ReadyPlanet.com


อยากทราบเรื่องสิทธิ


ในกรณีที่สามี-ภรรยาคู่หนึ่งสมรสกันตรมกฎหมายที่บุตรด้วยกัน 3 คน มีบ้านและที่ดินเป็นชื่อของภรรยาอยู่เมื่อภรรยาเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ต่อมาสามีได้สมรสใหม่กับหญิงคนหนึ่งจดทะเบียนสมรสด้วยกัน และภรรยาใหม่มีลูกติดอีก และผู้เป็นสามีต้องการพาภรรยาใหม่และลูกเข้ามาอยู่ในบ้านอยากทราบว่าหากเราผู้ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมายกับภรรยาเก่าไม่ยินยอมที่จะให้ภรรยาใหม่และลูกเข้ามาอยู่นั้น เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของบุตรที่มีกับภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่คะ เพราะถือว่าบุตรทั้ง 3 คน เป็นทายาทผู้สืบสันดานใช่มั้ยคะ ขอความกรุณาด้วยค่ะ ไม่ไหวแล้วสุดจะทน กรุณาช่วยตอบด้วยนะคะ


ผู้ตั้งกระทู้ ลูกเมียเก่าที่เสียเปรียบลูกติดเมียใหม่ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-05 13:11:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1958930)

บ้านและที่ดินเป็นสินสมรส คู่สมรสที่เสียชีวิตย่อมมีสิทธิในสินสมรสนั้นกึ่งหนึ่ง ซึ่งตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย

สินสมรสของผู้ตายกึ่งหนึ่งนั้นเป็นมรดกตกได้แก่ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่และบุตร 3 คน ดังนั้นจึงต้องแบ่งมรดกของผู้ตายออกเป็น 4 ส่วน

เมื่อได้แบ่งกันแล้ว บ้านและที่ดินนั้นบิดามีส่วนเป็นเจ้าของ 62.5% บุตร 3 คน มีสิทธิคนละ 12.5%

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360  "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ "

ดังนั้นบิดาก็มีสิทธิใช้บ้านและที่ดินโดยอนุญาตให้ภรรยาใหม่เข้ามาอยู่ในบ้านได้ หากไม่เป็นการรบกวนขัดสิทธิของบุตรทั้งสามคน และโดยปกติต้องเป็นการใช้ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่การที่บิดาอนุญาตให้ภรรใหม่มาพักอาศัยด้วยนั้นจะถือว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือไม่ก็เป็นเรื่องน่าคิดเพราะเขาจดทะเบียนสมรสกันย่อมต้องอยู่กินฉันสามีภริยา

ในเรื่องภายในครอบครัวนั้นควรที่จะต้องพูดคุยกันครับ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุตรอาจต้องใช้ความระมัดระวังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตร เพราะอย่างไรเสียบิดาก็เป็นผู้มีพระคุณ หากจะมองแต่สิทธิอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-05 20:27:05


ความคิดเห็นที่ 2 (1958937)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ?คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารติดถนสุขุมวิท ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ทราบ การที่ไม่โต้แย้งคัดค้านจึงเป็นการที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ความยินยอมแล้ว อีกทั้งอาคารดังกล่าวเป็นเพียงอาคารชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาที่จะครอบครองหรือรบกวนสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมมีสิทธิเก็บดอกผลตามส่วนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเพื่อขายอาหารนั้นเป็นการที่จำเลยที่ 1 เก็บดอกผลตามส่วนของตนในทรัพย์ดังกล่าว เห็นว่า ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 รับในฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในที่ดินพิพาทโดยยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ " ดังนั้น เมื่อฟังว่ายังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นส่วนสัดในที่ดินกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 การใช้ทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นการใช้ที่ไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารโดยเลือกบริเวณติดถนนสุขุมวิทโดยไม่ได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมคนอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น?

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-05 20:50:11


ความคิดเห็นที่ 3 (1958951)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า นางเม้า ดาวเรือง มีบุตร 3 คน คือนายแก่น ดาวเรือง จำเลยที่ 1 และนางพุก ทิพวัลย์นางเม้าถึงแก่กรรมก่อนนายแก่น โจทก์ทั้งสองเป็นหลานและมีสิทธิรับมรดกของนายแก่นแทนที่บิดามารดาที่ถึงแก่กรรม ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นทายาทของนางพุก หลังจากนางเม้าถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 และนางพุกรับมรดกที่ดินโฉนดพิพาทเอกสารหมาย จ.7 เฉพาะส่วนของนางเม้าและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลงตลอดมา คดีนี้จำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองแบ่งที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งห้าโดยเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา และเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำนวน 3 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา คิดเป็นเงิน 313,833.32 บาท เห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แยกกันเพราะเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งห้าตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้นมีราคา313,833.32 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องแย้งขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ละส่วนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในส่วนฟ้องแย้งขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาประการแรกว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7ระบุเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินว่า อำแดงเม้ามารดานายแก่นบุตร น่าหมายถึงนางเม้ามารดาของจำเลยที่ 1 คนเดียวไม่น่ามีนายแก่น ดาวเรือง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมด้วย ดังนั้นการที่นางเม้ามารดาของจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และนางพุกมารดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และย่อมกระทำได้ไม่มีกฎหมายห้ามนั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าได้ให้การในความตอนต้นว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นกรรมสิทธิของนางเม้าแต่ผู้เดียว แต่จำเลยทั้งห้าก็ให้การอีกตอนหนึ่งว่าจำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในส่วนของนายแก่นด้วยการครอบครองปรปักษ์ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในส่วนนี้ จึงขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยทั้งห้า ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้าถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทส่วนของนายแก่นจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 นางพุกและนายแก่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน และเจ้าของรวมคนอื่น ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของร่วมคนอื่น ๆ ตามมาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้น ๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ เพราะว่าก่อนที่จะมีการแบ่งแยกก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินส่วนนั้นจะเป็นเจ้าของรวมคนใดแน่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้สืบสิทธิจากนางพุกได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หาทำให้จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ทางปรปักษ์ไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังนายแก่นเจ้าของรวมว่า ไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์แทนนายแก่นอีกต่อไปคดีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงให้ถือว่า จำเลยทั้งห้าได้บอกกล่าวไปยังนายแก่นว่าจำเลยทั้งห้าเจตนาจะไม่ยึดถือทรัพย์สินแทนนายแก่นอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะยึดถือแทนนายแก่นผู้มีสิทธิครอบครองได้และไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

 

( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ - วิชัย วิวิตเสวี - สำรวจ อุดมทวี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2547

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-05 21:45:31


ความคิดเห็นที่ 4 (1958953)

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางขาว บำรุง และผู้อื่นอีกหลายคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4687 โดยแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด ต่อมาโจทก์ นางสาวประภาบำรุง นางสาวนาตยา บำรุง ซึ่งเป็นน้องสาวโจทก์ และว่าที่เรือโทประคอง บำรุงได้รับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนางขาวโดยว่าที่เรือโทประคองได้ที่ดินเป็นส่วนสัดเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งานที่เหลือเป็นของโจทก์และน้องสาว เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2539 จำเลยขออาศัยที่ดินส่วนของโจทก์และน้องสาวปลูกบ้านอยู่อาศัยเนื้อที่ประมาณ 40 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน 2540 จำเลยจะแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยอีกต่อไป และได้แจ้งให้จำเลยออกไป แต่จำเลยไม่ยินยอมที่ดินพิพาทโจทก์อาจหาประโยชน์ได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อบ้านและสิ่งปลูกสร้างแล้วขนย้ายออกไปจากที่ดินส่วนของโจทก์กับพวกในโฉนดที่ดินเลขที่ 4687 ตำบลไทรน้อย (ทวีวัฒนา) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างแล้วขนย้ายออกไปจากที่ดินส่วนของโจทก์กับพวก

จำเลยให้การว่า ที่ดินเฉพาะส่วนที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมกับน้องสาวและว่าที่เรือโทประคอง (ปัจจุบันคือนาวาโทศักดิ์สิทธิ์) ไม่ได้ระบุส่วนสัดการถือครองของแต่ละบุคคลจำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนาวาโทศักดิ์สิทธิด้วยความยินยอมของนาวาโทศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบิดามารดาโจทก์ก็ทราบ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทบริเวณกรอบสีม่วงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4687 ตำบลไทรน้อย (ทวีวัฒนา) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2540) จนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาท

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยก่อนว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งในปัญหาข้อนี้จำเลยรับในฎีกาของจำเลยว่า นาวาโทศักดิ์สิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ นางสาวประภาและนางสาวนาตยาในที่ดินพิพาทโดยยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองออกเป็นส่วนสัด การที่นาวาโทศักดิ์สิทธิ์อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมจำเลยจึงมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ" ดังนั้น ถึงแม้จะฟังว่ายังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นส่วนสัดในที่ดินกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ นางสาวประภานางสาวนาตยาและนาวาโทศักดิ์สิทธิ์ตามข้อต่อสู้ของจำเลย แต่การใช้ทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมของนาวาโทศักดิ์สิทธิ์ต้องเป็นการใช้ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของตนเองการที่นาวาโทศักดิ์สิทธิ์อนุญาตให้จำเลยใช้ปลูกบ้าน นอกจากจะมิใช่เป็นการใช้ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของตนเองตามสภาพปกติแล้วยังเป็นการใช้ที่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ จึงไม่มีสิทธิทำได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"

พิพากษายืน

( วสันต์ ตรีสุวรรณ - ชาญชัย ลิขิตจิตถะ - สมบัติ อรรถพิมล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7662/2546

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-05 22:03:53


ความคิดเห็นที่ 5 (1958954)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายเจริญกับนางศรีทอง ฮ้อแสงชัย โจทก์และจำเลยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 10 คน นางศรีทองถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 30เมษายน 2531 ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 นายเจริญถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนางศรีทองมีที่ดินจำนวน121 แปลง ซึ่งนางศรีทองร่วมกับบริษัทฮ้อแสงชัย จำกัดจัดสรรแบ่งขายในนามหมู่บ้าน "แสงชัยนิเวศน์" ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางศรีทอง เมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยก่อสร้างโรงเรือนนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิก่อสร้างโรงเรือนและนำวัสดุก่อสร้างมาวางในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเดิมมีชื่อนางศรีทองถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินหมาย จ.4 ถึง จ.24 โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนางศรีทอง เมื่อนางศรีทองถึงแก่ความตาย โจทก์และจำเลยจึงเป็นทายาทรับมรดกที่ดินแปลงนี้ร่วมกับบุตรนางศรีทองคนอื่น ๆและตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดก็ต้องถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของรวม จำเลยจึงมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม และการที่จำเลยปลูกโรงเรือนและนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินพิพาทก็เพราะได้รับอนุญาตจากนางศรีทองเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อนางศรีทองได้ร่วมกับบริษัทฮ้อแสงชัย จำกัด จัดสรรแบ่งขายที่ดินในนามหมู่บ้าน"แสงชัยนิเวศน์" และทายาทส่วนใหญ่มีมติให้ยังคงดำเนินการดังกล่าวต่อไป ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.33 โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกจึงต้องดำเนินการไปตามเสียงข้างมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสามจำเลยก็ต้องปฏิบัติตามมติของทายาทส่วนใหญ่ดังกล่าวด้วย การที่จำเลยอ้างว่าในฐานะทายาทคนหนึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะปลูกโรงเรือนนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินพิพาทได้นั้นเห็นว่า เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า"เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ" เมื่อทายาทคนอื่น ๆประสงค์จะให้มีการจัดสรรที่ดินแบ่งขายต่อไป โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่ดำเนินการไปตามมติเสียงส่วนใหญ่ของทายาทและเมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การดำเนินการจัดสรรที่ดินออกไป จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะก่อสร้างโรงเรือนหรือนำวัสดุก่อสร้างมาวางบนที่ดินพิพาทต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า ที่จำเลยยังไม่ได้รื้อถอนโรงเรือนและขนวัสดุก่อสร้างออกไปเพราะจำเลยยังมีความประสงค์ที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเป็นที่ดินพิพาทโดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 1754 แล้ว จึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สมลักษณ์ จัดกระบวนพล - สมปอง เสนเนียม - อนันต์ โรจนเนืองนิตย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2541

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-05 22:14:51


ความคิดเห็นที่ 6 (1959325)

การที่จำเลยร่วมทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาเช่าให้จำเลยเช่าในอาคารพิพาท จึงไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินในทางขัดต่อสิทธิของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แม้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวมจะไม่ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม แต่จำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินได้เช่นกัน

 

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาท และส่งมอบอาคารพิพาทให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 310,000 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากอาคารพิพาทและส่งมอบอาคารพิพาทแก่โจทก์

ระหว่างพิจารณา นายวิรุฬที่ 1 และนายประวิทย์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาท และส่งมอบอาคารพิพาทให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 6,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มิถุนายน 2543) จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาทและส่งมอบอาคารพิพาทให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์

จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันสร้างอาคารพิพาทเพื่อให้บุคคลภายนอกเช่า โดยโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้น มีโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองเป็นกรรมการ โดยมีเจตนาที่จะให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเก็บค่าเช่าจากผู้ที่มาเช่าห้องพักในอาคารพิพาทแทนเจ้าของรวม และให้จำเลยตั้งสำนักงานอยู่ในอาคารพิพาทโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองมีกรณีพิพาทกันถึงขั้นแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาต่อกันและจำเลยร่วมทั้งสองได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นจำเลย ลงมติปลดโจทก์ออกจากกรรมการของจำเลย เมื่อโจทก์ทราบเรื่องว่าถูกปลดจากการเป็นกรรมการของจำเลยจึงได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากอาคารพิพาท จำเลยร่วมทั้งสองผู้เป็นเจ้าของรวมจึงทำหนังสือสัญญาเช่าให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท ดังนี้ แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวจะได้กระทำไปโดยโจทก์ไม่ทราบ แต่การให้เช่าอาคารพิพาทก็ถือเป็นการจัดการธรรมดาและเป็นไปตามเจตนาเดิมของโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันก่อสร้างอาคารพิพาทเพื่อให้บุคคลภายนอกเช่า อันตรงตามวัตถุประสงค์แห่งเจ้าของรวม นอกจากจะไม่เสียหายแล้วยังกลับจะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่า เพราะเดิมโจทก์เพียงแต่ทำหนังสือสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในอาคารพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่จำเลยร่วมทั้งสองกลับให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทโดยคิดค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท การที่จำเลยร่วมทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาเช่าให้จำเลยเช่าในอาคารพิพาท จึงไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินในทางขัดต่อสิทธิของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แม้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวมจะไม่ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม แต่จำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินได้เช่นกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท.

( ชัชลิต ละเอียด - สมชัย จึงประเสริฐ - บุญรอด ตันประเสริฐ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6520/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-06 23:28:34


ความคิดเห็นที่ 7 (1959328)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินจำนวนสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าของรวมจะฟ้องขับไล่เจ้าของรวมได้หรือไม่ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่าในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งหากใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น เจ้าของรวมคนอื่น ๆ ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคแรก ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างอาคารเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเดือดร้อน ย่อมเป็นการขัดต่อการใช้สิทธิของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3294/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-06 23:44:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล