ReadyPlanet.com


กระทำชำเรา


มีผู้ใหญ่กระทำชำเราเด็กโดยเด็กทำมาเอยๆยินยอมด็กตั้งแต่เด็กอายุ14ปีจนตอนนี้เด็กอายุ20ปีแล้วหากจะแจ้งความเอาผิดจะทำได้หรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ เด็กคนหนึ่ง :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-29 02:24:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1920451)

กระทำได้ครับเพราะคดียังไม่ขาดอายุความ แต่จะมีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่คงเป็นเรื่องต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 ถึง 30,000 บาท”


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 ถึง 20,000 บาท”

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-29 10:27:01


ความคิดเห็นที่ 2 (1920925)

กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี

 

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 12 ปี

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5547/2550

 

ขณะที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปเที่ยวที่หาดทรายแก้ว ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาผู้เสียหายที่ 1 ก็อยู่บริเวณใกล้ๆ นั้นด้วยหลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปขอร้องให้ น. พาไปพูดกับบิดามารดาจำเลยว่ายอมจะรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เป็นสะใภ้หรือไม่ เมื่อบิดามารดาจำเลยบอกว่าจะรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เหมือนบุตรสะใภ้ ผู้เสียหายที่ 2 ก็พอใจโดยไม่มีการเรียกสินสอดแต่อย่างใด ต่อมา 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปขอให้ น. ไปพูดกับบิดามารดาจำเลยว่าให้ทำพิธีสมรส แต่บิดามารดาจำเลยบอกว่าให้รอไว้ก่อน ผู้เสียหายที่ 2 รู้เรื่องดังกล่าวแล้วก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้าน ตามพฤติการณ์ของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 และโดยความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ.317 วรรคสาม

แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เกือบจะมีอายุครบ 15 ปี แล้วก็ตาม แต่กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก นั้นจะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุชักจูงใจสำคัญผิดโดยสุจริต แต่จำเลยมิได้นำสืบในเรื่องดังกล่าว จำเลยคงเบิกความว่าผู้เสียหายที่ 1 บอกจำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 16 ปี ส่วน ส.พี่สาวจำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ผู้เสียหายที่ 1 บอก ส. ว่ามีอายุ 16 ปีกว่าแล้ว ส่วน บ. บิดาจำเลยกลับให้การชั้นสอบสวนว่า บ. ได้สอบถามเรื่องอายุ ผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ามีอายุ 18 ปี คำเบิกความของจำเลยและคำให้การชั้นสอบสวนของ ส. ไม่สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของ บ. เพราะขัดแย้งหรือต่างกันมากถึง 2 ปี ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างใหญ่กว่าเด็กหญิงทั่วไปอันเป็นเหตุชักจูงใจให้จำเลยสำคัญผิดโดยสุจริต ลำพังคำเบิกความของจำเลยที่ว่าผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ามีอายุ 16 ปี เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งไม่ใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอม จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 12 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ เด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปี 11 เดือนเศษ และเป็นบุตรของ ค. ผู้เสียหายที่ 2 เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยและได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเป็นพยาน โดยผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ชายทะเลจนถึงเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายมาส่งที่บ้าน เมื่อถึงบ้านผู้เสียหายที่ 1 แล้ว จำเลยไม่จอดรถแต่กลับขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้ จนกระทั่งจำเลยลืมใส่กุญแจบ้าน ผู้เสียหายที่ 1 จึงหลบหนีออกมาบอกผู้เสียหายที่ 2 ส่วนผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า หลังจากผู้เสียหายที่ 2 ทราบจากนางคำเลียนหรือเลียน เพ็ชรพังงา ว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปแล้ว ต่อมา 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปตามหาผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านจำเลย แต่ไม่พบจำเลย คงพบนายบุญฤทธิ์ เพ็ชรณรงค์ บิดาจำเลย นายบุญฤทธิ์บอกผู้เสียหายที่ 2 ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่สวนผักห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้เสียหายที่ 2 ไม่กล้าไปตามผู้เสียหายที่ 1 ให้กลับบ้านเพราะกลัวจำเลยจะฆ่า ผู้เสียหายที่ 2 จึงกลับบ้าน หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ผู้เสียหายที่ 1 กลับมาเอาของใช้ส่วนตัวที่บ้านผู้เสียหายที่ 2 แล้วก็กลับไปไม่ถึง 1 ชั่วโมง มีชาวบ้านมาบอกผู้เสียหายที่ 2 ว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกจำเลยทำร้าย ผู้เสียหายที่ 2 จึงไปที่บ้านจำเลยพบจำเลย มารดาจำเลยและพี่สาวจำเลยกำลังร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 2 จึงพาผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้านและพากันไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลท่าฉัตรไชย เพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำร้ายร่างกายและพรากผู้เยาว์ แต่จ่าสิบตำรวจนิรันดร์ จันทร์พิทักษ์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งกลับเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 2 มาบอกพยานว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ที่บ้านจำเลย จึงมาขอให้พยานช่วยพูดกับบิดามารดาจำเลยว่าจะยอมรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เป็นสะใภ้หรือไม่ พยานจึงพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านจำเลย พบผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยอยู่หลังบ้านพยานสอบถามนายบุญฤทธิ์ นายบุญฤทธิ์บอกว่าจะรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เหมือนบุตรสะใภ้ ผู้เสียหายที่ 2 พอใจ จึงพากันกลับโดยไม่มีการเรียกค่าสินสอด หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปบอกพยานเพื่อขอให้พยานไปช่วยพูดกับบิดามารดาจำเลยว่าให้ทำพิธีสมรส แต่นายบุญฤทธิ์และมารดาจำเลยบอกว่าให้รอไว้ก่อน พยานก็ไปบอกเรื่องดังกล่าวให้ผู้เสียหายที่ 2 ทราบ เห็นว่า จ่าสิบตำรวจนิรันดร์เป็นผู้ที่ชาวบ้านในบริเวณที่เกิดเหตุเคารพนับถือ คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจนิรันดร์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังประกอบกับนางคำเลียนก็ให้การชั้นสอบสวนว่า ขณะที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปเที่ยวที่หาดทรายแก้วเพื่อจะไปรับประทานส้มตำ ผู้เสียหายที่ 2 ก็อยู่บริเวณใกล้ๆ นั้นด้วย แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยและได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงไปขอร้องให้จ่าสิบตำรวจนิรันดร์พาไปพูดกับบิดามารดาจำเลยว่าจะยอมรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เป็นสะใภ้หรือไม่ เมื่อนายบุญฤทธิ์และมารดาจำเลยบอกว่าจะรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เหมือนบุตรสะใภ้ ผู้เสียหายที่ 2 ก็พอใจ โดยไม่มีการเรียกค่าสินสอดแต่อย่างใด ต่อมา 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปขอให้จ่าสิบตำรวจนิรันดร์ไปพูดกับนายบุญฤทธิ์และมารดาจำเลยว่าให้ทำพิธีสมรสแต่นายบุญฤทธิ์และมารดาจำเลยบอกว่าให้รอไว้ก่อน ผู้เสียหายที่ 2 รู้เรื่องดังกล่าวแล้วก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้าน ตามพฤติการณ์ของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว เชื่อได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยและได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 และโดยความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก โดยจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 15 ปี แล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เกือบจะมีอายุครบ 15 ปี แล้วก็ตาม แต่กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก นั้นจะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุชักจูงใจให้สำคัญผิดโดยสุจริต แต่จำเลยมิได้นำสืบในเรื่องดังกล่าว จำเลยคงเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 1 บอกจำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 16 ปี ส่วนนางสาวสุขฤดี เพ็ชรณรงค์ พี่จำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ผู้เสียหายที่ 1 บอกนางสาวสุขฤดีว่ามีอายุ 16 ปีกว่าแล้ว ส่วนนายบุญฤทธิ์กลับให้การชั้นสอบสวนว่า นายบุญฤทธิ์สอบถามเรื่องอายุ ผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ามีอายุ 18 ปี คำเบิกความของจำเลยและคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวสุขฤดีไม่สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญฤทธิ์เพราะขัดแย้งหรือต่างกันมากถึง 2 ปี ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าเด็กหญิงทั่วไป อันเป็นเหตุชักจูงใจให้จำเลยสำคัญผิดโดยสุจริต ลำพังคำเบิกความของจำเลยที่ว่าผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ามีอายุ 16 ปี เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งไม่ใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมจนสำเร็จความใคร่ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ตามที่จำเลยให้การชั้นสอบสวน จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในข้อหาความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

( เรวัตร อิศราภรณ์ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - วีระชาติ เอี่ยมประไพ )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-03-30 16:35:33



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล