นประกันครับ ถ้าเช็คไม่ผ่านก็ฟ้องร้องกันตามสัญญากู้เงินที่ทำกันไว้ต่อไป

หรือจะมีอีกกรณีหนึ่งก็คือ ถ้าคุณได้รับเช็คค่าสินค้าซึ่งลงวันที่ล่วงหน้าคุณก็อาจนำได้แลกเงินสดได้ตามหลักการข้างต้น แต่ถ้าเช็คเรียกเก็บไม่ได้คุณก็อาจฟ้องร้องตามมูลหนี้ที่คุณมีต่อกันได้ครับ อย่างนี้ถือว่าเช็คนั้นมีมูลหนี้ต่อกันครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-16 11:33:55


ความคิดเห็นที่ 14 (1837611)

เรียน  คุณ  ลีนนท์  ที่เคารพ

  ขอขอบคุณ  เป็นอย่างสูงที่กรุณาตอบคำถาม

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-16 13:15:01


ความคิดเห็นที่ 15 (1837626)

จำเลยออกเช็คฉบับแรกไปแลกเงินสดจากโจทก์ เช็คฉบับแรกมิได้ออกเพื่อชำระหนี้ จึงไม่เป็นความผิด ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มีผลก่อให้เกิดหนี้ระหว่างจำเลยผู้ออกเช็คกับโจทก์ผู้ทรงตามจำนวนเงินในเช็คฉบับนั้นแล้วตาม ปพพ.มาตรา 914 ต่อมาจำเลยออกเช็คฉบับใหม่เพื่อชำระหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถือว่าเช็คฉบับหลังออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับหลัง จำเลยจึงมีความผิดทางอาญา(อันนี้ลอกมาจากอินเตอร์เน็ต)

  แต่กรณีของข้าคล้ายกับเหตุการณ์ตัวอย่าง  ต่างกันตรงที่หลังจากเช็คเด้งครั้งแรกแล้ว  ครั้งต่อมาสามีของจำเลยมาทำหนังสือรับสภาพหนี้  เว้นวันก็นำเช็คที่สามีจำเลยเป็นคนเขียนและเซ็น  มาจ่ายชำระหนี้ให้  แล้วตอนนี้เช็คก็เด้งอีกเป็นรอบที่ 3เหตุการณ์นี้ตามความเห็นคุณลีนนท์ผิดอาญาหรือไม่

ขอขอบคุณ 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-09-16 13:34:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล