ReadyPlanet.com


ดอกเบี้ยเงินกู้


อยากทราบว่าอัตราดอกเบี้ย 15% ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงกับลูกหนี้นั้น เป็นธรรมหรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ เอ๋ :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-06 12:48:42


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1910689)

ดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นอัตราที่เป็นธรรมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-06 15:22:57


ความคิดเห็นที่ 2 (1910698)
มีกฎหมายใดบ้างคะที่กำหนดเกี่ยวกับดอกเบี้ย
ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ วันที่ตอบ 2009-03-06 15:40:29


ความคิดเห็นที่ 3 (1910748)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  654  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-06 16:53:40


ความคิดเห็นที่ 4 (1910750)

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475

วันนี้เรามาพูดเรื่องการกู้ยืมเงินกันอีกซักเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เรารู้เห็นกันมานมนาน ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นแบบนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีมาตรการออกกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราออกมาบังคับใช้ แต่ก็ดูไม่ค่อยจะสัมฤทธิ์ผลซักเท่าไหร่
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติ ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากู้เงินกำหนดไว้เกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ของการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งจะเห็นว่า ดอกเบี้ยเกิดจากสัญญากู้ยืมเงินจะคิดดอกเบี้ยกันได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีเท่านั้น ถ้ากำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินเกินกว่าร้อยละสิบห้า
กฎหมายก็ให้บังคับได้แค่ร้อยละสิบห้าเท่านั้น ดอกเบี้ยที่เกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี ตามสัญญาเงินกู้ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งหมด เพียงแต่ให้ลดมาเพียงร้อยละสิบห้าต่อปีครับ
ต่อมาได้มี พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ออกมาใช้บังคับ อันมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันเกินกว่าที่กำหนดไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะแล้ว สัญญากู้เงินจะตกเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ หรือจะมีผลเป็นประการใด มาดูตัวอย่างเรื่องนี้กันครับ
นายร่วม มาขอกู้ยืมเงินนายสุดเขตเป็นเงิน 200,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยทำสัญญากู้ยืมเงินไว้กำหนดคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ทำสัญญากู้ยืมเงิน
หลังจากนั้นต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาชำระเงินคืน นายร่วมไม่นำเงินมาชำระคืนให้แก่นายสุดเขต จึงถูกนายสุดเขตฟ้องร้องบังคับให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ดังกล่าว คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของต้นเงิน 200,000 บาท คิดเป็นดอกเบี้ย 120,000 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 320,000 บาท กรณีนี้นายสุดเขตจะฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ย ตามจำนวนดังกล่าวให้นายร่วมชำระหนี้ได้หรือไม่เพียงใด
มาดูหลักกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 173 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่าคู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้น แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้”
จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะด้วยกันทั้งสิ้น เพราะเหตุที่ว่า ข้อตกลงต่างๆ ในนิติกรรมที่ทำขึ้นทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากส่วนใดของนิติกรรมใช้บังคับไม่ได้เพราะเป็นโมฆะ ก็ต้องถือว่านิติกรรมทั้งหมดตกเป็นโมฆะด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ว่า ไม่เป็นโมฆะทั้งหมดถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่าคู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะ แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ ก็ให้เป็นไปตามนั้น
กรณีของนายร่วมกับนายสุดเขต ทำนิติกรรมตามสัญญากู้ยืมเงินกันโดยคิดดอกเบี้ยนั้น ต้องแยกนิติกรรมตามสัญญากู้ยืมเงินออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นต้นเงิน กับส่วนที่เป็นดอกเบี้ย จะเห็นว่า ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยมีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ดังนั้นดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150
ส่วนที่เป็นต้นเงินและเห็นได้ว่า ถ้าดูตามพฤติการณ์ของคู่กรณีจะเห็นว่า มีเจตนาที่จะใช้เงินในส่วนนี้คืนทั้งหมด แยกออกจากส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ดังนั้น ส่วนที่เป็นต้นเงินจำนวน 200,000 บาทนี้ จึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยเหมือนกับส่วนที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 173 วรรคท้าย ดังนั้น นายสุดเขตจึงฟ้องบังคับให้นายร่วมชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้เฉพาะส่วนที่เป็นต้นเงิน 200,000 บาท จะฟ้องบังคับให้นายร่วมชำระส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้นไม่ได้
ข้อสังเกต หลักกฎหมายในข้อนี้ใช้บังคับได้เฉพาะคู่กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้นนะครับ ถ้าหากว่าเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินจะไม่เอาไปใช้บังคับ เพราะสถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 ได้ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้อำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้เกินกว่า ป.พ.พ.มาตรา 654 แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลด

ชินโรจน์ ศรัณย์สมบัติ (ทนายความ)
www.fpmconsultant.com

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=43866

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-06 16:55:45



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล