ReadyPlanet.com


รับมรดกตามพินัยกรรม (ต่อ)


ขณะนี้ศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งผจก.มรด กแล้วขณะนี้รอผจก.มรดกเรียกประชุมทายาจะต้องนำพินัยกรรมให้กับผจก.มรดกหรือไม่ หรือว่าจ้างทนายให้นำเสนอต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนระยะเวลาในการขอรับมรดกตามพินัยกรรมกี่ปี ดำเนินการเรื่องนี้ไม่ถูกเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ขอความกรุณาช่วยแนะนำให้ด้วยถึงขั้นตอนต่าง ผจก.มรดกได้รับการแต่งแต่งมาแล้ว  45 วัน

ขอขอบคุน



ผู้ตั้งกระทู้ จารึก :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-27 11:09:02


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1919998)

ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท หากมีพินัยกรรม ก็จัดการโอนให้ตามพินัยกรรม ตามเจตนาของเจ้ามรดก โดยไม่ต้องรอประชุมทายาทก็ได้ โดยนัดผู้จัดการมรดกไปดำเนินการให้โดยไม่ต้องดำเนินการใดต่อศาลอีก

บทความที่เกี่ยวข้องกับอายุความคดีมรดก ค้นหามาให้อ่านครับ

อายุความฟ้องคดีมรดก

มาทำความเข้าใจในเบื้องต้นกันก่อนว่า "คดีมรดก" หมายถึง คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วยกันตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม หรือคดีที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกถูกฟ้องในฐานะทายาท ให้รับผิดชอบหนี้ที่ผู้ตายเป็นหนี้อยู่

เราสามารถแยกกำหนดอายุความมรดกได้ดังนี้ คือ

1.อายุความฟ้องคดีมรดก ผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม คือ พ่อแม่, คู่สมรส,บุตรของผู้ตาย ต้องฟ้องคดีมรดกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่มิให้ฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย

2.อายุความสิทธิเรียกร้องตามข้อกำหนดพินัยกรรม ผู้ฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งอาจเป็นบุคคลใดๆ ก็ได้ที่ผู้ตายยกมรดกให้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม แต่มิให้ฟ้องเกิน 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย

อายุความฟ้องคดีเรียกร้องมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรม ให้เริ่มนับตั้งแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิที่ผู้รับพินัยกรรมมีอยู่ตามพินัยกรรม เพราะกฎหมายบัญญัติว่า " สิทธิและหน้าที่ใดๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรมให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป" ถ้าเขายังไม่ตายทรัพย์สินของเขาก็ยังมิใช่ทรัพย์มรดกที่จะตกทอดให้ใครๆได้

แต่มีกรณียกเว้น คือ ถ้าผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย หรือตามข้อกำหนดพินัยกรรม หากเป็นกรณีที่ผู้นั้นครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่ง แล้วฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดก ก็สามารถฟ้องได้แม้จะเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องฟ้องภายใน 1 ปี อายุความมรดก 1 ปี อยู่ภายใต้บังคับว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี แล้วก็ดี " ดังนั้น สำหรับทายาทคนที่ครองครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันนั้น แม้ฟ้องขอแบ่งมรดกเมื่อกำหนดอายุความมรดกกี่สิบปีก็ตามก็ฟ้องขอแบ่งได้ ไม่ขาดอายุความมรดก 1 ปี

เมื่อทายาทคนใดฟ้องเรียกร้องส่วนแบ่งมรดกเกินหนึ่งปี นับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก และทายาทผู้นั้นไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้น เมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปีไม่ได้ และถ้าทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในทรัพย์นั้นยกอายุความตาม 1 ปี ขึ้นต่อสู้ คดีย่อมขาดอายุความ ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ส่วนทายาทที่ครองครองมรดกเกินกำหนดอายุความ ถือว่ามีสิทธิในทรัพย์มรดกที่ตนครอบครอง มีอำนาจในฐานนะเจ้าของกรรมสิทธิ์

3.อายุความสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้กองมรดก เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องฟ้องเรียกร้องสิทธิภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ให้เกิน 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย

สำหรับเจ้าหนี้ผู้ตายนั้น นอกจากเจ้าหนี้โดยทั่วไปแล้ว ยังมีเจ้าหนี้ประเภทที่ผู้ตายนำทรัพย์ไปเป็นประกัน เช่น เจ้าหนี้จำนอง เจ้าหนี้จำนำ เจ้าหนี้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง กฎหมายบัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงสิทธิบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ฯลฯ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" ดังนั้น แม้เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ซึ่งอาจมีอายุความในการบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นยาวกว่า 1 ปี ก็ต้องฟ้องภายใน 1 ปี มิฉะนั้นคดีขาดอายุความ

4.อายุความ 10 ปี อย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่าข้างต้นนั้น มิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย กล่าวคือ ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในกองมรดกที่ไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกก็ดี ผู้รับพินัยกรรมที่ไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมก็ดี หรือเจ้าหนี้กองมรดกไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกก็ดี ซึ่งอาจฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่มารู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือสิทธิตามพินัยกรรมในภายหลังได้ แต่จะอ้างความไม่รู้ดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะต้องมีการฟ้องร้องกันไม่สิ้นสุด

5.สิทธิยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ ใครบ้างที่มีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ กฎหมายกำหนดบุคคล 3 ประเภทซึ่งมีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นทายาท (ทายาทโดยธรรม , ผู้รับพินัยกรรม) หรือคนที่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก ดังนั้น บุคคลอื่นที่มิใช่ทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือผู้จัดการมรดกจะยกเอาอายุความมรดก 1 ปีนี้เป็นข้อต่อสู้ไม่ได้

เรียบเรียงโดย : คุณพิทยา ลำยอง วันที่ 17 ส.ค 2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-03-27 19:33:03


ความคิดเห็นที่ 2 (1920016)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1725 ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วน ได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วน ได้เสียนั้น ภายในเวลาอันสมควร

มาตรา 1732 ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงาน แสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่ วันที่ระบุไว้ใน มาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดย จำนวนข้างมากหรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1736 ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมที่ ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ

มาตรา 1744 ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใด ส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึง แก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกและผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัว ได้รับชำระหนี้และส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้า มรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตาย ของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึง ความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้อง ร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

มาตรา 1755 อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคล ซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดย ผู้จัดการมรดก

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-03-27 20:39:52


ความคิดเห็นที่ 3 (1920215)

ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากเจ้าของรวมอื่นไม่อาจยกอายุความมรดกมาตัดฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549

โจทก์เป็นบุตรของ ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของ ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว แต่เมื่อจำเลยกับ ศ. เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งและเมื่อจำเลยไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองไว้แทน ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย

โจทก์เป็นบุตรของ ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของ ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3882 ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา แก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา และแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยตามส่วน หากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินและไม่ไปลงชื่อรับการแบ่งแยก ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินกันได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน

จำเลยให้การยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3882 ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน

จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นตันนั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยและนางศรีหรือสี พันกระโทก เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3882 ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน นางศรีหรือสีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายอินทร์ ชาพล เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นบุตร นายสมร ชาพล กับนางศรีหรือสี พันกระโทก บิดามารดาโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หลังจากนางศรีหรือสีถึงแก่ความตาย โจทก์ไปหานายอินทร์ให้พาไปพบจำเลยเพื่อขอแบ่งที่ดินส่วนของนางศรีหรือสี จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและบอกว่าจะนำเงินมาให้โจทก์หรือแบ่งที่ดินให้ แต่ไม่บอกว่าจะนำเงินมาให้เท่าใดหรือแบ่งที่ดินให้เท่าใด โจทก์จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อ โจทก์คิดว่าจำเลยจะโกงจึงไปหาเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอครบุรีเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบเอกสารสิทธิพบว่าที่ดินดังกล่าวมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินและได้แนะนำโจทก์ให้ไปยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของนางศรีหรือสี ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางศรีหรือสี โจทก์นำคำสั่งศาลดังกล่าวไปหาเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอครบุรี เพื่อดำเนินการแบ่งแยกที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินเรียกจำเลยมาเจรจาให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยอม และโจทก์มี นายสำราญ โพธิ์กิ่ง เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาครบุรี เบิกความสนับสนุนว่า ปี 2541 โจทก์ไปพบพยานเพื่อขอตรวจสอบที่ดินของมารดาที่มีชื่อร่วมกับน้าชาย พยานสอบถามโจทก์แล้วปรากฏว่าชื่อและนามสกุลของมารดาโจทก์ไม่ตรงกัน โจทก์บอกว่ามารดาโจทก์ไปแต่งงานใหม่และใช้ชื่อสกุลของสามีเนื่องจากที่ดินมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน พยานแนะนำให้โจทก์ไปร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดก ต่อมาศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของมารดา โจทก์นำคำสั่งศาลมาจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน พยานเรียกจำเลยมาและแนะนำให้จำเลยแบ่งที่ดินตามสิทธิที่มีอยู่คนละครึ่ง จำเลยไม่ยอมแบ่งโดยอ้างว่าดูแลมาแทนมารดาโจทก์ พยานจึงแนะนำโจทก์ให้ไปใช้สิทธิทางศาล ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์เป็นบุตรนางศรีหรือสีเพราะไม่มีหลักฐานมายืนยัน เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน โจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลมาเบิกความแล้วยังมีพยานเอกสารคือ สำเนาคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ สำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือรับรองของนายอำเภอประทาย มานำสืบประกอบเพื่อยืนยันว่าโจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสี และนางศรี ผันกระโทก กับนางศรี พันกระโทก เป็นบุคคลคนเดียวกับนางสี พันกระโทก พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสี พันกระโทก จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนางศรีหรือสีเมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ก่อนถึงแก่ความตาย นางศรีหรือสี ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นางศรีหรือสีออกไปจากภูมิลำเนาโดยแสดงเจตนาชัดแจ้งขอสละที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทำกินโดยไม่ขอเกี่ยวข้องแต่อย่างใด จนกระทั่งนางศรีหรือสีถึงแก่ความตาย จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยมิได้ครอบครองแทนบุคคลอื่นนั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนางศรีหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองไว้แทนนางศรีหรือสีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเกี่ยวกับนางศรีหรือสี จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกร้องขอแบ่งปันมรดกแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการส่อเจตนาชัดแจ้งว่าโจทก์ขอสละมรดกของเจ้ามรดก ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรี หรือสีผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนางศรีหรือสี ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางศรีหรือสี เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

( ศุภชัย สมเจริญ - โนรี จันทร์ทร - ธนพจน์ อารยลักษณ์ )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-03-28 13:53:49


ความคิดเห็นที่ 4 (2431404)

ความเห็นที่ 4

กรณีที่ยังไม่ตาย คือว่าสมบัติเหลือ 2 อย่าง และมีลูก 2 คน สมบัตินั้นคือบ้านกับห้องแถว แต่ผู้เป็นแม่ได้ขายอย่างอื่นไปหมดแล้วเหลือ 2 อย่างที่ควรจะเป็นของลูก แต่แม่ก็ยังจะขายบ้านอีก แล้วอย่างนี้จะเรียกร้องในสมบัติที่เหลือเพียง 2 อย่างได้หรือไม่ และลูกๆก็โต อายุเกิน 20 หมดแล้ว ควรทำอย่างไรช่วยตอบทีนะคะ

คำตอบ  -  กรณีที่บิดามารดายังไม่เสียชีวิต ยังเหลือทรัพย์สินอีก 2 รายการ เป็นบ้านและห้องแถว มีบุตร 2 คน มารดาได้ขายทรัพย์สินอย่างอื่นไปหมดแล้ว บุตรทั้งสองคนจะเรียกร้องในทรัพย์สินของมารดาได้หรือไม่? บุตรอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว ควรทำอย่างไร?

เมื่อบิดา มารดา เจ้าของทรัพย์จะจำหน่าย ขาย โอนให้แก่ผู้ใด เป็นสิทธิขาดของเจ้าของทรัพย์ ลูก ๆ ไม่มีสิทธิในทรัพย์ของบิดา มารดา ที่ยังมีชิวิตอยู่ เว้นแต่ บิดา มารดา จะยกให้โดยเสน่หาครับ ไม่ว่าลูก ๆ จะมีอายุเท่าใด ก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของผู้มีชีวิตอยู่ครับ ความเป็นบิดา มารดา ไม่เป็นเหตุที่บุตรจะอ้างเอาทรัพย์สินของพ่อแม่นะครับ เขาจะขายก็เป็นสิทธิของเขาครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-11-20 08:27:48



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล