ReadyPlanet.com


การครอบครองปรปักษ์


ว่าด้วยเรื่องการครอบครองปรปักษ์



ผู้ตั้งกระทู้ * :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-31 18:19:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1858173)

การครอบครองปรปักษ์

การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การที่บุคคลได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ซึ่งได้บัญญัติว่า

“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

การที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องปรากฏว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่เจ้าของจะต้องมีกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะที่ดิน ที่ดินที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ถ้าหากที่ดินนั้นเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เช่น ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓, น.ส. ๓ ก., น.ส. ๓ ข.) แม้ผู้นั้นจะครอบครองที่ดินดังกล่าวนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่อย่างใด นอกจากนั้น การครอบครองดังกล่าวจะต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผยไม่มีการปิดบังอำพรางหรือซ่อนเร้นและมีเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า หรือผู้อาศัยไม่ได้ครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของก็ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ และการครอบครองปรปักษ์จะนำไปใช้แก่ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งจะนำไปใช้กับที่ธรณีสงฆ์หรือที่วัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไม่ได้ด้วย

การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้ถือว่าเป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ายังมิได้จดทะเบียนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ เมื่อผู้ใดได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเข้าตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ และได้กรรมสิทธิ์แล้ว จึงจำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามนัยมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนี้ แต่โดยที่ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗๘ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอจดทะเบียนในกรณีนี้ไว้ว่า ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดแสดงว่า ตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้น ดังนั้น ก่อนที่ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์จะมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้นั้นจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๒ แล้วจึงนำคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอจดทะเบียนลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ต่อไป

หลักฐานที่จะต้องนำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการ ครอบครองปรปักษ์ ได้แก่

- คำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุด ที่แสดงว่าผู้ขอได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง

- บัตรประจำตัว สำเนาทะเบียนบ้าน

- โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดิน

กรณีไม่ได้โฉนดที่ดินมาจดทะเบียน กรณีผู้ขอไม่สามารถนำโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของ

ที่ดินมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตามข้อ ๑๗ (๓) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้ถือว่าโฉนดที่ดินสูญหาย ให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วดำเนินการจดทะเบียนตามควรแก่กรณี ในกรณีนี้โฉนดที่ดินเดิมเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไป

ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครอง

- ค่าคำขอแปลงละ ๕ บาท

- ค่าธรรมเนียมตามราคาประเมินของทางราชการ ร้อยละ ๒

- ค่าอากรแสตมป์ ไม่เสีย

- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสีย ณ ที่จ่ายตอน

จดทะเบียนได้มา ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.๑๐๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ข้อ ๑๐ (๗) แต่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้เป็นกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากรของผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ

- ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่เสีย เนื่องจากการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครอง

ปรปักษ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายตามมาตรา

๙๑/๑ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมจึงไม่ใช่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๘๑๑/๐๐๐๘๑ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๒ ข้อ ๑ (๓)

ค่าใช้จ่ายกรณีจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครองแล้วจะจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป ในขั้นตอนการจดทะเบียนขายต่อไปเสียค่าใช้จ่าย ดังนี้

- ค่าคำขอแปลงละ ๕ บาท

- ค่าธรรมเนียมตามราคาประเมินของทางราชการ ร้อยละ ๒

- ค่าอากรแสตมป์ใบรับ ร้อยละ ๐.๕ (๕๐ สตางค์) จากราคาประเมินของทางราชการ

หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้ขอแสดง แล้วแต่ราคาใดสูงกว่า

- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย เสียตามปกติโดยนับจำนวนปีถือครองตั้งแต่

ปีที่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (ปีที่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง มิใช่ปีที่จดทะเบียนได้มา

โดยการครอบครอง) จนถึงปีที่จดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มานั้นต่อไป (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.๑๐๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ข้อ ๖

- ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ เสียหากอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสีย โดย “การนับระยะเวลาการ

ได้มาในเรื่องของภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้มาจนถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ และ “วันที่ได้มา” ได้แก่วันที่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ (หนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๘๑๑/๐๐๐๘๑ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๒) ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๘๒ แล้วจะขายอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป การนับระยะเวลาการได้มาเพื่อพิจารณาว่าอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จึงต้องเริ่มนับจากวันจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครอง จนถึงวันจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง กรณีเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ใบรับข้างต้น

สรุปโดย กลุ่มพิจารณาปัญหาข้อหารือและร้องเรียน

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2008-10-31 18:27:44


ความคิดเห็นที่ 2 (1858588)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้น ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับกันว่า จำเลยทั้งสามปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2และศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องตรงกันโดยโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 3917ของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องออกไปจากที่ดินพิพาทหรือไม่สำหรับประเด็นนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทั้งสามปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินโฉนดเลขที่ 3917 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินดังกล่าว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวาร ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 3917 ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1ก็ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ด้วยความสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความครอบครองปรปักษ์แล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การของจำเลยแล้วคดีทั้งสามสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 3917ของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่าที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่นั้นเป็นที่มรดกตกทอดมาจากปู่ ย่าตา ยาย จนถึงจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินมีการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ถูกต้องตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 กับพวกได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมากว่า 30 ปีด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมรดกตกทอดมาช้านานแล้ว แม้จะให้การว่าได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นการครอบครองที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิอยู่แล้ว กรณีหาใช่การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของผู้อื่นไม่ ปัญหาในเรื่องการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของผู้อื่นจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การและไม่ก่อให้เกิดประเด็นถือได้ว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติทั้งสองศาลว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3917 ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 อันเป็นหลักฐานแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ที่จำเลยอ้างเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินนั้น มิใช่หลักฐานแสดงว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้ออกไป จำเลยจึงไม่สิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( ยงยุทธ ธารีสาร - ยรรยง ปานุราช - นิวัตน์ แก้วเกิดเคน )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2008-11-02 11:52:27



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล