ReadyPlanet.com


เรียนสอบถาม ผู้รับจำนองฟ้องผู้นำโฉนดปลอมมาหลอกลวงได้หรือไม่ ??


เรียนสอบถามครับ  ผู้รับจำนอง ฟ้องร้องผู้นำที่ดินตัวจริง , ใบมอบอำนาจปลอม ( เซ็นชื่ออย่างเดียวแต่มีบุคคลอื่นกรองข้อความให้เห็นต่อหน้า ) , สำเนาบัตร,ทะเบียนบ้าน ลงชื่อไว้ 

หากปรากฎว่า  เจ้าของที่แท้จริง ฟ้องร้องเราให้เพิกถอนนิติกรรม 

ผู้ที่รับจำนอง จะฟ้องร้องกับผู้นำที่มาจำนอง กับผู้เขียนใบมอบอำนาจปลอม  ว่า " ฉ้อโกงได้หรือไม่ครับ "

( หากไปทำเรื่องยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด จะทำได้หรือไม่ครับ )

 



ผู้ตั้งกระทู้ ตรีพร :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-28 10:48:05


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1956174)

หากว่า ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้มอบอำนาจ และมอบสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ลงชื่อของผู้มอบอำนาจจริง ผู้รับจำนองถือว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนครับ

หากเจ้าของที่แท้จริงเพิกถอนนิติกรรมย่อมทำได้ แต่ศาลน่าจะพิจารณาในประเด็นที่ว่า เจ้าของที่แท้จริงประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จะอ้างความประมาทระหว่างตนกับผู้รับมอบอำนาจมาทำให้ผู้รับจำนองเสียหายนั้นคงไม่ได้ (ความเห็น)

หากข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นใบมอบอำนาจปลอมจริง ๆ ก็ฟ้องฉ้อโกงได้ครับ

เรื่องยึดทรัพย์นั้น หากลูกหนี้ผิดสัญญาจำนองก็ย่อมใช้สิทธิได้อยู่แล้ว ส่วนเขาจะยื่นคำร้องต่อศาลในทำนองใดก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาลต่อไปครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:48:21


ความคิดเห็นที่ 2 (1956175)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน และเป็นบิดามารดาจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 3963 ซึ่งโจทก์ที่ 1 จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ที่ 1 ว่าจะไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ขอให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินซึ่งยังมิได้กรอกข้อความและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจและเอกสารอื่นให้จำเลยที่ 1 ไป ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของตน จึงไปตรวจสอบสารบบที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ พบว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นการปลอมหนังสือมอบอำนาจหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2539 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิจำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยรู้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจปลอม เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3963 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยปลอดภาระผูกพันกลับมาเป็นของโจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้รับผิดชอบชำระอากร ค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่าย ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความ ถือเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกรับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ที่ 1จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 นิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองไม่เป็นโมฆะ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินที่ได้จากการกู้ยืมเงินและจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ไปชำระไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผลทำให้โจทก์ที่ 1ในฐานะผู้จำนองได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บังคับให้ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 4

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่3963 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ (กิ่งอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ก่อนยื่นฎีกา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายอนันต์ เอ่งฉ้วน บุตรโจทก์ที่ 1 ทายาทโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 3963 ตำบลเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ไว้ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 300,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.12 เมื่อเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ที่ 1 ว่าจะไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 จึงลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวและนำไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3 และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย ล.9

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.2 ซึ่งยังไม่กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองไว้ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองโดยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม จึงถือว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทมิได้เกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 นำสืบว่ารับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมรู้เห็นกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะจำเลยที่ 3 รับจำนองจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท เรื่องระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1และที่ 2 จะเป็นอย่างไร จำเลยที่ 3 มิรู้เห็นด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้ขณะจดทะเบียนจำนองจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่พฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1และที่ 2 นำไปใช้ในกิจการอื่นถือว่าโจทก์ที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์ที่ 1 จะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนมาฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่สามารถฟ้องเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ ที่ดินพิพาทยังติดจำนองอยู่ซึ่งจำเลยที่ 3 สามารถบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินพิพาทได้ไม่ว่าที่ดินพิพาทจะถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ก็ตาม ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีผลกระทบต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8"

( ธาดา กษิตินนท์ - ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10721/2546

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 14:49:39


ความคิดเห็นที่ 3 (1956183)

เรียนสอบถาม อาจารย์ ลีนนท์ ครับ

หาก นำสืบแล้ว ผู้กรอกใบมอบอำนาจนั้น ซัดทอดว่าผมไม่สุจริตด้วย ( ซึ่งผมก็รู้ทั้งรู้ว่าไม่ถูกต้อง (สมรู้ร่วมคิดว่า รุ้ทั้งรุ้ว่าโฉนดนั้นได้มาไม่ถูกต้อง )

หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมนำสืบดังนี้เช่น   1.ได้มีการซื้อขายเฉพาะที่ดิน แต่ จำนองรวมสิ่งปลูกสร้าง , 2.ไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้ระหว่างผู้จำนองกับรับจำนอง ( แต่ไปจดทะเบียน ) 3.ราคาจำนองนั้นต่างจากราคาซื้อขายเฉพาะที่ดิน ถึง 30 เท่าตัว 4.ทำนิติกรรมในวันเดียวกันตั้งแต่เช้าจนถึง 6 โมงเย็น

5. เลขที่ใบเสร็จรับเงินและใบเสร็จพยาน เรียงกัน

  เรียนสอบถามว่า หากเกิดกรณีดังกล่างครบทั้งหมด ( เรื่องจริง )  ผมจะเป็นผู้สุจริตหรือไม่ครับ 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ตรีพร วันที่ตอบ 2009-06-28 15:33:00


ความคิดเห็นที่ 4 (1956217)

เรื่องสุจริตหรือไม่ตัวเราเองรู้ดีอยู่แล้ว คนนอกจะหยั่งรู้ได้เท่าที่พยานหลักฐานไปถึงเท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-06-28 17:47:48


ความคิดเห็นที่ 5 (1956255)

ขอบพระคุณอย่างสูงครับท่าน

ผู้แสดงความคิดเห็น ตรีพร วันที่ตอบ 2009-06-28 20:23:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล