ReadyPlanet.com


ทนายความและอัยการ


อยากทราบครับว่า การเป็นทนายความและอัยการ ต่างกันอย่างไร ในแง่ของงานครับ


ผู้ตั้งกระทู้ พจน์ :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-30 20:16:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1882720)

อำนาจหน้าที่อัยการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ. 2525ได้นิยาม* คำว่า "อัยการ" ไว้ 2 นัย คือ "ชื่อกรมหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน" และ "เจ้าหน้าที่ในกรมนั้นผู้ทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน"

ภารกิจของอัยการ

ภารกิจของอัยการอาจแบ่งเป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้

1. งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา

เมื่อมีเหตุและละเมิดกระบิลเมือง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวน จับกุมสอบสวน แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนต่ออัยการ อัยการจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานากการสอบสวนพียงพอที่จะพิสูจน์ให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยหรือไม่ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา หากเห็นว่าเพียงพออัยการก็จะสั่งฟ้องหากเห็นว่าไม่เพียงพอก็จะสั่งไม่ฟ้อง หรือหากเห็นว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดให้จนกว่าจะเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เมื่อสั่งฟ้องแล้วก็จะติดตามดำเนินคดีในศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วหากเห็นว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมก็จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปจนถึงที่สุด

ดังนั้น อัยการจึงเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงานสอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม

นอกเหนือจากหน้าที่ในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว อัยการยังมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายหรือพยานเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งอัยการจะเข้าไปมีส่วนในการอำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ในชั้นสอบสวน โดยจะเข้าสอบปากคำผู้ต้องหา สอบปากคำพยาน ผู้เสียหายและการให้พยานเด็กทำการชี้ตัวผู้ต้องหาด้วย ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองให้เยาวชนผู้นั้นได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่วัย

หน้าที่อีกประการหนึ่งคือการเป็นหลักประกันความเป็นธรรมในสังคมเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรมคือในกรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เช่นกรณีที่คนรายถึงแก่ความตายเนื่องจากยิงต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ดังที่เรียกกันเป็นภาษาพูดว่า "คดีวิสามัญฆาตกรรม" หรือมีคนตายในระหว่างอยู่ในความควคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กฎหมายกำหนดให้อัยการเข้าไปร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าการตายนั้นต้องไม่เกิดจากการกระทำเกินขอบเขตแห่งกฎหมายของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ

2. งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ

(ก) คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในกรณีมีผู้ก่ออาชญากรรมขึ้นในต่างประเทศแล้วหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดเกิดนั้นอาจขอให้ไทยส่งตัวบุคคลผู้กระทำความผิดกลับคืนไปให้ประเทศนั้น ๆ ดำเนินคดีได้ตามหลักเกณฑ์แห่งสนธิสัญญาที่ได้ทำไว้ต่อกัน หรือแม้แต่ประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยแต่มีสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตต่อกันก็สามารถขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยอาศัยหลักถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติต่อกันผ่านวิถีทางการทูต กล่าวคือ ประเทศทั้งสองจะถือเป็นหลักการว่าหากประเทศไทยให้ความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศผู้ร้องขอนั้นก็ต้องให้ความร่วมมือเช่นกันหากประเทศไทยร้องขอ และผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนี้ก็คืออัยการ

ในทางกลับกัน กรณีที่บุคลกระทำความผิดในไทยแล้วหลบหนีไปต่างประเทศ เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องแล้วก็จะดำเนินการเพื่อขอให้รัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ ส่งตัวข้ามแดนมา อัยการแห่งประเทศนั้น ๆ ก็จะนำคดีขึ้นสู่ศาลในทำนองเดียวกัน โดยอัยการไทยจะร่วมประงานและปรึกษาหารือกับอัยการเจ้าของคดีในประเทศนั้นอย่างใกล้ชิด เพื่อรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานทั้งปวงให้ตามที่อัยการในประเทศนั้นต้องการและเห็นว่าเพียงพอสำหรับการดำเนินคดีในศาล

(ข) การร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่น ๆ

นอกจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันแล้วนานาประเทศยังมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญากรณีอื่น ๆ เพื่อปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ เช่น ช่วยสอบปากคำพยานและช่วยรวบรวมพยานหลักฐานให้แก่กัน ช่วยดำเนินการค้น ยึด และสืบหาตัวบุคคลให้แก่กัน

พ.ร.บ ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางทั้งการให้ความช่วยเหลือหรือขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติอัยการจะทำหน้าที่ประสานงานโดยตรงกับผู้ประสานงานกลางของต่างประเทศ

3. งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

ในการบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอาจประสบปัญหากฎหมายอันเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติงาน หรืออาจนำไปสู่การเป็นคดีความได้ อัยการจึงทำหน้าที่ทนายแผ่นดินด้วยการรับปรึกษาหารือปัญหากฏหมายเหล่านั้น เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ลุล่วงไปด้วยดี และแม้จะเกิดเป็นคดีความขึ้นในทางแพ่งไม่ว่าฝ่ายราชการจะเป็นโจทก์หรือจำเลย อัยการก็จะรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

อนึ่ง ในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งใช้เงินกู้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในการจัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีนี้อัยการจะทำหน้าที่ตรวจร่างสัญญาก่อนที่จะนำไปลงนามผูกพันกันเพื่อดูแลให้สัญญามีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายราชการและเอกชน โดยที่ข้อสำคัญจะต้องไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ

4. งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายแก่ประชาชน

การทำหน้าที่ทนายแผ่นดินหาได้จำกัดเพียงการเป็นที่ปรึกษกฎหมายและการดำเนินคดีแทนรัฐเท่านั้นแต่อัยการยังรับดำเนินการทางศาลให้แก่ประชาชนที่สามารถดำเนินการเองได้อีกด้วย เช่นจะฟ้องบุพการีของตนเองเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู กฏหมายห้ามมิให้ฟ้อง แต่อัยการอาจดำเนินการแทนให้ได้ซึ่งเรียกว่า "คดีอุทลุม" หรือในกรณีที่ประสงค์จะดำเนินคดีแพ่งแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อัยการก็รับดำเนินการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งรับดำเนินการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งรับให้คำปรึกษาหารือด้านกฎหมายตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญญาประนีประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้อัยการยังออกไปอบรมกฎหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแก่ประชาชน และจัดอบรมอนุญาโตตุลาการหมู่บ้านเพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีความเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ประชาชนในท้องถิ้นด้วย

5. งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง

ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเมื่อถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ

6. งานพิเศษ

นอกเหนือจากหน้าที่ราชการดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดยังตระหนักในภารกิจที่จะต้องเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบททั่วประเทศและในวาระมงคลพิเศษสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนพรรษา 6 รอบ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้เฉลิมพระเกียรติยศ โดยจัดตั้งห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นในสำนักงานอัยการทั่วประเทศ เช่นที่อำเภอเบตง อำเภอแม่สอด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นสถานที่ค้นคว้าหาความรู้ในวิชากฎหมายของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน รวมทั้งข้าราชการในท้องถิ่นชนบท

 

 

 

 

 

คำว่า "ทนายความ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่ ได้รับอนุญาตให้ว่าต่างแก้ต่างคู่ความในเรื่องอรรถคดี

จากการศึกประวัติศาสตร์กฎหมาย และกระบวนการอำนวยความยุติธรรมที่มีมาตั้งแต่ ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีตามหลักศิลาจารึกในสมัย พ่อขุนรามคำแหง มหาราช หลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 24 ถึง 28 มีข้อความว่า "ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุนผี้แล้ผิดแผก แสกว้างสวนดูแท้แล้ จึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด" ข้อความที่ได้จารึกไว้นี้ แสดงให้เห็นถึงหลักการพิจารณาคดีข้อพิพาทของ ราษฎรจะต้องไต่สวนให้ได้ความจริง ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เห็นแก่สินบน แล้วตัดสินด้วยความเป็นธรรม โดยผู้มีอำนาจตัดสินคดี คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กระบวนการอำนวยความยุติธรรมที่ใช้อยู่ในสมัยสุโขทัยนี้ มิได้มีการกล่าวถึง ทนายความ หรือผู้ทำหน้าที่ ซึ่งพอจะถือว่าเป็น ทนายความได้เลย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ...คงจะต้องพิจารณาประกอบไปกับวิถีความเป็นอยู่ของราษฎรในสมัยนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชาวสุโขทัยมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายในการหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการถือหลักการค้าเสรีไม่มีภาษีผ่านด่าน ใครทำกินบนที่ดินก็ได้เป็นกรรมสิทธิ์อีกทั้งราษฎรสุโขทัยเป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาเป็นผลให้ลักกฎหมายที่ใช้อยู่ปราศจากความยุ่งยากซับซ้อน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรมีลักษณะใกล้ชิด หากราษฎรประสงค์จะร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงก็กระทำได้โดยง่าย ดังที่ปรากฏในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 บรรทัดที่ 32 ถึง 35 ต่อด้านที่ 2 บรรทัดที่ 1 ถึง 2 มีข้อความว่า "ในปากปตูมีกดิ่งอันณึงแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อย มีความเจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั้นกดิ่ง อันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมืองถาม สวนความ แก่มันด้วยซื่อไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม"

 

ทนายความ ยุคก่อนและต้นรัตนโกสินทร์

ครั้นต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เนื่องจากยอมรับความคิดด้านการปกครองและกฎหมายของลัทธิพราหมณ์ ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช จึงมีการใช้ภาษาและระเบียบพิธีการเฉพาะประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้วิถีชิวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับความขัดแย้ง ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ทวีขึ้น กฎหมายและวิธีการอำนวยความยุติธรรม จึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้นตามลำดับและจากหลักฐานที่ปรากฎในพระอัยการลักษณะรับฟ้อง มาตรา 20 บัญญัติว่า "ให้มีการแต่งทนายต่างตัวแก้ในอาญา....." จึงพอจะเป็นข้อสรุปได้ว่าขณะนั้นมีบุคคลซึ่งประกอบอาชีพเป็นทนาย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ได้มีทนายความเกิดขึ้นแล้ว

แต่ทนายความที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณนั้น ก็มิได้ทำหน้าที่ในการถามตัวพยาน หรือซักค้านดังเช่นปัจจุบันแต่อย่างใด เพราะหน้าที่ซักค้านถามตัวพยานนั้นเป็นหน้าที่ของศาลได้มีการอนุญาตให้ผู้ใกล้ชิดกับตัวความแก้ต่างแทนตัวความเป็นต้นว่า สามีแก้ต่างแทนภรรยา ภรรยาแก้ต่างแทนสามี บุตรแก้ต่างแทนบิดามารดา บิดามารดาแก้ต่างแทนบุตร แต่มิได้อนุญาต ให้แก้ต่างได้ทุกคดี มี 14 กรณี ที่ตัวความจะต้องไปแก้ต่างด้วยตัวเอง ได้แก่ แพทย์ ทำให้คนไข้ตาย โจรปล้นฆ่าคนตาย เป็นชู้ภรรยาเขา คดีมรดก ข้อหาเกี่ยวกับ สตรี ลักทรัพย์ เบียดบังทรัพย์สินของทางราชการ วางเพลิง ปลอมเงินตรา ลอกทองหุ้มพระพุทธรูป บุตรฟ้องบิดามารดา

นอกจากนี้ สังคมในสมัยอยุธยามีการแบ่งชนชั้นของคนในสังคมตามศักดินา กล่าวคือ ผู้มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป เรียกว่า "ผู้ดี" ส่วนผู้ที่มีศักดินาต่ำกว่า 400 ไร่ เรียกว่า "ไพร่" โดยผู้ที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป สามารถแต่งทนายความแทนตนในศาลได้

ดังปรากฎหลักฐานในพระอัยการลักษณะตระลาการ มาตรา 92 บัญญัติว่า ".....แต่นา 400 ไร่ขึ้นไป ถ้ามีภัยทุกข์สุขสิ่งใด ๆ ก็ดี และฟ้องร้องกฎหมายกล่าวหาผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่นา 400 ไร่ขึ้นไป เป็นข้อเพ่ง อาญา อุทธรณ์ก็ดี ให้แต่งทนายว่าต่างตัวพึงให้ว่าความเอง ถ้ามิได้เรียกทนายต่างตัวท่านว่าอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชา ต่ำนา 400 ไร่ลงมา ถ้ามีกิจธุระสิ่งใดก็ดี จะแก้ต่างว่าต่างประกันหาต่างพี่น้องได้ ถ้าราษฎรจะฟ้องร้องให้พิจารณาตัวเองได้" เป็นการห้ามมิให้ผู้มีศักดินาสูงกว่า 400 ไร่ขึ้นไป มาว่าความเองต้องแต่งทนายมาดำเนินคดีแทน

บุคคลซึ่งเรียกว่า "ทนายความ" ดังกล่าวข้างต้น เป็นบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตัวความ หน้าที่ของทนายความจึงเป็นเพียงอำนวยความสะดวกให้ตัวความเท่านั้น เพราะมิใช่ผู้รู้กฎหมาย แต่เป็นผู้รู้ข้อเท็จจริงโดยการถ่ายทอดจากตัวความ นอกจากนี้ในกฎหมายตราสามดวงลักษณะรับฟ้องบทที่ 1 ยังได้กล่าวไว้ว่า "ผู้ใดมิใช่คดีตน มิใช่คดีบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย หรือป้า น้า อา บุตร ภรรยา พี่น้องตน บังอาจเก็บเอาเนื้อความผู้อื่นมาร้องฟ้อง ผู้นั้นบังอาจให้ยากแก่ ความเมือท่าน เป็นละเมิดให้ไหมโดยยศถาศักดิ์ อย่าให้รับฟ้องไว้พิจารณา" จะเห็นได้ว่าทนายความในยุคก่อนนั้นถูกตราหน้าว่าเป็นพวกขี้ฉ้อ หมอความมีความผิดเป็นโทษ และเป็นที่รังเกียจในบ้านเมือง

ตั้งแต่เริ่มมีทนายความเรื่องมาจนกระทั่งถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หน้าที่ของทนายความก็ยังคงเดิม ไม่ปรากฎว่าทนายความทำหน้าที่ซักถามพยานหรือซักค้านแต่อย่างใด และใช่ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการควบคุมการเป็นทนายความ ทำให้บุคคลที่มีความรู้กฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ทนายความหน้าหอของข้าราชการผู้ใหญ่ เริ่มเข้ารับจ้างเป็นทนายความกันแพร่หลาย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะมีคดี ความเกิดขึ้นมากมาย

 

ทนายความก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กระบวนการอำนวยความยุติธรรมดั้งเดิมของไทย มุ่งประสงค์ให้ตัวความพิสูจน์ความจริงกัน ด้วยตนเองเป็นสำคัญ เช่น การให้ตัวความดำน้ำ ลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เป็นต้น จนกระทั่ง ในปี ร.ศ. 110 (ตรงกับพุทธศักราช 2434) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นและมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดการศาลในสนามสถิตยุติธรรม ร.ศ. 111 ข้อ 7 บัญญัติว่า "ราษฎรทั้งหลายผู้มีอรรถคดีจะปรึกษาหารือผู้รู้กฎหมายให้เรียบเรียงแต่งฟ้องแล้วนำมายื่นต่อศาล โดยลงชื่อผู้แต่ง ผู้เขียนไว้ด้วยก็ได้" ฉะนั้น พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ จึงนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่อนุญาต ให้มีทนายความแต่งเขียนฟ้องแทนตัวความได้ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาระบบการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน มีทนายความเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของทนายความจากเดิมเป็นเพียงผู้รู้ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ต่างแทนตัวความ มาเป็นทั้งผู้รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวบการยุติธรรม ทนายความจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครองผลประโยชน์อันชอบด้วย กฎหมายของตัวความ กับทนายความสามารถทำหน้าที่ซักค้านหรือถามพยานได้อย่างเต็มที่ จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ การมีทนายความยุคใหม่

การประกอบอาชีพทนายความได้แพร่หลายและขยายกว้างขวางขึ้น ผู้ที่ดำเนินงานด้านทนายตั้งแต่ดั้งเดิม รวมทั้งผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านกฎหมายต่างหันมาประกอบอาชีพทนายความ ทำให้จำนวนทนายความมีมากขึ้นและในปี ร.ศ.115 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ จัดตั้งศาลสมัยใหม่ขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดให้มีทนายความตามแบบใหม่ควบคู่กันไปด้วย ประกอบกับในขณะนั้นไม่มีการควบคุมคุณสมบัติจรรยาบรรณ ตลอดจนมรรยาททนายความ ก่อให้เกิดความประพฤติอันไม่เหมาะสมของทนายความบางคน ทำให้ชื่อเสียงของทนายความเป็นไปในทางไม่ดี

กระทั่งปี ร.ศ.127 (ตรงกับพุทธศักราช 2451) จึงได้มีกฎหมายควบคุมทนายความขึ้นเป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.127 โดยพระราชบัญญัติไว้ในมาตรา 127 ว่า "ให้ศาลมีอำนาจห้ามทนายความผู้ประพฤติตนไม่สมควรมิให้ว่าความในศาลใดศาลหนึ่ง หรือทุกศาลได้และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตั้งกฎข้อบังคับเรื่องทนายความได้" การควบคุมมรรยาททนายความในยุคแรกจึงอยู่ในอำนาจศาลเป็นผู้ควบคุม ต่อมาปี พ.ศ.2456 เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ออกกฎห้ามข้าราชการผู้มีหน้าที่รักษาพระธรรมนูญเข้าว่าความในคดีอาญา

 

หลังจากนั้น ในปี 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงก่อตั้ง เนติบัณฑิตยสภา ขึ้น พร้อมกับได้ทรงตราพระราชบัญญัติทนายความฉบับแรกขึ้นใช้ คือ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2457 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้การควบคุมคุณสมบัติและมรรยาทของทนายความเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับทนายความอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ จึงมีผู้ไร้คุณสมบัติเข้ามาแอบแฝงหากินเป็นทนายความจำนวนมาก

หลักการประการสำคัญแห่งประราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2457 มีดังนี้

ประการแรก ตามพระราชบัญญัตินี้ได้แบ่งทนายความเป็น 2 ชั้น คือ ทนายความชั้นที่ 1 ได้แก่ ผู้สอบไล่วิชากฎหมายได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิตและทนายความชั้นที่ 2 ได้แก่ ทนายความซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ ให้สอบสวนคุณวุฒิความรู้ ความชำนาญ แล้ว เห็นว่าสมควรจะทำหน้าที่ทนายความได้

ประการต่อมา บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีอำนาจในการออกใบอนุญาตทนายความ และใบอนุญาตว่าความนั้นมีอายุเพียง 1 ปี

ประการสุดท้าย เรื่องการควบคุมมรรยาททนายความบัญญัติให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ โดยมีอำนาจออกคำสั่ง ห้ามมิให้ทนายความว่าความในศาลยุติธรรมมีกำหนดไม่เกินกว่า 3 ปี หรือจะออกคำสั่งให้ลบชื่อออกจากทะเบียนก็ได้ เมื่อเห็นว่าทนายความประพฤติตนไม่ เหมาะสม นอกจากนี้ยังบัญญัติให้มีคณะกรรมการของเนติบัณฑิตยสภา ทำหน้าที่พิจารณาสอดส่องความประพฤติของทนายความ เพื่อทำความเห็นชี้ขาด ลงไว้ในรายงานเสนอแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป

 

ทนายความเมื่อเริ่มกระบวนการประชาธิปไตย (พ.ศ.2475 - 2500)

ปีพุทธศักราช 2475 ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย คือ การเปลี่ยนการปกครองภายใต้การดำเนินการของ "คณะราษฎร" อันเป็นผลทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการตราพระราชบัญญัติทนายความ ฉบับที่ 2 คือ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477

สาระสำคัญแห่งพระราชบัญญัตินี้ คือการเพิ่มเติมคุณสมบัติทนายความ โดยกำหนดให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย สามารถเป็นทนายความชั้นหนึ่งได้ เนื่องจากแต่เดิมพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2457 ผู้ซึ่งมีสิทธิเป็นทนายความชั้นหนึ่ง ต้องเป็นผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดวันหมดอายุใบอนุญาตทนายความในวันที่ 31 มีนาคม แห่งปีที่ได้รับอนุญาตให้ว่าความ และจะต้องต่อใบอนุญาตทุกปี จึงจะไม่ขาดจากทะเบียน หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2477 แล้ว ยังได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา คือ ในปี พ.ศ.2481 เป็นการแก้ไขเรื่องมรรยาททนายความ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้ดำเนินการไต่สวนทนายความ ซึ่งประพฤติผิดมรรยาทได้และการแก้ไขปรับปรุงอีกครั้ง พ.ศ.2483 เรื่องวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาตว่าความ จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 31 มีนาคม แก้ไขเป็นวันที่ 31 ธันวาคม แห่งปีที่ได้รับอนุญาตให้ว่าความ

วิชาชีพทนายความนับแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมีระเบียบแบบแผน มีสถาบันที่ทำหน้าที่ควบคุมและสอดส่องมรรยาทของทนายความ มีการกำหนดคุณสมบัติของทนายความอย่างเป็นมาตรฐานในแนวทางที่ชัดเจน เพื่อป้องกันความประพฤติอันไม่เหมาะสมในประการที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพ และเพื่อให้เกิดการยอมรับให้วิชาชีพทนายความเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการอำนวยความยุติธรรมเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนผู้มีคดีความ

 

การก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

ความเจริญก้าหน้าของวิชาชีพทนายความ ทำให้จำนวนทนายความเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่การแสดงบทบาท การเคลื่อนไหวและการรวมพลังของบรรดาทนายความยยังไม่มีรูปแบบที่เป็นเอกภาพ การรวมกลุ่มของทนายความขาดความแน่นแฟ้นเท่าที่ควร เนื่องจากขาดองค์กรหรือสถาบันในการทำหน้าที่เป็นแกนกลางหรือเป็นศูนย์รวมอื่นชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีการริเริ่มก่อตั้ง "สมาคมทนายความ" ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500 เพื่อให้เป็นสถาบันอิสระ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของทนายความทั่วประเทศ ในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมส่วนรวม ทั้งเอื้ออำนวยผลประโยชน์ดูแลสวัสดิการแก่ทนายความด้วยกัน

ในปี พ.ศ.2508 ได้มีการตราพระราชบัญญัติทนายความฉบับใหม่ขึ้นใช้ โดยพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 นี้ มีการโอนอำนาจออกใบอนุญาตว่าความจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มาให้เนติบัณฑิตยสภาเป็นผู้มีอำนาจโดยเด็ดขาด เนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นทั้งผู้ออกใบอนุญาต ผู้ควบคุมระเบียนและมรรยาททนายความ ซึ่งในขณะนั้นมีสำนักอบรมศึกษากฎหมายขึ้นในเนติบัณฑิตยสภาแล้ว อีกทั้งการควบคุมทนายความในระยะแรก ๆ เนติบัณฑิตยสภามุ่งดำเนินการตามแบบเนติบัณฑิตยสภาอังกฤษ จึงกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยต้องผ่านการสอบเป็นเนติบัณฑิตที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเสียก่อน จึงจะขอจดทะเบียนเป็นทนายความชั้นหนึ่งได้ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่จบปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเป็นได้เพียงทนายความชั้นสองเท่านั้นและตามบทบัญญัติให้สิทธิทนายความชั้นหนึ่งว่าความได้ทั่วราชอาณาจักรส่วนทนายความชั้นสองมีสิทธิว่าความได้เฉพาะในจังหวัดที่ได้รับอนุญาต ข้อกำหนดดั้งกล่าวของเนติบัณฑิตยสภาเป็นการกดขี่และเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จึงก่อให้เกิดกระแสแห่งความไม่พอใจ มีการเคลื่อนไหว เพื่อต่อสู้คัดค้านกันอย่างกว้างขวาง โดยใช้เวลาในการต่อสู้ ถึง 5 ปีเศษ จึงมีการแก้ไขพระราชบัญญัติทนายความในปี พ.ศ.2514 บัญญัติให้ผู้ที่จบปริญญาตรีทางกฎหมายเป็นทนายความชั้นหนึ่ง มีสิทธิว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร และยังคงให้มีทนายความชั้นสองอยู่ แต่เนื่องจากในระยะต่อมามีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้น ทนายความชั้นสองจึงค่อย ๆ ลดจำนวนลง

ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมจากเดิมเป็น "สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย" ดังนั้น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงถือเป็น "วันทนายความ" อันเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

การก่อตั้งสภาทนายความ

จากเหตุการณ์กรณีผลกระทบที่เกิดจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 ซึ่งเเป็นการจำกัดสิทธิของทนายความทำให้เกิดผลกระทบกับบรรดาทนายความชั้นสองเอง รวมถึงประชาชนที่ต้องการความรู้ ความสามารถของทนายความชั้นสอง ก่อให้เกิดแนวความคิดประการสำคัญที่จะประกายให้เกิดสถาบันของทนายความในอันที่จะทำหน้าที่ที่เป็นผู้ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีทนายความเองดังเช่นที่เป็นอยู่ในนานาประเทศ สืบเนื่องจากความคิดดังกล่าวจึงมีการเคลื่อนไหวที่จะจัดตั้งสถาบันดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมตามลำดับขั้นตอน กล่าวคือ ปี พ.ศ.2517 นายมารุต บุญนาค นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติทนายความ เพื่อก่อตั้งสภาทนายความเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สภานี้ได้สิ้นสภาพลงก่อนร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจึงตกไปด้วย

ปีต่อมา คือใน พ.ศ.2518 นายมงคล สุคนธขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยต่อจาก นายมารุต บุญนาค และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา (ในขณะนั้น) พร้อมคณะได้ร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติทนายความ เพื่อก่อตั้งสภาทนายความต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว แต่รัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเสียก่อนร่างพระราชบัญญัตินี้จึงต้องตกไปอีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่ง พ.ศ. 2522 จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติทนายความขึ้นใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ได้มา ซึ่งสภาทนายความ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2523 และได้นำเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดำเนินการต่อไป ระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ติดต่อเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2528 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2528 เป็นต้นมา

 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 คือ

ประการที่ 1 บทบัญญัติมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่าให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า "สภาทนายความ......" นับตั้งแต่นั้นมา

"สภาทนายความ" จึงเป็นสถาบันนิติบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความที่สามารถปกครองตนเองเป็นของทนายความ เพื่อทนายความ และโดยทนายความ มาจากหลักการปกครองพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

ประการที่ 2 เปลี่ยนแปลงอำนาจในการจดทะเบียนและควบคุมมรรยาททนายความจากเดิมซึ่งเป็นอำนาจของของเนติบัณฑิตยสภาให้สภาทนายความ เป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนออกใบอนุญาตว่าความ และควบคุมมรรยาททนายความ

ประการที่ 3 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นทนายความเพิ่มเติม กล่าวคือ นอกจากจะเป็นผู้สำเร็จปริญญาตรีทางนิติศาสตร์แล้ว ยังต้องผ่านการฝึกอบรมมรรยาททนายความ หลักปฏิบัติเบื้องต้นในการว่าความ และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการฝึกอบรมวิชาชีพว่าความ

นอกจากนี้แล้วพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นผลให้ไม่มีทนายความชั้นสองอีกต่อไป เนื่องจากผู้ที่เป็นทนายความชั้นสองอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับในอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และมีสิทธิขอต่ออายุใบอนุญาต หรือขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ได้

ประการสุดท้าย มีการกำหนดให้มีกองทุนสวัสดิการทนายความ เพื่อช่วยเหลือทนายความที่ได้รับความเดือดร้อนหรือทายาทของทนายความที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสวัสดิการทนายความ บทบัญญัติที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย รวมทั้งจัดให้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายด้วย

วิชาชีพทนายความ........ เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรม เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นผู้ใช้กฎหมายที่อยู่เคียงข้างใกล้ชิดกับประชาชน และช่วยเหลือขจัดปัญญาให้แก่ประชาชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการว่าต่างแก้ต่าง การดำเนินการต่าง ๆ อันเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในศาล รวมไปถึงการให้คำปรึกษา คำแนะนำด้านกฎหมายทั้งปวง ทนายความจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติตนและปฏิบัติงานด้วยการยึดหลักคุณธรรม พร้อมกันนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง และมีจรรยามรรยาทอันดีงาม เพื่อนำไปสู่ความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจจากสังคม และแม้ทนายความจะมิใช่ข้าราชการก็มีส่วนอันเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติในราชการศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสิทธิของตัวความที่จะมีทนายความในการดำเนินคดีและเป็นกิจการผูกขาดของนักกฎหมายที่จะให้บริการนั้น นักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ จึงต้องถือเป็นเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียมิได้ รวมถึงทนายความด้วย ถ้าไม่มีทนายความตัวความก็ไม่สามารถได้รับผลจากกิจการศาลยุติธรรมได้ครบถ้วนบริบูรณ์เท่าที่ควร ฉะนั้นทั้งสามฝ่ายนี้จะต้องระลึกถึงความจริงข้อนี้ ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ความสำคัญของฝ่ายตนฝ่ายเดียว ต้องนึกว่าต่างก็จำเป็นและต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ความยุติธรรมจึงจะเกิดแก่ประชาชนได้โดยสมบูรณ์ ส่วนฝ่ายใดมีหน้าที่ปฏิบัติการอย่างใด ควรให้ความเคารพแก่กันและกัน ยกย่องนับถือกันอย่างใด เป็นเรื่องของสภาพแห่งหน้าที่อันเป็นธรรมดาที่ต้องมีระดับขั้นตอนแตกต่างกันอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้นทั้งสามฝ่าย คือ ศาล อัยการ และทนายความ จะต้องมองกันด้วยความนับถือ ด้วยความเข้าใจที่จะร่วมมือกันทำงานที่จะช่วยและสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกันโดยแท้จริงด้วย

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-12-31 14:30:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล