ReadyPlanet.com


ลักทรัพย์


อยากทราบค่ะว่า กรณีที่มีการลักทรัพย์ หากการฟ้องข้อหาความผิดอาญาลักทรัพย์แล้ว ผู้ลักทรัพย์เป็นผู้เช่าบ้าน (พร้อมเฟอร์นิเจอร์) และขโมยแจกันมูลค่า 100,000 บาทไป เวลาทำฟ้อง จะเรียกคืนเป็นทรัพย์ (แจกัน) หรือ เรียกเงิน 100,000 บาทคะ


ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2009-02-26 16:39:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1907628)

กรณีต้องขอให้คืนทรัพย์ก่อนครับ หากไม่อาจคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ต้องใข้ราคาแทนทรัพย์นั้นได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-02-27 12:59:19


ความคิดเห็นที่ 2 (1907729)
พี่ลีนนท์คะ มีมาตราใดเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์นี้บ้างหรือเปล่าคะ ถ้ามีขอมาตราที่่ว่าด้วยค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น นักศึกษา วันที่ตอบ 2009-02-27 15:37:24


ความคิดเห็นที่ 3 (1909259)

มาตรา ๔๓ คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกงยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2548

 

พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยกับพวกและมีคำขอแทนผู้เสียหายคือโจทก์ในคดีนี้ให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยกับพวกในความผิดฐานรับของโจรเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง และให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวเป็นเงิน 34,922 บาท แก่โจทก์ คำพิพากษาส่วนแพ่งในคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดลำดับในการบังคับชำระหนี้ที่จำเลยจะปฏิบัติชำระหนี้โดยการใช้เงินจำนวน 34,922 บาท แก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อการคืนเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง ไม่สามารถกระทำได้แล้วเท่านั้น การบังคับคดีตามคำพิพากษาส่วนแพ่งดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามลำดับ เมื่อจำเลยไม่เคยนำทรัพย์ที่รับของโจรไว้มาคืน โดยไม่ปรากฏว่าเครื่องพิพม์ดีดที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์นั้นได้ถูกทำลายหรือบุบสลายไปแล้ว ศึ่งจะทำให้จำเลยไม่อาจคืนทรัพย์ดังกล่าวได้เช่นนี้ หนี้ส่งมอบเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่องคืนแก่โจทก์ยังอยู่ในสภาพที่อาจบังคับกันได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินราคาเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์ จะมีสิทธิบังคับลำดับถัดมายังไม่อาจบังคับได้ จึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์ไม่อาจนำหนี้เงินดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ 7454/2531 ของศาลอาญาซึ่งมีคำพิพากษาเมื่วันที่ 26 ตุลาคม 2531 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกับพวกในข้อหาความผิดฐานรับของโจรเครื่องพิมพ์ดีด 2 เครื่อง และให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวเป็นเงิน 34,922 บาท แก่โจทก์ จำเลยกับพวกไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินราคาเครื่องพิมพ์ดีดนับแต่วันที่ ศาลพิพากษาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ (ฟ้องวันที่ 14 ตุลาคม 2541) เป็นเงิน 26,108.57 บาท รวทเป็นเงิน 61,031.57 บาท โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง จำเลยได้ทราบแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์สืบหาทรัพย์สินแล้ว แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยกับพวกและคำขอแทนผู้เสียหายคือโจทก์ในคดีนี้ขอให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด วันที่ 26 ตุลาคม 2531 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7454/2531 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกับพวกในความผิดฐานรับของโจรเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง และให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวเป็นเงิน 34,922 บาท แก่โจทก์แต่จำเลยกับพวกมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7454/2531 ของศาลอาญาที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายนั้น เป็นมูลหนี้ที่ให้จำเลยส่งมอบเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง หรือใช้ราคาเป็นเงิน 34,922 บาท แก่โจทก์ คำพิพากษาส่วนแพ่งในคดีดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดลำดับในการบังคับชำระหนี้ที่จำเลยจะปฏิบัติชำระหนี้โดยการใช้เงินจำนวน 34,922 บาท แก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อการคืนเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง ไม่สามารถกระทำได้แล้วเท่านั้น การบังคับคดีตามคำพิพากษาส่วนแพ่งดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามลำดับ เมื่อทางนำสืบของโจทก์คดีนี้ โจทก์มีนายปริวัฒน์ ช่างอาวุธ เบิกความเพียงว่า จำเลยไม่เคยนำทรัพย์ที่รับของโจรไว้มาคืนเท่านั้นโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดเลยว่าเครื่องพิมพ์ดีดที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์นั้นได้ถูกทำลายหรือบุบสลายไปแล้ว ซึ่งจะทำให้จำเลยไม่อาจคืนทรัพย์ดังกล่าวได้เช่นนี้ หนี้ส่งมอบเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่องคืนแก่โจทก์ยังอยู่ในสภาพที่อาจบังคับกันได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินราคาเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 2 เครื่อง พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะมีสิทธิบังคับลำดับถัดมายังไม่อาจบังคับได้ จึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์ไม่อาจนำหนี้เงินดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการอื่นเนื่องจากไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป"

พิพากษายืนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( บรรหาร มูลทวี - สมชาย พงษธา - สุพัฒน์ บุญยุบล )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-03 15:45:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล