ReadyPlanet.com


มรดก


(1) กรณีมรดกไม่มีพินัยกรรม หากพี่น้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตกลงกันได้ในเรื่องของทรัพย์สินที่เป็นมรดกว่า ใครมีสิทธิในส่วนใด สามารถฟ้องศาลเพื่อจัดการมรดกตามที่ตกลงกันได้นั้นหรือไม่ (2) การรับมรดกแทนที่ จะทำในลักษณะเดียวกันตามข้อ (1) ได้หรือไม่ คือ รับในส่วนที่ตกลงกันในข้อ (1) โดยตกลงกันได้ ไม่ต้องมีพินัยกรรม ขอทราบมาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ (หากมี)


ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-17 19:47:42


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1915549)

1. ถ้าตกลงกันได้ ก็ไปที่สำนักงานที่ดิน แล้วให้เจ้าหนักงานตั้งผู้จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่ต้องฟ้องศาลเพื่อจัดการมรดกได้ แต่ถ้าในกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินเห็นสมควรให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่ดินครับ

2. การรับมรดกแทนที่ก็คือการที่ผู้สืบสันดานรับมรดกในฐานะทายาท จึงเป็นหลักการเดียวกันครับ

เรื่องพินัยกรรมคงไม่เกี่ยวครับ ทายาทโดยธรรม กับพินัยกรรม ไม่เกี่ยวกันเลยจะเอามาโยงกันไม่ได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-17 23:29:32


ความคิดเห็นที่ 2 (1915948)
(1) การที่เจ้าพนักงานตั้งผู้จัดการมรดก ทำในลักษณะไหนคะ ขอทราบวิธีการ หากไม่เป็นการรบกวนนะคะ มีค่าใช้จ่ายหรือไม่คะ (2) การสละมรดก จะต้องทำอย่างไร มีแบบฟอร์มเฉพาะหรือไม่ และจะมีวิธีการอย่างไร จะต้องมีการนำเสนอต่อศาล ตอนไหน อย่างไร
ผู้แสดงความคิดเห็น นักศึกษา วันที่ตอบ 2009-03-18 17:18:50


ความคิดเห็นที่ 3 (1916066)

1. เมื่อทายาทมาพร้อมกันหมดแล้ว เจ้าพนักงานเขาก็จะสอบสวนและดำเนินการให้เองครับ สำหรับรายละเอียดสอบถามได้ที่สำนักงานที่ดินฝ่ายประชาสัมพันธ์

2.  การสละมรดก

ดูตัวอย่างได้ที่

http://www.dopa.go.th/formreg/pk6.1.htm

 

ทำที่อำเภอครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-18 21:35:32


ความคิดเห็นที่ 4 (1916240)

บทความที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนมรดกโดยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดก

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=landclinic&month=12-05-2008&group=12&gblog=2

 

 

คู่มือการขอรับโอนมรดกที่ดิน(1)

คู่มือการขอรับโอนมรดกที่ดินสำหรับประชาชน

โดย วสันต์ กิจบำรุง
ติดต่อปรึกษาที่
morteedin@yahoo.com


แรงจูงใจให้เขียนเรื่องนี้เกิดจากช่วงเวลาปีกว่าที่ผู้เขียนเข้าไปตอบในห้องศาลาประชาคมในเว็บพันทิป
(ในนามแฝง “ที่ดินเก่า”) มีคนถามเกี่ยวกับการขอรับโอนมรดกที่ดินกันบ่อย ๆ และมีข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งคือจะมีคนเรียนกฎหมาย หรือไม่ก็ทนายความ มาตอบแนะให้จ้างทนายความทำเรื่องร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกกันเป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่ตามรูปเรื่องไม่มีความจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเลย ก็จะช่วยตอบไปว่าเรื่องของเขาไม่มีความจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเลย บางครั้งถึงกับต้องโต้เถียงกับคนเสนอให้จ้างทนายร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดกด้วย บางคนอ้างว่าทางที่ดินไม่ยอมทำให้ ข้ออ้างแบบนี้เหมือนกับตอนที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในสำนักงานที่ดิน เวลามีคนนำคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกมาทำเรื่องโอนมรดก เมื่ออ่านคำสั่งศาลดูจะเห็นบ่อยที่ยกเป็นสูตรเลยว่าทางสำนักงานที่ดินอ้างว่าขัดข้องโอนให้ไม่ได้ (นอกจากจะต้องมีผู้จัดการมรดก) พวกเจ้าหน้าที่ที่ดินขี้สงสัยอ่านดูแล้วพูดกันตลก ๆ ว่าไหนเจ้าหน้าที่คนไหนบอกว่าทำให้ไม่ได้ เขาก็บอกไม่ได้ เพราะที่จริงเขาไม่เคยมาติดต่อเลย แต่ไปถามทนายความก่อน แน่ละทนายความบางคนที่ห่วงการทำมาหากินมากหน่อย เขาก็แนะนำว่าตั้งผู้จัดการมรดกดีกว่าสะดวกดี ทำให้เบิกเงินธนาคารได้ซึ่งก็จริง แต่ที่จริงกว่านั้นคือเรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับถอนเงินธนาคาร เพราะมีกรณีแค่รับโอนมรดกที่ดิน
เท่านั้นเอง ตอนแรกตั้งใจจะเขียนแค่ว่ากรณีใดมีความจำเป็นต้องร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดกเท่านั้น แต่ทบทวนดูแล้วน่าจะเขียนเรื่องการขอรับโอนมรดกให้ครบถ้วนเลยดีกว่า จึงเป็นที่มาของบทความนี้

1. เมื่อใดจะมีการรับมรดก
เมื่อใครก็ตามตายลง หรือกฎหมายให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เช่น สูญหายไปเป็นเวลาเกิน 5 ปี (ในกรณีออกไปจากภูมิลำเนาแล้วไม่ติดต่อมาอีกเลยหายไปเฉยๆ) หรือสองปี (กรณีหายไปในการรบ
หรือสงคราม หรือในกรณียานพาหนะที่คนสูญหายเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป) แล้วศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็จะถือว่าคนนั้นตายไปแล้วเหมือนกัน เมื่อมีสองกรณีนี้เกิดขึ้น ก็สามารถรับโอนมรดกได้ แต่ถ้ายังไม่มีการตายจะมีการโอนมรดกไม่ได้ จะมีได้ก็แค่เรื่องการทำนิติกรรมยกให้กัน ในทางกฎหมายไม่เรียกเป็นการรับมรดกแต่เป็นเรื่องการรับให้ แต่ชาวบ้านบางคนเรียกการที่พ่อแม่ยกที่ดินให้ว่ายกมรดก ในทางเทคนิคกฎหมายเรียกไม่ถูกต้อง

2. ใครบ้างมีสิทธิรับมรดก
หลักกฎหมายมีว่า ถ้าคนไหนตาย พ่อแม่ สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน และลูกชอบด้วยกฎหมายทุกคนของคนตาย และรวมถึงลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(ลูกเมียน้อย)ที่คนตายรับรองว่าเป็นลูก (การรับรองก็เช่น ไปจดทะเบียนรับรองเป็นบุตร รวมถึงการแสดงออกให้คนทั่วไปรู้ว่าเป็นบุตร ซึ่งไม่มีรูปแบบแน่นอน
เช่น ให้ใช้นามสกุล ไปแจ้งในใบเกิดว่าเป็นบุตร เอาชื่อไปใส่ในทะเบียนบ้านว่าเป็นบุตร พาไปเข้าเรียนแจ้งว่าเป็นบุตร ส่งเสียเลี้ยงดูแบบลูก ก็ถือว่ารับรองว่าเป็นบุตรแล้ว) บุตรบุญธรรมที่คนตายจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมโดยถูกต้อง คนเหล่านี้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันทุกคน หากมีลูกคนไหนตายไปก่อนเจ้ามรดก ลูกของลูก(หลาน) ก็มีสิทธิรับมรดกแทนที่คนที่ตายไปก่อนได้ แต่ถ้าตอนเจ้ามรดกตายไม่มีคนเหล่านี้เหลืออยู่เลย มรดกก็จะตกกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับคนตายร่วมรับกันไป แต่ถ้าไม่มีพี่น้องร่วมบิดามารดา
เดียวกันเลย มรดกก็จะตกแก่พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีคนพวกนี้อีกมรดกก
็จะตกแก่ปู่ ย่า ตา ยาย และหากยังไม่มีปู่ ย่า ตา ยาย อีก มรดกของคนตายก็จะตกแก่
ลุง ป้า น้า อา
นอกจากนี้มีอีกกรณีหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือ การที่คนตาย(เจ้ามรดก)ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใครก็ได้ ทำให้คนนั้น(ภาษากฎหมายเรียกว่าผู้รับพินัยกรรม) มีสิทธิรับมรดกด้วย และบางทีถ้าเจ้ามรดกรักคนนั้นมาก เขาอาจให้รับมรดกทุกอย่างไม่ให้พ่อแม่ ลูกเมียเลยก็ยังได้

3. เอกสารที่ต้องนำมาประกอบการขอรับโอนมรดก
โฉนดที่ดิน พินัยกรรม บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ขอรับโอนมรดกและทายาทอื่นๆ ที่จะให้ลงชื่อรับโอนมรดกด้วย ทะเบียนสมรสของเจ้ามรดก(ถ้าภรรยาขอรับมรดก) หลักฐานการจดทะเบียนบุตรบุญธรรม ใบมรณบัตรของเจ้ามรดกและของทายาทด้วย ในกรณีที่หาใบมรณบัตรมาไม่ได้และไม่มีสำเนาใด ๆ เก็บไว้ในราชการใด ซึ่งสามารถนำมาอ้างอิงว่าเป็นของจริงได้เลย ก็ต้องให้อำเภอออกใบรับรองการตาย เอกสารเหล่านี้(ยกเว้นโฉนด)ต้องถ่ายสำเนาเตรียมไว้ให้พร้อม โดยควรถ่ายในร้านถ่ายเอกสารทั่วไป เพราะจะสะดวกและถูกกว่าการไปถ่ายที่สำนักงานที่ดิน เมื่อถ่ายเอกสารแล้วอย่ารีบเซ็นชื่อรับรองสำเนาทันทีให้เซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ขอให้จำไว้ว่าเจ้าหน้าที่จะเก็บไว้แต่สำเนาภายถ่ายเท่านั้น ส่วนเอกสารตัวจริงเจ้าหน้าที่จะส่งคืนให้ผู้ขอ
ทุกอย่าง ไม่มีการเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินเลย ถ้าใครอ้างว่าต้องเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินให้รู้ไว้ว่าผิดปกติ ไม่ต้องมอบให้ไปเด็ดขาด
ในกรณีที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่ออายุมากแล้ว และผู้ขอรับมรดกแจ้ง
ว่าไม่อาจนำหลักฐานการตายของบิดามารดาเจ้ามรดก ซึ่งมีอายุมาก เช่น อายุร่วมร้อยปีและถึงแก่
กรรมไปแล้วมาแสดงได้ กรมที่ดินมีระเบียบให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกถ้อยคำผู้ขอไว้เป็นหลักฐานว่า หากปรากฏในภายหลังว่าถ้อยคำที่ให้ไว้เป็นเท็จเพราะปิดบังทายาท การจดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนหรือแก้ไขได้ ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ขอจะต้องมีความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดจากการปิดบังทายาทนั้นด้วย แล้วจึงดำเนินการ
ให้ผู้ขอต่อไป โดยไม่ต้องให้ผู้ขอไปขอหนังสือรับรองการตายของบุคคลดังกล่าวมาแสดงอีก
เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใด เพราะถ้าเจ้ามรดกแก่มากแล้ว พ่อแม่ก็ต้องแก่
่มากด้วย และคนเหล่านี้จะไม่ต้องการมรดกของลูกแต่จะให้หลานเหลนรับกัน
สำหรับทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพินัยกรรมนั้น จะตรวจดูต้นฉบับพินัยกรรม กับภาพถ่ายพินัยกรรม ซึ่งผู้ขอรับรอง และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบกับต้นฉบับพินัยกรรม แล้วลงชื่อรับรองการตรวจกับต้นฉบับเป็นหลักฐานในสำเนาหรือภาพถ่ายพินัยกรรมนั้น เก็บรวมเรื่องไว้ ส่วนต้นฉบับคืนให้ผู้ขอ โดยให้ลงนามรับไปเป็นหลักฐาน การตรวจแบบพินัยกรรม เจ้าหน้าที่พิจารณาเฉพาะรูปแบบของพินัยกรรมว่าถูกต้องตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด
ไว้แล้วหรือไม่ และหากการสอบสวนเชื่อได้ว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมของเจ้ามรดก ก็จะดำเนินการต่อไปได้ ในกรณีที่ผู้ขอไม่สามารถนำต้นฉบับพินัยกรรมประกอบการยื่นคำขอได้ เนื่องจากสูญหายหรือถูกทำลาย ผู้ขอสามารถนำสำเนาพินัยกรรมที่เคยนำไปแสดงต่อหน่วยงานราชการ
เช่น ศาล หรือสำนักงานที่ดินอื่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นได้รับรองสำเนาถูกต้องมาใช้เป็นหลักฐานแทนต้นฉบับพินัยกรรมก็ได้

4. กรณีใดสมควรร้องศาลขอตั้งผู้จัดการมรดก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักกฎหมายแพ่งว่าในการโอนมรดกทรัพย์ใด ๆ ก็ตามไม่มีกฎหมายบังคับไว้โดยตรงว่าจะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดก โดยหลักแล้วทายาทสามารถโอนมรดกด้วยตนเองได้ แต่ถ้าหากเจ้ามรดกตั้งผู้จัดการมรดกไว้ก็ต้องให้ผู้จัดการมรดกเป็นคนโอนให้ แต่ถ้าเขาไม่ได้ตั้งไว้ การจะสมควรร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีปัญหาในการรับโอนมรดกหรือการจัดการมรดกหรือไม่เป็นสำคัญ กฎหมายไม่ได้บัญญัติแยกแยะว่ากรณีใดจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ได้ คงบัญญัติ
ไว้กว้างๆ ในมาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า กรณีดังต่อไปนี้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้

“(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาจักร หรือเป็นผู้เยาว์

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาท
ไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ

จะขอแยกพิจารณาเป็นรายอนุมาตรา ดังนี้
กรณีอนุมาตรา 1 กรณีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาจักร สามกรณีนี้เห็นชัดเจนว่าจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดก เพราะว่าไม่มีตัวคนที่จะมารับโอนทรัพย์มรดก และจัดการมรดก (รวมถึงการจัดการกองมรดกอื่น ๆ เช่น จัดการรับชำระหนี้ หรือใช้หนี้กองมรดก) การที่ทายาทคนใดคนหนึ่งสูญหายไปไม่ต้องสูญหายทั้งหมด ก็เป็นเหตุให้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว เพราะในข้อเท็จจริงนั้นการหายไปคนหนึ่งก็ก่อความยุ่งยากในการโอนและจัดการมรดกได้ เช่น นายดำเป็นเจ้ามรดก มีลูกสามคนคือ นายเขียว นางขาว และนายแดง นางขาวได้สูญหายไปก่อนจะรับโอนมรดก(อาจหายไปก่อนหรือหลังนายดำตายก็ได้) กรณีนี้ถ้าหากเจ้ามรดกได้ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่คนอื่นและรับเงินมัดจำมาแล้ว และจะถึงกำหนดไปจดทะเบียนขายแล้ว แต่ก็มาตายเสียก่อน กรณีนี้ทายาทของนายดำต้องมีหน้าที่ทำตามสัญญาจะขายที่ดินให้ตลอด แต่จะมีปัญหาในการรับมรดกเนื่องจากไม่มีนางขาวมาเซ็นรับโอนมรดก หรือแม้แต่นายเขียวและนายแดงจะขอให้ลงชื่อนางขาวรับโอนมรดกไปด้วย เมื่อรับโอนมรดกแล้วก็ไม่สามารถโอนขายได้ทั้งแปลงเพราะไม่มีตัวนางขาวมาเซ็นขาย
ครั้นจะไม่ให้นางขาวรับมรดกไป จะให้แต่เพียงนายเขียวกับนายแดงรับไปสองคน(แล้วจึงให้สองคนทำการโอนขาย) ก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่มีตัวนางขาวมาเซ็นยินยอมให้แค่สองคนรับโอนมรดก กรณีอย่างนี้จึงควรขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก เมื่อจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้ว ก็โอนขายได้เลย เพราะเป็นการจัดการมรดกชำระหนี้กองมรดก(และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท)
สำหรับกรณีผู้เยาว์เป็นผู้รับมรดกนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดเป็นเหตุอ้างขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ จึงจะขอตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น แต่เนื่องจากว่าผู้เยาว์นั้นมีพ่อแม่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทำแทนได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว และการขอรับโอนมรดกตามสิทธิ(รับมรดกได้แต่ถ้าจะสละสิทธิไม่รับมรดกต้องให้ศาลอนุญาต)
ไม่ใช่การทำนิติกรรมแต่อย่างใด ในทางปฏิบัติถ้าผู้เยาว์โตแล้ว รู้เรื่องดีก็สามารถยื่นคำขอเองได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากพ่อแม่ก็สามารถยื่นคำขอรับโอนมรดกที่ดินให้ลงชื่อผู้เยาว์รับมรดกได้เลย แต่จะมีข้อยกเว้นอย่างเดียวที่จะรับทันทีไม่ได้ คือถ้าเป็นการรับมรดกที่มีเงื่อนไขหรือมีค่าภาระติดพัน(ที่ดินส่วนใหญ่มักไม่มีการจดทะเบียนแบบนี้)
กฎหมายแพ่ง มาตรา 1611 บัญญัติว่าต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง...และได้รับอนุมัติจากศาลแล้ว (กรณีผู้เยาว์ขอรับมรดกโดยที่ทรัพย์มรดกมีการจดทะเบียนจำนองไว้และ
ในสัญญาจำนองมีข้อความว่า “ถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้เงินยังขาดจำนวนที่ค้างชำระอยู่
อีกเท่าใด ผู้จำนองยอมรับใช้จำนวนเงินที่ขาดนั้นจนครบ” กรณีดังกล่าวไม่เป็นการรับมรดกโดยมี
เงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันตามมาตรา ๑๕๗๔ (๙) หรือตามมาตรา ๑๖๑๑ (๒) แห่งประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับจดทะเบียนได้ (ดูระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก
พ.ศ. ๒๕๔๘ )
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะรับโอนมรดกได้ แต่ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้รับมรดกและจำเป็นต้องขายที่ดินต่อทันที ซึ่งอาจเกิดจากเจ้ามรดกทำสัญญาจะขายที่ดินนั้นไว้ก่อนแล้ว กรณีอย่างนี้ผู้เยาว์(หรือผู้ใช้อำนาจปกครอง) ก็จะทำไม่ได้ เพราะการจะโอนขายหรือทำนิติกรรมอย่างอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์นั้น
กฎหมายแพ่ง มาตรา 1574 บัญญัติว่าก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำได้ แต่ถึงจะมีเหตุขัดข้องหรือยุ่งยากอย่างนี้ก็มีทางเลือกอีกอย่างคือ ร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดก เพราะเมื่อตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกสามารถขายที่ดินโดยไม่ต้องโอนมรดกให้ผู้เยาว์ก่อนได้ แต่โอนขายไปตามที่เจ้ามรดกทำสัญญาจะขายไว้ เพราะถือเป็นการจัดการมรดก (ใช้หนี้กองมรดก) อย่างหนึ่งนั่นเอง นอกจากนี้วิธีการนี้มีประโยชน์เป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ การที่ผู้จัดการมรดกสามารถโอนขายได้เลยโดยไม่ต้องโอนมรดกไปยังผู้เยาว์ก่อน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนมรดกอีกต่อหนึ่ง(ซึ่งถ้าเป็นที่ดินแพง ๆ ก็เสียค่าธรรมเนียมมากอยู่) การจะเลือกวิธีใดน่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายจ้างทนายร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก กับการขออนุญาตศาลขอขายที่ดินของผู้เยาว์อะไรถูกกว่ากัน ถ้าดูเผินๆ การตั้งผู้จัดการมรดกน่าจะเสียมากกว่าเพราะต้องเสียค่าทนายและต้องมีการประกาศในหนังสือพิมพ์ก่อน แต่กรณีการขออนุญาตขายไม่ต้องประกาศในหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าจะเลือกรับโอนมรดกก่อน แล้วจึงยื่นคำร้องขออนุญาตศาลเพื่อขาย ก็ต้องคิดค่าธรรมเนียมการโอนมรดกอีกทอดหนึ่งรวมเข้าไว้ด้วยก่อนเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างสอง
วิธีที่กล่าวถึง

กรณีอนุมาตรา 2 เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
สำหรับใน( 2) นี้กรณีผู้จัดการมรดกไม่สามารถจัดการ ฯลฯ ....มีกรณีเกิดขึ้นบ้างเหมือนกันแต่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทายาทไม่สามารถ ไม่เต็มใจ ที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดกเสียมากกว่า เช่น ทะเลาะแย่งชิง
มรดก คัดค้านกันวุ่นวายจนไม่มีทางตกลงกันได้ จึงมาร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก อีกกรณีที่เกิดเป็นประจำคือ เอกชนไม่ยอมให้ทายาทรับทรัพย์มรดก เช่น ธนาคารปฏิเสธไม่ให้ทายาทเบิกเงินของเจ้ามรดก หรือบริษัทไฟแนนซ์ไม่ยอมโอนรถยนต์ให้ทายาท ส่วนใหญ่จะอ้างว่าไม่แน่ใจว่าใครเป็นทายาทที่มีสิทธิจริง แต่ในส่วนของการรับมรดกที่ดินที่ทำตามกฎหมายที่ดินนั้นจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะกำหนดรายละเอียดวิธีการไว้ชัดแจ้งแล้วในกฎกระทรวง หากมีหลักฐานว่าเป็นทายาทจริงก็ดำเนินการประกาศการขอรับมรดก และถ้าไม่มีคนคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศขอรับมรดก เจ้าหน้าที่ก็สามารถโอนตามที่ประกาศได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด

ตัวอย่างต่อไปนี้ก็น่าจะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยถือเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือแบ่งปันมรดกได้
1. เรื่องความไม่สะดวกในการจัดการมรดก ถ้าเจ้ามรดกเป็นคนรวยมีทรัพย์สินที่ดินมากตั้งอยู่หลายจังหวัด มีเงินฝากธนาคาร และทรัพย์สินอื่น ๆ
อีกมากมาย มีทายาทมากมีภาระการงานมาก หรืออยู่กันห่างไกลคนละจังหวัด กรณีแบบนี้ถ้าให้ทายาทแต่ละคนไปรับโอนมรดกที่ดิน ก็ต้องพากันเดินทางตระเวนไปขอรับมรดกหรือไปเซ็นไม่รับมรดกกันทุกที่ (แต่ไม่จำเป็นต้องไปกันทุกคนถ้าหากไม่ลงชื่อรับโอนในแปลงหนึ่ง ๆ ครบทุกคน เพราะสามารถทำหนังสือไม่รับโอนเฉพาะแปลงนั้น ๆ แล้วให้คนขอรับโอนเอาไปมอบให้เจ้าหน้าที่ในวันประกาศขอรับมรดกได้) ทำให้เสียเงินค่าเดินทาง (ค่าน้ำมัน) เสียเวลา (คนขอต้องไปสองรอบคือรอบแรกไปยื่นคำขอประกาศรับมรดก รอบสองไปจดทะเบียนเมื่อประกาศครบกำหนดและไม่มีคนคัดค้าน) แต่ถ้าขอศาลตั้งผู้จัดการมรดก ก็ดำเนินเรื่องทางศาลซึ่งต้องใช้เวลาอยู่นานเหมือนกัน แต่เมื่อศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกก็นำโฉนดไปจดทะเบียนผู้จัดการมรดกได้เลยในครั้งเดียว ไม่ต้องประกาศที่สำนักงานที่ดินอีกสามสิบวันเหมือนการรับโอนมรดกตามปกติ เมื่อจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้วก็จดทะเบียนโอนมรดกต่อเลย(หรือจะโอนขายเพื่อเอาเงินมาแบ่งให
้ทายาทก็ทำได้) ซึ่งผู้รับมรดกจะไปด้วยกันก็ได้ หรือจะมอบอำนาจให้ผู้จัดการมรดกทำแทนใน
การรับโอนก็ได้ ซึ่งก็จะทำสำเร็จด้วยการไปติดต่อเพียงครั้งเดียว
2. กรณีทายาทไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมรับโอนมรดก ทำให้รับมรดกไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีทายาทเป็นคนจนมาก แต่ได้มรดกที่ดินราคาแพง ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมโอนมรดกก่อน(บางทีเสียเป็นหลายหมื่น ) กว่าจะขายได้ต้องไปกู้มาโอนมรดกก่อนก็เป็นภาระมาก ถ้าขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกและค่อยขายไปทีหลัง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีค่าธรรมเนียมโอนมรดก เพราะไม่ต้องโอนมรดกอีกหนึ่งทอด แต่โอนขายได้และเอาเงินไปแบ่งให้ทายาทได้เลย แต่การใช้วิธีนี้ต้องคุ้มกับเงินที่จ้างทนาย(ทนายทั่วไปปกติไม่น่าเกินหนึ่งหมื่นบาท) แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นคนจนก็สามารถขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความให้ช่วยได้อยู่แล้ว
(ทุกจังหวัดมีตัวแทนอยู่ ทางอัยการก็ช่วยเหลือได้) อาจเสียค่าใช้จ่ายบ้างแต่ก็น้อยมาก เพราะการร้องศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่ยากเลย
กรณีอนุมาตรา 3 เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ
กรณีนี้มักเกิดจากการเขียนพินัยกรรมไม่ถูกต้อง การตั้งผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะเป็นเหตุร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ขึ้นอยู่ที่ความจำเป็นเป็น
เรื่อง ๆ ไป เหมือนกรณีอื่นที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น


5. การโอนมรดกที่มีผู้จัดการมรดก
มีได้สองกรณีคือ
1.กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกไว้
กรณีเจ้ามรดกตั้งผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกจะต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดก พร้อมนำพินัยกรรม มรณบัตรของเจ้ามรดก ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้จัดการมรดก ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจะรับคำขอและประกาศม
ีกำหนด 30 วัน ในวันประกาศจะเสียค่าธรรมเนียมไม่กี่บาท หากไม่มีคนคัดค้านในช่วงประกาศ ก็จดทะเบียนลงชื่อผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศ ค่าธรรมเนียมตอนจดทะเบียนผู้จัดการมรดกก็เพียง 50 บาท
2. กรณีศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกเพียงนำคำสั่งศาลไปสำนักงานที่ดินพร้อมสำเนาใบมรณบัตรของเจ้ามรดก ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้จัดการมรดก เจ้าพนักงานที่ดินก็จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในโฉนดได้ทันที โดยไม่ต้องประกาศใด ๆ ทั้งสิ้น การจดทะเบียนผู้จัดการมรดก ถือเป็นประเภทไม่มีทุนทรัพย์เสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเพียงแปลงละ 50 บาท (ค่าคำขอ 5 บาท ค่าพยานคนละ 10 บาท)

6. การโอนมรดกที่ไม่มีผู้จัดการมรดก
1. แบบมีพินัยกรรม
การรับโอนมรดกทรัพย์ใดๆ ตามพินัยกรรม การโอนแบบนี้นอกจากผู้รับพินัยกรรมแล้วคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ จึงไม่ต้องตกลงหรือแบ่งกับใคร เพราะฉะนั้นถ้าพินัยกรรมไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ผู้รับพินัยกรรมก็แค่ไปยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ แล้วก็จะประกาศการขอรับมรดกมีกำหนด 30 วัน หากไม่มีใครคัดค้านในช่วงประกาศ 30 วันนั้น ก็ไปจดทะเบียนโอนมรดกได้เมื่อพ้นกำหนด 30 วันแล้ว (ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้รับพินัยกรรมก็ให้พ่อแม่มาทำเรื่องแทนได้ตามปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งผู้จัดการมรดกเลย เว้นแต่มีความจำเป็นอื่นตามที่อธิบายไว้ในตอนต้นแล้ว)


2. แบบไม่มีพินัยกรรม

2.1. โดยรับโอนที่ดินเพียงบางส่วน ไม่ได้ขอรับโอนมรดกทั้งแปลง
การขอรับโอนมรดกที่ดินเพียงบางส่วนในงานที่ดินหมายถึง กรณีที่ที่ดินเป็นของเจ้ามรดกคนเดียว(ถ้ามีเจ้าของหลายคนก็จะเรียกว่าโอนมรดกเฉพาะส่วนเพียงบางส่วน) มีทายาทหลายคน แต่มีผู้มาขอจดทะเบียนรับมรดกตามสิทธิเพียงบางคน โดยให้คงส่วนของทายาทอื่นไว้ในนามเจ้ามรดกต่อไป การโอนแบบนี้จึงไม่ได้เป็นการขอรับโอนมรดกทีเดียวทั้งแปลง เช่น ที่ดินแปลงหนึ่งเป็นของ ก. เจ้ามรดกแต่ผู้เดียว ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มีทายาทคือ ข.ค.ง. แต่มี ข.
หรือ ค. หรือ ง. มายื่นคำขอให้จดทะเบียนลงชื่อแต่ละคนตามสิทธิที่แต่ละคนมีอยู่ โดยให้คงส่วนของทายาทอื่นที่ไม่ได้มาขอรับโอนมรดกไว้ในนามของเจ้ามรดกต่อไป ความสำคัญที่จะทำให้เรียกว่าเป็นการโอนมรดก(ที่ดิน)เพียงบางส่วน อยู่ที่ว่าไม่ว่าจะมีคนรับโอนมรดกไปแล้วกี่คนก็ตาม แต่ถ้ายังรับไปไม่ครบทุกคน ส่วนที่ยังไม่มีทายาทมารับนั้นจะคงไว้ในนามของเจ้ามรดกต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อจดทะเบียนโอนมรดกเพียงบางส่วนแล้ว ในโฉนดจะมีชื่อคนรับมรดกกับเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ชื่อเจ้ามรดกจะหมดไปก็ต่อเมื่อทายาทมารับโอนครบถ้วนหมดทุกคนแล้วเท่านั้น
จากตัวอย่างที่ยกมา ถ้าหาก ข. มารับโอนตามสิทธิของตนเพียงคนเดียว ในโฉนดก็จะมีชื่อคนถือกรรมสิทธิ์สองคนคือ นาย ข. และนาย ก.(เจ้ามรดก) ถ้าต่อมาทายาทที่เหลือทยอยมารับโอนส่วนของตนจนครบทุกคน ในโฉนดก็จะมีชื่อ ข. ค. ง. เป็นเจ้าของ ส่วนชื่อของ ก.(เจ้ามรดก)ก็จะไม่มีอีกต่อไป
เหตุใดจึงต้องมีการจดทะเบียนเพียงบางส่วน การมีประเภทการโอนมรดกแบบนี้มีสาเหตุจากว่า ทายาทอาจอยู่ห่างไกลกันมาพร้อมกันลำบาก ทายาทอาจทะเลาะเบาะแว้งจนไม่มองหน้ากัน ไม่ยอมให้คนยื่นคำขอรับโอนไปทั้งหมดเพียงคนเดียว ไม่ยอมทำอะไรร่วมกันทั้งนั้น ต่างคนก็ต่างมาทำเรื่องของตน โดยไม่ยอมให้ลงชื่อคนอื่นร่วมในคำขอของตนด้วยซึ่งในทาง
ปฏิบัติทำได้ง่ายมาก (คือการรับโอนมรดกโดยทั่วไปนั้น ถ้าทายาทคนหนึ่งมายื่นคำขอโอนมรดก ถ้าเขาจะให้ลงชื่อคนอื่นๆ รับโอนไปด้วยทุกคน โดยไม่ต้องให้คนอื่นมาเซ็นในคำขอรับโอนด้วยก็ทำได้ โดยแสดงหลักฐานการเป็นทายาทของคนที่จะให้ลงชื่อรับโอนมรดกร่วมด้วย เจ้าหน้าที่ก็จะประกาศ เมื่อครบกำหนดไม่มีคนโต้แย้งคัดค้านก็โอนมรดกรับร่วมกันได้หมดทุกคน ชื่อเจ้ามรดกก็จะไม่เหลืออยู่ในโฉนดต่อไป)
การจดทะเบียนโอนมรดกเพียงบางส่วนนี้แม้ทำให้ทายาทมีชื่อเป็นเจ้าของก็จริงโดยไม่ต้องวุ่นวายกับคนอื่น แต่ตราบใดที่ทายาทยังรับมรดกไม่ครบทุกคน การจัดการกับที่ดินทั้งแปลงจะทำไม่ได้ เพราะยังมีชื่อคนตายเป็นเจ้าของอยู่ การมีคนตายถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ก็จะทำให้แบ่งแยกไม่ได้ เพราะไม่มีคนมาร่วมตกลงเซ็นชื่อด้วย และคนที่รับโอนมรดกก็จะบอกไม่ได้เหมือนกันว่าที่ดินส่วนของตนอยู่ตรงไหนแน่ คนซื้อก็อาจไม่อยากซื้อเพราะไม่รู้แนวเขตที่ดินของคนขาย
การโอนมรดกเพียงบางส่วนนี้อาจจะมีข้อยุ่งยากอีก คือไม่สามารถนำโฉนดที่ดินจากทายาทที่ไม่ถูกกันมาจดทะเบียนได้(กรณีอื่นๆ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เอาโฉนดไปให้เจ้าหนี้ยึดไว้ ติดจำนองธนาคาร) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 จึงบัญญัติทางแก้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจเรียกโฉนดมาจดทะเบียนได้(รายละเอียดจะกล่าวในภายหลัง)

2.2. โดยขอรับโอนทั้งแปลง
มีกฎกระทรวงวางแนวทางการโอนมรดกทั้งแปลงโดยไม่มีพินัยกรรมไว้ว่า ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด ถ้าผู้ขอนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม หรือนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการ
มีสิทธิตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้
ถ้อยคำยินยอม หรือไม่สามารถนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้น มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยกคำขอเสีย
ตัวอย่าง นายดำเจ้ามรดกตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มีที่ดินสองแปลง มีลูกสองคนคือ นายแดง และนายเขียว ถ้านายแดงมายื่นคำขอรับโอนมรดกแปลงที่หนึ่งโดยขอรับโอนไปทั้งแปลง นายแดง
สามารถทำได้ แต่ต้องให้นายเขียวมาเซ็นยินยอมให้รับโอนมรดกไปคนเดียว (นายเขียวจะทำหนังสือไม่รับมรดกแล้วมอบให้นายแดงนำมามอบให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องเดินทางมา
ด้วยตัวเองก็ได้ แต่จะต้องนำมามอบในระหว่างช่วงเวลาประกาศเท่านั้น หากเอามามอบ
ภายหลังกำหนดประกาศแล้ว จะทำไม่ได้ และมีผลทำให้คำขอนั้นต้องถูกยกเลิกโดยผลของกฎหมาย
โดยอัตโนมัติ) ในทำนองเดียวกันถ้านายเขียวต้องการรับโอนมรดกอีกแปลงที่เหลือทั้งแปลงเพียงคนเดียว นายเขียวก็ทำได้โดยให้นายแดงเซ็นยินยอมให้นายเขียวรับไปคนเดียว (ในกรณีอย่างนี้ทายาทจะตกลงรับโอนลงชื่อทุกคนทุกแปลง หรือจะรับโอนคนละแปลงก็เป็นเรื่องของทายาทจะตกลงกันแบ่งปันกันเอง) แต่ถ้าทั้งนายแดงและนายเขียวต่างไม่ยอมเซ็นให้แก่กัน ก็จะไม่สามารถรับมรดกแปลงละคนได้เลย แต่จะต้องจดทะเบียนลงชื่อทั้งสองคนรับโอนมรดกทั้งสองแปลง แล้วค่อยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมทั้งสองแปลง เพื่อถือโฉนดแยกกันไปให้ชัดเจน

7. การดำเนินการหลังจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้ว
เมื่อมีการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินแล้ว การจัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๑๗๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทายาททั้งหลายย่อมหมดสิทธิที่จะเข้าจัดการมรดกด้วยตัวเอง(ในทางปฏิบัติพอรู้ว่าพินัยกรรมตั้ง
ผู้จัดการมรดกไว้ทายาทอื่นก็ไม่ดำเนินการอะไรเองอยู่แล้วไม่ถึงต้องรอให้จดทะเบียนผู้จัดการมรดกก่อน)
ผู้จัดการมรดกที่ได้รับแต่งตั้งจากศาล ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินตามบัญชีที่ระบุไว้ต่อศาลหรือทรัพย์สินอื่น เว้นแต่ทรัพย์มรดกนั้นเจ้ามรดกจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้เป็นการเฉพาะ
ถ้าพินัยกรรมของเจ้ามรดกตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก
โดยมีข้อกำหนดพินัยกรรมว่า ในการจัดการมรดกนั้นให้ผู้จัดการมรดกจัดการร่วมกัน แม้ต่อมาจะ
ได้มีคำสั่งศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม อำนาจในการ
จัดการมรดกของผู้จัดการมรดกต้องเป็นไปตามพินัยกรรม คือต้องจัดการร่วมกัน ถ้าผู้จัดการ
มรดกคนหนึ่งคนใดถึงแก่กรรมไปก่อนที่การจัดการมรดกจะแล้วเสร็จ ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่
ย่อมไม่มีอำนาจจัดการมรดกต่อไป จนกว่าจะมีการแก้ไขเรื่องอำนาจให้เป็นไปตามกฎหมายก่อน
เช่น ขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพิ่ม เพราะเหตุผู้จัดการมรดกไม่สามารถจัดการมรดกได้ หรือเพราะเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก (ตามอนุมาตรา 2)
ในการดำเนินการจดทะเบียนใดๆ เกี่ยวกับที่ดินที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน
ผู้จัดการมรดกทุกคนต้องมาร่วมดำเนินการด้วยกัน เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่าง
อื่น กรณีที่ผู้จัดการมรดกบางคนไม่เห็นด้วย แต่ผู้จัดการมรดกที่มาขอดำเนินการเป็นผู้จัดการ
มรดกส่วนข้างมาก ก็ดำเนินการในนามของผู้จัดการมรดกทั้งคณะได้ การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก หากมีรายงานการประชุมผู้จัดการมรดก หรือปรากฏหลักฐานว่าได้มีการแจ้งไปยังผู้จัดการมรดกทุกคนได้ทราบแล้ว มีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมากถือเป็นเสียงข้างมากแล้ว แต่ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแจ้งให้ผู้จัดการมรดกทุกคนได้ทราบถึงการจัดการมรดก ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกตามเสียงข้างมาก ก่อนดำเนินการตามคำขอเจ้าหน้าที่จะสอบสวนให้ได้ความชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย
(ในทางปฏิบัติดูจำนวนคนมาเซ็นดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ก็รู้แล้วว่าเป็นเสียงส่วนมากหรือไม่)
การจัดแบ่งมรดกโดยพินัยกรรมลักษณะทั่วไป ผู้จัดการมรดกย่อมมีสิทธิที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทได้รับส่วนแบ่งเท่าๆ กันอย่างไร
เช่น กรณีพินัยกรรมมิได้กำหนดเจาะจงให้บุคคลใดได้รับทรัพย์สินเฉพาะอย่าง หรือให้ได้รับทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน อย่างเช่นกำหนดไว้เพียงลอยๆ ว่าให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของใครบ้างเท่านั้น ซึ่งถือเป็นพินัยกรรมลักษณะทั่วไป ตามมาตรา
๑๖๕๑ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องโอนทรัพย์สินหรือที่ดินแต่ละแปลงให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมทุกคนรับร่วมกัน และเจ้าหน้าที่ไม่มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกว่าจัดแบ่งอย่างไร
ปกติผู้จัดการมรดกสามารถทำนิติกรรมใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่จัดการมรดกได้ แต่บางกรณีจะทำไม่ได้ ได้แก่
1. การทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งผู้จัดการมรดกมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมได้อนุญาตไว้ หรือได้รับ
อนุญาตจากศาล เช่น ผู้จัดการมรดกต้องการขายที่ดินเพื่อเอาเงินมาแบ่งให้ทายาท กรณีแบบนี้ผู้จัดการมรดกจะเข้าซื้อเองไม่ได้ และจะขายให้แก่ผู้จัดการมรดกร่วมก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน แต่การที่ผู้จัดการมรดกทำการโอนที่ดินให้แก่ตนเองเพราะตนเองก็เป็นทายาทโดยธรรมหรือเป็นผู้รับ
พินัยกรรมนั้นทำได้ เพราะไม่ใช่เป็นการทำนิติกรรม แต่เป็นการจดทะเบียนสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย(ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม)ให้ปรากฏ
ในทะเบียนที่ดินเท่านั้น
และในกรณีจัดการมรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และมีทายาทเป็นผู้เยาว์ การจะจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยผู้จัดการมรดกนั้นจะมีส่วนได้รับมรดกในฐานะเป็นทายาท
โดยธรรมด้วยหรือไม่ก็ตาม ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก และไม่ถือว่าเป็นการประนีประนอมยอมความ
กับทายาท ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจะขอโอนมรดกลงชื่อทายาทผู้มีสิทธิเพียงคนใดคนหนึ่งโดยไม่ลงชื่อ
ผู้เยาว์ด้วยนั้น ย่อมดำเนินการได้ (คือบางแปลงให้ผู้เยาว์บางแปลงไม่ให้ก็ได้)
2. ทำผิดจากที่พินัยกรรมกำหนดไว้ เช่น เจ้ามรดกยกที่ดินแปลง ก. ให้เป็นของนายแดงแต่ผู้เดียว กรณีอย่างนี้จะเอาไปขายเพื่อนำเงินมาให
้นายแดงไม่ได้ แต่ถ้านำไปขายเพื่อเอาไปใช้หนี้กองมรดก เนื่องจากเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์สินอื่นอยู่เลย อย่างนี้ทำได้เพราะเป็นการใช้หนี้กองมรดก ซึ่งกฎหมายแพ่งบัญญัติว่าต้องดำเนินการก่อนที่จะจัดการแบ่งหรือโอนให้ทายาท
อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมว่าให้นำทรัพย์มรดกไปจัดตั้งมูลนิธิ แต่ผู้จัดการมรดกประสงค
์จะขายทรัพย์มรดก เพื่อนำเงินไปจัดตั้งมูลนิธิแทน อย่างนี้ทำไม่ได้เพราะไม่ตรงตามเจตนาของเจ้ามรดก
3. กรณีที่ศาลตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน แสดงว่าศาลไม่มีความประสงค์จะให้มีผู้จัดการมรดกแต่ลำพังผู้เดียว ดังนั้น หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใด
คนหนึ่งไม่เต็มใจจะจัดการมรดกหรือตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือไม่มีอำนาจจะจัดการมรดกตามลำพังได้
หากผู้จัดการมรดกที่เหลือจะจัดการมรดกต่อไป จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต
จึงจะจัดการมรดกต่อไปได้
4 กรณีที่ผู้จัดการมรดกขายที่ดินกองมรดกซึ่งมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมมีเพียงคนเดียว ผู้จัดการมรดกจะอ้างความจำเป็นเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท โดยไม่โอนมรดกให้แก่ทายาทก่อนไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าทายาทผู้นั้นจะยินยอมให้ขายได้หรือไม่ก็ตาม
เพราะการแบ่งปันให้แก่ทายาทนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมมีหลายคน

5. ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนขายทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กอง
มรดกได้ ไม่ว่าเป็นมรดกมีพินัยกรรมหรือไม่มีพินัยกรรม และไม่ว่าผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม จะมีเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจที่จะขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้
กองมรดกได้ แต่จะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะเอาทรัพย์ใดออกชำระหนี้ก่อน และไม่จำเป็นต้องให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกให้ถ้อยคำยินยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียน
โอนมรดกด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมนั้นจะเป็นผู้เยาว์หรือไม่ก็ตาม

8. ปัญหาผู้จัดการมรดกตาย มีการเปลี่ยนผู้จัดการมรดก หลังจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้ว จะต้องทำอย่างไร
ถ้าตั้งผู้จัดการมรดกแล้วถ้าศาลเพิกถอนผู้จัดการมรดก และตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ก็จด ทะเบียน “เปลี่ยนผู้จัดการมรดก” แต่ถ้าคนเดิมตายและศาลตั้งคนใหม่ก็ให้ไปจดคนใหม่ในประเภท “โอนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดก”
กรณีที่ได้จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
แล้ว ต่อมาผู้จัดการมรดกแบบมีคนเดียวหรือแบบมีหลายคน แล้วแต่กรณี ตายหมดทุกคนและทายาทโดยธรรมหรือทายาทตามพินัยกรรมไม่ประสงค์จะตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นใหม่อีก แต่ประสงค์จะขอจดทะเบียนโอนมรดกโดยไม่มีผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ก็ไปขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนในประเภท “เลิกผู้จัดการมรดก” แล้วยื่นคำขอประกาศรับโอนมรดกต่อไปตามปกติ เพราะการอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวเมื่อตายไปก็เป็นอันสิ้นสุดลง และการที่จะรับโอนมรดกใด ๆ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำโดยผู้จัดการมรดก ถ้าทายาทไม่ต้องการให้มีผู้จัดการมรดกอีกต่อไป ก็ไม่ต้องร้องศาลขอตั้งผู้จัดการมรดก แต่รับโอนกันตามลำพังได้

9. การเรียกหนังสือแสดงสิทธิที่คนอื่นยึดไว้มาจดทะเบียนโอนมรดก
ปกติในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยทั่วไป
เช่น การจดทะเบียนขาย ให้ จำนอง เช่า คู่สัญญามีหน้าที่ต้องนำโฉนดมาจดทะเบียน หากโฉนดอยู่ในความยึดครองของผู้อื่น ก็ต้องไปเอามาจดทะเบียนให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องฟ้องร้องกันต่อไป เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจไปเรียกให้คนที่ยึดถือโฉนดไว้นำมามอบให้เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่สำหรับการจดทะเบียนเกี่ยวกับมรดกนั้น ประมวลกฎหมายที่ดินได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 81 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่กับคนอื่นมาจดทะเบียนได้
หลักในทางปฏิบัติใหญ่ ๆ ของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นมีว่าถ้าผู้ขอไม่สามารถนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมายื่นพร้อมกับคำขอได้ ทั้งไม่ทราบเครื่องหมายที่ดินแปลงที่จะขอจดทะเบียนมรดก เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ขอยื่นคำขอขอตรวจหลักฐานที่ดินนั้นเสียก่อน ในกรณีที่ทราบเครื่องหมายที่ดินที่จะ
ขอรับมรดก เมื่อได้ตรวจสอบกับหลักฐานที่ดินแปลงนั้นได้ก็ดำเนินการไปได้ ในกรณีที่นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมายื่นไม่ได้เพราะเป็นอันตรายหรือสูญหายให้ผู้ขอขอออกใบแทนด้วย แล้วจึงดำเนินเรื่องประกาศขอจดทะเบียนมรดกและประกาศขอออกใบแทนไปพร้อมกันแต่แยกเรื่องประกาศ
แต่ละเรื่องต่างหากจากกัน
สิ่งที่ผู้ขอต้องทำในวันยื่นคำขอประกาศรับมรดกกรณีนำโฉนดมาประกอบคำขอไม่ได้ คือ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตกอยู่กับผู้อื่น ไม่สามารถนำมาขอจดทะเบียนได้ แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะรับคำขอไว้และตรวจสอบหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับสำนักงานที่ดิน เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วก็ดำเนินการประกาศมรดกไปก่อน โดยบันทึกถ้อยคำผู้ขอให้จัดการนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นมายื่นในวันจดทะเบียน แต่ถ้าในวันนัดจดทะเบียนยังไม่สามารถนำมาได้อีก เจ้าหน้าที่ก็จะเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจากผู้ยึดถือมาดำเนินการต่อไป ซึ่งในการเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เจ้าหน้าที่จะเรียกก็ต่อเมื่อเรื่องที่ขอจดทะเบียนนั้นพร้อมที่จะทำการจดทะเบียนได้ โดยเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับถึงผู้ยึดถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ให้นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมามอบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันที่กำหนด แต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเรียก เมื่อครบกำหนดตามที่เรียกให้ส่งหนังสือ
แสดงสิทธิในที่ดิน และมีหลักฐานการได้รับหนังสือของผู้ยึดถือแล้ว แต่ผู้ยึดถือไม่ส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบภายในกำหนด เจ้าหน้าที่แจ้งสามารถแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานต่อไปได้ ถ้าผู้ยึดถือนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาให้จดทะเบียน เมื่อจดเสร็จแล้วก็จะให้คืนแก่ผู้ที่นำมามอบรับไปในวันจดทะเบียนนั้น จะไม่มอบให้คนรับโอนมรดก


10. การโอนมรดกสิทธิอื่น ๆ และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นก็มีได้
การโอนมรดกไม่ได้มีเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น แต่สิทธิบางอย่างที่มีอยู่เหนือที่ดินก็สามารถโอนมรดกได้ เช่น สิทธิของผู้รับจำนอง สิทธิเหนือพื้นดิน (ป.พ.พ.มาตรา 1411 กำหนดให้รับโอนมรดกได้ แต่ถ้าได้กำหนดไว้ในนิติกรรมก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินว่าไม่ให้มีการรับมรดกสิทธิเหนือพื้นดิน ก็จะมีการรับโอนมรดกสิทธิเหนือพื้นดินไม่ได้)
นอกจากนี้ยังมีการโอนมรดกในอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ นอกจากที่ดินได้ เช่น บ้านพักอาศัยอย่างเดียวไม่รวมที่ดิน ซึ่งมีได้ เช่น เจ้าของที่ดินจดทะเบียนให้ผู้อื่นมีสิทธิเหนือพื้นดิน โดยให้ผู้อื่นนั้นปลูกบ้านในที่ดินของตนและยอมให้ผู้นั้นมีกรรมสิทธิ์ในบ้านแยกจากที่ดินของตนได้
(ป.พ.พ.มาตรา 1410) และทำให้บ้านนั้นไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินแต่อย่างใด
(ป.พ.พ. มาตรา 146)
ในการโอนมรดกบ้านเช่นนี้ เจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหลักฐาน เช่น ใบขออนุญาตปลูกสร้าง หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของเจ้ามรดกจริง เพื่อประกอบการพิจารณาในการจดทะเบียนมรดกด้วย เมื่อสอบสวนพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังกล่าวเป็นของเจ้ามรดกจริง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป การจดทะเบียนโอนมรดกอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพียงอย่างเดียว จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนแบบโฉนดที่ดินให้เจ้าของบ้านยึดถือไว้ (เพราะไม่เคยมีการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในบ้านแต่อย่างใด) เมื่อเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนมรดกแล้ว ถ้าผู้ขอต้องการหลักฐาน เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ขอยื่นคำขอคัดสำเนารายการจดทะเบียนมรดกในทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับ
อสังหาริมทรัพย์ (ท.อ.๑๓) แล้วเจ้าหน้าที่จะคัดหรือถ่ายสำเนาเอกสารและรับรองสำเนาให้ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าคัดและรับรองสำเนาตามกฎหมาย

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=landclinic&month=12-05-2008&group=12&gblog=2


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-19 11:13:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล