ReadyPlanet.com


ฟ้องเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ต่อเดือนคืนจากผู้ให้กู้


ข้อตกลงให้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาทต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้ฟ้องเรียกคืนดอกเบี้ยเพื่อนำมาหักกับต้นเงินได้หรือไม่

หากเจ้าหนี้เป็นธนาคารผู้ให้กู้ ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราผลจะแตกต่างกันอย่างไร

 



ผู้ตั้งกระทู้ ดอกเบี้ยเกินอัตรา :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-10 05:05:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948720)

การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ไปร้อยละ 2 ต่อเดือน แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน

สำหรับผู้ให้กู้ที่เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน

หากธนาคารคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยไม่สิทธิที่จะคิดได้ตามกฎหมาย ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีในสัญญากู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ

เงินที่ลูกหนี้ได้ชำระมาแล้วและธนาคารนำไปหักดอกเบี้ยก่อนส่วนที่เหลือจึงเป็นต้นเงินนั้นไม่ถูกต้อง เมื่อธนาคารไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะเหตุโมฆะแล้ว ธนาคารจึงไม่อาจนำเงินที่ลูกหนี้ชำระแล้วไปหักดอกเบี้ยได้ จำนวนเงินที่ลูกหนี้ชำระมาจึงต้องนำไปหักต้นเงินอย่างเดียว และไม่เป็นการชำระดอกเบี้ยอันไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืน ลูกหนี้จึงมีสิทธิขอให้ศาลนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปหักต้นเงินได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-10 06:02:43


ความคิดเห็นที่ 2 (1948721)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2522

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรและเป็นทายาทผู้รับมรดกของนางแม้นซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2518 จำเลยได้ฟ้องนายจำรัสในฐานะเป็นทายาทผู้รับมรดกของนางแม้นตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2518ของศาลชั้นต้นว่านางแม้นค้างชำระหนี้เงินที่กู้จากจำเลยเป็นเงิน 19,000 บาทและค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นมา ผลแห่งคดีได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนายจำรัสยอมนำเงินจากกองมรดกชำระเงินกู้ที่ค้าง 19,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยชั่งละบาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดซึ่งความจริงแล้ว นางแม้นได้ชำระดอกเบี้ยให้ตัวแทนของจำเลยรับไว้แล้ว 8,500 บาท และได้บันทึกการรับดอกเบี้ยไว้ที่ด้านหลังสัญญากู้ แต่จำเลยปกปิดความจริงโดยแสดงหลักฐานภาพถ่ายสัญญากู้เพียงด้านหน้า นายจำรัสหลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของนางแม้นต้องชำระดังกล่าวแก่จำเลยเกินจำนวนหนี้ที่แท้จริงไป 8,500 บาท เงินจำนวนนี้เป็นลาภมิควรได้ซึ่งจำเลยต้องคืนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 8,500 บาท ดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

ต่อมาโจทก์ถึงแก่กรรม นางชื่นจิตรภริยาโจทก์ยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การว่า เคยเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนางแม้นและได้ฟ้องนายจำรัสในฐานะผู้รับมรดกของนางแม้นจริงปรากฏตามสำนวนคดีแพงแดงที่ 91/2518 ของศาลชั้นต้น ฟ้องของจำเลยไม่เป็นความเท็จไม่ปิดบังความจริง นางแม้นทำสัญญากู้เงินไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2512 ทำสัญญากันไว้จากวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 นางแม้นไม่เคยชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเลยจนถึงแก่กรรมไป จำเลยจึงฟ้องนายจำรัสในฐานะผู้รับมรดกนางแม้นดังกล่าว และคดีนั้นถึงที่สุดไปแล้วโดยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับมรดกของนางแม้นอีกเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ของให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยรับชำระหนี้จากโจทก์เป็นการรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาข้อแรก ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2518 โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ฟ้องเรียกต้นเงินกู้จำนวน 19,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ประเด็นในคดีจึงมีว่า นางแม้นค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นไปอยู่หรือไม่ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฟ้องคดีก่อนโดยปกปิดความจริงที่เกี่ยวกับการที่จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้ว 8,500 บาท หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิใช่หนี้อันแท้จริง โจทก์ได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วโดยหลงผิด เป็นการชำระเกินกว่าหนี้ที่แท้จริงโจทก์ขอคืนเงินที่จำเลยรับชำระไว้แล้วในฐานะลาภมิควรได้ และจำเลยต่อสู้ว่าเงินค่าดอกเบี้ย 8,500 บาท ที่จำเลยรับชำระไว้นั้นเป็นเงินค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญากู้จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 ประเด็นจึงมีว่าจำเลยได้รับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยไปเกินกว่าจำนวนหนี้ที่แท้จริงอันต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่จึงมิใช่เป็นคดีที่มีประเด็นอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ส่วนปัญหาว่าเงินค่าดอกเบี้ย 8,500 บาท ที่จำเลยรับชำระหนี้ไปเป็นลาภมิควรได้ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้ยกขึ้นวินิจฉัย และโจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ที่รับชำระแทนไปนั้นด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 และมาตรา 247

ในปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2512นางแม้น ทำสัญญากู้เงินจำเลยไป 25,000 บาท กำหนดใช้คืนวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2513 กำหนดอัตราดอกเบี้ยชั่งละบาทต่อเดือน ชำระสามเดือนต่อครั้ง แต่นางแม้นตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ครั้งแรกนางแม้นจึงชำระดอกเบี้ย 1,500 บาท และอีก 2 ครั้งก็ชำระครบตามกำหนดเป็นเงินดอกเบี้ยทั้งหมด 4,500 บาท ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 นางแม้นชำระเงินต้นคืน 6,000 บาท ชำระดอกเบี้ย 4,000 บาท เงินดอกเบี้ยจึงเป็น8,500 บาท เงินต้นจึงคงเหลือ 19,000 บาท แล้วจึงมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 นับแต่วันที่ 26กรกฎาคม 2513 นางแม้นก็มิได้ชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเลยจนนางแม้นถึงแก่กรรมไป

ศาลฎีกาเห็นว่า การชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคดี

พิพากษายืน

( สีห์ คลายนสูตร - ภิญโญ ธีรนิติ - ภักดิ์ บุณย์ภักดี )


ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-10 06:05:03


ความคิดเห็นที่ 3 (1948722)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2548

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 174,068.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และดอกเบี้ยยังไม่ครบ 1 ปี โจทก์ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย และไม่อาจเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย นับแต่จำเลยทำสัญญาจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเกินกว่าเงินที่จำเลยได้กู้ยืมจากโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้หนี้อีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 174,068.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 120,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 108 ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2535 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำนวน 150,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 108 ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 150,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญากู้ยืมเงินหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีกฎหมายเฉพาะให้สิทธิโจทก์ในการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ ตามคำสั่งที่ 47/2535 เอกสารหมาย จ.11 ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกันวันที่ 13 มกราคม 2535 ส่วนคำสั่งที่ 47/2535 เรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าธรรมเนียมในการอำนวยสินเชื่อตามสำเนาประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.11 กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 ดังนั้นประกาศของโจทก์เรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างอิงจึงไม่ใช่ประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดที่ให้สิทธิโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นการเฉพาะแม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินโดยไม่ปรากฏว่ามีประกาศของโจทกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 จึงตกเป็นโมฆะ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้คืนโจทก์เพียงใดหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายสุเทพ ตันศิริ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เบิกความประกอบการ์ดบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.8 ว่า หลังทำสัญญาจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตรงตามสัญญาโดยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 เป็นเงิน 16,113.87 บาท แสดงว่ารายการช่องจำนวนเงินที่ชำระในการ์ดบัญชีดังกล่าวหมายถึงจำนวนเงินที่ผู้กู้หรือจำเลยได้ชำระมาแล้วโดยโจทก์จะนำไปชำระดอกเบี้ยก่อนแล้วส่วนที่เหลือจะนำไปหักจากต้นเงินที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาได้เพราะเหตุโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จำนวนเงินที่จำเลยได้ชำระมาต้องถือว่าเป็นการชำระต้นเงินให้แก่โจทก์เพียงอย่างเดียว หาใช่เป็นการชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีสิทธิเรียกคืนตามที่โจทก์อ้างมาฎีกาแต่ประการใดคำนวณจำนวนเงินที่ชำระตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 รวมเป็นเงิน 142,778.49 บาท จึงเหลือต้นเงินที่ค้างชำระตามสัญญาเป็นเงิน 7,221.51 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 7,221.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

( สุรพล เอกโยคยะ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ )


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-10 06:06:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล