ReadyPlanet.com


มรดก


กรณีที่เจ้ามรดาเสียชีวิต และไม่มีทายาทเลย ทรัพย์จะตกเป็นของแผ่นดินใช่ไหมคะ และในกรณีที่มีเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้ได้อย่างไรบ้างคะ และคำฟ้องที่เจ้าหนี้จะส่งไปนั้นจะมีใครหมายถึงจำเลยคะ และหากสมมติว่า เจ้าหนี้มีทายาท คือบุตร 1 คน และภรรยา (ไม่ชอบโดยกฎหมาย) และยังไม่ได้มีการรับรองบุตร อยากทราบว่า ทายาทมีสิทธิรับมรดกหรือไม่อย่างไร และหากเจ้าหนี้มีคำฟ้องไปยังเจ้าหนี้ถึงทายาท (ซึ่งยังไม่รับรองบุตร) ถือว่า เป็นคำฟ้องโดยชอบกฎหมายหรือไม่คะ และศาลจะยกฟ้องหรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-20 15:26:37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1975815)

1. เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้ได้อย่างไรบ้างคะ

--เจ้าหนี้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกครับ

2. เจ้าหนี้จะส่งไปนั้นจะมีใครหมายถึงจำเลยคะ

--ผู้จัดการมรดกดำเนินการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เลย ส่วนที่เหลือตกเป็นของแผ่นดิน

3. ทายาทมีสิทธิรับมรดกหรือไม่อย่างไร

--บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว (โดยพฤตินัย) ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน มีสิทธิรับมรดกได้ครับ

4. ถือว่า เป็นคำฟ้องโดยชอบกฎหมายหรือไม่คะ และศาลจะยกฟ้องหรือไม่

-- เมื่อเขาเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกตามข้อ 3. การส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้บุตรนอกกฎหมายชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-20 16:21:11


ความคิดเห็นที่ 2 (1975880)
และหากตกเป็นของแผ่นดินแล้ว หากมีเจ้าหนี้รายอื่นโผล่มาทีหลัง จะเรียกเอาจากทรัพย์ที่ตกให้แผ่นดินได้อีกหรือเปล่าคะ
ผู้แสดงความคิดเห็น นักศึกษา วันที่ตอบ 2009-08-20 20:10:33


ความคิดเห็นที่ 3 (1976051)

เรียกได้ภายในอายุความมรดกครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-21 12:13:38


ความคิดเห็นที่ 4 (1976062)
พอจะมีฎีกา ที่เกี่ยวข้อง บ้างไหมคะ
ผู้แสดงความคิดเห็น นักศึกษา วันที่ตอบ 2009-08-21 12:33:51


ความคิดเห็นที่ 5 (1976238)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545

 

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นายดิง ซัน คุน หรือเต็ง ซิว โฮ้ว ลูกหนี้ของผู้ร้องถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2540 โดยมิได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายไม่มีทายาทที่จะรับมรดก ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่แผ่นดินผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกจึงร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อนำทรัพย์มรดกของผู้ตายมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ทั้งนี้ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระหนี้แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากผู้ตายไม่มีทายาท มรดกของผู้ตายตกทอดแก่แผ่นดินคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องมาร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นคดีนี้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันซึ่งเป็นฟ้องซ้ำ คดีของผู้ร้องต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...แม้ศาลชั้นต้นจะเคยยกคำร้องขอของผู้ร้องมาครั้งหนึ่งโดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ต่อแผ่นดินได้ก็ตามแต่เหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเช่นนั้นก็เพราะเห็นว่าการที่หุ้นของผู้ตายตกเป็นของแผ่นดินมิใช่เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยเห็นว่าผู้ร้องยังสามารถขวนขวายหาทางร้องขอเพื่อรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้ แต่ประเด็นสำคัญในคดีนี้มีอยู่ว่า ภายหลังต่อมาผู้ร้องได้ร้องขอรับชำระหนี้ต่อกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้และแจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายก่อน อันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้ว เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน และศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยถึงเหตุขัดข้องอันเกิดแต่การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นเนื่องจากศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีความประพฤติเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม หุ้นของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753อย่างไรก็ตามแผ่นดินหาใช่ทายาทของผู้ตายไม่ ดังนั้น แม้หุ้นของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ ดังจะเห็นได้จากการที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมนำเงินค่าหุ้นของผู้ตายมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่สมควรหรือเป็นบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับไม่มีผู้ใดคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องจึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น"

พิพากษากลับว่า ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนายดิง ซัน คุน หรือเต็ง ซิว โฮ้ว ผู้ตายโดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของผู้ตายเพื่อชำระหนี้ผู้ร้องต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

( กำพล ภู่สุดแสวง - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - สุรชาติ บุญศิริพันธ์ )


 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-21 21:38:43


ความคิดเห็นที่ 6 (1976240)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2543

 

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6582 ตำบลป่าไผ่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากนายทอง สมบูรณ์ และผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้วแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอน นายทองถึงแก่ความตายเสียก่อนนายทองไม่มีทายาทที่จะมาจัดการมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายทอง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการของผู้ตายเฉพาะเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6582 ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกหรือเป็นทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้ มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า " ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5โดยผู้ร้องไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 ผู้ร้องซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6582 ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากนายทอง สมบูรณ์ในราคา 101,000 บาท โดยผู้ร้องชำระราคาที่ดินและเข้าอยู่อาศัยทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาตามสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย ร.1 และภาพถ่ายหมาย ร.3 ขณะทำสัญญาซื้อขายนายทองกำลังดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินอยู่โดยนายทองตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ขายให้ภายหลัง แต่ครั้งทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แล้วเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2534 นายทองไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องได้เพราะที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในบังคับห้ามโอนภายใน 10ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2534 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2536 นายทองถึงแก่ความตายด้วยโรคระบบหัวใจล้มเหลว ตามมรณบัตรเอกสารหมาย ร.5 นายทองไม่มีทายาทที่จะมาขอจัดการมรดกและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ภายหลังจากที่นายทองถึงแก่ความตาย ผู้ร้องเคยไปติดต่อเพื่อขอจดทะเบียนรับโอนที่ดินดังกล่าวแต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้แจ้งว่าต้องให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อนผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือคนล้มละลาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง สมบูรณ์ ผู้ตายหรือไม่สำหรับปัญหาที่ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายตามสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย ร.1 ผู้ตายจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้วสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.1 จึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย อย่างไรก็ดีหากการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัย เนื่องจากที่ดินของผู้ตายที่ออกโฉนดในภายหลังต้องห้ามไม่ให้โอนภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2534 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้ผู้ตายหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่งไม่ต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้องตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5ศาลฎีกาก็เห็นว่า ผู้ตายหามีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินตอบแทนไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคหนึ่ง ผู้ตายจึงต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ตายยังมิได้คืนเงิน ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

ส่วนปัญหาที่ว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่าเมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย และกรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องมาร้องขอดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ประกอบกับผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนล้มละลายมาก่อน ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้านจึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และเนื่องจากเงินค่าที่ดินที่ผู้ตายต้องคืนให้แก่ผู้ร้องสืบเนื่องมาจากการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ฉะนั้น การตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงไม่เกินคำขอของผู้ร้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้องขอนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้ตั้งนายทวี ปินตาชัย ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองสมบูรณ์ ผู้ตาย ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานอัยการทราบด้วย

( สุรพล เจียมจูไร - วินัย วิมลเศรษฐ - ประชา ประสงค์จรรยา )


 

ผู้แสดงความคิดเห็น *** วันที่ตอบ 2009-08-21 21:48:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล