ReadyPlanet.com


ขับรถประมาทถึงแก่ความตาย(ญาติคนตาย)


เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 รถกระบะ(มี พรบ.) ขับมาด้วยความเร็วจะแซงคันหน้า แล้วแซงขวาขึ้นไปทำให้ชนกับรถจักรยานยนต์ คนขับรถจักยานยนต์ตายคาที่ ฝ่ายจำเลยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางญาติของผู้ตายผู้ตาย อายุ 24 ปี ตอนนี้มีการไกล่เกลี่ยกันแต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยจะจ่ายค่าเสียให้ 50000บาทรวาม พรบ.เห็น 150000 บาท ทางญาติไม่พอใจเพราะฝ่ายจำเลยไม่เคยติดต่อหรือไม่มีน้ำใจไม่มีศีลธรรมเลย กรณีนี้ฝ่ายผู้ตายเรียกร้องค่าเสียหายไป -300000 [ บาทถือว่าไม่มากเทียบกับชีวิตคนคนหนึ่งที่เสียไป ตอนไกล่เกลี่ยกันลดให้ /200000 บาท  แต่ฝ่ายจำเลย ไม่ให้ ฝ่ายผู้ตายจึงบอกว่าเมื่อเป็นแบบนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ศาลจะพิจารณา กรณีนี้ ฝ่ายผู้ตายจะได้อะไรบ้างจากฝ่ายจำเลยและจำเลยจะถูกจำคุกหรือไม่  ช่วยตอบด้วยคะ เพราะสงสารคนตายและแม่ของผู้ตาย


ผู้ตั้งกระทู้ ขอนแก่น :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-26 14:57:01


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1956016)

จำเลยจะถูกจำคุกหรือไม่ ต้องอยู่กับว่า ทางจำเลยบรรเทาความเสียหายหรือไม่ หากจำเลยนำเงินไปบางศาลเพื่อบรรเทาความเสียหายแล้ว มีโอกาสสูงที่ศาลจะรอลงอาญา หรือรอการลงโทษไว้ก่อนครับ

หรือหากถูกตัดสินจำคุกไม่น่าจะสถานเบาเพราะเป็นความผิดจากความประมาทไม่ได้เจตนาครับ

แน่นอนว่าฝ่ายผู้เสียหายหรือญาติผู้ตายต้องเสียใจกับการจากไปของผู้ตาย แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจครับ (ความเห็น)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-27 21:54:03


ความคิดเห็นที่ 2 (1956177)

ทั้งปรากฏหลักฐานในสำนวนที่โจทก์มิได้คัดค้านว่า ฝ่ายจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้ตายและผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยได้พยายยามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป

 

 

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 11, 61, 78, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 90, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 61, 78 วรรคหนึ่ง, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาท (และจอดรถในทางโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้ขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและตายจำคุก 3 เดือน รวมลงโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 1 เดือน 15 วัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนบุณฆริก-หนองแสง โดยกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอเป็นเหตุให้นายวิวัฒน์ เสนงาม ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกัน มีนายเกรียง ศรีแก้ว ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายแล่นเข้าชนท้ายรถพ่วงรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในข้อกฎหมายต่อไปด้วยว่า ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 มาด้วยนั้น ชอบหรือไม่ โดยเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกัน เห็นว่า จากข้อเท็จริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยจอดรถอยู่บนถนน มิใช่จำเลยขับรถอยู่ในทาง ซึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุลและที่อยู่ของตน และหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ความมุ่งหมายของกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางไม่ว่าจะกระทำโดยประมาทหรือไม่ก็ตาม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่ เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมา ชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป นอกจากนี้ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 มาด้วยก็ไม่ถูกต้องเพราะโจกท์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน และจำเลยมิใช่ผู้ขับขี่ ซึ่งขับรถในทางที่ต้องเปิดไฟตามที่วินิจฉัยมาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 78 วรรคหนึ่ง, 148, 160 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 มานั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขข้อหาตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 ด้วยนั้นยังไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า สมควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลย สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมีอาชีพรับจ้างขับรถบรรทุกและควรจะทราบดีว่าการกระทำของตนจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ถนน แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์โดยมีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายมาด้วยความเร็ว เหตุที่เกิดขึ้นผู้ตายจึงมีส่วนประมาทด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงมากนัก ทั้งปรากฏหลักฐานในสำนวนที่โจทก์มิได้คัดค้านว่า ฝ่ายจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้ตายและผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยได้พยายยามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

( ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ - บุญส่ง น้อยโสภณ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 15:02:19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล