ReadyPlanet.com


การขายทอดตลาดขาดทุน


เนื่องจากดิฉันเป็นผู้ค้ำประกันการซื้อรถยนต์ ปรากฎว่าเมื่อผู้เช่าซื้อส่งค่างวดไปประมาณ 5 งวด ก็หยุดส่งแล้วนำรถไปคืนให้บริษัทไฟแนนซ์  หลังจาก นั้นบริษัทได้มีหนังสือแจ้งผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำว่าจะดำเนินการนำรถขายทอดตลาด  (ประมาณวันที่ 6 พ.ย. 51)  และประมาณวันที่ 27 ธ.ค. 51  ดิฉันได้สอบถามผลการขายทอดตลาดไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัทไฟแนนซ์  ได้รับคำตอบว่าผลการขายทอดตลาดเป็นเงิน 104,000 บาท  แล้วทางบริษัทจะมีหนังสือแจ้งให้ดำเนินการต่อไป  และเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 52 ดิฉันได้รับหนังสือแจ้งจากบริษัทไฟแนนซ์ว่าให้นำเงินมาชำระค่าขายทอดตลาดขาดทุน เป็นเงิน 197,000 บาท  รวมทั้งค่าเสียเวลาจากการขาดส่งค่างวด จำนวน 3 งวด (งวดละ 9,400 บาท) เป็นเงิน28,200 บาท  รวมเป็นเงินทั้งสิ้นที่ต้องชำระ 225,200 บาท  โดยให้ชำระเงินภายใน 15 วัน

       ดิฉันจึงได้ติดต่อไปยังผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อบอกว่าไม่มีเงินจะชำระให้คงต้องไปให้บริษัทฯ ฟ้องดำเนินคดี ดิฉันจึงติดต่อไปยังบริษัทฯ ๆ บอกว่าต้องให้ผู้เช่าซื้อมาตกลงว่าจะชำระหนี้หรือไม่อย่างไร และหากบริษัทฯ ไม่มียอดการชำระหนี้เข้าบัญชี จึงจะดำเนินการฟ้องดำเนินคดี  ดิฉันจึงแจ้งไปยังผู้เช่าซื้อให้ไปเจรจากับฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ  ซึ่งผู้เช่าซื้อก็ทำตามแต่ผลการเจรจาปรากฎว่าผู้เช่าซื้อก็ยังยืนยันกับบริษัทฯว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ และผู้เช่าซื้อยังบอกกับดิฉันด้วยว่าถ้าบริษัทจะดำเนินคดี ก็ปล่อยให้ฟ้องไป เพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรจะให้ยึด แถมยังบอกดิฉันด้วยว่าไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น

       ดิฉันทราบดีว่าการเป็นผู้ค้ำประกันมีแต่เสียกับเสีย  ซึ่งดูแล้วผู้เช่าซื้อคงจะไม่ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้ฟ้องไป ในส่วนของดิฉันควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และดิฉันมีคำถาม ดังนี้

     1.  อีกนานไหมกว่าจะมีหมายศาลมา (เพราะถึงอย่างไรผู้เช่าซื้อก็ไม่ชำระเงิน)

     2.  ต้องมีทนายหรือไม่

     3.  ทราบมาว่าคดีแบบนี้เป็นคดีมะโนสาเร่  ศาลนัดแค่ครั้งเดียว แล้วตัดสินเลย ใช่หรือไม่ หลังจากศาลตัดสินแล้วสามารถเจรจาประนอมหนี้ได้อีกหรือไม่

     4.  เมื่อศาลตัดสินแล้ว ดิฉันในฐานะผู้ค้ำจะต้องชำระหนี้คนเดียวทั้งหมด หรือแบ่งหนี้เป็นสองส่วน ให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำฯ ชำระใช่หรือไม่  หนึ้ที่ชำระควรจะอยู่ที่ประมาณเท่าใด (หลังจากเจรจาแล้ว)



ผู้ตั้งกระทู้ แบน (benjamas2509-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-27 11:51:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1893542)

1. ระยะเวลาเท่าใดคงตอบไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของผู้ให้เช่าซื้อที่เขาอ้างว่าเขาได้รับความเสียหายอะไรบ้าง หรือเขาอาจไม่ฟ้องเลยก็ได้ถ้าเขาพอใจแล้ว ดังนั้นจึงตอบไม่ได้ว่านานแค่ไหน

2.  ถ้าต่อสู้คดีก็ต้องมีทนายความทำคำให้การให้ แต่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าการต่อสู้คดีต้องมีทนายความ หากตัวความสามารถเรียบเรียงคำคู่ความและเอกสารอื่น ๆ ได้ ก็สามารถดำเนินการเองได้

3. คดีมโนสาเร่ คือคดีที่มีทุนทรัพย์ที่ฟ้องร้องมาไม่เกิน 300.000 บาท หากเขาฟ้องมาไม่เกินนี้ก็เป็นคดีมโนสาเร่ สามารถดูที่หมายเรียกจะมีระบุไว้ว่าเป็นหมายเรียกคดีอะไร

สำหรับเรื่องการไปศาลกี่ครั้งนั้นตอบไม่ได้ เพราะคดีมโนสาเร่บางคดีก็ไปศาลมากกว่า 1 ครั้งและอาจมีการกำหนดนัดสืบพยานนานห่างจากการไปศาลครั้งแรกถึง 5 เดือน หรืออานมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับงานศาลแต่ละศาลในขณะนัดนั้น

การประนีประนอมสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนมีคำพิพากษาหรือหลังมีคำพิพากษาแล้ว

4. เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอากับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันก็ได้ แล้วแต่ว่าเมื่อดำเนินการบังคับคดีแล้ว บังคับเอากับใครได้เงินเร็วกว่า เพราะเจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยทั้งสองจะเป็นลูกหนี้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้กับเจ้าหนี้

แต่ผู้ค้ำประกันมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าซื้อได้เมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว

สำหรับยอดหนี้ควรจะเป็นเท่าไรนั้นก็อยู่ที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เท่าใด ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-01-27 15:48:50



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล