ReadyPlanet.com


ถูกเลิกจ้างแล้วสามารถฟ้องได้ภายในกี่วันครับ


ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 30 เมษายน 52 ครับ



ผู้ตั้งกระทู้ นิ้ง :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-02 13:07:22


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1957872)

อายุความฟ้องคดีแรงงาน

อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น ใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี

 

อายุความฟ้องเรียกค่าชดเชย อายุความ 10 ปี เช่นกัน

 

แต่อายุความฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด อายุความ 2 ปี

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 14:43:11


ความคิดเห็นที่ 2 (1957874)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 5,760,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 193,650 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 ตำแหน่งสุดท้ายคือวิศวกรอาวุโส ทำงานตรวจสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงงานทั้งหมด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,365 บาท ผลการดำเนินงานของจำเลยในปี 2543 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2542 ร้อยละ 26.8 ปี 2544 ถึง 2546 ผลการดำเนินงานเป็นกำไรอยู่ แต่ในปี 2546 กำไรลดลงอย่างมาก การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้กิจการของจำเลยยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงในปีที่ล่วงมาจำนวนมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่กำไรของจำเลยลดลง เป็นการเลิกจ้างที่ย่อมไม่มีเหตุอันสมควร จึงถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางมานั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ที่มีอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน.

( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - พิทยา บุญชู )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 14:47:29


ความคิดเห็นที่ 3 (1957880)

มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้าชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตาม มาตรา 193/34 (6)
(4) เงินค้างจ่ายคือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตาม มาตรา 193/34 (1)(2) และ (5) ที่ไม่อยู่ ในบังคับอายุความสองปี

 

มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความ สองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(2) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าของที่ได้ ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้ เฉพาะที่ใช้สอยในบ้าน เรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(3) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียก เอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป
(4) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตาม กฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พัก อาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการ รวมทั้ง เงินที่ได้ออกทดรองไป
(5) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบหรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ
(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(8) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสิน จ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือ นายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้าง รายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค้าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่น ว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(10) ครูสอนผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ตามที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(11) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่า ธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(12) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่า การงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(13) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(14) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน
(15) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(16) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้ง พยานผู้เชี่ยวชาญ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่าย ล่วงหน้าไป
(17) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวม ทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าว เรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

 

 

อายุความสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน

 

1. ค่าจ้าง (เงินเดือน) 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9)

2. ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9)

3. ค่าล่วงเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9)

4. ค่าทำงานในวันหยุด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9)

5. ค่าชดเชย 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

6. ค่าชดเชยพิเศษ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

7. เงินโบนัส 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

8. ดอกเบี้ย 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)

9. เงินเพิ่ม 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 15:00:27


ความคิดเห็นที่ 4 (1957890)

ลูกจ้างเรียกเงินบำนาญ อายุความเรียกร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (4)

 

 

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อปี 2520 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายพนักงานรถพ่วงย่านบางซื่อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,230 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งในการสอบสวนวินัยโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีความผิด แต่คณะกรรมการฝ่ายการเดินรถต้นสังกัดของโจทก์ มีความเห็นให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการฝ่ายการเดินรถ คือ ให้โจทก์ออกจากงาน ภายหลังโจทก์ออกจากงานแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือติดต่อขอรับเงินตามสิทธิของโจทก์และตามข้อบังคับจำเลย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและคืนเงินกองทุนสงเคราะห์ให้โจทก์ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ให้แก่โจทก์ โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 15 ปีเศษ มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนโดยเฉลี่ยในอัตราเดือนละ 5,400 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 จนถึงวันฟ้อง รวมระยะเวลา 119 เดือน (9 ปี 11 เดือน) เป็นเงิน 642,600 บาท โจทก์ติดตามทวงถามแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธการจ่าย อ้างว่าโจทก์ยื่นเรื่องขอรับเงินบำนาญล่าช้าเกินกว่า 3 ปี โจทก์ได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่ได้รับแจ้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะยื่นเรื่องขอรับเงินล่าช้าเกินกว่า 3 ปี ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ต่อมาโจทก์ร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้รับแจ้งว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เห็นว่าค่าชดเชยดังกล่าวไม่ใช่เงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ตามระเบียบของจำเลยและโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนไม่อาจนำพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาใช้บังคับกรณีโจทก์ได้ โจทก์จึงสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ได้ภายใน 10 ปี จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จำนวน 642,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในแต่ละงวดในทุกสิ้นเดือน จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,610 บาท โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องปรากฏว่ามีมูลความจริง ฝ่ายการเดินรถจึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสนอเรื่องมาตามลำดับขั้นตอน จนเรื่องเข้าที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานด้านปกครอง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 ที่ประชุมมีมติให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกกล่าวหา ฝ่ายการเดินรถจึงมีคำสั่งพักงานโจทก์และให้โจทก์ออกจากงานตามมติดังกล่าวตามลำดับตามคำสั่งลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 และลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ร้องทุกข์ขอความเห็นต่อคณะกรรมการรถไฟซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 มีมติเห็นชอบตามที่จำเลยได้พิจารณาและได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ยกคำร้องโจทก์ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2536 โจทก์นำคดีไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง สวัสดิการ และผลประโยชน์อื่น ๆ เช่นเดิมหรือดีกว่าและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,023,000 บาท กับค่าชดเชยเป็นเงิน 61,380 บาท จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนโจทก์จำเลยร่วมกันแถลงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะมีมลทินมัวหมอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งโจทก์จะไปขอรับเงินดังกล่าวจากจำเลย โดยทนายจำเลยจะพาโจทก์ไปในวันนั้น โจทก์จึงฟ้องถอน โดยจำเลยไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความ คดีถึงที่สุด ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1058/2538 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันจึงเป็นการฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และไม่ถือว่าเป็นการยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเพราะการขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน ตามระเบียบข้อบังคับจำเลย โจทก์จะต้องใช้แบบยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือรายเดือนตามที่จำเลยกำหนดและเสนอเรื่องราวผ่านต้นสังกัดมาตามขั้นตอนเท่านั้น ไม่สามารถทำเป็นหนังสือส่งถึงผู้ว่าการได้ การที่จะถือว่าออกจากงานด้วยเหตุใด การนับเวลา ตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม ซึ่งตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาตรา 10 กำหนดว่าสิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอายุความ 3 ปี ดังนั้น โจทก์จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนภายใน 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ออกจากงานมิฉะนั้นโจทก์หมดสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 เกินกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง โจทก์มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เป็นเงิน 632,600 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 17 ระบุว่า กรณีจะถือว่าออกจากงานด้วยเหตุอย่างใดตามข้อ 14 การนับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์ และวิธีการจ่ายเงินให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ระบุว่า สิทธิในการขอบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอายุความ 3 ปี เป็นกรณีที่ได้มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความใช้สิทิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ไว้โดยเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีสิทธิ โจทก์ถูกให้ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จากจำเลยตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 แต่เพิ่งยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีสิทธิ โจทก์จึงหมดสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ใช่ข้าราชการไม่อาจนำอายุความ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ และข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 เพียงแต่ให้นำวิธีการนับเวลาทำงาน วิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาใช้เท่านั้น มิได้รวมถึงวิธีการยื่นแบบขอรับเงินสงเคราะห์ และอายุความ 3 ปีตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ด้วย กรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 บังคับจำเลยจะกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของโจทก์ให้น้อยลงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 โจทก์จึงสามารถยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ได้ภายใน 10 ปี และโจทก์ได้ยื่นแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์

พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายนั้น โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวข้อ 10 โจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเดือนแรกที่กองการเงิน รฟ. เดือนต่อไปขอให้จ่ายผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสระบุรี บัญชีเลขที่ 270 0887710 ซึ่งตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 ระบุว่า "ผู้ปฏิบัติงานที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน โดยคำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำนาญข้าราชการจะเลือกขอรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียว โดยคำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้" แสดงว่าโจทก์มิได้เลือกขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จากจำเลย อันเป็นการเรียกร้องเงินในลักษณะทำนองเดียวกันกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาให้มีกำหนดายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือบำนาญ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี กรณีไม่อาจนำอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับได้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว โจทก์จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินดังกล่าวได้ซึ่งก็คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 แต่โจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จึงขาดอายุความกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 ทำให้ต้องใช้อายุความ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( จรัส พวงมณี - อรพินท์ เศรษฐมานิต - ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 15:19:01


ความคิดเห็นที่ 5 (1957894)

สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี

ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

 

 

 

 

 

 

คดีสืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 และตั้งบริษัท บี.อาร์.ซี.แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ และดอกเบี้ยเป็นเงิน 591,813.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 256,090 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย รวมเป็นเงิน 129,621.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ

เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้กระทำละเมิดต่อเจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ

ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้มิใช่ผู้ผิดนัดชำระหนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเจ้าหนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียงต้นเงินจำนวน 56,090 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้และผู้บริหารแผนเป็นคดีเดียวกัน และพิจารณาแล้วมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลหนี้ต้นเงินค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมเป็นเงิน 56,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย้อนหลังไป 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้ได้เลิกจ้างเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ค่าชดเชย ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ซึ่งเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าชดเชยจำนวน 47,400 บาท ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 790 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,900 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้เสนอจะจ่ายให้ และต่างมิได้โต้แย้งถึงจำนวนหนี้เหล่านี้ว่าไม่ถูกต้อง จึงฟังว่าหนี้แต่ละรายการมีจำนวนดังกล่าว แต่อย่างใดก็ดีหนี้ที่ขอรับชำระเหล่านี้จะต้องไม่ต้องห้ามขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวมาว่าลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้มีขึ้นเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาจ้างของลูกหนี้ มิใช่เงินที่กำหนดจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานหรือต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างและไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนี้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงินที่ลูกหนี้จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ดังนี้ เมื่อนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความแล้ว ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เฉพาะหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการแรกว่าลูกหนี้กระทำละเมิดและเลิกจ้างเจ้าหนี้โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีคนร้ายลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ไปโดยทุจริตในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2535 เวลากลางวันถึงวันที่ 4 มกราคม 2536 เวลากลางวัน ลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้นางสาวสมศรี แม้นพิมลชัย พนักงานการเงินและบัญชีของลูกหนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผลจากการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงของเจ้าหนี้ในที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจึงดำเนินคดีแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงได้เลิกจ้างเจ้าหนี้ และต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดข้อหาลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ ซึ่งในสำนวนคดีนี้คงปรากฏข้อเท็จจริงจากบันทึกถ้อยคำของเจ้าหนี้เท่านั้นที่ว่าลูกหนี้อ้างว่าเจ้าหนี้มีพฤติการณ์ส่อแนวโน้มไปในทางทุจริตต่อทรัพย์สินของลูกหนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ฟังได้ว่าลูกหนี้ยืนยันและเป็นการกลั่นแกล้งจนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องถูกดำเนินคดีอาญา ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ การที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาล้วนมีขึ้นจากดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการ การที่ลูกหนี้ร้องขอจนศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ลูกหนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนังงานอัยการล้วนเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนแล้วดำเนินคดีแก่จำเลยย่อมบ่งชี้และทำให้ลูกหนี้เข้าใจได้ว่าเจ้าหนี้เป็นผู้ลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ไป ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรที่ลูกหนี้จะเลิกจ้างเจ้าหนี้ได้ แม้ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ก็หามีผลทำให้การเลิกจ้างของลูกหนี้กลับเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ จึงไม่มีหนี้ส่วนนี้ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระได้

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในขณะมีการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ไว้โดยชัดแจ้ง เช่นนี้ที่ศาลล้มละลายกลางกำหนดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นั้นจึงชอบแล้วและเมื่อลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่เจ้าหนี้ทันที เมื่อลูกหนี้ยังมิได้จ่ายให้ ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกการจ้างวันที่ 30 มีนาคม 2536 เป็นต้นไป แต่สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องที่พ้นกำหนดอายุความดังกล่าวเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้มีการทวงถามก่อน เห็นควรกำหนดดอกเบี้ยให้นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไป คำสั่งของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าชดเชยจำนวน 47,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545) ย้อนหลังไป 5 ปี และนับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และได้รับชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

( บรรหาร มูลทวี - สมชาย พงษธนา - สุพัฒน์ บุญยุบล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2548

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 15:38:32



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล