ReadyPlanet.com


เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต้องการรังวัด แบ่งแยกกรรมสิทธิ์


ผมมีที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งในโฉนดมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 3  คน  แต่เขาไม่ยอมไปรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ โฉนด ผมจะทำอย่างไรดีครับ

ช่วยแนะนำด้วย ถ้าผมจะฟ้องศาลแยกโฉนดได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ นิยม :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-08 11:54:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1948055)

ฟ้องได้ครับ ขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2550

โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 บุรกรุกเข้าไปแย่งทำนาในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ตามแผนที่โดยประมาณท้ายฟ้องมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งแผนที่ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและได้ระบุบริเวณที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกไว้อย่างชัดเจนพอให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม

โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 ซึ่งการฟ้องเช่นนี้มีอายุความ ส่วนมาตรา 1363 วรรคสอง นั้น เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกินสิบปี มิใช่อายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์และนางโฮล แซ่อุย เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 429 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (เนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา) โดยรับมรดกจากมารดา ต่อมาในปี 2523 โจทก์และนางโฮลขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 2739 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน) ขณะเดียวกันโจทก์และนางโฮลตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมพร้อมทั้งแบ่งที่ดินบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยส่วนของโจทก์มีเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ส่วนของนางโฮลมีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา ส่วนของจำเลยที่ 1 มีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน และ 3 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา รวม 9 ไร่ 11 ตารางวา และส่วนของจำเลยที่ 2 มีเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ตามแผนที่โดยประมาณเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นางโฮลถึงแก่ความตายเมื่อปี 2531 มีจำเลยที่ 3 เป็นทายาทผู้ปกครองทรัพย์มรดก โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างครอบครองที่ดินส่วนของตนเป็นส่วนสัดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ตนครอบครอง ต่อมาทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ที่ดินดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 91090 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน) และจำเลยที่ 1 ขอรับโฉนดที่ดินไปครอบครองในเดือนมกราคม 2540 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 จะแบ่งให้แก่โจทก์เพียง 11 ไร่ เท่านั้น และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินส่วนของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ตามแผนที่โดยประมาณเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการทำนาเป็นข้าวเปลือกปีละ 4 เกวียนพื้นเมือง ราคาเกวียนละประมาณ 3,000 บาท โจทก์จึงคิดค่าเสียหายปีละ 12,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่โดยประมาณเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 91090 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และจดทะเบียนให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ สำหรับฤดูการทำนาปี 2540 เป็นเงิน 12,000 บาท และปีต่อๆ ไป 12,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1 จะเลิกเกี่ยวข้อง

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินตามคำฟ้องเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางโฮล แซ่อุย ได้มาจากการยกให้ของนางแก้ว ยิ่งงาม ยายของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นได้ครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันตลอดมา โจทก์ จำเลยที่ 1 และนางโฮลเคยรังวัดแบ่งที่ดินตามแผนที่โดยประมาณเอกสารท้ายฟ้องไปพลางก่อน แต่ภายหลังจากนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมิได้ดำเนินการใดๆ จนล่วงเวลามานานกว่า 10 ปีแล้ว การที่โจทก์เพิ่งมาฟ้องขอแบ่งที่ดินเป็นคดีนี้ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ต่อมาโจทก์จำเลยที่ 1 และนางโฮลตกลงแบ่งที่ดินครอบครองเป็นสัดส่วนเท่าๆ กัน เฉพาะที่ดินด้านทิศเหนือ ส่วนที่ดินด้านทิศใต้ยังไม่ได้แบ่งกันชัดเจน ต่างเข้าทำประโยชน์เท่าที่แต่ละคนจะสามารถทำนาได้ตามแผนที่โดยประมาณเอกสารท้ายคำให้การและของจำเลยที่ 1 ภายหลังนางโฮลถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสามและทายาทอื่นได้ตกลงแบ่งมรดกของนางโฮลซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ส่วนแบ่งเป็นที่ดินตามฟ้องส่วนที่เป็นนางโฮล ที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกนั้นเป็นที่ดินส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งกันชัดเจนทั้งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่บริเวณใดแน่ คำฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ยอมให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยให้มีส่วนเท่าๆ กันตามลักษณะที่ปรากฏในแผนที่โดยประมาณเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับตามคำฟ้อง ขอใช้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพับ

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสุทิภา เข้าเมือง ทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 90 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.21 เป็นของโจทก์และโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่รวมประมาณ 15 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์ตามฟ้อง หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราปีละ 8,000 บาท นับแต่ปี 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะออกไปจากที่ดินพิพาทกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 91090 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ให้โจทก์ได้ที่ดินพิพาทที่หมายด้วยเส้นสีน้ำเงิน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 6 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.21 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินปีละ 3,000 บาท นับแต่ปี 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะออกไปจากที่ดินพิพาท ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแก่โจทก์จำนวน 5,565 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 5,640 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 429 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีชื่อนางแก้ว ยิ่งงาม เป็นผู้แจ้งการครอบครอง หลังจากนางแก้วถึงแก่ความตายแล้วเมื่อปี 2523 โจทก์ นางโฮล แซ่อุย และจำเลยที่ 1 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดินไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2739 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน ตามเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางโฮลขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยโจทก์ นางโฮล และจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำรังวัด โจทก์ได้ที่ดินที่อยู่ด้านทิศตะวันตกตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.15 แล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนของตนเป็นสัดส่วนตลอดมา เมื่อปี 2537 ทางราชการได้ออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 91090 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน ตามเอกสารหมาย จ.19 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาโฉนดที่ดิน และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 เข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์อ้างเพียงรูปแผนที่ท้ายคำฟ้องไม่สามารถชี้ชัดว่าส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกนั้นอยู่ที่ใด ทั้งรูปแผนที่กับสถานที่จริงไม่ถูกต้องตรงกันนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปแย่งทำนาในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ตามแผนที่โดยประมาณท้ายฟ้องมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งแผนที่ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและได้ระบุบริเวณที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกไว้อย่างชัดเจนพอให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม มีปัญหาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามข้อตกลงในปี 2523 โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคสอง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 ซึ่งการฟ้องเช่นนี้ไม่มีอายุความ ส่วนตามมาตรา 1363 วรรคสอง นั้น เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกินสิบปี มิใช่เป็นอายุความดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา คดีของโจทก์จึงไม่มีขาดอายุความ มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพียงใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การรังวัดแบ่งแยกจะมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้นและตามมาตรา 1357 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของรวมมีส่วนเท่าๆ กันนั้น ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ นางโฮล และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไว้ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.15 โจทก์ได้ที่ดินส่วนที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดจัดทำแผนที่พิพาทแล้ว ที่ดินส่วนที่โจทก์นำชี้มีเนื้อที่ 15 ไร่ 6 ตารางวา และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ตกลงแบ่งกันอย่างเป็นสัดส่วนตลอดมา เห็นว่า ขณะที่โจทก์ นางโฮล และจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเมื่อปี 2523 ตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.15 นั้น ที่ดินที่โจทก์ นางโฮล และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมเป็นที่ดินมือเปล่ายังไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญ การแบ่งแยกเจ้าของรวมจึงไม่อาจจดทะเบียนแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ เมื่อโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนของโจทก์เป็นสัดส่วนถือว่าโจทก์ยึดถือที่ดินส่วนที่เข้าครอบครองเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แม้ต่อมาทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) และโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.19 มีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางโฮลถือกรรมสิทธิ์รวม โดยไม่ได้ระบุว่ามีส่วนคนละเท่าใด และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงได้ความชัดแล้ว โจทก์ได้รับส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามข้อตกลงและเข้าครอบครองจนได้สิทธิครอบครองมาก่อนมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 และ จ.19 โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ตามสัดส่วนที่ครอบครอง จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเจ้าของรวมยังคงมีส่วนเท่ากันหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้พิพากษาว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยก็ตาม แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายความถึงส่วนที่มิได้พิพากษาแก้นั้นคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้ได้ความชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”

พิพากษายืน แต่ให้เพิ่มข้อความว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สถิตย์ ทาวุฒิ - จรัส พวงมณี - พงษ์ศักดิ์ วีระเสถียร )


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-08 15:53:51


ความคิดเห็นที่ 2 (1949752)

ฟ้องได้ครับ แตต่กอ่นจะฟ้องก็เตรียมกำหนดส่วนและของแต่ละคนไว้ด้วยน่ะครับว่าใครอยู่ตรงไหนของที่ดิน เพราะเมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งให้จัดำแผนที่วิวาท โดยคู่กรณีทุกฝ่ายรวมถึงเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตที่ดิน ว่าส่วนของใครอยู่ตรงไหน หากมีการครอบครองที่ชัดเจนก็ไม่ยากเท่าไร (แต่สุดท้ายก็เถียงกันอยู่ดีว่าใครได้เท่าไร? ...ใครอยู่ตรงไหน)

***ถ้าเป็นกรณีเพียงแต่แบ่งแยกในทางคดีก็ไม่ยุ่งยากมากเท่าไร (เพราะขึ้นศาลยุ่งยากทุกเรื่อง)

***แต่ถ้าหากมีปัญหาอย่างที่ผมเกิ่นไว้ข้างต้น ยุ่งมาก ๆๆ เลยครับ

    แต่ทั้งนี้ทุกคนก็มีสิทธิตามส่วนของตนอยู่ดีนั้นแหละครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คุณปู่ยังหนุ่ม วันที่ตอบ 2009-06-12 13:02:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล