ReadyPlanet.com


อยากทราบว่าแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานผิดกฎหมายข้อใด


อยากทราบว่าการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผิดกฏหมายข้อใด มาตราไหน มีโทษอย่างไร


ผู้ตั้งกระทู้ pakkom :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-20 11:23:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1953007)

มาตรา 146 ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่อง หมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภา จังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษ

 

 

ศาลพิพากษาตัดสินจำคุก หนุ่มคลั่งเครื่องแบบ ๑ เดือนปรับ ๑,๐๐๐ บาท แต่จำเลยรับสารภาพให้รอลงอาญา ๒ ปี หลังสวมรอยเป็นตำรวจเก๊ สน.โชคชัย ร่วมเดือน จนความแตก
ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนาคิน ศรีสมบูรณ์ จำเลย ในความผิดไม่มีสิทธิ์ใช้ยศ หรือ ประดับเครื่องแบบ ของเจ้าพนักงาน กระทำการ เพื่อให้คนอื่น เชื่อว่า ตนมีสิทธิ โดยระบุฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิ.ย.๒๕๔๕ จำเลยได้แอบอ้าง สวมเครื่องแบบยศ ร.ต.ท.นาวิน ทรงละออ รองสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย อ้างว่า ทางราชการมีคำสั่ง ให้มาช่วยราชการ เป็นเหตุให้ ผู้อื่นหลงเชื่อ ต่อมาวันที่ ๒๓ ก.ค. เจ้าพนักงาน จับกุมตัวจำเลยได้ พร้อมชุดเครื่องแบบตำรวจ และอื่น ๆ ยึดไว้เป็นของกลาง และ แจ้งข้อหาดำเนินคดี จำเลยรับสารภาพ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลย กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๖ พิพากษาจำคุก ๒ เดือนปรับ ๒ พันบาท จำเลย ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ เดือนปรับ ๑พันบาท แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลย เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี และ ให้คุมประพฤติไว้ ๑ ปี โดยให้จำเลย รายงานตัว ต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ๔ ครั้ง
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า
หลังศาลพิพากษา ปรากฏว่า นายนาคิน ไม่มีเงินมาชำระค่าปรับ จึงถูกนำตัวไปกักขัง ที่สน.โชคชัยเป็นเวลา ๑๔ วัน เนื่องจาก ตามกฎหมายกำหนดอัตราการกักขังแทนค่าปรับวันละ ๗๐ บาท (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น ๒๐๐ บาทแล้ว)

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-20 15:20:30


ความคิดเห็นที่ 2 (1953008)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2517 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระกันคือ

ก. จำเลยบังอาจใช้ยศร้อยโท (ร.ท.) ทหารบก แห่งกองทัพบกไทย โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิใช้ยศดังกล่าวได้

ข. จำเลยบังอาจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายบรรโลม ภุชงคกุลผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน โดยกรอกข้อความลงในใบสมัครของจำเลยว่า จำเลยมียศเป็นร้อยโท (ร.ท.) แห่งกองทัพบกไทย ยื่นต่อนายบรรโลม ภุชงคกุล ความจริงจำเลยไม่ได้รับพระราชทานยศดังกล่าว การกระทำของจำเลยอาจทำให้นายบรรโลม ภุชงคกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กองทัพบกไทย และผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

ค. จำเลยบังอาจแจ้งให้นายบรรโลม ภุชงคกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่สอบสวนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกการสอบสวนคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2517 อันเป็นเอกสารราชการสำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยคือร้อยโท (ร.ท.) สมาน ชมภูเทพ ความจริงจำเลยไม่ได้รับพระราชทานยศดังกล่าว การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายบรรโลม ภุชงคกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กองทัพบกไทยและผู้อื่นหรือประชาชน

และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2517 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจใช้ครุยวิทยฐานะปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยสวมถ่ายรูปโดยไม่มีสิทธิ แล้วเอามาแสดงเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อให้เอาไปปิดประกาศให้ประชาชนทราบ การกระทำดังกล่าวเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิใช้ครุยปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 146, 267พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 มาตรา 49

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2495 มาตรา 49 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 146, 267 รวมโทษจำคุก 9 เดือน และปรับ 900 บาท คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 600บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี

โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ด้วย ฯลฯ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก1 เดือน รวมโทษจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 10 เดือน และปรับ 600 บาท โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้ยศร้อยโทแห่งกองทัพบกไทยและใช้ครุยวิทยฐานะนิติศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถ่ายรูปเพื่อนำมาเป็นหลักฐานสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูนโดยไม่มีสิทธิและในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูนจำเลยกรอกใบสมัครด้วยตนเองว่าจำเลยมียศร้อยโท ยื่นต่อนายบรรโลม ภุชงคกุลผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนกับแจ้งต่อนายบรรโลม ภุชงคกุล ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่สอบสวนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกการสอบสวนซึ่งเป็นเอกสารราชการว่าจำเลยมียศร้อยโท โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ

วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยแยกได้เป็น 2 ตอน คือจำเลยเอาใบสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมายื่นต่อนายบรรโลม ภุชงคกุลตอนหนึ่งกับเมื่อนายบรรโลม ภุชงคกุล รับใบสมัครของจำเลยแล้ว ทำการสอบสวนปากคำจำเลยถึงเรื่องคุณสมบัติของจำเลยอีกตอนหนึ่ง การที่จำเลยเขียนใบสมัครว่ามียศร้อยโทซึ่งเป็นความเท็จมายื่นต่อนายบรรโลม ภุชงคกุล นั้นเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแล้ว และการกระทำของจำเลยในตอนยื่นใบสมัครนี้เป็นคนละกรรมกับการกระทำในตอนที่นายบรรโลม ภุชงคกุลสอบสวนคุณสมบัติของจำเลย แล้วจำเลยแจ้งว่ามียศร้อยโท อันเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการ หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 อีกกระทงหนึ่ง

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้

พิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( กฤษณ์ โสภิตกุล - จันทร์ ระรวยทรง - ชุบ วีระเวคิน )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2519

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-20 15:29:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล