ReadyPlanet.com


โฉนดที่ดิน มีชื่อภรรยาคนเดียว


แต่งงาน จดทะเบียนสมรส แล้ว ต่อมาซื้อบ้านและที่ดินในชื่อของภรรยา ภายหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว และได้หย่ากัน แล้ว แต่ภรรยาไม่ยอมแบ่งที่ดินพร้อมบ้านให้ อ้างว่ามีสิทธิฝ่ายเดียว หากสามีต้องการเรียกร้องส่วนแบ่งสินสมรสจะมีทางชนะคดีหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ธิดา :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-06 18:51:43


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1959488)

สินสมรส

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

 

ทรัพย์สินที่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้หามาก็ตาม

บ้านพร้อมที่ดินที่ได้มาระหว่างสมรส แม้จะจดทะเบียนใส่ชื่อคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สินสมรสนั้นกลับกลายเป็นสินส่วนตัว

เมื่อหย่ากัน แต่ฝ่ายที่มีชื่อในโฉนดที่ดินไม่ยอมแบ่งบ้านและที่ดินให้อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ฝ่ายที่เสียหายย่อมฟ้องเรียกให้ฝ่ายที่มีชื่อในโฉนดแบ่งสินสมรสนั้นได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-07 14:14:37


ความคิดเห็นที่ 2 (1960517)

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างสมรสโจทก์และจำเลยร่วมกันซื้อบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นเลขที่ 19/176 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 216993เนื้อที่ 18 ตารางวา โดยลงชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปัจจุบันบ้านและที่ดินดังกล่าวมีราคาตามท้องตลาดประมาณ 2,000,000บาท โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว แต่จำเลยไม่แบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยแบ่งบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่216993 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำบ้านและที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งฝ่ายละเท่า ๆ กันหากจำเลยไม่ยอมแบ่งหรือไม่ยอมขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่เคยร่วมกันซื้อทรัพย์สินใด ๆนางสาวมุกดา รัตนาวงศ์ไชยา น้องสาวของจำเลยเป็นผู้ซื้อบ้านและที่ดินตามฟ้องโดยลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนจึงไม่ใช่สินสมรส ราคาบ้านและที่ดินดังกล่าวตามราคาท้องตลาดอย่างสูงไม่เกิน 800,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่216993 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือจะเสียหายมากนักก็ให้นำออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลยหรือขายทอดตลาด คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลย อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลย ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2531 โจทก์ได้ทำหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกับบริษัทสุวรรณแลนด์ จำกัดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2532 ครั้นวันที่ 14 มิถุนายน 2532ได้ตกลงทำเป็นรูปสัญญาจะซื้อจะขายกัน โดยระบุชื่อจำเลยเป็นผู้จะซื้อจากบริษัทสุวรรณแลนด์ จำกัด ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.1ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2534 บริษัทสุวรรณแลนด์ จำกัด ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่จำเลย ปรากฎตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยได้ชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างงวดสุดท้ายจำนวน 320,000 บาท แก่บริษัทสุวรรณแลนด์จำกัด ในวันรับโอน ปรากฎตามใบเสร็จรับเงินชั่วคราวเอกสารหมายล.13 ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2534 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากัน โดยบันทึกเรื่องทรัพย์สินไว้ท้ายทะเบียนหย่าว่า"เรื่องทรัพย์สินไม่มี" ปรากฎตามภาพถ่ายบันทึกเอกสารหมาย ล.15คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความประกอบเอกสารระหว่างสมรสโจทก์และจำเลยได้ร่วมกันจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 216994 และสิ่งปลูกสร้างจองในชื่อของจำเลยปรากฎตามหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาได้โอนขายสิทธิตามหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่นางสาววรรณา อ๋อสกุล ได้กำไรเป็นเงิน 391,000 บาท ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ผ่อนชำระค่าซื้อแก่ผู้ขายตามสัญญาโดยนำเงินที่ได้กำไรจากนางสาววรรณาชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่บริษัทสุวรรณแลนด์ จำกัด ผู้ขายในงวดสุดท้ายจำนวน320,000 บาท และให้โอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ส่วนพยานจำเลยมีตัวจำเลยและนางสาวมุกดา รัตนาวงศ์ไชยาน้องสาวของจำเลยเบิกความทำนองเดียวกันว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตลอดจนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.3 เป็นการจองซื้อไว้แทนนางสาวมุกดา และเงินที่ชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงล้วนเป็นเงินที่นางสาวมุกดามอบให้จำเลยมาชำระแทนทั้งสิ้นเหตุที่ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้จองไว้เป็นการให้เกียรติแก่โจทก์ในฐานะที่เป็นสามีจำเลยซึ่งได้ไปกับจำเลยด้วยในวันจองซื้อทั้งโจทก์และจำเลยมีรายได้รวมกันไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด ย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินนั้น เมื่อจำเลยซึ่งมีชื่อในที่ดินพิพาทอ้างว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวแทนนางสาวมุกดา จำเลยย่อมมีภาระการพิสูจน์ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า"ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์อย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส" โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนี้ จำเลยกล่าวอ้างว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมิใช่สินสมรสย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนก็ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงภาระการพิสูจน์ของจำเลย และหาทำให้โจทก์ต้องมีหน้าที่พิสูจน์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อทางนำสืบของจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยและนางสาวมุกดาน้องสาวของจำเลยเบิกความลอย ๆว่าจำเลยซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทนนางสาวมุกดา แม้แต่เงินจำนวน320,000 บาท ที่จำเลยนำไปชำระแก่บริษัทสุวรรณแลนด์ จำกัดในงวดสุดท้าย นางสาวมุกดาเบิกความว่าได้มอบให้จำเลยไปชำระแทน โดยฝากเข้าบัญชีของจำเลยไว้ ถ้ามีการนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจริง จำเลยคงแสดงหลักฐานการนำฝากและการถอนเงินจำนวนดังกล่าวสนับสนุนข้ออ้างของตนแล้ว แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฎว่าได้มีหลักฐานดังกล่าวแต่ประการใด นอกจากนี้จำเลยเองก็เบิกความถึงเรื่องนี้ไปคนละทางว่า นางสาวมุกดาได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวด้วยเงินสดให้แก่บริษัทสุวรรณแลนด์ จำกัด เมื่อวันที่27 มีนาคม 2534 พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์จำเลยไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทนั้น ก็ปรากฎตามคำเบิกความของจำเลยเองว่าจำเลยได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากมารดาและทางบ้านของจำเลยที่จังหวัดนครปฐมอยู่เสมอ น่าเชื่อว่าในการผ่อนชำระเงินดาวน์ตามสัญญาของโจทก์จำเลยคงได้รับการช่วยเหลือจากมารดาจำเลยและญาติพี่น้องบ้างเพื่อให้โจทก์จำเลยมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเองเมื่อมีการขายบ้านที่จองอีก 1 หลังจึงนำกำไรมาชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแทนนางสาวมุกดา ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างเป็นคู่สมรสกับโจทก์ จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( จิระ บุญพจนสุนทร - อากาศ บำรุงชีพ - วินัย วิมลเศรษฐ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2539

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-09 21:27:58


ความคิดเห็นที่ 3 (1960977)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2486 โจทก์จำเลยได้เสียกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสได้ร่วมอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา และช่วยกันทำมาหาเลี้ยงชีพตลอดมาจน พ.ศ. 2502 จึงเลิกกันในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้น โจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหาได้ซึ่งที่ดินโฉนดที่ 51 ราคา 20,000 บาท โดยซื้อเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2488 ใส่ชื่อจำเลยในโฉนดแต่ผู้เดียว ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ครึ่งหนึ่งหรือให้จำเลยจ่ายเงินค่าที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท

จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ๆ ใช้ทรัพย์ส่วนตัวที่มีอยู่ก่อนได้กับโจทก์ซื้อและตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อที่พิพาทด้วยทุนทรัพย์ของจำเลยเอง โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์จำเลยได้ที่พิพาทในระหว่างทำมาหากินร่วมกัน โจทก์จึงมีสิทธิขอส่วนแบ่งได้ พิพากษากลับ ให้เติมชื่อโจทก์ลงในโฉนด

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาตั้งแต่พ.ศ. 2486 ถึง 2502 จึงเลิกกัน เพราะโจทก์มีภริยาใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2488 จำเลยได้ลงชื่อในโฉนดเป็นผู้ซื้อที่ดิน 1 แปลงการที่โจทก์จำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยานานถึง 13 ปี และที่ดินพิพาทได้มาภายหลังการอยู่กินด้วยกันแล้ว 2 ปี ในการซื้อขายนั้นแม้จะใส่ชื่อจำเลยแต่ก็ใช้นามสกุลโจทก์ ตามพฤติการณ์แสดงว่าเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์ร่วมกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยส่วนตัว แต่เป็นทรัพย์ที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันมา ก็ต้องถือว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน

พิพากษายืน ยกฎีกาของจำเลย

( เสนอ บุณยเกียรติ - เชื้อ คงคากุล - ห้วน ประชาบาล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2507

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-10 20:57:47



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล