ReadyPlanet.com


พรากผู้เยาว์ หรือไม่


เด็กหญิงอายุ 14 ปี ได้รับอนุญาตจากศาลให้สมรสกับชาย หลังจากได้สมรสกันแล้วไม่นานก็หย่ากัน  มีผลทำให้เด็กหญิงอายุ 14 ปี ที่สมรสแล้วนั้นบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย ภายหลังการหย่า เด็กหญิงนั้นกลับไปอยู่กับบิดามารดา แล้วถูกชายอื่นมาพรากไปเพื่ออนาจาร อย่างนี้ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ เณรอาร์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-06 22:12:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959624)

การที่ศาลอนุญาตให้เด็กหญิงอายุ 14 ปี สมรส มีผลทำให้เด็กหญิงนั้น บรรลุนิติภาวะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20

มาตรา 20 ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติ มาตรา 1448

มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

เมื่อเด็กหญิงอายุ 14 ปี บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส จึงไม่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1566

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

ต่อมาหากถูกชายอื่นพรากไปเพื่อการอนาจาร เด็กหญิงนั้นไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, มาตรา 318 และ มาตรา 319

มาตรา 317 โดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

 

มาตรา 318 พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท

 

มาตรา 319 พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

โดยปกติแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ผู้เยาว์สมรสตามเงื่อไข ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-07 19:07:08


ความคิดเห็นที่ 2 (1960303)

การข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุ 14 ปี โดยเด็กหญิงไม่ยินยอมนั้น แม้ต่อมาศาลอนุญาตให้สมรสกันในภายหลัง ก็ไม่เข้าเงื่อนไขแห่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317, 277, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 หลังเกิดเหตุจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงให้ลงโทษสถานเบา ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว และเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงมิใช่ข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 และต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยจะไม่ต้องรับโทษในความผิดที่ได้กระทำโดยอาศัยบทบัญญัติของมาตรา 277 วรรคท้าย แห่ง ป.อ. นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้กระทำและภายหลังจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมแล้ว แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกันในภายหลัง ก็ไม่เข้าเงื่อนไขแห่งบทบัญญัติดังกล่าวในอันที่จะไม่ต้องรับโทษ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปมีว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 27 ปี นับว่าเป็นผู้มีวัยวุฒิและประสบการณ์ชีวิตสูงพอสมควร สามารถแยกแยะได้ดีว่าสิ่งใดถูกหรือผิด การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุเพียง 14 ปีเศษ เป็นการล่วงละเมิดทางเพศแก่เด็กหญิง โดยหาได้คำนึงว่าการกระทำของตนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและอนาคตของผู้เสียหายที่ 2 และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรานีจำเลยด้วยการรอการลงโทษจำคุก ส่วนโทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนั้นก็เป็นโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงไม่อาจลดโทษให้แก่จำเลยได้อีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน.

( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - สมชาย จุลนิติ์ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 14:39:26


ความคิดเห็นที่ 3 (1960991)

จำเลยสมรสกับผู้เสียหาย

เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหายแล้ว คดีมีเหตุปราณีสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสามมีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามมีกำหนด 2 ปี

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันพรากพาตัวเด็กหญิง อ. อายุ 14 ปีเศษผู้เสียหายไปเสียจากนาง ล. ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยที่ 1 จนสำเร็จความใคร่หลายครั้งโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ไม่ให้หลบหนีเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 310, 317, 83, 91

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ4 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 6 ปี8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง อ. ผู้เสียหาย อยู่ในความดูแลของนางละม้ายชายเกตุ ซึ่งเป็นยาย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2540เวลาประมาณ 16 นาฬิกา หลังจากเลิกเรียนผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายประพิศหรือฉีหริ่ง จันวนา เพื่อกลับบ้านระหว่างทางจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะแซงแล้วเรียกให้หยุด จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่เบาะหน้าคู่คนขับได้เปิดประตูรถแล้วดึงมือผู้เสียหายขึ้นไปนั่งเบาะหลังซึ่งมีจำเลยที่ 1 กับชายอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 3ขับรถไปในอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง คืนนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกพาผู้เสียหายไปค้างคืนที่บังกะโลแห่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 พักห้องเดียวกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายยินยอม รุ่งเช้าจำเลยทั้งสามกับพวกพาผู้เสียหายไปส่งที่บ้านนายสุทิน ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งอยู่ที่ตำบลคลองเฉลิมอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ในตอนเย็นจำเลยทั้งสามกลับมารับผู้เสียหายไปส่งที่บ้านของนางเมาะไม่ทราบนามสกุล หลังจากนางละม้ายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว ได้ขอให้นายอุทัย อักษรเนียม ผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุออกตามหาผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2540 เวลา 16 นาฬิกา นายอุทัยจึงพาผู้เสียหายกลับบ้าน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับโทษในความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายยินยอมย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แต่ในมาตรา 277 วรรคท้าย บัญญัติว่าความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ มีความหมายว่า ในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ยังไม่อาจที่จะสมรสกัน หากจะสมรสกันต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448และมีผลทำให้ชายผู้กระทำความผิดในคดีอาญานั้นไม่ต้องรับโทษ แต่กรณีของจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกันนั้นทั้งจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้เองอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ย่อมได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคท้าย ด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น

ฎีกาของจำเลยทั้งสามอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับยายคือนางละม้าย ชายเกตุ ตั้งแต่ผู้เสียหายอายุ 4 เดือน เนื่องจากบิดามารดาแยกทางกันนางละม้ายจึงเป็นผู้ดูแลผู้เสียหาย การที่จำเลยทั้งสามนั่งรถยนต์กระบะมาด้วยกันโดยจำเลยที่ 3 เป็นคนขับแซงรถจักรยานยนต์ซึ่งผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายแล้วเรียกให้หยุดจากนั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่ที่เบาะหน้าคู่กับคนขับได้เปิดประตูรถแล้วดึงมือผู้เสียหายขึ้นรถไปพักค้างคืนที่บังกะโล จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ในเช้าวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายไปบ้านนายสุทิน และในตอนเย็นพาไปบ้านนางเมาะเช่นนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานนี้ตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันมาก่อน ได้ตกลงว่าจะอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีภรรยามาก่อน หลังเกิดเหตุได้อยู่กินเป็นสามีภรรยาและจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานนี้นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้พรากเด็กเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม เท่านั้น แต่ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 กลายเป็นการพรากเด็กโดยมีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 แสดงว่าบุคคลทั้งสองประสงค์อยู่กินฉันสามีภรรยา การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าวให้จำคุก4 ปี และไม่รอการลงโทษนั้น หนักเกินไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงควรได้รับโทษในลักษณะเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสามให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก สำหรับความผิดของจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ3 ปี และปรับ 9,000 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี และปรับ 6,000 บาท เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหายแล้ว คดีมีเหตุปราณีสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสามมีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสามฟัง โดยให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติภายในกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

( จรูญวิทย์ ทองสอน - ประสพสุข บุญเดช - จรัส พวงมณี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2545

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 21:25:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล