ReadyPlanet.com


ชาวต่างชาติถูกหลอกแต่งงาน


ขอเรียนปรึกษาด้านกฎหมายในกรณีชาวต่างชาติ ถูกหญิงไทยหลอกให้แต่งงานจดทะเบียนสมรสที่ต่างประเทศ ฝ่ายชายซื้อที่ดิน และทรัพย์สินให้ฝ่ายหญิงโดยเข้าใจโดยสุจริต คิดว่าการแต่งงานสมบูรณ์ถูกต้อง โดยฝ่ายชายย้ายจากต่างประเทศมาอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิงที่เมืองไทย ซึ่งต่อมาฝ่ายชายได้ซื้อรถ, ที่ดิน และเริ่มสร้างบ้านบนที่ดินที่ซื้อ โดยใส่ชื่อทรัพย์สินทั้งหมดเป็นชื่อของฝ่ายหญิง หลังจากอยู่กับฝ่ายหญิงได้ประมาณ 1 ปีเศษ ฝ่ายหญิงเริ่มหาเรื่องทะเลาะ ทุบตี และไล่ฝ่ายชายออกจากบ้านของฝ่ายหญิง ซึ่งต่อมาฝ่ายชายทราบว่าฝ่ายหญิงได้คบหามีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติอีกคน ฝ่ายชายจึงได้ดำเนินการเรื่องการหย่ากับฝ่ายหญิงที่ต่างประเทศ จนเสร็จสิ้น ต่อมาภายหลังฝ่ายชายได้รับทราบความจริง หลังจากการหย่าว่า ฝ่ายหญิงได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับตน โดยฝ่ายหญิงได้จดทะเบียนหย่ากับสามีเก่าที่เมืองไทย หลังจากที่ได้จดทะเบียนสมรสกับตนที่ต่างประเทศแล้วประมาณ 2 เดือน

ในกรณีนี้ไม่ทราบว่าฝ่ายชายสามารถฟ้องร้อง ดำเนินการทางกฎหมาย และเรียกทรัพย์สินคืนจากฝ่ายหญิง ได้หรือไม่?

 



ผู้ตั้งกระทู้ สายธาร :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-07 01:44:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1934134)

1. ขณะที่จดทะเบียนสมรสระหว่าง หญิง และชายชาวต่างด้าว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนดังกล่าว ณ ที่เมืองไทยหรือต่างประเทศ การจดทะเบียนครั้งหลังเป็นอันโมฆะ

มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ไม่ได้

มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืน มาตรา 1449,มาตรา 1450,มาตรา 1452 และ มาตรา 1458 เป็นโมฆะ

การจดทะเบียนสมรสระหว่างหญิงและชายดังกล่าว เป็นอันสูญเปล่าเสมือนหนึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยดังนั้นการจดทะเบียนหย่าจึงไม่มีผลใดๆ

แต่อย่างไรก็ตาม การสมรสซ้อนดังกล่าวจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ หมายความว่า หากบุคคลภายนอกเขาเข้าใจว่าเป็นคู่สมรสกัน หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จะยกข้อที่ว่า การสมรสระหว่างตนเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันตนไม่ได้

ในกรณีที่ฝ่ายหญิงปิดบังว่าตนเองไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนนั้นเป็นการแจ้งข้อความอันเท็จมีความผิดทางกฎหมายและมีโทษจำคุก ฝ่ายชายชาวต่างชาติซึ่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา มีอำนาจร้องทุกข์กับตำรวจได้

แต่ในกรณีนี้เหตุเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ดังนั้นความผิดฐานแจ้งความเท็จจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในประเทศไทยไม่ได้ครับ

สำหรับเรื่องทรัพย์สินนั้นแม้จะซื้อในระหว่างสมรส ก็ต้องดูรายละเอียดในโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ว่า สามีชาวต่างด้าวนั้นได้ทำหนังสือยืนยันว่าเป็นเงินที่นำมาซื้อบ้านและที่ดินนี้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง ดังนี้แล้ว ฝ่ายชายย่อมไม่มีสิทธิในกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเลย

แต่ถ้าการซื้อที่ดิน ดังกล่าวไม่ได้ทำหนังสือให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินของตนก็เรียกคืนได้ (บางส่วน)

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-07 08:36:17


ความคิดเห็นที่ 2 (1934146)

 

หญิงไทยซึ่งมีสามีเป็นคนต่างชาติจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ จะต้องนำคู่สมรสชาวต่างชาติไปบันทึกกับเจ้าพนักงานที่ดิน โดยถ้าคู่สมรสชาวต่างชาติยืนยันว่า เงินที่ซื้อนั้นเป็นสินส่วนตัวของหญิงไทย ก็สามารถซื้อขายกันได้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท.0710/ว 732 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2542 กำหนดให้เป็นแนวทางปฏิบัติไว้

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ได้บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ และมาตรา 48 วรรคแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้น ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยให้ยกเลิกหนังสือที่อ้างถึงทั้งหมด และบรรดาระเบียบ คำสั่งอื่นใดในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับหนังสือฉบับนี้ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. กรณีบุคคลสัญชาติไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอซื้อที่ดินหรือขอรับโอนที่ดินในกรณีอื่นที่คล้ายคลึงกันในระหว่างสมรส หากสอบสวนแล้ว ผู้ขอและคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันว่า เงินที่บุคคลสัญชาติไทยนำมาซื้อที่ดินทั้งหมด เป็นสินส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรส ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้

แต่ถ้าหากคนต่างด้าวที่เป็นคู่สมรสของบุคคลสัญชาติไทยไม่ยืนยันตามนัยดังกล่าว หรือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เงินที่นำมาซื้อที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นสินสมรส เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินเพื่อขอคำสั่งรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมาย.

2. กรณีที่บุคคลสัญชาติไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอซื้อที่ดินหรือขอรับโอนที่ดินในกรณีอื่นที่คล้ายคลึงกันในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับคนต่างด้าว หากสอบสวนแล้ว ผู้ขอและคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวได้ยืนยันเป็นลายลักษณ์ อักษรร่วมกันว่า เงินที่บุคคลสัญชาติไทยนำมาซื้อที่ดินทั้งหมดเป็นทรัพย์ส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้

แต่ถ้าหากคนต่างด้าวที่เป็นคู่สมรสของบุคคลสัญชาติไทยไม่ยืนยันตามนัยดังกล่าว หรือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เงินที่นำมาซื้อที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินเพื่อขอคำสั่งรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

3. กรณีบุคคลสัญชาติไทย ที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวทั้งที่ชอบและมิชอบด้วยกฎหมาย ขอรับให้ที่ดินในระหว่างสมรสหรือระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากัน หากสอบสวนแล้วเป็นการรับให้ในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว หรือทรัพย์ส่วนตัวของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว มิได้ทำให้คนต่างด้าวมีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินร่วมด้วย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้

แต่ถ้าหากเป็นการรับให้ในฐานะที่เป็นสินสมรส หรือมีผลทำให้คู่สมรสที่เป็น คนต่างด้าวมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จ ให้ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินเพื่อเสนอขอคำสั่งรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

4. กรณีบุคคลสัญชาติไทยที่เคยมีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าว แต่ได้หย่าขาดจากกันหรือเลิกร้างกันแล้ว ขอทำนิติกรรมให้ได้มาซึ่งที่ดิน หากสอบสวนแล้วไม่ปรากฏพฤติการณ์หลีกเลี่ยงกฎหมาย ก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้

5. กรณีบุตรผู้เยาว์ของคนต่างด้าวที่มีสัญชาติไทย ขอทำนิติกรรมให้ได้มาซึ่งที่ดิน หากสอบสวนแล้วไม่ปรากฏพฤติการณ์หลีกเลี่ยงกฎหมาย ก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้.

http://www.jarataccountingandlaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=404849

 

ผู้แสดงความคิดเห็น 123 วันที่ตอบ 2009-05-07 08:59:44


ความคิดเห็นที่ 3 (1934159)

มาตรา 1498 การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทาง ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อน หรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สิน ที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็น ประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-07 09:11:36


ความคิดเห็นที่ 4 (1934563)

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับคำแนะนำ ดิฉันมีคำถามเพิ่มเติมดังนี้

1. คดีมีอายุความหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายชายได้ทราบความจริงเกี่ยวกับการสมรสซ้อน หลังจากหย่ากับฝ่ายหญิงแล้วประมาณ 1 ปี?

2. ฝ่ายชายสามารถฟ้องร้องเป็นคดีหลอกลวง ฉ้อฉล ให้เสียทรัพย์ได้หรือไม่ เนื่องจากฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมเดียวกันนี้กับชาวต่างชาติอีกคน คือพยายามหลอกให้แต่งงานก่อน แล้วจึงหย่ากับสามีคนปัจจุบันภายหลัง?

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น สายธาร วันที่ตอบ 2009-05-08 00:18:02


ความคิดเห็นที่ 5 (1934758)

1. อายุความในเรื่องทรัพย์สิน ไม่มีครับเพราะ เป็นการทวงถามติดตามเอาทรัพย์ของตนเองคืน

---

มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย

 2.  การฟ้องร้องในความผิดฐานฉ้อโกง มีอายุความ 3 เดือนหลังจากรู้ตัวผู้กระทำความผิด

----ตามข้อเท็จจริงที่ให้มาก็ไม่น่าจะเข้าหลักเกณฑ์ ความผิดฐานฉ้อโกง เพราะฝ่ายหญิงก็อยู่กินฉันสามีภรรยากันอย่างเปิดเผยจึงน่าจะขาดเจตนาฉ้อโกงครับ

แต่ฟ้องเรียกทรัพย์คืนน่าจะยังมีความหวังอยู่มากนะครับ(อยู่ที่ข้อเท็จจริงและรายละเอียด)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-08 18:15:48


ความคิดเห็นที่ 6 (1934989)

ขอบพระคุณมากค่ะ คุณลีนนท์ สำหรับคำแนะนำ

ผู้แสดงความคิดเห็น สายธาร วันที่ตอบ 2009-05-09 10:30:10


ความคิดเห็นที่ 7 (2027902)

ตอนนี้ดิฉันโดนฟ้องเรื่องแจ้งความเท็จในการจดทะเบียนสมรสซ้อน
เรื่องคือดิฉันจดทะเบียนสมรสที่รัฐ Malyland ปี 2005 แล้วกลับมาเมืองไทยแยกกันอยู่ โดยขอหย่ากับแฟนที่อเมริกา แต่เขาบอกจะส่งเอกสารหย่ามาให้เซ็นต์ แต่รอเป็นปีจนไม่ได้คิดอะไร เพราะคิดว่าคงไม่มีผลอะไร เพราะดิฉันไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู ใดๆ และไม่ได้ติดต่อกันนนาน
ดิฉันไม่เคยจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทย ต่อมา ปี 2007  ดิฉันได้แต่งงานกับคนเดนมาร์กที่ กรุงเทพ แต่ไม่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ได้จดทะเบียนสมรสที่อเมริกามาก่อน ดิฉันไม่มีเจตนาที่จะไม่แจ้งเรื่องนี้จริงๆ  วันที่จดทะเบียนที่เมืองไทเป็นวันที่รีบเร่งเนื่องจากแฟนที่เดนมาร์กจะต้องกลับประเทศและมีเวลาแค่วันนั้นวันเดียว และเกิดเหตุขัดข้องเครื่องคอมพิวเตอร์เสีย จึงรอ และดิฉันไม่คิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร เนื่องจากเข้าใจว่ากฎหมายคนละประเทศ คนละส่วนกัน สามีที่เดนมาร์ก ทราบเรื่องนี้หลังจากแต่งงานและดิฉันเดินทางไปเดนมาร์ก  เพราะพี่สาวดิฉันเป็นคนบอกเขา เพราะคิดว่าไม่เป็นไร  หลังจากนั้นดิันขอหย่า เพราะไม่ชอบปัญหาและสามีก็รู้เรื่องมานานแล้วแต่ไม่ยอมบอกเพราะกลัวว่าดิฉันจะไม่ยอมไปเดนมาร์ก หลังจากนั้นเราสองคนก็เข้าใจกันและหลังอยู่ที่ เดนมาร์ก 3 เดือน ดิฉันก็กลับมาเมืองไทย และเขาก็ตามมา และเราตัดสินใจจะซื่อ คอนโดที่พัทยา ก่อนแต่งงานดิฉันเรียกสินสอด 400,000 บาท และคอนโดต้องเป็นคนละครึ่งโดยใช้ชื่อ 2 คน และเราซื้อคอนโดที่พัทยาเป็นชื่อ ของเขา และของดิฉัน  แต่พอทะเลาะกัน ดิฉันได้ย้ายมาเช่าอพาร์ทเม้นต์ ส่วนเขาอยู่คอนโดนั้นกับแฟนใหม่ เขาบอกจะให้ดิฉัน 1 ล้านบาท เพื่อให้โอนคอนโดเป็นชื่อเขาคนเดียว แต่ ต่อมาเขาไม่อยากเสียเงินให้ดิฉัน จึงอาศัยช่องโหว่ของดิฉันเรื่องสมรสซ้อน เป็นการฟ้องว่าแจ้งความเท็จมาฟ้องแทน (ลืมบอกไปว่า ค่าสินสอดได้เพียง 200,000 บาท เพราะอีกสองแสนเงินเขาไม่พอจึงเอาไปเป็นค่าคอนโดและบอกว่าดิฉันได้คอนโดราคามากกว่า 200,000 บาท ดิฉันจึงไม่ว่าอะไร
พึ่งได้เอกสารหย่าจากที่อเมริกาและเซ็นต์ไปแล้ว

ไม่ทราบดิฉันต้องเบิกความกับศาลท่านอย่างไรให้ท่านเมตตา  ไม่คิดว่านักกฏหมายของเราจะช่วยเหลือต่างชาติที่เห็นแก่ตัว  แต่ว่าไปแล้วดิฉันก็ผิดเอง เขาคงทำตามหน้าที่

ดิฉันต้องขึ้นศาลวันที่ 29 มกราคม แต่รู้เรื่องวันที่ 17 มกราคม และต้องไปให้ คีโมที่โรงพยาบาล วันที่ 18 - 20 มกราคม เนื่องจากเป็นมะเร็ง และไม่มีเวลาจะหาทนาย  เพราะต้องรักษาตัวและผลจากการให้ คีโม ก็แย่มากพอแล้ว ไม่ทราบดิฉันสมควรทำอย่างไร เพราะต้องไปให้ คีโมอีก วันที่ 9 กุมภาพันธ์  นี้

ดิฉันจะได้รับโทษอย่างไร และถ้าเตรียมเงินสดไปประกันตัวเองไม่ทราบว่าเท่าไหร่
ดิฉันไม่เคยขึ้นโรง  ขึ้นศาลเลย นี่เป็นครั้งแรก แต่มาถึงตอนนี้ คงต้องทำใจมากกว่ายอมแพ้ ต่อโชคชะตา


 

ผู้แสดงความคิดเห็น nong วันที่ตอบ 2010-01-24 04:57:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล