ReadyPlanet.com


ภาระจำยอม


ตามที่ดิฉันเคยปรึกษา กรณีดังนี้  ด้วยบ้านของดิฉันได้ใช้ทางสำหรับเดินเข้า - ออก และใช้รถวิ่งเข้า- ออก โดยผ่านที่ดินที่มีโฉนดของญาติคนหนึ่ง มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยที่ดินดังกล่าวนั้น เมื่อก่อนจะเป็นของปู่ และโอนให้พ่อ แต่ปัจจุบัน
ได้ตกเป็นของบุตรสาวแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ขณะที่ที่ดินดังกล่าวยังเป็นของปู่และพ่อ บ้านของดิฉันได้ทำการถมดินสำหรับเป็นทางรถ โดยใช้ดินลูกรังถมมา 2 ครั้งแล้ว แต่ไม่เกิดปัญหา แต่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พ่อของดิฉันได้นำดินลูกรังมาถมเพื่อให้มีสภาพที่ดีขึ้น ไม่เละเทะเนื่องจากสภาพถนนเมื่อฝนตกทำให้ถนนดังกล่าว ไม่สามารถนำรถเข้า - ออก ได้ โดยไม่ได้ขออนุญาตจากบุตรสาวผู้เป็นเจ้าของที่ดินคนปัจจุบัน เมื่อบุตรสาวดังกล่าวได้ทราบเรื่องว่า ครอบครัวของดิฉันได้ถมดินจึงได้แจ้งให้ญาตอีกคนหนึ่งนำรถแบคโฮมาขนดิน แต่ไม่มีใครกล้าทำ เพราะที่ดินที่เป็นทางเข้า - ออกดังกล่าว ครอบครัวของดิฉันได้ใช้มาโดยตลอดและทราบกันทั้งหมู่บ้าน ใครติดต่อกับครอบครัวของดิฉันก็ใช้เส้นทางนี้ เพราะไม่มีเส้นทางอื่นที่จะใช้เดินทางเข้าออกได้ ล้อมรอบโดยที่ดินของคนอื่นทั้งหมด และมีคูขนาดเล็กกั้นทุกด้าน ซึ่งครอบครัวของดิฉันได้รับการติดต่อจากบุตรสาวผู้เป็นเจ้าของที่ดินว่า ไม่ต้องการให้บ้านของดิฉันใช้ถนนเส้นดังกล่าว โดยบอกว่าจะให้เฉพาะทางเดิน หากเป็นทางสำหรับรถเข้า - ออก จะไม่ให้และจะขายในราคาแพงเท่านั้นและหลังจากนั้นไม่นาน ทางบุตรสาวดังกล่าวได้นำรั้วและลวดหนามมากั้น  บ้านดิฉันจึงฟ้องขอให้เป็นทางภาระจำยอมและขอไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว  แต่ฝ่ายจำเลยได้คัดค้าน  โดยจำเลยได้อ้างว่าบ้านของดิฉันได้ขออนุญาตจากปู่และพ่อ และตัวบุตรสาว (ซึ่งในความจริงไม่เคยขออนุญาต แต่เจ้าของเดิมก็ให้ใช้มาโดยตลอด  โดยในการถมทั้ง  2  ครั้ง ไม่มีผู้ใดคัดค้าน)  ในการใช้เส้นทางดังกล่าว และอ้างว่าบ้านดิฉันมีเส้นทางอื่นที่สามารถใช้เข้าออกได้  แต่ศาลได้เผชิญสืบที่ผ่านมา ปรากฎว่าศาลเห็นว่าไม่มีทางอื่นใด จึงมีคำสั่งให้เปิดรั้วและลวดหนามได้  และทางจำเลยได้ขู่ว่า เขาจะไม่ยอมจะสู้จนถึงศาลฎีกา และไม่ว่าจะหมดเงินเป็นล้านก็ไม่ยอม ดิฉันขอถามดังนี้  1. จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา  บ้านดิฉันจะได้ทางเป็นภาระจำยอมหรือไม่   หากแพ้คดีดังกล่าวแล้ว บ้านดิฉันจะต้องดำเนินการอย่างไรให้มีเส้นทางเข้า -  ออกได้ (ทั้ง ๆ ที่ไม่เส้นทางอื่นเลย เพราะล้อมรอบด้วยคูน้ำที่กั้นระหว่างสวนของคนอื่น)  2. จากที่ปรึกษาครั้งที่แล้ว ทำไมความคิดเห็นของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน  บางท่านว่าถ้าเป็นญาติกัน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถจดเป็นภาระจำยอมได้  แต่ที่ดิฉันปรึกษามาหลายท่าน แจ้งว่า การขอจดทะเบียนภาระจำยอมไม่เกี่ยวกับความเป็นญาติ ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความจำเป็นและใช้มาเกิน 10 ปี แล้วหรือไม่  3. หากจำเลยต่อสู้ว่า ทางบ้านดิฉันขออนุญาตปู่ พ่อ และตัวของจำเลยเอง  ทั้ง  ๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐาน และข้อเท็จจริงคือไม่เคยขออนุญาต จะทำให้บ้านดิฉันแพ้และไม่มีทางเข้า - ออกหรือไม่  เรียนผู้รู้ทั้งหลายช่วยกรุณาตอบด่วน ด้วย  เพราะครอบครัวของดิฉันร้อนใจมาก กลัวไม่มีทางเข้าออก ขอบคุณทุกท่านด้วยความเคารพ

 

 

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ อารีวรรณ กัลยาณิมิตร :: วันที่ลงประกาศ 2008-11-15 11:22:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1864621)

คำถาม

1. จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา  บ้านดิฉันจะได้ทางเป็นภาระจำยอมหรือไม่   หากแพ้คดีดังกล่าวแล้ว บ้านดิฉันจะต้องดำเนินการอย่างไรให้มีเส้นทางเข้า -  ออกได้ (ทั้ง ๆ ที่ไม่เส้นทางอื่นเลย เพราะล้อมรอบด้วยคูน้ำที่กั้นระหว่างสวนของคนอื่น) 

คำตอบ

ถ้าไม่มีทางออกอื่น ก็ขอเปิดทางจำเป็นได้ แต่จะเปิดทางด้านใดเป็นการสะดวกและสั้นที่สุดต้องพิจารณาอีกครั้งหลังที่คุณแพ้คดี

2. จากที่ปรึกษาครั้งที่แล้ว ทำไมความคิดเห็นของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน  บางท่านว่าถ้าเป็นญาติกัน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถจดเป็นภาระจำยอมได้  แต่ที่ดิฉันปรึกษามาหลายท่าน แจ้งว่า การขอจดทะเบียนภาระจำยอมไม่เกี่ยวกับความเป็นญาติ ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความจำเป็นและใช้มาเกิน 10 ปี แล้วหรือไม่ 

คำตอบ

เรื่องเป็นญาติ หรือไม่คงไม่เกี่ยวกับการได้ภาระจำยอม เพราะกฎหมายไม่ได้พูดถึงญาติหรือไม่ แต่ที่กล่าวเกี่ยวข้องกับญาติก็คือ การที่มีการใช้ทางโดยถือวิสาสะ เพราะความเป็นญาติพี่น้องนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะยึดถือเพื่อตนตาม

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา 1401 ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การที่คุณได้ใช้ทางเพราะทางเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาตให้คุณใช้ทาง แม้จะใช้มากว่า 10 ปี ก็ไม่ได้ภาระจำยอม ตามที่เขาคัดค้านมานั่นแหละครับ เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ เมื่อคุณนำคดีไปสู่ศาลก็คงต้องรอผลคำพิพากษาครับ

3. ให้ดูคำตอบที่ข้อ 2 ครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-11-15 16:33:22


ความคิดเห็นที่ 2 (1864622)

ภาระจำยอม

 

ในเรื่องภาระจำยอม กฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7828/2547

 

โจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น กรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่การใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใคร ก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 2.5 เมตร ยาว 6 เมตร เป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนรั้วไม้สนและทำถนนที่จำเลยขุดออกให้โจทก์เดินได้ตามปกติ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อและทำถนนได้เองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภาระจำยอมในเรื่องทางเดินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งมีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1387 ว่า "อสังหาริมทรพัย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น" แสดงว่ากฎหมายเพ่งเล็งถึงความสำคัญของตัวอสังหาริมทรัพย์คือที่ดิน ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในมาตรา 1382 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" ดังนั้น กรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี จึงเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ คดีนี้โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( โนรี จันทร์ทร - ทวีวัฒน์ แดงทองดี - จิระ โชติพงศ์ )


ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-11-15 16:36:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล