ReadyPlanet.com


ยังงัยเนี๊ยะ


ความแตกต่างอำนาจในการสอบสวน  ม.18 กับ ม.19อธิบายเหน่อยคบไม่เข้าหัวเลย

 



ผู้ตั้งกระทู้ เด็กนิติ :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-17 13:55:18


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1964586)

เป็นคำถามที่กว้างเกินไปครับ คุณดูตัวบทก็บัญญัติไว้ไม่เหมือนกันแล้ว จะถามความแตกต่างอำนาจในการสอบสวนระหว่างมาตรา 18 และมาตรา 19 จึงตอบไม่ถูกเลยครับ

มาตรา 18 ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัด ธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และ ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่า นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหา มีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรี ขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือ เชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ ภายในเขตอำนาจของตนได้


ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติใน มาตรา 19 มาตรา 20 และ มาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด โดย ปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้น เป็นผู้รับผิดชอบในการ สอบสวนความผิดนั้น ๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือ เพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่ อยู่หรือถูกจับ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการ สอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้า ในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทน

 


มาตรา 19 ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดใน ระหว่างหลายท้องที่
(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ในอีกท้องที่หนึ่ง
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกัน ในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน
(5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง
(6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจ สอบสวนได้
ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการ สอบสวน
(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับ ได้อยู่ในเขตอำนาจ
(ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการ กระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 08:06:40


ความคิดเห็นที่ 2 (1964593)

คดีที่ได้เกิด หรืออ้าง หรือ เชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ ภายในเขตอำนาจของตน พนักงานสอบสวนในท้องที่นั้น ๆ เท่านั้นจะเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ได้ส่งประเด็นไปให้พนักงานสอบสวนอื่นจัดการให้ตาม มาตรา 128 หากพนักงานสอบสวนที่อยู่นอกเขตอำนาจของตนทำการสอบสวนไปจะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบและทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) และ 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 9 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 ขณะร้อยตำรวจเอกวิจิตรกับพวกตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองตั้งจุดตรวจสกัดอยู่ที่บริเวณถนนสายคลองลาน - เขาชนกัน ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ได้จับกุมนางสาวสมจิตรพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด น้ำหนัก 35.78 กรัม มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 11.073 กรัม นางสาวสมจิตรให้การซัดทอดว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมาจากจำเลยที่บ้านเลขที่ 1003 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ในราคา 13,000 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงออกหมายจับจำเลย และดำเนินคดีแก่นางสาวสมจิตรเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3380/2545 ของศาลชั้นต้น จนกระทั่งวันที่ 11 กันยายน 2545 ร้อยตำรวจเอกวิจิตรกับพวกจึงติดตามจับกุมจำเลยได้ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ตามบันทึกการจับกุม ร้อยตำรวจเอกพิทักษ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองสอบสวนและแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เห็นว่า การสอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่นางสาวสมจิตรเกิดที่บ้านเลขที่ 1003 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับนางสาวสมจิตรร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีกในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยร้อยตำรวจเอกพิทักษ์จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

( ธนพจน์ อารยลักษณ์ - โนรี จันทร์ทร - ศุภชัย สมเจริญ )

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 08:28:57


ความคิดเห็นที่ 3 (1964600)

ในคดีที่ความผิดมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใด ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 19 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกมิได้

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 และวันที่ 3 ธันวาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์บูรณะ จำนวน 3 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 สั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท ฉบับที่ 2 และที่ 3 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2545 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,500,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ มอบให้นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินยืม ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 ส่วนฉบับแรกและฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คทั้งสามฉบับโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต และแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (4) (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 3 กระทง คงจำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดตามฟ้องอยู่ในเขตอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ แต่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต จำเลยมิได้กระทำความผิดหรือถูกจับกุมในท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ทั้งมิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ของสถานีตำรวนครบาลดุสิต และมิใช่ความผิดหลายกรรมกระทำลงในสถานที่ต่างๆ กัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า ความผิดตามฟ้องเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต และแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 แล้ว จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกมิได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตได้ทำการสอบสวนแล้วก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินยืมที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมิได้บรรยายข้อเท็จจริงว่าหนี้เงินยืมดังกล่าวได้มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยไว้หรือไม่ ทั้งมิได้แนบหนังสือสัญญากู้ยืมอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เงินยืม อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าหนี้เงินยืมดังกล่าวได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้วคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงวินิจฉัยให้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท ประกอบกับโจทก์ร่วมยอมลดหนี้ให้แก่จำเลยเหลือจำนวน 1,500,000 บาท ทั้งยังให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระ แต่จำเลยผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมเพียงบางส่วน แล้วผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วม โดยยังค้างชำระหนี้โจทก์ร่วมอีกจำนวน 1,110,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมาก ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวและลูกจ้าง หากจำเลยถูกลงโทษจำคุกจะทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก”

พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์จำคุก 3 เดือนให้เปลี่ยนเป็นกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( ฐานันท์ วรรณโกวิท - เกษม วีรวงศ์ - พีรพล พิชยวัฒน์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5734/2550

 

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 09:46:46


ความคิดเห็นที่ 4 (1964604)

อำนาจการสอบสวนพยานหลักฐานโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ข้อ 2.3 ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาที่ 310/2542 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีอาญา ดังนั้นพนักงานสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพิเศษจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน และมีอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีได้ทั้งสิ้น

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 80, 83, 91, 289, 371, 32, 33 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 371, 80, 83 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 72 วรรคสาม), 72 ทวิ วรรคสอง, 78 (ที่ถูก 78 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนสั้นมีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษฐานพาอาวุธปืนยาวไม่มีทะเบียน จำคุก 4 เดือน แต่เมื่อศาลได้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานแรกให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษในความผิดฐานอื่นมารวมได้ คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตสถานเดียว (ที่ถูกเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยทั้งสองไว้ตลอดชีวิต) ริบหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 กระทงหนึ่ง และจำเลยทั้งสองยังคงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนยาวไม่มีทะเบียนตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกกระทงหนึ่ง เมื่อรวมโทษทั้ง 2 กระทงดังกล่าวแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีอาวุธปืนสั้นและพาติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า การสอบสวนดำเนินคดีนี้เป็นไปโดยไม่ถูกต้องเพราะพันตำรวจโทวิวัฒน์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วไม่มีอำนาจสอบสวนนั้น เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนินซึ่งมีพันตำรวจโทขวัญเมืองเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนที่มีพันตำรวจโทวิวัฒน์เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนในเรื่องนี้ด้วยก็เป็นเรื่องที่พลตำรวจตรีเถลิงศักดิ์ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา แต่งตั้งเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสอบสวนพยานหลักฐานในคดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ข้อ 2.3 ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาที่ 310/2542 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีอาญา ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ที่แนบท้ายคำแก้ฎีกา ดังนั้น พันตำรวจโทวิวัฒน์จึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน และมีอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีนี้ได้ทั้งสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

( วิบูลย์ มีอาสา - ประจักษ์ เกียรติ์อนุพงศ์ - มนตรี ยอดปัญญา )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6732/2548

 

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2009-07-19 10:03:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล