ReadyPlanet.com


ปัญหาทรัพย์สินหลังหย่าร้าง


 พ่อกับแม่ผมได้หย่ากัน แต่ก่อนหย่าได้มีการพูดคุยถึงเรื่องทรัพย์สินทั้งหมด บ้านและที่ดินได้แบ่งให้ผมกับน้อง แต่ตอนนี้แม่ก็ยังคงอยู่โดยที่พ่อไม่มีสิทธิได้เข้ามาอยู่ โดยมีแม่เป็นผู้กีดกัน แต่ตอนนี้ ผมโดนแม่ไล่ออกจากบ้านโดยที่ผมมองไม่เห็นสิทธิความเป็นเจ้าของบ้าน ผมควรทำยังไงได้บ้าง ถึงจะมีสิทธิตามข้อตกลงข้างต้น



ผู้ตั้งกระทู้ นพฤทธิ์ :: วันที่ลงประกาศ 2013-11-16 09:23:32


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2434996)

ข้อตกลงระหว่างบิดา มารดา ให้ทรัพย์สินตกเป็นของบุตร เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก หมายความว่าเป็นสัญญาระหว่างบิดา และ มารดาซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ประโยชน์ตกได้แก่บุตรซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กฎหมายไม่ได้บัญญัติบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ การตกลงด้วยวาจาจึงสามารถใช้ได้ แต่สิทธิของบุตร หรือบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บิดา มารดาซึ่งเป็นลูกหนี้ว่า จะถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงนั้น หรือประโยชน์จากสัญญายกให้นั้น ดังนั้นคุณควรบอกกล่าวทวงถามให้บุคคลทั้งสองไปโอนกรรมสิทธิ์ให้คุณ หรือหากยังเป็นผู้เยาว์ก็ให้บิดาทวงถามให้และฟ้องให้โอนกรรมสิทธิ์ได้ ในเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี

มาตรา 374  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้
ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น
 
มาตรา 375  เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-12-06 15:18:18


ความคิดเห็นที่ 2 (2434998)

สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก  บันทึกท้ายทะเบียนหย่า
ในเรื่องการให้โดยเสน่หาที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งการให้โดยเสน่หานั้นประกอบด้วยคู่สัญญาสองฝ่ายก็คือผู้ให้และผู้รับ แต่สำหรับกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเพื่อให้ทรัพย์สินสิ่งใดแก่บุคคลภายนอกนั้นย่อมมีผลทันทีที่บุคคลภายนอกแสดงเจตนารับเอาประโยชน์จากสัญญานั้น และการให้ในกรณีหลังนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังเช่นกรณีการให้ที่มีคู่สัญญาสองฝ่ายข้างต้น ซึ่งกฎหมายเรียกว่า สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การให้มีผลสมบูรณ์ ถ้าคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามอีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ ในคดีนี้สามีภริยาทำบันทึกหลังทะเบียนการหย่าว่าสามีภริยายอมยกที่ดินให้บุตร ต่อมาสามีไม่ปฏิบัติตามอ้างว่าข้อตกลงการให้ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกแม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-12-06 15:28:40



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล