ReadyPlanet.com


ขอความกรุณาเรื่องอายุความ รถเฉี่ยว ชน หน่อยครับ


วันที่ 1มิถุนายน 2550 ผมได้ขับรถเฉี่ยว กับรถ TOYOTA เขาเฉี่ยวตรงหน้าไฟด้านหน้ารถผม

รถผมไฟแตกนิดหน่อย ส่วนรถเขา มาเร็ว รถหมุนไปชนกับรถ อีซุซุ พังทั้คู่ ตำรวจบอกว่าผมผิด

เพราะตรงนั้มันอยู่กลางถนน ไม่ใช่ที่เรี้ยว รถผมมีแต่ พ ร บ รถผวกเขามี ประกันชั้น1 เขาให้ผมจ่ายให้เขา

ผมไม่มีให้เขา รถผม ก็เก่าแล้ว พอดีบริษัทปะกัน ของรถ โตโยต้า ล้มละลายเจ่ง เรื่องก็เงียบไป ขาด 2 ปี ไม่ถึงเดื่อน อยากทราบว่า วันนี้ ปะกัน รถอีซุซุ ส่งจดหมายทวงจะเอาเงินกับผม ผมไม่รุ้จะทำอย่างไง

 อยาถาม คดีหมดอายุความหรือยัง ครับ  จะแก้ไขอย่างไร ขอความกรุณาช่วยตอบให้ผม ได้พอนอนหลับได้นะครับ



ผู้ตั้งกระทู้ คนอยากจน :: วันที่ลงประกาศ 2009-04-25 20:50:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1929866)

ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิด

มาตรา 420    ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

มาตรา 448    สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการ ละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับ แต่วันทำละเมิด

แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิด มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมา นั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

 

-------- เมื่อบริษัทประกันภัย ได้ซ่อมรถยนต์ให้กับคู่กรณีแล้ว มีสิทธิรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับคุณผู้ทำละเมิดได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันทำละเมิดหรือรู้ตัวผู้ทำละเมิด

ในกรณีของคุณเขารู้ตัวผู้กระทำละเมิดเกิน 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2542

 

 

เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์จากนายไพศาลได้ซ่อมรถยนต์ให้นายไพศาลผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่นายไพศาลมีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อสิทธิของนายไพศาลที่จะฟ้องคดีนี้มีกำหนดอายุความ 1 ปี โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของนายไพศาลจึงย่อมมีอายุความ 1 ปีเช่นเดียวกัน

 

ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลย ในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 56,152 เจ้าของรถยนต์ที่จำเลยขับชนได้รับ ความเสียหายย่อมมิใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56,152 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนเจ้าของรถยนต์ ดังนี้ การที่เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ย่อมมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์จากพ.เจ้าของรถยนต์ที่ถูกจำเลยขับชนได้ซ่อมรถยนต์ให้พ.ผู้เอาประกันภัยแล้วจึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่พ.มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อสิทธิของพ.ที่จะฟ้องคดีนี้มีกำหนดอายุความ 1 ปี โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของพ.จึงย่อมมีอายุความ 1 ปี เช่นเดียวกัน ดังนี้ แม้โจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยเมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีอาญาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2535แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 จึงล่วงพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองในกรณีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด การกระทำละเมิดนั้นต้องเป็นความผิดอาญาด้วย ฉะนั้น ผู้ที่ถูกกระทำละเมิดที่จะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)ในความผิดอาญาที่ผู้กระทำละเมิดได้กระทำต่อผู้ถูกกระทำละเมิด

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน83-1798 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน83-8746 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ฉ-4983 กรุงเทพมหานครจากนายไพศาล เทียนอุดม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2534จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 จอดรถโดยไม่จัดให้มีแสงไฟและเครื่องหมายแสดงแก่รถยนต์คันอื่นให้เห็นว่ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับจอดอยู่ตามที่กฎหมายกำหนดนายสวาท ก้อนมณี ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนดังกล่าวในทิศทางเดียวกันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยชนท้ายรถพ่วงดังกล่าว นายสวาทถึงแก่ความตายและรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายหลายรายการ พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วฟ้องจำเลยที่ 1เป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2536 ศาลจังหวัดสีคิ้วมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี โจทก์ได้ซ่อมรถยนต์ที่รับประกันภัยให้อยู่ในสภาพเดิมสิ้นเงินไป 358,140 บาท จึงรับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 382,015 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 358,140 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 268,605 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับช่วงสิทธิ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ฉ-4983 กรุงเทพมหานคร จากนายไพศาล เทียนอุดม มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2535 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2534 เวลาประมาณ2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน83-1798 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน83-8746 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนธนรัชต์ มุ่งหน้าไปทางเขาใหญ่ครั้นขับถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 เครื่องยนต์ของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับขัดข้อง รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับจึงจอดอยู่บนถนนดังกล่าว ครั้นเวลา 23 นาฬิกา นายสวาท ก้อนมณีขับรถยนต์ของนายไพศาลที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนดังกล่าวมุ่งหน้าไปทางเขาใหญ่ เมื่อนายสวาทขับรถยนต์ถึงที่จำเลยที่ 1จอดรถยนต์บรรทุกไว้ได้ชนท้ายรถพ่วงที่จำเลยที่ 3 จอดดังกล่าวเป็นเหตุให้นายสวาทถึงแก่ความตายและรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายพนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วได้ฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลจังหวัดสีคิ้วเป็นคดีอาญาในข้อความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และความผิดฐานจอดรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับพร้อมรถพ่วง ซึ่งเครื่องยนต์ของรถขัดข้องในทางเดินรถในลักษณะที่กีดขวางการจราจร และจำเลยที่ 1 ไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 849/2536 คดีอาญาดังกล่าวเสร็จเด็ดขาดโดยศาลจังหวัดสีคิ้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษในข้อความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุก 1 ปี

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่ขาดอายุความเพราะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องนำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับเห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 849/2536 ของศาลจังหวัดสีคิ้วที่พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสวาทถึงแก่ความตายและความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56,152 นั้น นายไพศาล เทียนอุดม เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน4ฉ-4983 กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้นายสวาทถึงแก่ความตายส่วนข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 56, 152 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนี้ นายไพศาลเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ฉ-4983 กรุงเทพมหานครจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วฟ้องคดีแทนนายไพศาล ดังนั้น แม้นายไพศาลจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองก็มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์จากนายไพศาลได้ซ่อมรถยนต์ให้นายไพศาลผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่นายไพศาลมีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อสิทธิของนายไพศาลที่จะฟ้องคดีนี้มีกำหนดอายุความ 1 ปี โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของนายไพศาลจึงย่อมมีอายุความ 1 ปีเช่นเดียวกัน แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่า เป็นจำเลยที่ 1เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดสีคิ้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2535 กับได้ความทางนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดก่อนหน้านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่15 พฤศจิกายน 2536 ฉะนั้น นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2535 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงล่วงพ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

ที่โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองมิได้บัญญัติว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองบัญญัติว่า "แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ฯลฯ" ซึ่งมีความหมายว่าในกรณีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด และการกระทำละเมิดนั้นเป็นความผิดอาญาด้วย ฉะนั้น ผู้ที่ถูกกระทำละเมิดที่จะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ในความผิดอาญาที่ผู้กระทำละเมิดได้กระทำต่อผู้ถูกกระทำละเมิด

พิพากษายืน

( อภิศักดิ์ พรวชิราภา - กนก พรรณรักษา - วิชา มั่นสกุล )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-25 22:18:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล