ReadyPlanet.com


เบี้ยวสัญญา ที่ให้ถอนฟ้อง


ลูกถูกรถบรรทุกชนเสียชีวิต ไม่สามารถตกลงกันได้ เลยฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาประมาทโดยเป็นโจทก์ฟ้องเอง เพราะเห็นว่าตำรวจเดินเรื่องช้าไม่ทันใจ ตอนหลังทางฝ่ายคนขับรถบรรทุกมาขอให้ถอนฟ้องแลกกับค่าตอบแทนโดยทำสัญญากู้ยืมไว้ให้ ทางเราเลยถอนฟ้องไปแล้ว แต่ถึงกำหนดวันจ่ายเงินถูกเบี้ยว ช่วยแนะนำทางออกให้ด้วยว่าฟ้องตามสัญญากู้เงินได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ สำเนียง :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-02 09:49:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1957933)

คดีอาญา ข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน การตกลงกันดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาที่เป็นข้อตกลงให้ค่าตอบแทนเพื่อถอนฟ้องจึงเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้

สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 16:57:57


ความคิดเห็นที่ 2 (1957948)

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ฟ้องนายสัมพันธ์ ปิตินานนท์ต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4371/2530 ของศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสัมพันธ์ชำระหนี้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ได้ฟ้องนายสัมพันธ์เป็นคดีอาญาข้อหาแจ้งความเท็จเบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ระหว่างการพิจารณาคดีจำเลยซึ่งเป็นบิดาของนายสัมพันธ์มาขอร้องโจทก์ให้ถอนฟ้องคดีอาญาโดยจำเลยทำหนังสือสัญญาชำระหนี้แทนนายสัมพันธ์ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2531 ในวันเดียวกับที่จำเลยทำหนังสือสัญญาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 72,391.12 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 70,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ให้จำเลยทำสัญญาชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 70,000 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์จะถอนฟ้องคดีอาญาสัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดชี้สองสถานและพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 72,391.12 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 70,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสัมพันธ์ชำระหนี้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ฟ้องนายสัมพันธ์ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลอาญาธนบุรี ระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์ถอนฟ้อง โดยจำเลยรับจะชำระหนี้ของนายสัมพันธ์ให้แก่โจทก์แทน และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พิเคราะห์ข้อตกตามหนังสือสัญญาท้ายฟ้องว่าจำเลยตกลงยินยอมชำระหนี้แทนนายสัมพันธ์เป็นการตอบแทนที่ขอให้โจทก์ถอนฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องนายสัมพันธ์ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จเบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินนั้น เห็นว่า สัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้แทนนายสัมพันธ์ให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหน้าที่ไม่เอาผิดในคดีอาญาที่นายสัมพันธ์ถูกโจทก์ฟ้อง เห็นได้ว่าที่จำเลยทำสัญญาจะใช้หนี้แทนนายสัมพันธ์ซึ่งเป็นบุตรให้แก่โจทก์ ก็โดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถอนฟ้องไม่ให้เอาผิด แก่นายสัมพันธ์เป็นการตอบแทนกันวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการตกลงให้ระงับคดีอาญาแผ่นดินขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนสัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม)

พิพากษายืน

( ปราโมทย์ บุนนาค - อากาศ บำรุงชีพ - ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2537

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 17:31:05


ความคิดเห็นที่ 3 (1957958)

ข้อตกลงเป็นโมฆะ

 

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๓ นายแสวงบิดานายสุวภาพได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับโ๗ทก์ต่อกรมการอำเภอว่า นายแสวงยอมเสียค่าเสียหายให้โจทก์ในกรณีที่นายสุวภาพได้ขับรถยนต์ของนายแสงโดยประมาท ทำให้นายเต๊กสามีโจทก์ถึงแก่ความตาย เป็นเงิน ๕,๑๖๐ บาท เงินรายนี้มอบให้จำเลยไว้ เมื่อโจทก์ต้องการให้เรียกร้องได้จากจำเลย หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยได้มอบเงินค่าเสียหายให้โจทก์ ๒,๕๐๐ บาท คงค้าง ๒,๖๖๐ บาท โจทก์ขอรับเงินจากจำเลย ๆ ก็ไม่ยอมชำระให้ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยต่อสู้ว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมกันจริง แต่ไม่ตรงกับความประสงค์ของคู่สัญญา ดังนั้น ในวันนั้นเอง เมื่อโจทก์รับเงิน ๒,๕๐๐ บาทแล้ว โจทก์กับนายแสวงและจำเลยได้แสดงเจตนาร่วมกันให้เลิกสัญญาที่ทำกันไว้แล้วเสีย โดยตกลงทำสัญญาประนีประนอมขึ้นใหม่ว่า เงินที่ค้างอีก ๒,๖๖๐ บาทนั้น โจทก์จะรับเอาในเมื่อคดีอาญาที่นายสุวภาพต้องหาถึงที่สุด และปรากฎว่านายสุวภาพไม่มีความผิดตามกฎหมายสัญญาประนีประนอมท้ายฟ้องจึงถูกยกเลิก และปรากฏว่านายสุวภาพถูกศาลพิพากษาจำคุก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้ อนึ่ง จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ ทั้งไม่ใช่ตัวแทนหรือค้ำประกันนายแสวงแต่อย่างใด จำเลยไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าสัญญาประนีประนอมท้ายฟ้องชอบด้วยกฎหมายจำเลยลงชื่อในสัญญาฉบับนี้ด้วย ถือได้ว่าเข้ามาเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนสัญญาท้ายคำให้การจำเลยมีเงื่อนไขที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๒,๖๖๐ บาทแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาท้ายฟ้องใช้ได้ ส่วนสัญญาท้ายคำให้การก็เป็นเงื่อนไขที่ตกลงกันใหม่ตามความประสงค์ของคู่สัญญา ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ฉะนั้น เมื่อนายสุวภาพมีความผิดต้องโทษ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินที่เหลือ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายสุวภาพบุตรนายแสวงขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้สามีโจทก์ตาย โจทก์จำเลยและนายแสวงได้ไปแจ้งนายอำเภอบ้านนาขอทำสัญญาให้ค่าเสียหายกัน โดยบอกว่าจะให้เลิกความเรื่องบุตรนายแสวงขับรถยนต์ทับสามีโจทก์ตาย นายอำเภอว่าเรื่องทางอาญาตกลงกันไม่ได้ รุ่งขึ้นบุคคลทั้ง ๓ จึงให้นายอำเภอทำสัญญาประนีประนอมฉบับท้ายฟ้องแล้วจำเลยได้ให้เงินโจทก์ ๒,๕๐๐ บาท โดยทำหลักฐานดังเอกสารท้ายคำให้การจำเลยมีใจความว่า โจทก์รับเงินไปตามที่นายแสวงทำบันทึกที่อำเภอ และเพิ่มเติมข้อความว่า ส่วนที่ค้างโจทก์จะรับต่อเมื่อคดีถึงที่สุด ในเมื่อนายสุวภาพไม่มีผิดตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความเพิ่มเติมในเอกสารท้ายคำให้การเป็นข้อตกลงที่แก้ไขสัญญาที่ทำไว้ต่ออำเภอ และเป็นความประสงค์ที่จะให้โจทก์เลิกคดีอาญานั่นเอง จึงเป็นข้อตกลงที่จะให้โจทก์กระทำผิดกฎหมาย หรือให้บิดเบือนข้อเท็จจริงอันจะช่วยให้นายสุวภาพหลุดพ้นจากคดีอาญา หาใช่เพียงเป็นเงื่อนไขตามธรรมดาว่า นายสุวภาพจะมีผิดหรือไม่เท่านั้นไม่ เพราะตามปกติถ้านายสุวภาพไม่มีผิดแล้ว โจทก์ย่อมเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้อยู่เอง โดยเหตุนี้ เงื่อนไขดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะใช้ไม่ได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาท้ายฟ้อง

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลขั้นต้น

( สารกิจปรีชา - - การุณย์นราทร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2505

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 17:41:16


ความคิดเห็นที่ 4 (1957968)

ข้อตกลงกันให้ฝ่ายผู้เสียหายไปยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย โดยจำเลยตกลงจะให้ค่าเลี้ยงดูและค่าทำศพนั้นเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับได้เพราะการที่ศาลจะรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ไม่ได้มีผลกระทบไปถึงความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

 

 

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำปืนลั่นถูกนายอุไร หงษ์ทองตาย จำเลยได้รับรองว่าจะให้ค่าเลี้ยงดูแก่โจทก์และบุตร ๑๐,๐๐๐ บาาท กับค่าทำศพอีก ๒,๐๐๐ บาท โดยขอมิให้โจทก์เป็นเจ้าทุกข์ฟ้องร้องและให้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอ่างทองขอให้ศาลรอการลงอาญาแก่จำเลย จำเลยได้จ่ายเงินให้แล้ว ๕,๐๐๐ บาท ยังเหลืออีก ๗,๐๐๐ บาท จะจ่ายให้เมื่อศาลรอการลงอาญาให้จำเลยแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ๆ ได้รอการลงอาญาให้แล้ว จำเลยไม่จ่ายเงินให้ตามสัญญาขอให้บังคับ

จำเลยให้การว่าได้ตกลงปราณีประนอมกับโจทก์ให้ค่า เลี้ยงดูและค่าทำศพเพียง ๕,๐๐๐ บาท เท่านั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรืยบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๗,๐๐๐ บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รอการลงอาญาแล้วจำเลยจะให้ค่าเลี้ยงดูและค่าทำศพนั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องจนศาลรอการลงอาญาให้แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้โจทก์จนครบจำนวนที่ตกลงกัน เจตนาอันแท้จริงของโจทก์จำเลยไม่ใช่ตกลงกันระงับคดีอาญา หรือระงับสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิด เพราะอัยการได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาแล้ว เจตนาตกลงตอบแทนกันระหว่างโจทก์จำเลยอันแท้จริงนี้ย่อมสมบูรณ์ตาม ก.ม. ส่วนจำนวนเงินที่ตกลงกันนั้น ฟังว่าโจทก์สืบสมฟ้อง พิพากษากลับให้จำเลยใช้เงินโจทก์ ๗,๐๐๐ บาท

( วิเทศจรรยารักษ์ - ประมูล สุวรรณศร - ประมูล สุวรรณศร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2498

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-07-02 17:50:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล