ReadyPlanet.com


หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ


หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ

 

หลักเกณฑ์การเลื่อนชั้น และลดชั้นผู้ต้องขัง

หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษจำคุก

หลักเกณฑ์การพักการลงโทษ

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ สาระน่ารู้ :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-01 09:08:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1844364)

หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ

คุณสมบัติของผู้ต้องขัง
1. ต้องเป็นนักโทษที่คดีเด็ดขาดแล้ว
2. ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ต้องเป็นผู้ต้องโทษหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา บุตร ธิดา และญาติผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด

หลักฐานที่จะต้องใช้

1. สำเนาคำพิพากษาทุกชั้นศาลที่ปรากฎ และรับรองสำเนาถูกต้องโดยจ่าศาล
2. บันทึกความเห็นแพทย์หรือจิตแพทย์ กรณีพักโทษอ้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ
3. เอกสารประกอบอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น
- หนังสือรับรองความประพฤติจากผู้นำชุมชนหรือเจ้าหน้าที่
- เอกสารประกอบคุณงามความดีตามที่ได้อ้าง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ต้องขังและผู้ที่เกี่ยวข้อง

หลักเกณฑ์การเลื่อนชั้น และลดชั้นผู้ต้องขัง

คุณสมบัติของผู้ต้องขัง

1. เข้าใหม่ จัดอยู่ในชั้นกลาง จะเลื่อนเป็นชั้นดี ต้องคดีเด็ดขาดมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน หากเด็ดขาดมาแล้ว น้อยกว่า 3 เดือน ต้องมีระยะเวลาต้องจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2. ชั้นดี จะเลื่อนชั้นเป็นชั้นดีมาก ต้องเป็นชั้นดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
3. ชั้นดีมาก จะเลื่อนชั้นเป็นชั้นเยี่ยม ต้องเป็นชั้นดีมากมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
4. ชั้นเลว จะเลื่อนชั้นเป็นชั้นกลาง ต้องเป็นชั้นเลวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
5. ชั้นเลวมาก จะเลื่อนชั้นเป็นชั้นเลว ต้องเป็นชั้นเลวมาก มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
(เพิ่มโทษกระทำผิดวินัย 6 เดือน)
การเลื่อนชั้น

กรมราชทัณฑ์กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดเลื่อนชั้น ปีละ 2 งวด
งวดที่ 1 ในวันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปี
งวดที่ 2 ในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

ความสำคัญของการเลื่อนชั้น

ชั้น มีความสำคัญต่อนักโทษเด็ดขาดเป็นอย่างมากในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ นักโทษเด็ดขาดจะต้องพยายามประพฤติตนให้ดีขึ้น และไม่กระทำผิดวินัย ในทางกลับกันหากกระทำผิดวินัยจะถูกลงโทษลดชั้นและถูกตัดประโยชน์ที่ตนพึงจะได้รับ ฉะนั้น ผู้ต้องขังทุกคนจึงต้องรักษาชั้นไว้ ไม่กระทำผิดวินัยของเรือนจำโดยเด็ดขาด



หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษจำคุก

คุณสมบัติของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุก ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

- เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไปและต้องจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- สำหรับโทษจำคุกตลอดชีวิตต้องจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และได้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลา จึงจะได้รับวันลดโทษสะสม โดยจะลดโทษให้ตามชั้นของนักโทษ คือ

1. ชั้นเยี่ยม ได้ลดวันต้องโทษจำคุกเดือนละ 5 วัน
2. ชั้นดีมาก ได้ลดวันต้องโทษจำคุกเดือนละ 4 วัน
3. ชั้นดี ได้ลดวันต้องโทษจำคุกเดือนละ 3 วัน
เรือนจำจะรวมวันลดต้องโทษสะสมของผู้ต้องขังทุกรายไว้ให้ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์ พิจารณาอนุมัติให้ปล่อยตัว เมื่อมีวันลดโทษสะสมเท่ากับโทษที่เหลือ การพิจารณาจะทำทุกเดือนหากไม่ไปกระทำผิดวินัยเสียก่อน

หลักฐานที่จะต้องใช้

จะต้องนำเอกสารมาประกอบการพิจารณาสืบเสาะข้อเท็จจริงก่อนปล่อยตัว ดังนี้

1. สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อนักโทษเด็ดขาดพักอาศัย
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้อุปการะที่นักโทษเด็ดขาดประสงค์จะไปพักอาศัย
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนักโทษเด็ดขาด หรือสำเนาเอกสารหลักฐานอื่นๆที่ทางราชการออกให้
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อุปการะหรือสำเนาเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้



หลักเกณฑ์การพักการลงโทษ


การพักการลงโทษ หมายถึง การปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด การพักการลงโทษมิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ

คุณสมบัติของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

- เป็นนักโทษเด็ดขาด
- ชั้นเยี่ยม เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3
- ชั้นดีมาก เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4
- ชั้นดี เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 5
เมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำได้ประกาศรายชื่อให้ทราบทั่วกันแล้วว่า มีผู้ใดบ้างอยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ นักโทษเด็ดขาดจะต้องปฏิบัติดังนี้
• เตรียมให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เจ้าพนักงานเรือนจำที่เกี่ยวข้องกับตนเอง พร้อมถิ่นที่อยู่และแจ้งชื่อผู้ที่จะรับเป็นผู้อุปการะ
• ทำคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาผ่านเรือนจำโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใดหรือเพื่อความสะดวกรวดเร็วแจ้งให้ญาติไปติดต่อขอคัดสำเนาคำพิพากษาจากศาลเพื่อส่งให้เรือนจำโดยตรง
• แจ้งให้ญาติไปติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอให้รับรองความประพฤติตามเอกสาร (พ.3 หรือ พ.4 พิเศษ) แล้วนำมอบให้เรือนจำ
• เมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำรวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเรือนจำ และส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
• เมื่อกรมราชทัณฑ์อนุมัติแล้ว จะแจ้งให้เรือนจำทราบเพื่อทำการปล่อยตัวต่อไป

หลักฐานที่จะต้องใช้

จะต้องนำเอกสารมาประกอบการพิจารณาสืบเสาะข้อเท็จจริงก่อนปล่อยตัว ดังนี้

1. สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อนักโทษเด็ดขาดพักอาศัย
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้อุปการะที่นักโทษเด็ดขาดประสงค์จะไปพักอาศัย
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนักโทษเด็ดขาด หรือสำเนาเอกสารหลักฐานอื่นๆที่ทางราชการออกให้
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อุปการะหรือสำเนาเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้



ระหว่างการคุมประพฤติ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ในช่วงระหว่างการคุมประพฤติ จะมีเจ้าพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์ เมื่อมีปัญหา โดยที่ ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ ที่กำหนดไว้ หากประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย

เงื่อนไข 8 ข้อ มีดังนี้

1. จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ
2. ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพย์ติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก
4. ประกอบอาชีพโดยสุจริต
5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา
6. ห้ามพกพาอาวุธ
7. ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
8. ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

ถ้าผู้ได้รับการปล่อยตัว ประพฤติตนตามเงื่อนไขด้วยดีตลอด ก็จะได้รับใบบริสุทธิ์ และพ้นโทษไปตามคำพิพากษา เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติสืบต่อไป



การได้รับวันลดโทษจำคุกเมื่อออกไปทำงานสาธารณะ

นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ จะได้รับประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุก ให้เท่ากับจำนวนวันที่ออกไปทำงาน คือ ออกไปทำงาน 1 วัน ก็จะได้รับวันลด 1 วัน เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขัง ที่จะได้รับการพิจารณาออกไปทำงานสาธารณะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. เป็นนักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และไม่เป็นผู้กระทำผิดในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพย์ติดให้โทษ ส่วนความผิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวนี้ ทำงานสาธารณะได้ทั้งนั้น
2. จะต้องเหลือโทษจำคุกตามระยะเวลาในแต่ละชั้นของผู้ต้องขัง ดังนี้
- ชั้นเยี่ยม จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 5
- ชั้นดีมาก จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4
- ชั้นดี จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
- ชั้นกลาง จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2

นักโทษเด็ดขาดที่ได้ออกไปทำงานสาธารณะทุกคน จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือกของเรือนจำเสียก่อน

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-01 09:11:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล