ReadyPlanet.com


บุกรุกที่ราชการ


มีชาวบ้านบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านในสถานีตำรวจ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินของราชพัสดุ อยากทราบว่าชาวบ้านมีความผิดฐานใด เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรได้บ้างครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ไกรลาศ :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-26 19:52:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1943341)

คงต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุดังกล่าวมาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการต่อไปครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4413/2533
กรมทรัพยากรธรณีได้รับมอบหมายให้ครอบครองที่ดิน ที่ดินนั้นเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและเป็นที่ดินของรัฐในลักษณะที่ราชพัสดุ ซึ่งกระทรวงการคลังถือกรรมสิทธิ์มิใช่ที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยเข้าไปปลูกบ้านและร้านค้า ย่อมมีความผิดฐานบุกรุกที่ราชพัสดุและที่ดินของรัฐนั้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๑๐๘ ทวิ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕(๓) ประกอบด้วย มาตรา ๓๖๒ ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕(๓) ประกอบด้วยมาตรา ๓๖๒ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยมีกำหนด ๖ เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่เข้าไปยึดถือครอบครอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2535

 

จำเลยเข้าครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ที่เกิดเหตุโดยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยมีสิทธิครอบครอง ต่อมาทางราชการได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยไม่ยอมออก การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ภายหลังจากที่ทางราชการได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่เกิดเหตุแล้ว ถือว่าจำเลยมีเจตนายึดถือครอบครองที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสองประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ข้อ 11

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 และให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ วรรคสองประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515ข้อ 11 จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครองดังกล่าว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จำเลยเข้าครอบครองที่เกิดเหตุโดยเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองในที่เกิดเหตุ และต่อมาทางราชการได้แจ้งให้จำเลยทราบว่า ที่เกิดเหตุเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออก จำเลยยังคงครอบครองที่เกิดเหตุและทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุต่อมา ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุต่อมาหลังจากที่ได้รับแจ้งว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสองเห็นว่า การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายหลังจากที่ทางราชการได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่เกิดเหตุแล้วเช่นนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนายึดถือครอบครองที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ข้อ 11 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานดังกล่าว นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 จำคุก 3 เดือน และปรับ 2,000 บาทจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่เกิดเหตุ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

( บุญศรี กอบบุญ - เสมอ อินทรศักดิ์ - เพี้ยน พุทธสุอัตตา )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2550

 

การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) แล้ว ยังเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินของรัฐ อันเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้างและบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินนั้นได้ อันมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่จำต้องฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนั้น แม้ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของรัฐได้

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2546 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง ทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินราชพัสดุ ทะเบียน ชบ. 465 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมสวัสดิการทหารเรือ กองทัพเรือ อันเป็นที่ดินของรัฐที่ใช้เพื่อประโยชน์ต่อแผ่นดินโดยเฉพาะ และจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครอง โดยจำเลยกับพวกเข้าไปขุด ถาง ปรับสภาพพื้นดินเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 52 ตารางวา และปลูกสร้างบ้านพักอาศัย 1 หลัง พร้อมล้อมรั้วลวดหนาม อันเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองและถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตน โดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 362, 363, 365 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 (2) (3) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง และวรรคสี่ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362, 83 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท ข้อหาอื่นและคำขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท กล่าวคือ นอกจากจำเลยจะมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) แล้ว จำเลยยังมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินของรัฐอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้างและบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินนั้นได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐอันเป็นเจ้าของที่ดินสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยเร็วโดยไม่จำต้องฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนั้น แม้ศาลจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของรัฐได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

( ธนัท วิรบุตร์ - สิทธิชัย รุ่งตระกูล - ประเสริฐ วิริยสิทธาวัฒน์ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7742/2548

 

แม้ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 และ 5 ที่ดินพิพาทจึงเป็นเพียงทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) (3) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อจำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 360, 362, 365 ป. ที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ กับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของรัฐ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบด้วยมาตรา 362 จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงระบุไว้ชัดเจนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) ผู้บุกรุกสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 นั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 และ 5 ที่ดินพิพาทจึงเป็นเพียงทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) (3) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เมื่อเทศบาลตำบลน้ำพองซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลน้ำพองโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( ศุภชัย สมเจริญ - โนรี จันทร์ทร - ธนพจน์ อารยลักษณ์ )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-05-27 16:38:28


ความคิดเห็นที่ 2 (2164987)

ทั้งหมดนี้ ใครเป็นผู้เสียหายที่จะแจ้งความดำเนินคดีได้บ้างครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น chokgt (chokgt-at-gmail-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2011-03-28 16:30:45



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล