ReadyPlanet.com


ฟ้องขอเปิดทางจำเป็น


ถ้าที่ดินที่เราถือคลองมิได้มีการระบุบนโฉนดว่ามีด้านได้ด้านหนึ่งติดทางสาธารณะประโยชน์...รวมถึงในความเป็นจริงมันก็เป็นที่ดินว่างเปล่า-กับพื้นที่ที่เป็นน้ำเท่านั้นซึ่งไม่มีทางออกเลย..เราก็น่าจะสามารถฟ้องขอทางจำเป็นได้ (หมายถึงด้านหน้าของที่ดินผม) เพราะด้านหน้ามีการตัดถนนสาธารณะ.ซึ่งมีที่ดินของบุคคลอื่นปิดทางอยู่ประมาณ 3 เมตร (ได้มีการเจรจาขอซื้อแล้ว แต่ไม่สำเร็จ)  ในขณะที่โฉนดรวมของกรมที่ดิน..มีเส้นแบ่งระหว่างที่ดิน2แปลงซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางจำเป็นร่วม..หรือ..เป็นทางสารณะ..แต่ก็ไม่ได้มีการระบุที่ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นพื้นที่อะไร (หมายถึงด้านหลังของที่ดินผม) เช่นนี้แล้วผมสามารถฟ้องร้องขอทางออกจำเป็นได้หรือไม่ ขอความกรุณาในคำแนะนำด้วยครับ..ขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ มีชัย :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-09 12:45:11


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1935276)

ต้องพิจารณาดังนี้

1.  ถ้าหน้าที่ดินที่มีเขตติดต่อกับพื้นน้ำและพื้นน้ำนั้นไม่มีเขตติดต่อกับทางสาธารณะหรือมีเขตติดต่อแต่มีลักษณะเป็นสระ บึง ทะเล หรือมีระดับพื้นดินกับพื้นน้ำสูงต่ำกว่ากันมาก

2. เส้นแบ่งระหว่างที่ดิน 2 แปลง ซึ่งอาจเป็นทางสาธารณะ หรือไม่

ที่ดินของคุณอาจมีทางออกได้โดยทางน้ำตามข้อ 1 หรือทางสาธารณะตามข้อ 2  หรือไม่นั้นคงต้องไปหาข้อมูลมาก่อนฟ้อง มิฉะนั้นคุณอาจเสียเงินเสียเวลาในการดำเนินคดีโดยไม่จำเป็นก็ได้  การใช้สิทธิทางศาลนั้นมีขึ้นสำหรับบุคคลทุกคนโดยผลของกฎหมายอยู่แล้ว แต่ผลของคดีต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าแพ้คดีคุณอาจต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยที่ถูกฟ้องก็อาจเป็นได้ครับ

มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความ เสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 08:48:01


ความคิดเห็นที่ 2 (1935277)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นทางออกที่.ไม่ต้องห้ามในการขอเปิดทางจำเป็นไว้เฉพาะทางออกที่ต้องข้าม สระ บึง ทะเล หรือที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากเท่านั้น ดังนั้นหากที่ดินโจทก์มีทางออกที่มีโคลนเลนในเวลาฝนตก แต่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินโจทก์ก็มิใช่ที่ดินซึ่งตกอยู่ในที่ล้อมอันจะอ้างความจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินของผู้อื่นได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 08:55:09


ความคิดเห็นที่ 3 (1935278)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2240/2525

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ขอให้จำเลยเปิดทางในที่ดินของจำเลยเพื่อให้โจทก์มีทางเดินออกสู่ทางสาธารณะ โดยโจทก์ยินยอมเสียค่าทดแทนให้

จำเลยทั้งหมดให้การทำนองเดียวกันว่า ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์อยู่ติดคลองสาธารณะ ด้านทิศใต้ก็มีทางออกสู่ถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนืออยู่ติดลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งตื้นเขินสามารถใช้เป็นทางเดินสู่ทางสาธารณะได้พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์อยู่ติดลำรางสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขินและใช้เป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า แม้ลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวจะใช้เป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ก็ไม่สะดวกเพราะเวลาฝนตกมีโคลนเลน โจทก์ต้องออกด้วยความยากลำบาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นทางออกที่ไม่ต้องห้ามในการขอเปิดทางจำเป็นไว้ 4 อย่างคือ ทางออกที่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก ส่วนทางออกที่มีโคลนเลนในเวลาฝนตกนั้น หาอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 1349 วรรคสองไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ตกอยู่ในที่ล้อม เพราะมีทางอันแปรสภาพมาจากลำรางสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน เป็นทางเดินออกสู่คลองสามเสน ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้เช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอ้างความจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้

พิพากษายืน

( ทวี กสิยพงศ์ - พินิจ สังขนันท์ - ดุสิต วราโห )


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 08:57:19


ความคิดเห็นที่ 4 (1935281)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7349/2541

เดิมโจทก์เคยใช้ทางเดินตามแนวริมคลองขวางออกไปสู่ถนนสาธารณะ แต่เมื่อทางดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นทางแล้วโจทก์จึงเปลี่ยนมาใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นทางในโครงการของจำเลย จำเลยก็กลับก่อกำแพงปิดกั้นเสียอีกจึงต้องถือว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ซึ่งโจทก์เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทไปสู่ทางสาธารณะได้ ถึงแม้ทางออกซึ่งเป็นทางเดิมนั้นจะไม่มีลักษณะดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองกล่าวคือ ต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากก็ตาม ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและโจทก์มีสิทธิใช้ได้โดยชอบโจทก์จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ แต่โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินรายปี ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย ปรากฏว่าเดิมโจทก์เคยใช้ทางเลียบริมคลองขวางมีความกว้างเพียง 1.50 เมตรการที่โจทก์มาขอใช้ทางจำเป็นมีความกว้างถึง 2.50 เมตรจึงเกินความจำเป็นไป สมควรกำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นมีความกว้าง 1.50 เมตร เท่าทางเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ที่ระบุว่า ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนนจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้นั้น หมายความว่าผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นอาจชำระค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายเพราะสร้างถนนครั้งเดียวหรืออาจชำระค่าทดแทนเป็นรายปีก็ได้ หาใช่ว่าเมื่อจำเลยได้รับประโยชน์อย่างอื่นแล้วโจทก์ผู้ใช้ทางจำเป็นก็ไม่ต้องชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยอีกไม่

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตกว้าง 3 เมตร ที่จำเลยสร้างปิดกั้นแนวประตูทางออกจากบ้านของโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16797ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครให้โจทก์ใช้ถนนในที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ดำเนินการเอง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ให้ใช้ถนนในที่ดินของจำเลย การที่โจทก์ใช้ถนนของจำเลยทำให้ลูกค้าของจำเลยไม่ได้รับความสะดวก จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยคิดค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท ส่วนที่จำเลยก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตที่ดินของจำเลย เนื่องจากโจทก์ใช้รถยนต์ผ่านถนนในที่ดินของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิปิดกั้นหากจะต้องเปิดทางให้โจทก์ก็ไม่ควรกว้างเกิน 1 เมตร โจทก์ไม่ได้เสนอค่าทดแทนให้แก่จำเลยขอให้ยกฟ้องและขอให้ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องและใช้ถนนในที่ดินของจำเลยและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ100,000 บาท นับจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าโจทก์และบริวารจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ใช้ถนนในที่ดินของจำเลย โดยโจทก์ไม่เคยจอดรถกีดขวางถนนในที่ดินของจำเลย เพียงแต่ผ่านเข้าออกเท่านั้นไม่ทำให้ลูกค้าของจำเลยไม่ได้รับความสะดวก ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตของจำเลยที่สร้างปิดกั้นทางออกของบ้านโจทก์ โดยให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า1.50 เมตร และยอมให้โจทก์กับบริวารใช้ทางบนที่ดินดังกล่าวของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยโจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินรายปี ปีละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่ายังมีทางเลียบคลองขวางที่โจทก์ใช้ได้อยู่นอกจากจะขัดต่อภาพถ่ายซึ่งเป็นพยานเอกสารที่จำเลยอ้างเองแล้วยังขัดต่อรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้น และต้องถือว่าทางเลียบคลองขวางซึ่งโจทก์ใช้มาแต่เดิมไม่มีสภาพเป็นทางต่อไปแล้ว ทั้งทางพิพาทจำเลยก็ก่อกำแพงปิดกั้นเสียแล้วจึงต้องถือว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ซึ่งโจทก์เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทไปสู่ทางสาธารณะได้ถึงแม้ทางออกซึ่งเป็นทางเดิมนั้นจะไม่มีลักษณะดังนั้นจะไม่มีลักษณะดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง กล่าวคือต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากก็ตาม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาของจำเลยประการต่อมาที่ว่า การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นการละเมิดต่อจำเลยและจำเลยได้รับความเสียหายนั้น เมื่อกรณีฟังได้ดังวินิจฉัยมาข้างต้นว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและโจทก์มีสิทธิใช้ได้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ในส่วนค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้แก่จำเลยเป็นเงินรายปีปีละ 1,000 บาท นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับจำนวนค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงอุทธรณ์มาแต่ค่าเสียหายในเหตุละเมิดเท่านั้น จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยได้อุทธรณ์ในส่วนนี้แล้วโดยอุทธรณ์ว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยเดือนละ 100,000 บาทคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูอุทธรณ์ในข้อ 7 ของจำเลยแล้วไม่ปรากฏถ้อยคำโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดแต่อย่างใด มีแต่ถ้อยคำที่ว่าจำเลยจึงขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร หรือไม่เห็นว่าทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วยจะเห็นได้ว่าเดิมโจทก์ใช้ทางเลียบริมคลองขวางมีความกว้างเพียง 1.50 เมตร การที่โจทก์มาขอใช้ทางจำเป็นมีความกว้างถึง 2.50 เมตร จึงเกินความจำเป็น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นมีความกว้าง 1.50 เมตร นั้นชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่าผลประโยชน์อย่างอื่นที่จำเลยได้รับจะถือว่าเป็นค่าทดแทนการใช้ทางพิพาทของโจทก์อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องจ่ายค่าทดแทนเป็นเงินให้แก่จำเลยอีกหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าการที่โจทก์ไม่ใช้ทางเดินตรงบริเวณที่ดินเลียบริมคลองขวางแต่เปลี่ยนมาใช้ทางพิพาทแทน ย่อมทำให้จำเลยได้ประโยชน์เช่นกันโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินรายปี ปีละ 1,000 บาท อีกนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ บัญญัติถึงเรื่องค่าทดแทนไว้ว่า "ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้"ย่อมหมายความว่าผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นอาจชำระค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายเพราะสร้างถนนครั้งเดียวหรืออาจชำระค่าทดแทนเป็นรายปีก็ได้ หาใช่เป็นเรื่องว่าเมื่อจำเลยได้รับประโยชน์อย่างอื่นแล้วโจทก์ผู้ใช้ทางจำเป็นก็ไม่จำต้องชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยอีกดังโจทก์อ้างไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน

( สมลักษณ์ จัดกระบวนพล - ผล อนุวัตรนิติการ - ไพศาล เจริญวุฒิ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 09:19:53


ความคิดเห็นที่ 5 (1935282)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773 - 1782/2538

 

ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ปิดล้อมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบจนไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ เมื่อเดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6กับที่ดินของจำเลยทั้งสี่เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่สามารถออกไปสู่ทางสาธารณะได้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 10 มีที่ดินของจำเลยทั้งสี่ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 10จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้ และการที่ศาลสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันก็เพื่อความสะดวกในการพิจารณาเท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบในแต่ละสำนวนถูกที่ดินของจำเลยทั้งสี่ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ทั้งสิบในแต่ละสำนวนตามความจำเป็นได้

 

คดีทั้งสิบสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน

โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า เดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ดินของจำเลยทั้งสี่เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน คือที่ดินโฉนดเลขที่ 6351 เลขที่ดิน 33 เนื้อที่33 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา ซึ่งนางบุญเหลือ มะโนรมย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินของโจทก์ที่ 7 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่6346 เลขที่ดิน 28 ซึ่งนางเปลว ชุมรักษา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และที่ดินของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 10 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่6347 เลขที่ดิน 27 ซึ่งนางพุ่ม ภู่กัน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อมาเมื่อประมาณปี 2501 คณะกรรมการกองสวัสดิการสงเคราะห์ได้รับความยินยอมจากนางบุญเหลือ นางเปลวและนางพุ่มให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 6351, 6346 และ 6347 ไปจัดสรรที่ดินเป็นแปลง ๆเพื่อแบ่งขายให้แก่ข้าราชการและบุคคลทั่วไป คณะกรรมการได้ทำถนนภายในที่ดินจัดสรรกว้างประมาณ 5 เมตร เพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินใช้เป็นทางออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ติดกับถนนภายในที่ดินจัดสรรสาย 1 ที่ดินของโจทก์ที่ 3 และที่ 8 ติดกับถนนสาย 2 ที่ดินของโจทก์ที่ 4 และที่ 9 ติดกับถนนสาย 3 ที่ดินของโจทก์ที่ 5 ที่ 6 และที่ 10 ติดกับถนนสาย 4 ขณะนั้นทางราชการวางแนวถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไว้เป็นแนวกว้าง 120 เมตร โดยทางราชการจะทำถนนกว้าง 40 เมตร ส่วนที่เหลือจะใช้ปลูกสร้างอาคารสงเคราะห์ริมถนน 2 ข้าง ข้างละ 40 เมตร แต่คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินสร้างพุทธมณฑลเห็นว่าควรลดความกว้างของถนนพุทธมณฑลสาย 4 เหลือเพียง50 เมตร ที่ดินซึ่งกันไว้ส่วนที่เหลือให้คืนแก่เจ้าของเดิม ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6351 รวม 7 ไร่เศษต่อมาเจ้าของที่ดินขายที่ดินจำนวน 7 ไร่เศษให้แก่จำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 4 นำที่ดินแปลงนี้ไปแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ แล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี 2528 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันสร้างรั้วคอนกรีตปิดกั้นที่ดินของโจทก์ทั้งสิบในที่ดินจัดสรรของคณะกรรมการกองสวัสดิการสงเคราะห์ทั้งหมดยาวตลอดแนวของที่ดินตามแนวเส้นสีเหลืองในแผนที่สังเขป ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบถูกปิดล้อมไม่สามารถออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบได้รับความเสียหาย จำต้องขอให้เปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ตลอดแนวไปสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6ไม่ต้องเสียค่าทดแทนโจทก์ทั้งสิบได้ขอให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นกว้าง5 เมตร โดยตลอดทางจำเป็นจนกระทั่งออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตามแผนที่สังเขป โดยให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนภารจำยอมเปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ทั้งสิบต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมหากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมไปจดทะเบียนภารจำยอมเปิดทางจำเป็นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่

จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การเป็นใจความว่า เดิมที่ดินภายในบริเวณจุด ก ข ค ง ตามแผนที่สังเขปเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินจัดสรรของคณะกรรมการกองสวัสดิการสงเคราะห์ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินได้จัดทำถนนสาธารณะกว้างประมาณ 8 เมตร อยู่ทางด้านทิศเหนือของแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้อง ตรงบริเวณแนวจุด ข ค ลึกจากถนนพุทธมณฑลสาย 4 เข้าไปในที่ดินจัดสรรไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตรรถยนต์แล่นผ่านเข้าออกได้สะดวก โจทก์ทั้งสิบซื้อที่ดินจากการจัดสรรย่อมมีสิทธิที่จะผ่านถนนดังกล่าวไปออกถนนพุทธมณฑลสาย 4 ได้อยู่แล้วดังนั้นที่ดินของจำเลยทั้งสี่จึงมิได้ไปปิดล้อมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ไม่ว่าจะเสียค่าทดแทนหรือไม่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เปิดทางจำเป็นแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 กว้าง 4 เมตร ตลอดทางจนกระทั่งออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตามลูกศรสีแดงภายในเส้นสีแดงแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยเริ่มจากจุดกากบาทสีแดงผ่านที่ดินจำเลยที่ 1โฉนดเลขที่ 6351 แปลงที่ 1 ผ่านรั้วคอนกรีตที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ร่วมกันสร้าง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรื้อรั้วออกตามแนวเส้นคู่สีแดงผ่านรั้วดังกล่าว ผ่านที่ดินจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่52982 แปลงที่ 2 ผ่านที่ดินจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 52979 ถึง52981 แปลงที่ 3 ถึงที่ 5 ผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 52977ถึง 52978 แปลงที่ 6 และที่ 7 และผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่6351 แปลงสุดท้าย โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนภารจำยอมหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 เปิดทางจำเป็นกว้าง 4 เมตร ตลอดทางจำเป็นแก่โจทก์ที่ 3และที่ 8 จนกระทั่งออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตามลูกศร สีแดงภายในเส้นคู่สีแดงแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยเริ่มตรงจุดกากบาทสีแดงผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 6351 แปลงที่ 1 ผ่านรั้วคอนกรีตที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันสร้างโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4ร่วมกันรื้อรั้วตามแนวเส้นคู่สีแดงที่ผ่านรั้วดังกล่าวผ่านที่ดินจำเลยที่ 4 โฉนดเลขที่ 52948, 49114 แปลงที่ 2 และที่ 3ผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 6351 เป็นแปลงสุดท้าย โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปจดทะเบียนภารจำยอมหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 เปิดทางจำเป็นกว้าง4 เมตร แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 9 ตลอดทางจำเป็นจนกระทั่งออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตามลูกศรสีแดง ภายในเส้นคู่สีแดงแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยเริ่มตรงจุดกากบาทสีแดงผ่านที่ดินจำเลยที่ 1โฉนดเลขที่ 6351 แปลงที่ 1 ผ่านรั้วคอนกรีตที่จำเลยที่ 1 และที่ 4ร่วมกันสร้างโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันรื้อรั้วออกตามแนวเส้นคู่สีแดงที่ผ่านรั้วคอนกรีตดังกล่าว ผ่านที่ดินจำเลยที่ 4โฉนดเลขที่ 49112 ผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 6351 แปลงที่ 1เป็นแปลงสุดท้าย โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 จดทะเบียนภารจำยอมเปิดทางจำเป็นหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 เปิดทางจำเป็นกว้าง 4 เมตรแก่โจทก์ที่ 5 ที่ 6และที่ 10 ตลอดทางจำเป็นจนกระทั่งออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตามลูกศรสีแดง ภายในเส้นคู่สีแดงแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยเริ่มตรงจุดกากบาทสีแดงผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 6351 ผ่านรั้วคอนกรีตที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันสร้างโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4ร่วมกันรื้อรั้วออกตามแนวเส้นคู่สีแดงที่ผ่านรั้วดังกล่าวผ่านที่ดินจำเลยที่ 4 โฉนดเลขที่ 45371 และผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่6351 เป็นแปลงสุดท้าย โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 จดทะเบียนภารจำยอม หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อแรกว่า ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ได้ปิดล้อมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบจนไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะหรือไม่ฝ่ายโจทก์ทั้งสืบนำสืบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบอยู่ติดถนนสาธารณะกว้างประมาณ 5 เมตร ซึ่งถนนดังกล่าวคณะกรรมการจัดสรรได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นทางออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 การที่จำเลยทั้งสี่ก่อรั้วคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์ตลอดแนว เป็นการปิดกั้นทำให้โจทก์ทั้งสิบไม่สามารถออกไปสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้ฝ่ายจำเลยทั้งสี่นำสืบว่าโจทก์ทั้งสิบสามารถที่จะใช้เส้นทางออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ได้โดยไปตามถนนในเส้นสีแดงตามเอกสารหมาย ป.จ.1(ศาลจังหวัดแพร่) ไปทะลุผ่านในเส้นสีแดงหมายเลข 1 บริเวณจุด ค งซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยทั้งสี่ ที่ดินของจำเลยทั้งสี่มิได้ปิดล้อมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบแต่อย่างใด เกี่ยวกับเรื่องถนนสาธารณะในที่ดินจัดสรรและถนนในเส้นสีแดงหมายเลข 1บริเวณจุด ค ง ตามที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสิบสามารถใช้เป็นทางออกสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ได้นั้น ศาลชั้นต้นออกไปเผชิญสืบที่พิพาทและได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพถนนสาธารณะในที่ดินจัดสรรไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2533ว่า บริเวณที่พิพาทมีถนนสาธารณะภายในที่ดินจัดสรร 4 สาย สายที่ 1ศาลไม่สามารถเดินเข้าไปดูได้เพราะที่ดินด้านหลังอาคารพาณิชย์มีสภาพเป็นป่าต้นอ้อ มีต้นมะขามเทศ ปลูกอยู่ โจทก์ทั้งสิบและจำเลยทั้งสี่รับว่าถนนสาธารณะภายในที่ดินจัดสรรทั้งสี่สายนั้นถนนสายที่ 2 เป็นถนนลูกรังที่ดีที่สุด ส่วนถนนอีก 3 สาย มีสภาพเป็นคันดินไม่เป็นถนนอีกแล้ว โดยเฉพาะถนนสายที่ 3 เมื่อดูแล้วเป็นแนวคันดินที่มีพงหญ้ากว้างประมาณ 5 เมตร ไม่มีสภาพเป็นถนนรถยนต์แล่นเข้าออกไม่ได้ สุดถนนด้านทิศใต้ไปทางที่ดินของโจทก์ที่ 7ไม่มีสภาพเป็นถนนแต่เป็นคันดินรถยนต์แล่นเข้าออกไม่ได้และไม่สามารถใช้รถยนต์ไปออกที่เส้นทางหมายเลข 1 ได้ เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสิบที่นำสืบฟังประกอบกับรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพบริเวณที่พิพาทแล้วเห็นว่า ถนนสาธารณะทั้งสี่สายภายในที่ดินจัดสรรซึ่งที่ดินของโจทก์ทั้งสิบตั้งอยู่นั้นไม่สามารถที่จะออกไปสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 4ทางด้านทิศตะวันตกได้ เพราะติดอาคารพาณิชย์และรั้วคอนกรีตที่จำเลยทั้งสี่สร้างปิดล้อมไว้ และไม่สามารถไปทางทิศตะวันออกเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางทิศเหนือเพื่อออกสู่เส้นทางหมายเลข 1 บริเวณจุด ค งได้เช่นกัน เพราะถนนสาธารณะภายในที่ดินจัดสรรแต่ละสายกลายเป็นคันดินมีพงหญ้าขึ้นไม่มีสภาพเป็นถนนอีกต่อไป พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสิบจึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ได้ปิดล้อมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบจนไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ เนื่องจากเดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ดินของจำเลยทั้งสี่เป็นที่ดินแปลงเดียวกันเมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 7ถึงที่ 10 มีที่ดินของจำเลยทั้งสี่ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 10 มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็น ได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อต่อไปตามที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นถึง 4 สาย ทำให้จำเลยทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ควรให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นเพียงสายเดียวคือทางสายที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่ากรณีนี้เป็นการรวมพิจารณาคดีซึ่งโจทก์ทั้งสิบต่างใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสี่มารวม 10 สำนวน และจำเลยทั้งสี่ในแต่ละสำนวนได้ให้การปฏิเสธแล้วว่าโจทก์ทั้งสิบมีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ ที่โจทก์ทั้งสิบขอมานั้นไม่ใช่ทางจำเป็น เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าควรให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นเพียงสายเดียวคือสายที่ 2 นั้นเห็นว่า โจทก์ทั้งสิบต่างใช้สิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นในแต่ละสำนวน มิได้ขอรวมกันมา ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันก็เพื่อความสะดวกในการพิจารณาเท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบในแต่ละสำนวนถูกที่ดินของจำเลยทั้งสี่ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ทั้งสิบในแต่ละสำนวนตามความจำเป็นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางจำเป็น 4 สาย ให้แก่โจทก์ทั้งสิบนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนภารจำยอมเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 6351, 52982, 52979,52980, 52981, 52977,52978, 52948, 49114, 49112 และ 45371หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เห็นว่าเมื่อฟังว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับจำเลยทั้งสี่เป็นที่ดินแปลงเดียวกันเมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จึงใช้สิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 10 ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสี่ปิดล้อมจนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 10 มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนอีก คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนภารจำยอมเปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ทั้งสิบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( วุฒิ คราวุฒิ - มงคล สระฏัน - อธิราช มณีภาค )

 

 

หมายเหตุ

 

ทางจำเป็นมี 2 กรณีคือ

1. ที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ แต่หากที่ดินนั้นติดทางสาธารณะซึ่งเป็นสระ บึงหรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากเจ้าของที่ดินก็ใช้สิทธิผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้แต่จะต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ซึ่งตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามีข้อน่าสังเกตดังต่อไปนี้

1.1 ที่ดินที่มีความจำเป็นต้องใช้ทางจำเป็นนั้นจะต้องไม่ติดทางสาธารณะหากติดทางสาธารณะก็จะขอทางจำเป็นไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915-2916/2535 ที่ดินโจทก์ติดทางสาธารณะจึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่งและกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 1349 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะผ่านที่ดินของจำเลยได้

1.2 หากที่ดินติดอยู่กับทางสาธารณะ แต่ทางสาธารณะไม่สามารถใช้สัญจรหรือเดินทางได้ เจ้าของที่ดินก็มีสิทธิขอทางจำเป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2529 ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เว้นแต่ทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์และที่ดินแปลงนี้ติดกับคลองทอ อันเป็นคลองสาธารณะ ซึ่งในฤดูฝนน้ำไหลเชี่ยวใช้เรือพายไม่ได้ เดินผ่านไม่ได้ ฤดูแล้งน้ำก็ตื้นเขินใช้เรือไม่ได้ ไม่มีประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว สภาพของคลองทอดังกล่าวแม้จะเป็นคลองสาธารณะที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองดังกล่าวก็ตาม ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิขอผ่านทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่อาจใช้เป็นทางจากที่ดินของโจทก์ไปออกสู่ทางสาธารณะที่ใกล้ที่สุดทางหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5361/2536 คลองโพธิ์หักใช้เป็นทางไปมาไม่ได้เป็นเวลานานแล้ว จึงมิใช่ทางสาธารณะ ที่ดินของโจทก์อยู่ติดคลองโพธิ์หักจึงไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้

1.3 ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับทางสาธารณะ หากแต่มีทางต่อไปจนถึงทางสาธารณะได้ก็ถือเป็นทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3261/2527 ทางจำเป็นหาจำต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรงไม่ ความมุ่งหมายที่สำคัญคือให้ที่ดินที่ถูกล้อมอยู่นั้นมีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ถ้าโจทก์ผ่านทางพิพาทได้โจทก์ก็สามารถใช้รถยนต์ไปตามทางจนในที่สุดไปถึงทางสาธาณะได้ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็น

1.4 ทางจำเป็นนั้นคำนึงถึงเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมอยู่ว่ามีความจำเป็นต้องใช้ทางออกมากน้อยเพียงใด หากจำเป็นต้องใช้รถยนต์ออกก็สามารถขอทางจำเป็นเป็นทางเข้าออกของรถยนต์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2491/2532 ที่ดินโจทก์มีบ้านปลูกอยู่หลายหลัง โจทก์และบุคคลอื่นในที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่อาศัยเดินผ่านบ้านคนรู้จักในที่ดินจำเลย โจทก์กับบริวารจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง

ที่ดินตามแนวที่โจทก์ขอผ่านเป็นทางจำเป็นนั้นเป็นทางที่ใกล้ถนนสาธารณะที่สุดและเกิดความเสียหายแก่ที่ดินจำเลยน้อยที่สุดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องทางจำเป็นนั้น ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ มิได้จำกัดเฉพาะให้ใช้ทางเดินด้วยเท้าแต่อย่างเดียว และตามสภาพการความเจริญของบ้านเมืองทุกวันนี้รถยนต์เป็นพาหนะที่จำเป็น สมควรกำหนดทางจำเป็นกว้าง 4 เมตร ตามแนวที่โจทก์ขอผ่านนั้น

1.5 หากที่ที่ล้อมอยู่นั้นเป็นที่ดินราชพัสดุ ก็ตกเป็นทางจำเป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4452/2533 ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ที่ดินของจำเลยที่ 2อยู่ติดกับถนนสาธารณะและเป็นทางใกล้ที่สุดที่โจทก์อาจใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุตามความจำเป็น ซึ่งรวมถึงสิทธิในการใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้โดยสะดวกด้วย

เมื่อพิจารณาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4452/2533 แล้ว จะเห็นได้ว่าทางจำเป็นนั้นคำนึงถึงเจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ให้สิทธิที่จะขอออกสู่ทางสาธารณะได้ดังนั้นแม้ที่ดินที่ล้อมอยู่จะเป็นที่สาธารณะประโยชน์ของแผ่นดินก็ต้องตกอยู่ในบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349กล่าวคืออาจถูกฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้เช่นกัน

1.6 หากที่ดินถูกล้อมด้วยที่ดินหลายแปลงจึงจะออกไปสู่ทางสาธารณะได้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องฟ้องเจ้าของที่ดินที่ล้อมทุกแปลงให้เปิดทางจำเป็น หากฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งแต่เจ้าของที่ดินแปลงถัดไปไม่ยอมให้ออกสู่ทางสาธารณะก็ไม่สามารถเปิดทางจำเป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2531 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 มิได้บัญญัติว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรง ความมุ่งหมายสำคัญของมาตราดังกล่าวก็เพื่อให้ที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้น ดังนั้นการขอให้เปิดทางจำเป็นปลายทางดังกล่าวหาจำต้องติดทางสาธารณะเสมอไปไม่

โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยเพื่อผ่านออกไปสู่ที่ดินของ ช. ซึ่งเป็นทางที่ติดกับทางสาธารณะ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินของ ช.ได้ เพราะ ช. ไม่ยินยอมให้ใช้ เช่นนี้ ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็น

1.7 หากที่ดินออกสู่ทางสาธารณะแล้ว แม้การใช้จะไม่สะดวกก็ไม่สามารถขอให้เปิดทางจำเป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2240/2525 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคสองบัญญัติยกเว้นทางออกที่ไม่ต้องห้ามในการเปิดทางจำเป็นไว้เฉพาะทางออกที่ต้องข้าม สระ บึง ทะเล หรือที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากเท่านั้น ดังนั้นหากที่ดินโจทก์มีทางออกที่มีโคลนเลนในเวลาฝนตก แต่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินโจทก์ก็ไม่ใช่ที่ดินซึ่งตกอยู่ในที่ล้อมอันจะอ้างความจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินของผู้อื่นได้

1.8 ตามมาตรา 1349 วรรคสี่ กำหนดให้เจ้าของที่ดินที่ถูกผ่านทางมีสิทธิได้รับค่าทดแทนนั้น เมื่อมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นเจ้าของที่ดินที่ถูกขอให้เปิดทางจำเป็นจะต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมา มิฉะนั้นศาลจะสั่งให้มิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2061/2529 โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นและเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด จำเลยและจำเลยร่วมต่อสู้ว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น จำเลยมีสิทธิปิดทางพิพาทการกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดเท่านั้น ประเด็นแห่งคดีไม่มีเรื่องค่าทดแทนอันเกิดจากการใช้ทางจำเป็น จำเลยร่วมจึงชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ในเรื่องนี้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์เสียค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็น (ทางพิพาท) ของโจทก์ให้แก่จำเลยร่วมเจ้าของที่ดินจึงนอกประเด็นแห่งคดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

2. กรณีที่ที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้ เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

2.1 หากที่ดินแปลงเดียวกันมีการแบ่งแยกหลายครั้ง การพิจารณาเปิดทางจำเป็นจะต้องพิจารณาเฉพาะการแบ่งแยกครั้งสุดท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1136/2533 เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ เป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ จึงต้องแปลโดยเคร่งครัด จะแปลโดยอนุโลมหาได้ไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 33092 แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 33092 จะเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินจำเลยมาก่อนก็ตาม จะถือโดยอนุโลมว่าที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินจำเลยด้วยหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะภายในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ 33092 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินจำเลยไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้

2.2 หากมีการแบ่งแยกแล้วที่ดินแปลงที่แบ่งแยกสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ แม้ทางที่ออกสู่ทางสาธารณะนั้นจะเป็นทางจำเป็นก็ตาม ก็จะขอเปิดทางจำเป็นอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2537 ที่ดินของโจทก์อยู่ท้ายซอยสุดของทางพิพาทถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เว้นเสียแต่จะผ่านไปตามทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงทางเดียว ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง

แม้ที่ดินของโจทก์จะเป็นที่ดินที่ ว.ขายให้หลังจากที่ว.แยกโฉนดแบ่งขายให้ ส.ไปส่วนหนึ่งแล้วแต่ขณะที่ว. แบ่งขายที่ดินให้แก่ ส. ก็ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือที่โจทก์ซื้อมามีทางพิพาทใช้ออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ชอบที่จะใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นต่อไปได้ เพราะการแบ่งแยกที่ดินไม่เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1350

2.3 หากมีการแบ่งแยกแล้วที่ดินส่วนที่แบ่งแยกมีทางภารจำยอมออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถขอเปิดทางจำเป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2508 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 เป็นเรื่องให้เจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกซึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินจากเจ้าของที่แบ่งแยกไปได้เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีตรอกพิพาทเป็นทางภารจำยอมออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่ก่อนแล้ว จึงนำเอามาตรา 1350 มาปรับไม่ได้

2.4 ที่ดินที่แบ่งแยกจำต้องเรียกให้เปิดทางจำเป็นเฉพาะที่ดินที่แบ่งแยกมาด้วยกันขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของบุคคลอื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2512 เมื่อก่อนแยกโฉนดที่ดินกันที่ดินโฉนดเลขที่ 7371 ของจำเลยกับโฉนดที่ 7372 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดอื่น ๆ รวมอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 3604 ซึ่งเดิมเป็นของโจทก์กับบุคคลอื่น ดังนั้น แม้โจทก์จะได้เดินในที่ดินซึ่งภายหลังออกเป็นโฉนดที่ 7371 มานานเท่าใด ก็เป็นการใช้สิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์มิใช่เป็นการใช้โดยปรปักษ์อันจะทำให้เกิดภารจำยอมโดยอายุความ

ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมโดยรอบ มีความจำเป็นจะต้องมีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ที่โจทก์เป็นที่ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ 3604โจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องเอาทางเดินจากที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกได้จะเอาทางเดินจากที่ดินแปลงอื่นหาได้ไม่

2.5 เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมจะเลือกทางจำเป็นบนที่ดินแปลงเดิมแปลงใดแปลงหนึ่งที่แบ่งแยกไปก็ได้ตามความจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2522 เดิมมีที่ดินแปลงใหญ่อยู่แปลงหนึ่งเจ้าของได้แบ่งขายและแยกโฉนดไปเรื่อย ๆ จนเหลือที่ดินแปลงเดิมคือ ที่ดินแปลงหมายเลข 6 ซึ่งเป็นของจำเลยแม้ในขณะยื่นฟ้อง พ. มารดาโจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหมายเลข108 และ 122 ซึ่งแบ่งแยกออกมาและอยู่ติดต่อกันแต่ที่ดินทั้งสองแปลงก็เป็นที่ดินคนละโฉนด จะถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันไม่ได้เมื่อที่ดินแปลงหมายเลข 112 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนอกจากผ่านที่ดินแปลงหมายเลข 108 หรือที่ดินแปลงหมายเลข 6 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดิมแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้เปิดทางจำเป็นบนที่ดินแปลงเดิมแปลงใดแปลงหนึ่งที่แบ่งแยกไปได้ตามความจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

3 กรณีทั่ว ๆ ไป สำหรับทางจำเป็นทั้งสองประเภท

3.1 การบรรยายฟ้องในการขอเปิดทางจำเป็นอาจบรรยายรวมมากับสิทธิตามกฎหมายอย่างอื่นซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันได้ไม่ถือเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2530 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ทางพิพาทนอกจากเป็นถนนสาธารณะแล้วยังเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ จำเลยทำรั้วปิดกั้นทางพิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ขอให้รื้อรั้วและทำสภาพที่ดินให้เหมือนเดิม ดังนี้ ข้อหาตามฟ้องคือ จำเลยปิดกั้นทางพิพาทโดยจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายและคำขอบังคับคือ ให้จำเลยรื้อรั้วและทำสภาพที่ดินให้เหมือนเดิมส่วนข้อความที่ว่าทางพิพาทเป็นถนนสาธารณะ เป็นทางภารจำยอม และเป็นทางจำเป็นเป็นเพียงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาต่อไปว่าความจริงเป็นอย่างไรคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดเท่าที่โจทก์จะกระทำได้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

3.2 เจ้าของที่ดินที่ทางจำเป็นผ่านอาจขอให้เปลี่ยนย้ายทางจำเป็นได้ ถ้าไม่ทำให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางต้องเสียความสะดวกในการออกสู่ทางสาธารณะ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2513)

4. การได้สิทธิในการขอเปิดทางจำเป็นนั้น จำเป็นต้องจดทะเบียนหรือไม่ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ทั้งสองแนว คือ

4.1 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยให้จดทะเบียนทางจำเป็น คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2536

4.2 ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวโดยอำนาจของกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนอีก คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2536 รวมทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ด้วย

โจทก์ทั้งสิบในคดีนี้ได้ขอให้เปิดทางจำเป็นและจดทะเบียนภารจำยอมทางจำเป็นมีแง่พิจารณาว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขัดกับคำบรรยายฟ้องหรือไม่ กล่าวคือบรรยายฟ้องว่าเป็นทางจำเป็นแต่ให้จดทะเบียนภารจำยอม แต่เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1387 ซึ่งบัญญัติว่า "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น" จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทางจำเป็นก็เป็นภารจำยอมอย่างหนึ่ง กล่าวคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกทางจำเป็นผ่านจะต้องยอมรับกรรมบางอย่างคือ ยอมให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมรอบอยู่ใช้ทางจำเป็นผ่านอสังหาริมทรัพย์ของตน ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนภารจำยอมทางจำเป็นให้นั้น จึงเป็นคำขอท้ายฟ้องที่สอดคล้องกับคำฟ้อง อย่างไรก็ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2536 ได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่าเมื่อทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอม ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 1387 ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ชัดว่าทางจำเป็นก็คือภารจำยอมอีกประการหนึ่งดังนั้นเมื่อทางจำเป็นเป็นทางภารจำยอมแล้วโจทก์ทั้งสิบซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมรอบย่อมจะฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมรอบอยู่เปิดทางจำเป็นและจดทะเบียนภารจำยอมทางจำเป็นได้ การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่จำต้องจดทะเบียนอีกนั้น มีข้อสังเกตุว่าจะมิชอบด้วยมาตรา 1299 วรรคสองหรือไม่ และปัญหาที่ตามมาก็คือ หากเจ้าของที่ดินที่มีทางจำเป็นผ่าน ได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไป หากบุคคลภายนอกนั้นไม่ยอมรับรู้สิทธิทางจำเป็นเนื่องจากทางทะเบียนไม่ปรากฏหลักฐานในการจดทะเบียนไว้ เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องมาฟ้องร้องเป็นคดีใหม่อีก และหากเป็นกรณีตามมาตรา 1349 ซึ่งเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมต้องเสียค่าทดแทน หากเจ้าของที่ดินคนใหม่ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาอีกเนื่องจากไม่ทราบว่ามีการจ่ายไปแล้วเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าการที่ไม่จดทะเบียนทางจำเป็นให้นั้น สร้างปัญหาในทางปฏิบัติมาก น่าจะถือได้ว่าเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอก็เป็นได้

ศิริชัย วัฒนโยธิน


------มาตรา 1350 ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่ มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้อง เอาทางเดินตาม มาตรา ก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอน กันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 09:21:33


ความคิดเห็นที่ 6 (1935283)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2536

แม้ว่าที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับบริเวณที่ดินที่ พ. ได้อุทิศแบ่งแยกไว้เป็นทางสาธารณะ แต่ที่ดินของพ. บริเวณดังกล่าวมีห้องแถวและสิ่งปลูกสร้างอื่นปลูกอยู่ก่อนแล้วไม่อาจใช้สัญจรออกไปสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินบริเวณที่ พ. แบ่งไว้จึงเป็นที่ดินซึ่งประชาชนทั่วไป และโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในการสัญจรหรือการจราจรได้จริง ที่ดินของโจทก์จึงถูกที่ดินแปลงอื่นปิดกั้นไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ตามสภาพที่เป็นจริง ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นที่พิพาทผ่านที่ดินของจำเลยไปออก สู่ทางสาธารณะที่ใช้สัญจรไปมาตามความเป็นจริงได้ ภายหลังแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินมีโฉนด ออกมาเป็นโฉนดแปลงย่อยของโจทก์ของจำเลย และแปลงอื่น ๆ ทำให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกมามีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันออกมา ไปสู่ทางสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีของนางศิริพงษ์ โจทก์และนางศิริพงษ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ดินดังกล่าว มีบ้านเลขที่ 834 ปลูกอยู่ นางศิริพงษ์ ถึงแก่กรรมโจทก์ในฐานะทายาทเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกของนางศิริพงษ์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13702 อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันโดยเป็นกรรมสิทธิ์รวมของบุคคลอื่นหลายคน ต่อมาที่ดินได้แบ่งแยกออกเป็นหลายแปลง และที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตกมาเป็นของโจทก์ นางศิริพงษ์ และจำเลยเนื่องจากการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนหลังพลับพลาหรือศรีปราชญ์อันเป็นทางสาธารณะได้ จากที่ดินของโจทก์ หากจะออกสู่ทางสาธารณะดังกล่าวจะต้องเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 13702 ของจำเลย ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมจนกระทั่งถึงโจทก์ก็ใช้เส้นทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 1.50 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2530 จำเลยได้ปักเสาซีเมนต์และขึงลวดหนามปิดกั้นทางดังกล่าวตรงบริเวณปากทางเข้าออกบ้านเลขที่ 834 โดยเจตนาจะขัดขวางการใช้ทางของโจทก์และบริวารขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 1.50 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินโฉนดเลขที่ 13702 ของจำเลยตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้โจทก์และบริวารมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวตลอดไปให้จำเลยรื้อถอนทำลายสิ่งปิดกั้นให้ทางพิพาทกลับคืนสู่สภาพเดิม และห้ามมิให้จำเลยรื้อถอนทำลายสิ่งปิดกั้นให้ทางพิพาทกลับคืนสู่สภาพเดิม และห้ามมิให้จำเลยหรือบริวารกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางดังกล่าวต้องลดหรือเสื่อมความสะดวกอีกต่อไป

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่13702 โจทก์มิได้เป็นผู้ปกครองทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของนางศิริพงษ์มิได้เป็นทายาทเพียงลำพังคนเดียวของนางศิริพงษ์ทั้งมิได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ปกครองทรัพย์รวมโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ไม่ได้ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ เพราะด้านทิศตะวันออกของที่ดินติดต่อกับทางสาธารณะและยังมีทางออกด้านทิศใต้ไปสู่ทางสาธารณะได้โจทก์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับทางสาธารณะจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นคดีนี้ ทางจำเป็นที่โจทก์ขอเปิดเป็นการขอที่เกินพอแก่ความจำเป็นและสร้างความเสียหายแก่ที่ดินของจำเลย และโจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนความเสียหายตามราคาท้องตลาดขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางกว้าง 90 เซนติเมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13702 ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราชยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลย ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ โดยเริ่มจากแนวประตูบ้านเลขที่ 834 ในขณะนี้ไปจนถึงหลักเขตที่ ฆ.2283 ไปถึงหลักเขตที่ ฆ.2288 และจากหลักเขตที่ฆ.2288 เลียบไปตามแนวที่ดินของจำเลยด้านทิศเหนือจนถึงถนนหลังพลับพลา ให้โจทก์และบริวารมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวได้ตลอดไป โดยไม่ต้องใช้ค่าทดแทน ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นกีดขวางทางดังกล่าวออกไป ห้ามจำเลยและบริวารกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ทางดังกล่าวลดหรือเสื่อมความสะดวก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยแถลงรับกันตามคำร้องลงวันที่ 4 มิถุนายน 2530 และวันที่ 10 มิถุนายน 2530 และตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่3 กุมภาพันธ์ 2530 ที่ศาลเดินเผชิญสืบที่พิพาทในชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ ได้ความว่า เดิมที่ดินของโจทก์จำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ภายหลังมีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง ทำให้ที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หลังจากมีการตรวจสอบหลักฐานทางสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว โจทก์ทราบว่า มีทางสาธารณะอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกจริงโดยนายไพศาล ฮาลาบี เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2518 ได้ขอแบ่งแยกโฉนดออกหลายแปลงและแบ่งเป็นทางสาธารณะเมื่อปี 2521 ทางสาธารณะดังกล่าวมีห้องแถว 9 ห้อง และสิ่งปลูกสร้างเมื่อปี 2514 บุคคลทั่วไปไม่สามารถเดินในทางสาธารณะดังกล่าวได้ โจทก์เพิ่งทราบว่ามีทางสาธารณะเมื่อฟ้องคดีแล้วดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับที่ดินที่นายไพศาลได้แบ่งแยกเป็นทางสาธารณะแต่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเดินในที่ดินบริเวณนี้ได้ เพราะมีห้องแถวและสิ่งปลูกสร้างอื่นมาปิดกั้นไว้ตั้งแต่ปี 2514 ตลอดมาตามแผนที่เอกสารหมาย ล.1 ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะตามสภาพที่เป็นจริงโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามฎีกาจำเลยประการที่สองมีว่า การแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องลงวันที่ 10 มิถุนายน 2530โจทก์จำเลยรับกันว่าภายหลังแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 537 ออกมาเป็นโฉนดย่อยเลขที่ 13703 ของโจทก์และ 13702 ของจำเลยและแปลงอื่น ๆ ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย จำเลยจะยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ว่าที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันออกมีทางสาธารณะอยู่ก่อนแล้วเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยรับกันและศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2530 แล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการที่สามว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ และควรกำหนดทางจำเป็นหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับทางสาธารณะตามแผนที่เอกสารหมาย ล.1 จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ทำรั้วปิดกั้นไว้จึงไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องลงวันที่ 10 มิถุนายน 2530 ของโจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงร่วมกันซึ่งศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 มิถุนายน 2530ความว่า ภายหลังตรวจสอบหลักฐานทางสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ทราบว่ามีทางสาธารณะอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่13703 ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกจริง โดยทางดังกล่าวนายไพศาล ฮาลาปี เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2518 ได้ขอแบ่งแยกโฉนดเป็นหลายแปลงและแบ่งเป็นทางสาธารณะเมื่อปี 2521 ก่อนโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 มา ซึ่งในขณะแบ่งแยกนั้นในทางสาธารณะที่อยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 มีห้องแถวเลขที่ 846/17-846/25 รวม 9 ห้อง และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ปลูกสร้างอยู่ในทางสาธารณะดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ก่อนการแบ่งแยกโดยปลูกสร้างเมื่อปี 2514 ทำให้เจ้าของโฉนดเลขที่ 13703 และบุคคลทั่วไปไม่สามารถเดินในทางดังกล่าวนั้นได้จนบัดนี้ ซึ่งโจทก์เพิ่งทราบว่า มีทางสาธารณะเมื่อฟ้องคดีไปแล้ว แสดงว่าขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลย โจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับทางสาธารณะที่นายไพศาลได้อุทิศไว้ และโจทก์เพิ่งทราบว่ามีทางสาธารณะเมื่อฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงใช้สิทธิโดยสุจริตในการฟ้องจำเลย มีปัญหาว่าควรกำหนดเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับบริเวณที่ดินที่นายไพศาลได้อุทิศแบ่งแยกไว้เป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากทางราชการออกโฉนดแปลงของโจทก์ แต่ที่ดินของนายไพศาลบริเวณดังกล่าวมีห้องแถว 9 ห้อง และสิ่งปลูกสร้างอื่นปลูกอยู่ก่อนแล้ว ไม่อาจใช้สัญจรออกไปสู่ทางสาธารณะถนนหลังพลับพลาได้ที่ดินบริเวณที่นายไพศาลแบ่งไว้จึงเป็นที่ดินซึ่งประชาชนทั่วไปและโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในการสัญจรหรือการจราจรได้จริง ที่ดินของโจทก์จึงถูกที่ดินแปลงอื่นปิดกั้นไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ตามสภาพที่เป็นจริง ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349โจทก์ย่อมมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นที่พิพาทผ่านที่ดินของจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะที่ใช้สัญจรไปมาตามความเป็นจริงได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ต้องเสียค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นแก่จำเลยหรือไม่ ปรากฏว่าตามคำร้องลงวันที่ 10 มิถุนายน 2530 โจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงกันว่า ภายหลังแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 537 ออกมาเป็นโฉนดแปลงย่อยเลขที่ 13703 ของโจทก์และ 13702 ของจำเลยและแปลงอื่น ๆทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่13703 ที่ถูกแบ่งแยกออกมามีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้จากที่ดินที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันออกมาไปสู่ทางสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( เจริญ นิลเอสงฆ์ - สะสม สิริเจริญสุข - บุญธรรม อยู่พุก )

 

หมายเหตุ

ทางจำเป็น เป็นการจำกัดสิทธิในการใช้ทรัพย์สินของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยเจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้มีสิทธิผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดแปลงหนึ่งที่ใกล้ทางสาธารณะที่สุดออกไปสู่ทางสาธารณะได้ และแม้จะมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม ถ้าต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก เจ้าของที่ดินนั้นก็มีสิทธิผ่านที่ดินที่ล้อมออกสู่ทางสาธารณะได้เช่นเดียวกัน

เกี่ยวกับทางออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งต้องข้ามสระ บึงหรือทะเลหรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากนี้ เหตุที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าของที่ดินมีสิทธิผ่านที่ดินที่ล้อมออกสู่ทางสาธารณะได้เนื่องจากคำนึงถึงความยากลำบาก หรือขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะในการสัญจรได้ตามปกติธรรมดา

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งวินิจฉัยถึงทางสาธารณะมีดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2515 ลำห้วยซึ่งตื้นเขินใช้เป็นทางสัญจรไม่ได้ไม่ถือว่าเป็นทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349

โจทก์จำเลยรับกันว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในที่ล้อม ไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้นอกจากทางเหนือที่ดินโจทก์ที่จดลำห้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ตื้นเขินใช้เป็นทางสัญจรไม่ได้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ติดที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้เพื่ออกสู่ทางสาธารณะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2516 ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับคลองห. นอกจากลำคลองนี้แล้ว ไม่มีทางสาธารณะอื่นที่โจทก์จะออกไปสู่ถนน อ. อันเป็นทางสาธารณะได้ ตามธรรมดาย่อมถือว่าแม่น้ำลำคลองเป็นทางสาธารณะหรือทางหลวง แต่ปรากฏว่าคลอง ห.นี้หาได้มีน้ำที่จะใช้เป็นทางสัญจรทางเรือตลอดเวลาไม่ เพราะบางฤดูน้ำแห้ง และน้ำในคลองขุ่นเป็นน้ำครำ บ่งว่าได้ตื้นเขินไปมากแล้วประชาชนที่ปลูกบ้านอยู่สองฟากคลองก็มิได้ใช้เป็นทางสัญจร มีแต่แม่ค้าพายเรือขายของบ้างเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าคลอง ห. นี้เป็นทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์จึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ออกไปสู่ถนน อ. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2529 ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เว้นแต่ทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์และที่ดินแปลงนี้ติดกับคลอง ท. อันเป็นคลองสาธารณะ ซึ่งในฤดูฝนน้ำไหลเชี่ยวใช้เรือพายขึ้นไม่ได้ เดินผ่านไม่ได้ ฤดูแล้งน้ำก็ตื้นเขินใช้เรือไม่ได้ ไม่มีประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลาถึง 20 ปี แล้ว สภาพของคลอง ท. ดังกล่าวแม้จะเป็นคลองสาธารณะที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน และโจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองดังกล่าวก็ตาม ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิขอผ่านทางพิพาท ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่อาจใช้เป็นทางจากที่ดินของโจทก์ไปออกสู่ทางสาธารณะที่ใกล้ที่สุดทางหนึ่งได้

ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คลองหรือลำห้วยซึ่งติดกับที่ดินที่ถูกล้อมนั้นมีสภาพที่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นกรณีที่ที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349วรรคแรก แต่ในคดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรก ในทางที่กว้างขึ้นกล่าวคือ แม้ที่ดินจะติดกับทางสาธารณะ แต่หากทางสาธารณะนั้นไม่อาจใช้ประโยชน์ในการสัญจรได้ตามสภาพที่เป็นจริง เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นไปออกสู่ทางสาธารณะที่ใช้สัญจรไปมาตามความเป็นจริงได้

กรกันยากันยะพงศ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3428/2525

ที่ดินที่ถูกล้อมมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ต้องข้ามคูน้ำกว้างประมาณ 4-5 เมตร มิใช่สระหรือบึงกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1349 วรรคสอง เจ้าของที่ดินดังกล่าวจึงฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นหาได้ไม่

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 และ 19069 ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ในการเดินทางออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะต้องผ่านที่ดินโฉนดที่ 541 ของจำเลยซึ่งเป็นถนนอยู่แล้วเพื่อไปออกสู่ถนนสาธารณะ ขอให้บังคับให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ของจำเลยตกเป็นทางจำเป็นของที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง ห้ามจำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางจำเป็นของโจทก์และบริวาร

จำเลยให้การที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือติดถนนซึ่งติดกับซอยอุดมเดชใช้เป็นทางเข้าออกได้สะดวก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ของจำเลยจากโจทก์จำเป็นต้องใช้ถนนของจำเลย โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทน ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 541 ตกเป็นทางจำเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 ตามแนวที่กำหนดไว้ในแผนที่พิพาท ทั้งนี้โดยให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยในอัตรา ไร่ละ 3,500 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนในอัตราไร่ละ 5,000 บาท ต่อจำนวนเนื้อที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 2720 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์, จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นออกไปเดินเผชิญสืบจำเลยได้ชี้ให้โจทก์ออกทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมีที่ดินของนางจำปี เหมือนเดช คั่นอยู่ โจทก์แถลงว่าสุดถนนที่นางจำปีทำขึ้นจะติดต่อกับซอยอุดมเดชมีคูน้ำคั่นอยู่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ตรวจดูแล้วปรากฏว่าคูดังกล่าวกว้างประมาณ 4-5 เมตร มีสะพานไม้กว้างประมาณ1 เมตรสำหรับคนเดินข้ามและที่ดินของนางจำปีมีอาณาเขตติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 เมื่อจำเลยนำชี้ว่าที่ดินตามรูปเส้นสีน้ำเงิน เป็นถนน และเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็กล่าวว่าหากโจทก์ใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เป็นเส้นทางผ่านไปสู่ทางสาธารณะแล้วย่อมจะไม่สะดวกอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่ามีเส้นทางติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 ของโจทก์ทางด้านที่จำเลยนำชี้ดังกล่าวข้างต้น แต่การที่โจทก์จะไม่ใช้เส้นทางดังกล่าวกรณีจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติบังคับไว้ว่า "ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสุดถนนของนางจำปีเป็นคูกว้างประมาณ 4-5 เมตร มิใช่สระหรือบึง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองบัญญัติไว้ รูปคดีจึงไม่มีทางบังคับให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

( ประสาท บุณยรังษี - ไพบูลย์ ไวกาสี - ชูเชิด รักตะบุตร์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2523

ที่ดินที่โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและตกลงจะทำการแบ่งแยกนั้น ส่วนของโจทก์อยู่ติดแม่น้ำ ส่วนของจำเลยอยู่ติดถนนจึงไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะผ่านที่ดินส่วนของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะกรณีที่จะใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง บังคับต้องเป็นกรณีที่มีทางออกถึงทางสาธารณะแต่การออกไปสู่ทาง สาธารณะมีสิ่งอื่นตามที่ กฎหมายกำหนดไว้ขวางกั้นจึงจะมีทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะได้

โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง ในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว โจทก์เลือกเอาที่ดินทางด้านเหนือซึ่งติดทางน้ำสาธารณะ จำเลยเลือกเอาที่ดินทางด้านใต้ซึ่งติดถนนสาธารณะ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะแล้ว พิพากษาให้แบ่งแยกโดยไม่มีสิทธิเรียกร้องทางเดินจำเป็นจากจำเลย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินตามโฉนดที่ 5714 ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจำเลยปลูกเรือนอยู่ทางส่วนใต้ของที่ดินที่ติดกับถนนประชาเนรมิตร นายทวีศักดิ์ เหลืองรุ่งรัศ เช่าที่ดินส่วนทางทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำบางปะกงจากโจทก์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2518 โจทก์ให้นายสนองครุธาพันธ์ บิดาโจทก์ไปกับจำเลยเพื่อแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินโดยโจทก์เลือกเอาที่ดินส่วนทางทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำบางปะกง จำเลยเลือกเอาที่ดินส่วนทางทิศใต้ที่ติดกับถนนประชาเนรมิตร แต่ยังไม่ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินกัน ในที่ดินส่วนของจำเลยมีทางเดินกว้างประมาณ 1.50 เมตร อยู่ด้านริมทางทิศตะวันออก เป็นทางที่นายทวีศักดิ์ใช้เป็นทางออกสู่ถนนประชาเนรมิต ต่อมาทางเดินนั้นถูกปิดกั้นวันนัดชี้สองสถาน โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินตามโฉนดนั้นคนละครึ่งตามส่วนดังกล่าวแล้ว โจทก์จำเลยขอสืบพยานเพียงประเด็นเดียวว่า ทางเดินกว้างประมาณ 1.50 เมตร ในที่ดินส่วนที่จำเลยตกลงเลือกตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ประเด็นอื่นหากมีก็ขอสละ คดีมีปัญหาเพียงประเด็นเดียวว่า ทางเดินดังกล่าวแล้วเป็นทางจำเป็นหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1394 บัญญัติว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้ แต่ต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ ฯลฯ" ที่ดินตามโฉนดที่ 5714 ที่โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมติดกับทางสาธารณะสองด้าน คือ ด้านทิศเหนือจดแม่น้ำบางปะกง ด้านทิศใต้จดถนนประชาเนรมิต ไม่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ จากที่ดินตามโฉนดที่ 5714 จึงไม่มีทางจำเป็นที่จะผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะ ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินส่วนของโจทก์จดแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นทางสาธารณะก็เป็นทางสาธารณะที่ไม่อาจใช้ได้สะดวก เพราะเมื่อไปตามแม่น้ำบางปะกงแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไปขึ้นบกที่ไหนและเวลาน้ำลงที่ดินส่วนของโจทก์สูงกว่าระดับในแม่น้ำมาก จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองนั้น เห็นว่ากรณีที่จะใช้มาตรา 1349 วรรคสองบังคับนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีทางออกถึงทางสาธารณะ แต่การออกไปสู่ทางสาธารณะมีสิ่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ขวางกั้น จึงจะมีทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะ แต่ที่ดินของโจทก์จดแม่น้ำบางปะกงอยู่แล้ว ฉะนั้นทางเดินกว้างประมาณ 1.50เมตร ในที่ดินส่วนที่จำเลยตกลงเลือกจึงไม่ใช่ทางจำเป็น"

พิพากษายืน

( ภักดิ์ บุณย์ภักดี - ภิญโญ ธีรนิติ - อาจ ปัญญาดิลก )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 09:22:34


ความคิดเห็นที่ 7 (1935333)

ขอบคุณทนายลีนนท์มากครับ....แต่ผมขอเรียนถามเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่างในความเข้าใจ..ขอโปรดแนะนำด้วยครับ

** กรณีข้อพิพาทขอผม..ผมต้องพิสูน์ทราบก่อนให้แน่ชัดว่าด้านหลังที่ดินผมใช่ทางสาธารณะหรือไม่..แล้วถ้าใช่..ก็ต้องพิสูจน์ต่อว่าทางสาธารณะนั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการสัญจรคมนาคมได้ (เพราะปัจจุบันที่ดินจัดสรรแถวนั้นก็ยังลกล้างมีแต่ต้นไม่และนากุ้งไม่มีทางสันจรระหว่างเส้นแบ่งที่ดิน 2แปลงได้แต่อย่างใด ดังระบุบนโฉนดผืนใหญ่ของกรมที่ดิน)..จากนั้นผมถึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับตามมาตรา1349ได้ ถูกต้องหรือไม่ครับ **

แล้วถ้าฟ้องร้องเราจะขอต่อศาลให้มีผมบังคับจำเลยแบ่งขายที่ดินที่เป็นทางจำเป็นสำหรับทางออกให้เราบางส่วนตามความจำเป็นได้หรือไม่..อันเนื่องมาจากว่า(ขอพูดตามความจริง)กรมโยธาธิการได้มีการตัดถนนสายใหม่ในย่านหัวกระบือ แต่บังเอิญไปตัดผ่านที่ดินของนายหน้าคนหนึ่ง ซึ่งถนนที่ตัดผ่านนั้นเป็นเหตุให้ที่ดินนายหน้าคนนั้นเหลือใช้ประโยชน์ได้เพียง30ตารางวาเศษ แล้วที่ดินผืนนั้นก็อยู่ด้านหน้าที่ดินของผมจำนวน 1ไร่ จากนั้นนายหน้าคนนั้นก็ได้ทำรั้วตาข่ายสูงประมาณ 2 เมตรบนที่ดินของตนเพื่อปิดบังที่ดินของผม.ซึ่งนายหน้าคนนี้หวังประโยชน์ในการกระทำนี้ ก็เพื่อกดดันผมให้ขายที่ดินให้เขาในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง...แต่ในขณะเดียวกันผมขอซื้อที่ดินของนายหน้าคนนี้..เขากลับตั้งราคาขายแบบไร้เหตุผล (10 ล้านบาท สำหรับเนื้อที่ 30 ตารางวาเศษ) ซึ่งราคาประเมินตามความเป็นจริงอยู่ที่ ตารางวาละ 5,000 บาทเท่านั้น เช่นนี้แล้วผมจึงจำเป็นต้องขอข้อมูลเพื่อหาความเป็นไปได้ในการฟ้องเพื่อการรักษาสิทธินี้...

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำไว้ล่วงหน้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น มีชัย วันที่ตอบ 2009-05-10 12:51:47


ความคิดเห็นที่ 8 (1935412)

ในเรื่องเส้นแบ่งที่ดิน 2 แปลงที่คุณเข้าใจว่าอาจเป็นถนนสาธารณะนั้น แม้จะไม่สามารถใช้งานได้แต่หากเป็นที่ดินสาธารณะที่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้พลเมืองใช้ร่วมกัน ดังนั้นหากเป็นจริงคุณก็มีสิทธิใช้เส้นทางนั้น ย่อมหมดสิทธิที่จะขอให้เปิดทางจำเป็นเพราะความจำเป็นไม่มีดังที่เข้าใจ

การขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดขายที่ดินให้คุณนั้นไม่สามารถทำไม่ได้ครับ แต่ถ้าไม่มีทางออกขอเปิดทางจำเป็นได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทำได้ครับ

การกดดันให้คุณขายที่ดินในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง อาจเป็นการคาดคะเนของคุณเอง และเขาก็ไม่อาจบังคับให้คุณขายได้โดยที่คุณไม่ยินยอมครับ เมื่อสิทธิของคุณยังไม่ได้ถูกโต้แย้งคัดค้านจึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ครับ ไม่ว่าเขาจะเสนอขายในราคา 100 ล้านบาทต่อ 30 ตารางวา ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ทำอย่างนั้น จึงเห็นว่าเป็นสิทธิของเขาครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-10 18:12:36



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล