ReadyPlanet.com


ความจำเป็น


การถูกบังคับให้ทำร้ายผู้อื่นด้วยความจำเป็นถ้าไม่ทำเราก็จะถูกทำร้ายแทนอยากทราบว่าผิดกฎหมายตามมาตราที่เท่าไรประเภทอะไรช่วยตอบด้วยนะค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ฝ้าย (fay55551-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-30 15:12:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1895180)

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67

ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-30 15:45:45


ความคิดเห็นที่ 2 (1895181)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2549

แม้การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราแล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้านจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาตาร์ ยาวประมาณ 1 ฟุต จี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2 จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 309, 310, 317, 83, 91, 92 และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 310 (ที่ถูกมาตรา 310 วรรคแรก), 309 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานพรากเด็กเป็นกรรมเดียวกับความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูกต้องระบุว่าลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด) ฐานพรากเด็กเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราโดยใช้อาวุธจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 (ที่ถูกมาตรา 310 วรรคแรก), 309 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดต่อเสรีภาพ (ที่ถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 5 ปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราโดยใช้อาวุธ จำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 รวมลงโทษจำคุก 27 ปี 6 เดือน เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 คำให้การของจำเลยที่ 2 ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมจำคุก 25 ปี 6 เดือน 20 วัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิงเอกิรา ผู้เสียหาย ซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองที่เกิดเหตุเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ แล้วจำเลยที่ 2 ก็ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายกลับมาส่งที่บ้านจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาตาร์ ยาวประมาณ 1 ฟุต จี้ที่คอของผู้เสียหายซึ่งพาดมาถึงคอของจำเลยที่ 2 ที่กำลังนั่งซ้อนกลางและขับรถจักรยานยนต์ตามลำดับ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ อีกทั้งภยันตรายที่เกิดจากการใช้อาวุธมีดจี้คอขู่เข็ญภายหลังที่จำเลยที่ 2 พูดขอร้องให้จำเลยที่ 1 เลิกกระทำต่อผู้เสียหายเพราะเป็นคนรู้จักกันนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นภยันตรายที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนด้วย ประกอบกับขณะจี้ขู่บังคับนั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธมีดจี้อยู่ที่บริเวณลำคอของผู้เสียหายซึ่งพาดยาวไปถึงลำคอของจำเลยที่ 2 ด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อาจลงมือฟันหรือแทงทำร้ายผู้เสียหายหรือจำเลยที่ 2 จนถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้ และปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเสียด้วย คงให้ลงโทษจำเลยที่ 2 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง เพียงบทเดียว จำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - นินนาท สาครรัตน์ - วีระศักดิ์ นิศามณี )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-30 15:49:30


ความคิดเห็นที่ 3 (1895187)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2525

จำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายจะไปฆ่าผู้ตาย หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้ายซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67(1) เมื่อส่งคนร้ายแล้วก็ไปแจ้งความแก่ผู้ใหญ่บ้านทันทีดังนี้ จำเลยไม่ต้องรับโทษ

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 86 จำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยขับเรือหางยาวพาชายคนร้าย 2 คน ไปที่โรงเรียนปากช่อง ซึ่งนายมนต์ชัยผู้ตายเป็นครูอยู่ คนร้ายใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นคนร้ายกับจำเลยนั่งเรือไปด้วยกันทางบ้านโครกคราม" ฯลฯ

"การที่จำเลยขับเรือพาคนร้ายทั้งสองไปฆ่าผู้ตายแล้วพาคนร้ายหนีไปจากที่เกิดเหตุนั้น ถือได้ว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการในการฆ่าหรือเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีอาชีพขับเรือรับจ้างเป็นปกติวิสัยของจำเลยอยู่แล้ว นายพร้อม อินทร์จันทร์ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความรับรองว่า จำเลยเป็นคนดีมีความประพฤติเรียบร้อยทำมาหากินตามปกติ นอกจากนี้จำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย เมื่อจำเลยพาชาย 2 คนไปถึงโรงเรียน จำเลยก็ไปบอกแก่นายเวียงโดยเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จะมาตรวจโรงเรียน จำเลยอาจเข้าใจโดยสุจริตว่าชาย 2 คนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่จะมาตรวจโรงเรียนจริง แล้วจำเลยก็เดินไปตามผู้ตาย เมื่อผู้ตายออกมาพบกับชายที่จำเลยพามาส่งแล้ว จำเลยก็เดินแยกไปที่บ้านนางส้มทับซึ่งอยู่ไกลออกไป 15 เมตร โดยจำเลยไม่ได้มายุ่งเกี่ยวด้วย นายเวียงพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อคนร้ายยิงผู้ตายแล้ว คนร้ายได้เรียกจำเลยให้ไปลงเรือขับไปทางตลาดโครกคราม ศาลฎีกาเห็นว่า คนร้ายมีปืนและฆ่าผู้ตายให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เช่นนั้น จำเลยย่อมมีความกลัวและไม่กล้าขัดขืน ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยควรจะหลบไปเสียหรือใช้ปืนยิงขู่คนร้ายเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีปืน ถ้าหากจำเลยขัดขืนคนร้ายอาจฆ่าจำเลยเหมือนดั่งที่ได้ฆ่าผู้ตายมาแล้วก็ได้ คดีน่าเชื่อว่า จำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายไปฆ่าผู้ตาย และหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้าย ซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 67(1) ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยขับเรือไปส่งคนร้ายที่บ้านโครกครามแล้ว จำเลยได้ไปแจ้งความแก่นายวิน ช่วยเชียร ผู้ใหญ่บ้านทันที ซึ่งนายวินก็มาเป็นพยานยืนยันในข้อนี้ และจำเลยไม่ได้หลบหนีไปไหนยอมให้ตำรวจจับกุมโดยดีถ้าจำเลยร่วมกระทำผิดด้วยก็คงจะหลบหนีไปพร้อมกับคนร้ายแล้ว"

พิพากษายืน

( ทวี กสิยพงศ์ - พินิจ สังขนันท์ - พิพัฒน์ จักรางกูร )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-30 15:56:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล