ReadyPlanet.com


ประกัน


เนื่องจากเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ธุรกิจวงการประกันประสบปัญหา อยากเรียนถามว่า ในกรณีที่เราเป็นผู้เอาประกัน แล้วต่อมาสมมติว่า บริษัทผู้รับประกันต้องมีอันปิดกิจการ จะมีอะไรเป็นตัวคุ้มครองให้ผู้เอาประกันมั่นใจว่า เงินที่ได้จ่ายไปจะได้คืนทุกเม็ดทุกหน่วย ในแง่กฎหมายมีกฎหมายมาตราอะไรบ้างครับที่ดูแลหรือให้ความค้้มครองผู้เอาประกันไม่ให้ได้รับความเสียหายไปกับธุรกิจประกัน หรือมีวิธีการอย่างไรที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคะ และผู้เอาประกันทั้งหลายที่ประสบปัญหาทั้งหมดจะสามารถรวมตัวกันเรียกร้องผลประโยชน์คืนได้หรือไม่อย่างไร ขอท่านลีนนท์ช่วยกระจ่างให้ด้วยครับ


ผู้ตั้งกระทู้ ปิยะ :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-30 20:23:35


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1882751)

ก็คงต้องฟัองเรียกเงินเบี้ยประกันภัยคืนครับ หากมีคำพิพากษาของศาลแล้วก็คงต้องไปบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของบริษัทครับ หากมีเจ้าหนี้หลายรายและทรัพย์สินของบริษัทไม่พอชดใช้หนี้ให้ก็ต้องเฉลี่ยความเสียหายกันไปครับ

มีข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องประกันภัยมาให้อ่านครับ

 

20 อู่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องเรียก 55 ล. กรณีสั่งปิด "พาณิชย์การ"


อู่เจ้าหนี้ถือฤกษ์ครบขวบปีปิดพาณิชย์การประกันภัย รวมตัวกัน 20 อู่ ฟ้องร้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย อธิบดีกรมการประกันภัย และกระทรวงพาณิชย์แล้ว 55 ล้าน โทษฐานประมาทเลินเล่อในการสั่งปิดบริษัท อ้างที่ผ่านมาทำเอาอู่เจ้าหนี้สิ้นเนื้อประดาตัวไปแล้วหลายราย บางรายถูกฟ้องยึดทรัพย์และปิดอู่ทิ้งไปแล้ว เพราะผลพวงปิดบริษัทดังกล่าว

นายธนิตศักดิ์ ทิพยจิรโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หวี่ฟู่หลิน อินเตอร์เซอร์วิส จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตนพร้อมกับอู่เจ้าหนี้บริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำนวน 20 อู่ด้วยกัน ได้เดินทางไปที่ศาลแพ่งนนทบุรี พร้อมด้วยทนายความที่ได้รับมอบหมาย คือ สำนักงานสมหมาย ตะละภัฎ เข้ายื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำเลยทั้ง 3 จำนวน 55 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย จำเลยที่ 1 กรมการประกันภัย จำเลยที่ 2 อธิบดีกรมการประกันภัย และจำเลยที่ 3 กระทรวงพาณิชย์ ในโทษฐานที่ประมาทเลินเล่อในการปิดกิจการบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่เป็นอู่ซ่อมรถเจ้าหนี้ดังกล่าวได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลได้รับเรื่องไว้และนัดหมายขึ้นศาลในนัดแรก วันที่ 13 ก.ย. 49 และนัดที่สอง วันที่ 25 ก.ย. 49 เวลา 9 โมงเช้า เวลาเดียวกัน ทั้งนี้ การยื่นฟ้องดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายให้รัฐชดใช้แล้ว ยังส่งผลต่อภาพรวมเพื่อจะให้ทางการได้มีบรรทัดฐานในการสั่งปิดบริษัทประกันภัยในโอกาสต่อไปอีกประการหนึ่งด้วย

"ที่พวกผมรวมตัวกัน และเดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลแพ่งครั้งนี้ จำนวน 20 อู่ เพราะเกรงว่าคดีจะหมดอายุความในวันที่ 7 ก.ค. 49 ซึ่งครบขวบปีของการปิดบริษัทพาณิชย์การประกันภัยพอดี ซึ่งอู่เจ้าหนี้ที่เรียกร้องค่าเสียหายครั้งนี้คงเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยยังไม่นับรวมอู่เจ้าหนี้รายอื่นๆ อีกรวมแล้ว 100 กว่าอู่ ที่เสียหายคงอยู่ประมาณตัวเลข 400-500 ล้านบาท ซึ่งอู่ที่เหลือดังกล่าวคงจะหาช่องทางปรึกษาทนายความว่า จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวที่เหลือได้อย่างไรต่อไป เพราะต้องยอมรับที่ผ่านมาอู่เสียหายอย่างมาก หลังจากปิดบริษัทพาณิชย์การประกันภัยลงไป ทำให้บรรดาอู่ต่างๆ เป็นหนี้เป็นสิน เพราะถูกร้านค้าอะไหล่และร้านจำหน่ายสีฟ้องร้องเรียกหนี้สินที่ค้างไว้ บ้างก็ถูกฟ้องร้องยึดทรัพย์ และขายกิจการอู่ทิ้งไปแล้วหลายราย เพราะไม่มีเงินจะลงทุนทำกิจการอู่ต่อ" นายธนิตศักดิ์ กล่าวและว่า

อนึ่ง บรรดารายชื่อผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถเจ้าหนี้เท่าที่ทราบ ใน 20 รายที่รวมตัวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ อาทิเช่น อู่หวี่ฟู่หลิน อินเตอร์เซอร์วิส, อู่วิศิษฐการาจ, อู่เอพีเค, อู่บลิงเกอร์คลับ, อู่กลุพัฒน์, อู่เวิลด์, อู่ยุทธเซอร์วิส, อู่หมง 2000, อู่ ส.สินชัย, อู่พูลสุวรรณ, อู่มิตรสัมพันธ์, อู่กันเองเซอร์วิส และอู่ถนัดยนต์ เป็นต้น

 

http://www.iprbthai.org/new/news/news.aspx?newsID=1444

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-31 16:40:42


ความคิดเห็นที่ 2 (1882790)

มาตรา 19 บริษัทต้องมีหลักทรัพย์ของบริษัทวางไว้กับนายทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ประกันตามประเภทของการประกันภัย

การกำหนดประเภทของการประกันภัยและมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

หลักทรัพย์ของบริษัทที่ต้องวางไว้กับนายทะเบียนจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรี*ประกาศกำหนดก็ได้

บริษัทอาจขอเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ประกันที่วางไว้ได้ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับวรรคสองและวรรคสาม

*[คำว่า “รัฐมนตรี” ให้หมายความถึง “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” โดยผลของมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550]

 

มาตรา 26 หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้ตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23 ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่บริษัทยังมิได้เลิกกัน

ในกรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษอื่น

ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวอย่างเดียวกันกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

ทรัพย์สินของบริษัทนอกจากหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-31 21:26:54



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล